ลมหนาวเริ่มพัดมาและวันหยุดยาวอันแสนหวานก็ใกล้จะมาถึง ฉันเชื่อว่าหลายคนคงอดใจไม่ไหวอยากจะขึ้นดอยไปสัมผัสอากาศหนาวเสียเต็มแก่ วันนี้ฉันเลยเอาเรื่องเล่าและภาพสวยๆ จากเชียงดาวมาแบ่งปันและยั่วน้ำลายกันก่อนออกเดินทาง

ดอยหลวงเชียงดาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อและเรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของวิวสวยบนดอยสูง ทั้งพืชพรรณไม้อันเป็นเอกลักษณ์และวิวเทือกเขาที่ทอดยาวเรียงต่อกัน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากมาพิชิตยอดดอยนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าการเดินทางได้ทิ้งร่องรอยต่างๆ เอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวขำๆ หรือบางเรื่องก็ขำกันไม่ออก การไปเดินเขาครั้งนี้ทำให้ฉันได้เจอประสบการณ์อะไรบ้างลองมาดูกัน!

1. ขึ้นชื่อว่า ‘อ่าง’ ไม่ได้แปลว่ามีน้ำเสมอไป

จุดพักกางเต๊นท์ยอดฮิตก่อนจะปีนขึ้นยอดดอยเชียงดาวมีชื่อว่า ‘อ่างสลุง’ เกิดจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ฉันเคยเจอนักท่องเที่ยวที่ไม่แบกน้ำขึ้นมาเลย (บางคนถึงกับเข้าใจว่าจะได้แช่อ่างน้ำร้อนเลยทีเดียว) เพราะเข้าใจว่าชื่อ ‘อ่าง’ ก็ต้องมีน้ำสิ! โชคยังดีที่มีลูกหาบกับเจ้าหน้าที่คอยดูแล

การเดินทางจึงไม่ใช่ว่าจะไปให้ถึงเท่านั้น แต่ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการเดินทางด้วย (แม้ว่าจะโดนเพื่อนหลอกไปด้วยกัน ก็ต้องหาข้อมูลสักหน่อย) ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัว การขออนุญาตพื้นที่ เช็คดูให้ดีว่าสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากน้อยแค่ไหน หรือถ้าอยากให้การเดินทางสนุกมากขึ้นก็ลองหาความพิเศษอย่างพืชพรรณหรือความเป็นมาไว้เล่าให้เพื่อนฟังด้วย

2. จ่ายเงินค่าขยะแล้วทำอะไรก็ได้ จริงหรือ?

ที่เชียงดาวมีระบบการจัดการขยะโดยการนับจำนวนสิ่งของต่างๆ ที่อาจกลายเป็นขยะ เช่น มาม่า ปลากระป๋อง หรือห่อขนม จากนั้นก็ให้นักท่องเที่ยววางมัดจำค่าขยะไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนเก็บขยะของตัวเองลงมาทิ้ง เมื่อเก็บขยะกลับมาแล้วก็มาทำการตรวจนับอีกครั้งก่อนจะได้รับเงินคืน

แต่บางทัวร์ก็หัวใส เตรียมเศษขยะไว้คอยเติมให้ลูกทัวร์ที่จำนวนขยะไม่ครบเพื่อให้ได้รับเงินคืน… เรียกว่าบริการกันแบบสุดๆ หรือนักท่องเที่ยวบางคนยิ่งกว่านั้น ทิ้งขยะไปเลยแล้วกัน เพราะไหนๆ ก็จะไม่เอาเงินมัดจำคืนอยู่แล้ว ใช้ตรรกะมักง่ายแบบจ่ายเงินแล้วจะทิ้งขยะหรือจะทำอะไรก็ได้

นั่นอาจจะเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ฉันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็ตั้งใจเก็บขยะของตัวเองอย่างดี แต่อาจจะมีบ้างที่ขยะย่อยสลายง่ายจะถูกละเลยไปอยู่ดี ฉันคิดว่าทางที่ดีที่สุด เราควรพกถุงเล็กๆ เอาไว้เก็บขยะของเราตลอดเวลา ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือสกปรกแค่ไหน

3. ทิชชู่เปียกเกลื่อนดอย ของเสียที่ไม่ย่อยสลาย

เนื่องด้วยบนดอยไม่มีน้ำ จะเช็ดตัวหรือล้างจานก็ต้องพึ่งพาเจ้าทิชชู่เปียกนี่แหละค่ะ แต่หลายคนมักคิดว่าทิชชู่ชิ้นเล็กพวกนี้ ถ้าทิ้งในธรรมชาติคงไม่มีผลกระทบอะไรมาก ยิ่งที่ใช้สำหรับปลดทุกข์ด้วยแล้วก็ยิ่งไม่อยากเก็บไปทิ้ง บางคนแค่จานใบเดียวเช็ดแล้วเช็ดอีก ทำเอาหมดทิชชู่เปียกไปหลายแผ่น หนำซ้ำยังทิ้งตามธรรมชาติเพราะคิดว่าย่อยสลายได้ กลายเป็นภาระเจ้าหน้าที่มาคอยเก็บขยะหรือสัตว์ป่ามากินเข้าไป

