ในอดีต ปู่ย่าตายายเรารู้จักการนำดอกไม้มากินในฐานะสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันออกอย่างบ้านเรา หรือโลกตะวันตกก็ตาม แต่ในยุคปัจจุบันกลับเป็นเรื่องยากที่เราจะปลูกดอกไม้เต็มสวนไว้กินเอง หรือเก็บข้างทางมากินได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องพูดถึงดอกไม้ที่วางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ เพราะมันคือดอกไม้ประดับในอุตสาหกรรมดอกไม้ ที่ผ่านการอาบสารเคมีจากยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเร่งดอกมาแน่นกลีบ โอกาสที่เราจะได้กินดอกไม้เหมือนปู่ย่าตายายจึงจำกัดจนทำให้เราไม่คุ้นเคยกับการกินดอกไม้ในที่สุด 

แต่รู้ไหม เทรนด์การกินดอกไม้กำลังกลับมาเบ่งบานเต็มที่อีกครั้ง

เพราะไม่ใช่แค่สารอาหารและรสชาติ มนุษย์ยังต้องการอาหารตามาเพิ่มอรรถรสในการกิน นอกจากการจัดวางนำวัตถุดิบมาประดับประดาตกแต่งจานของเชฟสายสร้างสรรค์ ดอกไม้กินได้เริ่มเข้ามามีบทบาทบนผืนผ้าใบในจานอาหารมากขึ้นในวงการอาหารยุคใหม่ ช่วยแต่งแต้มให้อาหารมีสีสัน และยังมีคุณประโยชน์ในดอกไม้บางชนิดที่ทำให้อาหารจานนั้นๆ มีเรื่องราวพิเศษเพิ่มเข้าไปด้วย 

และเมื่อกระแสออร์แกนิกช่วยให้เรามีดอกไม้ปลอดภัยจากฟาร์มออร์แกนิกให้เลือกมากขึ้น กระแสสวยกินได้นี้จึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นไปทั่ว ห้างดังแห่งวงการออร์แกนิกอย่าง Whole Foods Market มีดอกไม้กินได้ใส่กล่องขายให้เราซื้อได้ง่ายๆ คาเฟ่ดังๆ เริ่มเพิ่มเมนูอย่างลาเต้ลาเวนเดอร์ ชากุหลาบ ชาดอกฮิบิคัส หรือแม้แต่บ้านเราเองก็นำดอกอัญชัน ดอกหอมหมื่นลี้ ดอกมะลิ กุหลาบ ฯลฯ มาใช้อย่างแพร่หลายจนติดตลาดแล้ว แต่หากพูดถึงอาหารกินเอาอิ่ม บ้านเราอาจจะยังไม่กว้างขวางในตลาดกระแสหลักเท่าไหร่ แต่ในตลาดทางเลือก เราอาจได้เห็นข้าวยำดอกดาหลา สลัดดอกพวงชมพู เมี่ยงคำกลีบบัว หรือเมนูไฟน์ไดนิ่งในร้านอาหารหรูบ้านเรา ที่เริ่มมีการนำดอกไม้กินได้ไปใช้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบปรุงอาหารและตกแต่งจานให้น่าสนใจด้วย

เปล่า, เราไม่ได้จะพาไปรู้จักร้านอาหารหรือเมนูแสนสวยเหล่านั้น แต่จะพาบุกแปลงดอกไม้ในฟาร์มอินทรีย์ เพราะดอกไม้เหล่านั้นจะไปอยู่ในจานไม่ได้เลย หากไม่มีคนปลูกที่เข้าใจและไม่ใช้สารเคมี

มอร์แกนิค ฟาร์มของคนรุ่นใหม่ที่ปลูกดอกไม้ในหัวใจลงแปลง

“เราเป็นผู้หญิง ก็ต้องชอบดอกไม้เป็นธรรมดาค่ะ แต่ตอนแรกเราไม่รู้จัก edible flower หรอกค่ะ จนลูกค้าร้านอาหารถามหา เห็นว่าพื้นที่ของเราปลูกผักสลัดและไม้เมืองหนาวได้คุณภาพเหมือนภาคเหนือเลย ก็คิดว่าเราน่าจะลองปลูกดอกไม้กินได้ได้นะ เราก็ลองไปศึกษาข้อมูลและพบว่าดอกไม้บางชนิดก็มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วเช่นดอกคอสมอส (ดอกดาวกระจาย) เห็นมันขึ้นเป็นกอสวยๆ พอลองเอามากิน มันก็อร่อยดีนะคะ ไม่ได้ขมเกินไป เพียงแค่บ้านเราไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้กินได้เท่าไหร่นัก”

แขก-กรฏา รำพึงวงษ์ เกษตรกรอินทรีย์สาวเจ้าของฟาร์มมอร์แกนิค วังน้ำเขียว บอกเล่าถึงดอกไม้ในฟาร์มที่เต็มไปด้วยดอกแพนซี ไวโอล่า แนสเตอเตียม คอสมอส ดอกดิล ดอกซุกินี่ ดอกโบราจ ไปจนถึงใบไม้ประดับจานอย่างเบบี้เคล เบบี้สวิชชาร์ด ที่เธอปลูกให้เหล่าเชฟเลือกสรรไปตกแต่งจาน และแชร์ให้เราชมผ่านโซเชียลมีเดียแทบทุกวัน ก่อนจะท้าวความไปตั้งแต่เป็นเด็กจบใหม่จากรั้วจุฬาฯ ที่ตัดสินใจเลือกอาชีพเกษตรกรเต็มตัว

