หากเราเดินเข้าไปในตลาดต่างๆ ในปัจจุบัน สำรวจดูพื้นที่แผงขายผัก จะประกอบด้วยพืชผักเพียงไม่กี่ชนิด ในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกผักอายุสั้นที่เน้นการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแบบรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นพวกผักใบ อย่างพวกผักกาดต่างๆ กวางตุ้ง คะน้า หรือประเภทให้ฝักให้ผล อย่างมะเขือ ถั่วฝักยาว เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณมาก โตเร็ว น้ำหนักดี แต่ก็แลกมาด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น พืชพันธุ์เหล่านี้ต้องการปุ๋ยเคมีในการเจริญติบโต สายพันธุ์มีความอ่อนแอไม่ต้านทานโรคและแมลง กระบวนการผลิตพืชผักเหล่านี้ในระบบใหญ่จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะระดมสารเคมีนานาชนิด เพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ

แทนที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการกินพืชผักเหล่านี้ กลับได้ของแถมอันไม่พึงประสงค์มาด้วย ทั้งสารเคมี ปุ๋ย ยา ทั้งผลข้างเคียงจากการผลิตแบบเร่งรีบ อาจทำลายความสมบูรณ์ของธรรมชาติไปด้วยโดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศ ดิน น้ำ อากาศ ทั้งหมดล้วนเป็นอีกด้านของเหรียญที่หลายคนอาจมองข้ามไป

ครั้งในอดีตการบริโภคของผู้คนในสังคมมีความหลากหลาย มีอาหารเก็บกินในธรรมชาติ มีพืชผักพื้นบ้านที่หลากหลายให้เลือกหา หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามแต่ฤดูกาล สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายๆ พื้นที่ก็คือ ‘พืชผักยืนต้น’ ซึ่งเป็นพืชผักที่ปลูกเพียงครั้งเดียว แล้วสามารถเก็บกินได้นาน ทั้งยังมีความทนทานต่อโรคแมลงและสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการการบำรุงรักษามากมาย อย่างเช่นที่พบเห็นได้ง่ายอย่างตำลึง ชะอม ชะพลู ผักหวาน สะตอ และผักพื้นบ้านอายุยืนยาวอื่นๆ

ราชินีผักยืนต้นของภาคใต้ อย่างผักเหมียง ปลูกครั้งเดียวเรียกได้ว่าเก็บกินได้ถึงลูกหลาน 

เครือข่ายกินดีมีสุขพัทลุง ซึ่งเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นความสำคัญของผลกระทบอีกด้านของการผลิตพืชผักในภาคเกษตรแบบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน จึงนำเสนอการการกินผักอย่างยั่งยืนอีกทางเลือกหนึ่ง จึงเกิดเป็นเทศกาล ‘กินผักยืนต้น คนกินอายุยืน’ โดยใช้พื้นที่ป่าไผ่สร้างสุข ซึ่งเป็นตลาดสีเขียวของพัทลุงในการจัดกิจกรรม มีการให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของพืชผักพื้นบ้านที่เป็นผักยืนต้น ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกิจกรรมที่หลากหลายอย่างเช่น มีการแจกเมล็ดพันธุ์ผักยืนต้น ต้นกล้าพืชผักต่างๆ กิจกรรมเช็คอินกินฟรีผลไม้พื้นถิ่น ชิมพืชผักยืนต้นกันแบบสดๆ บวกกับเรื่องราวสนุกๆ ได้ความรู้อีกมากมาย 

ผักยืนต้นนอกจากปลูกครั้งเดียวแล้วสามารถเก็บกินได้นานหลายๆ ปีแล้ว กระบวนการปลูก การผลิตยังสามารถลดการใช้สารเคมีและทรัพยากรต่างๆ ได้ดี อุดมไปด้วยสารอาหารและรสชาติที่อร่อย อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมที่มีค่าเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป เปรียบเสมือนเป็นการสร้างคลังอาหารอันอุดมสมบูรณ์ไว้กับตัวเองและทุกๆ คน เพราะว่าความมั่นคงทางด้านอาหารคือความมั่นคงของชีวิตอย่างแท้จริง

สุดท้ายการกินผักยืนต้น จะทำให้คนกินอายุยืน ดังคำกล่าว ‘You are what you eat เรากินสิ่งใด เราก็เป็นอย่างนั้น’

ภาพถ่าย: Arm Ya at Home