ทิชชู่เปียกเป็นขยะตัวปัญหาสำคัญ เพราะมันมีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ คำแนะนำของฉันคือ ลองเช็ดด้วยทิชชู่แห้งแล้วเตรียมผ้าขี้ริ้วขึ้นไปใช้งานซ้ำอีกผืนก็ดีนะคะ ใช้งานแค่สองสามวันแล้วค่อยเก็บลงมาซัก ไม่สร้างขยะและยังสะอาดกว่าด้วย แต่จะเช็ดจาน เช็ดตัว หรือทำธุระหนักก็ต้องแยกผืนกันนะ

4. หนาวขนาดนี้ ต้องพร้อมเบอร์ไหน

บนดอยเชียงดาวสูงประมาณ 2,200 เมตร ช่วงที่เราไปกันประมาณเดือนพฤศจิกายนมีอุณหภูมิต่ำประมาณ 10 องศาเซลเซียสและมีลมพัดตลอดเวลา เพื่อนเจ้ากรรมก็ไม่ยอมแบกถุงนอนไปเพราะบอกว่าเสื้อผ้าและถุงเท้าที่ใส่นี่สามารถทนได้ในอุณหภูมิ 2 องศามาแล้ว สบายมาก!

แต่อย่าดูถูกธรรมชาติไปค่ะ บางทีในเมืองที่หนาวเย็นกว่าแต่ว่ายังมีตึกรามบ้านช่องช่วยบังลม หรือเราเข้าไปอยู่ในอาคารที่อุ่นกว่าเป็นช่วงๆ การเผชิญกับอากาศหนาวเย็นจนนอนไม่หลับ ทำให้เพื่อนต้องรีบหนีลงดอยไปก่อน ถ้าใครเตรียมตัวไม่ดีก็อาจจะพาคนอื่นกร่อยได้ ยิ่งบางคนร่างกายไม่พร้อม ทั้งการเดินทางไกลและสภาพอากาศจนทำให้ป่วยจนเจ้าหน้าที่หลายคนต้องช่วยกันหามลงจากดอย กลายเป็นภาระคนอื่นแล้วยังอันตรายต่อชีวิตอีกด้วย

5. โศกนาฏกรรมส้วมหลุม

เชื่อไหมคะว่าส้วมหลุมอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้! ซึ่งโศกนาฏกรรมที่ว่าไม่ใช่คนตกลงไปในส้วมหรอกค่ะ แต่เป็นเจ้าเลียงผาที่ชอบลงมากินดินกินเกลือแร่ เพราะปัสสาวะของคนเป็นแหล่งเกลือแร่ชั้นยอด พอมันมากินก็เกิดพลัดตกลงไปในหลุมและขึ้นมาเองไม่ได้ กว่าเจ้าหน้าที่จะมาเจออีกทีเลียงผาก็ตายไปแล้ว เป็นเรื่องไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นและกำลังเร่งหาทางแก้ไขกันต่อไป

นอกจากสัตว์ที่เห็นได้ชัดแล้ว เจ้าหน้าที่ยังบอกว่าส้วมหลุมยังทำให้พืชพรรณที่อ่างสลุงเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย เพราะเชียงดาวเป็นภูเขาหินปูนที่แห้งแล้ง พืชพรรณชนิดพิเศษที่ทนความขาดแคลนของสารอาหารเท่านั้นที่ขึ้นที่นี่ได้ การที่เราเอาเศษอาหารไปเทหรือไปขับถ่ายแบบระเกะระกะก็เท่ากับเป็นการเพิ่มสารอาหารลงในดิน พืชพรรณบางชนิดก็เลยอันตรธานหายไปด้วย ทางที่ดีก็ควรขับถ่ายให้เป็นที่เป็นทางและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนะคะ

—-

“เราใช้ประโยชน์จากธรรมชาติกันมามากแล้ว” นี่เป็นประโยคที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเคยพูดไว้ ก่อนที่จะเคร่งครัดด้านการจัดการนักท่องเที่ยวให้รัดกุมยิ่งขึ้น ในปีนี้เชียงดาวจึงมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้น้อยลงกว่าทุกปี เพื่อให้ธรรมชาติได้มีเวลาพักฟื้นมากขึ้น

หากใครไม่ได้ขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวปีนี้ก็อย่าเสียใจไปนะคะ หรือถ้าใครมีโอกาสได้เดินทางไปที่อื่นก็ต้องช่วยกันรักษา เดินทางด้วยความพร้อม เคารพสถานที่ เก็บขยะทุกชิ้นและอย่าละเลยแม้ขยะเล็กๆ น้อยๆ ดูแลพื้นที่ให้เหมือนกับว่าเราไม่เคยไปเยือนที่นั้นมาก่อน และเก็บเกี่ยวมาเฉพาะความทรงจำดีๆ เพราะเรื่องราวเหล่านี้อาจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ ไม่เพียงแต่เฉพาะยอดดอยเชียงดาวเท่านั้น