แขกเล่าว่าหลังจากเรียนจบ เธอได้เข้าร่วมโครงการพิเศษของสำนักวิชาบริหารทรัพยากรการเกษตร ที่มีพื้นที่ให้ทดลองทำการเกษตรจริงๆ เธอและเพื่อนจึงเลือกพื้นที่วังน้ำเขียวที่มีเกษตรกรอินทรีย์เบิกทางทำอยู่ล่วงหน้า ได้ชาวบ้านเป็นพี่เลี้ยงในเชิงปฏิบัติตอนเริ่มต้นตั้งไข่ทำฟาร์มอินทรีย์ จนเมื่อได้พบคนรักที่มีแนวคิดเหมือนกัน เธอจึงลงหลักปักฐานบนวังน้ำเขียว ทำฟาร์มผักสดๆ แบบอินทรีย์ส่งขายด้วยตัวเองในสเกลธุรกิจบนพื้นที่อินทรีย์กว่า 10 ไร่ หมุนเวียนแปลงไปพร้อมๆ กับกำลังยื่นทำมาตรฐานสากล IFOAM เพราะเธออยากพัฒนาให้วงการเกษตรอินทรีย์เติบโตไปได้ไกลขึ้น

“การปลูกผัก เราต้องเลือกชนิดผักให้ถูกต้องกับพื้นที่ วังน้ำเขียวมีต้นทุนธรรมชาติสูง ผักเมืองหนาวปลูกได้ดี เราจึงปลูกผักสลัดเป็นส่วนใหญ่ รับผลิตตามออเดอร์ลูกค้า ขายส่งหน้าฟาร์มอย่างเดียว แทบไม่ได้ขายปลีกหรือทำแบรนด์เองเลย แต่เราก็สื่อสารกับผู้บริโภคตลอดทั้งลูกค้าขายส่งและขายปลีก ให้ลูกค้ามาเยี่ยมแปลง หรือนำผักในแปลงไปตรวจหาสารเคมี ถึงเรายังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน แต่ตรวจกี่ครั้งก็ไม่เคยเจอสารพิษตกค้างนะคะ” เธอเล่าถึงฟาร์มด้วยความภูมิใจ ก่อนจะบอกเล่าถึงดอกไม้ที่ชวนให้เราได้คุยกันในครั้งนี้

ศึกษา ทดลอง ก่อนถึงวันดอกไม้บาน

จนเมื่อมีลูกค้าเรียกร้องให้เธอปลูกดอกไม้กินได้ แม้ใจจะอยากกระโจนทันที แต่เกษตรกรสาวก็เลือกศึกษาข้อมูลก่อน “ถ้าในเชิงเกษตร อะไรที่ไม่เคยทำนับเป็นต้นทุน เพราะอะไรที่เราไม่มีความรู้ในการผลิต พอทำแล้วล้มเหลวต้องนับเป็นต้นทุนด้วย แต่พอได้ศึกษางานวิจัย ก็พบว่าการปลูกดอกไม้แซมในแปลงผักช่วยปรับสมดุลระบบนิเวศได้ ซึ่งนั่นก็เป็นหัวใจของการทำอินทรีย์ที่ให้ธรรมชาติจัดการกันเอง สารชีวพันธุ์ไม่ได้ผลเท่าตัวห้ำตัวเบียน 

“เราเริ่มปลูกดอกไม้ตอนต้นปี โรคแมลงลดลงจริงๆ ด้วงเต่าทองที่เป็นนางฟ้าของฟาร์มก็มาเยอะขึ้น มีหลายสีเต็มไปหมดค่ะ ช่วยกินแมลงไม่ดีได้มาก แมลงไม่ดีในแปลงที่เคยมีก็ลดลง ผักที่เราตัดแต่ละสัปดาห์ก็แทบไม่มีหนอนกินเลย”

“ช่วงแรกๆ ชาวบ้านก็แปลกใจว่าเราปลูกดอกไม้ล่อแมลงทำไม เดี๋ยวผีเสื้อเต็มแปลง มาไข่ในผักหมดพอดี แต่เราเป็นเด็กดื้อเลยลองทำดู ผลคือดีมาก เพราะเหมือนดอกไม้ช่วยล่อผีเสื้อให้มาจดจ่อที่แปลงดอกไม้แทน ไม่ไปยุ่งกับแปลงผักเลย” เกษตรกรสาวเล่าด้วยรอยยิ้ม

“ที่สำคัญ เรายังได้กำไรของคนปลูกคือได้ความสวยงามแถมมาด้วย คือได้สมดุลระบบนิเวศฟาร์มและสมดุลระบบจิตใจเราด้วย พี่ๆ น้องๆ ที่มาช่วยงานในฟาร์มเขาได้เห็นดอกไม้สวยๆ ก็บอกว่าสวยดี รู้สึกสบายใจ ก็ถือเป็นกำไรอีกทางหนึ่งค่ะ”

สาวนักปลูกดอกไม้บอกว่าตอนนี้กำลังทดลองปลูกดอกไชฟ์หรือดอกหอมฝรั่งกับดอกเดซี่อยู่ และยังสนุกกับการค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับดอกไม้กินได้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

เพราะแม้จะไม่ได้กินเอาอิ่มแบบเป็นล่ำเป็นสัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าดอกไม้เหล่านี้ ชุบชูจิตใจและมื้ออาหารให้น่ารักมากยิ่งขึ้น

ภาพถ่าย: Morganic Farm วังน้ำเขียว