เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อนทั้งหมด 6 คน ที่เรียนคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาด้วยกัน ทำกิจกรรม และออกค่ายอาสาสมัครด้วยกันตั้งแต่สมัยเรียน ได้เรียนรู้นิสัยใจคอซึ่งกันและกันจนรู้สึกว่า ‘วันหนึ่ง’ ถ้ามีโอกาสพวกเขาจะกลับมาทำงานร่วมกันอีก และมันต้องเป็นงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้อย่างยั่งยืน…
“เพราะตอนที่เราทำกิจกรรมนักศึกษา ต่อให้เราไม่ได้เงิน เราก็ยังอยากทำเพื่อคนอื่นเลย ทีนี้ถ้าจะทำธุรกิจร่วมกัน เราก็อยากทำอะไรที่มันสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อคนอื่นเหมือนกัน”
คือความในใจส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง Environman ทั้ง 6 คน ที่ประกอบไปด้วย วิลาวัณย์ ปานยัง พีรพล เหมศิริรัตน์ สุธินันท์ สุทาธรรม ณภัทร ธรรมเชื้อ กิตติพัชญ์ กันกา และร่มธรรม ขำนุรักษ์
หลังจากแยกย้ายกันไปทำงานของตัวเองได้สักพัก คำว่า ‘วันหนึ่ง’ ของพวกเขามาถึงเร็วกว่าที่คิด เพราะปัจจุบันสิ่งที่เป็นผลผลิตจากความฝันและความตั้งใจดังกล่าว ก็คือ
Environman เพจด้านสิ่งแวดล้อมมาแรงที่หลายคนกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ กันมากที่สุดเพจหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะเป็นเพจที่นำเสนอเนื้อหาสาระ ความรู้ที่น่าสนใจ และย่อยง่าย จนเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนรักสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก พิสูจน์ได้จากตัวเลขคนติดตามกว่า 3 แสนคนและกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าพวกเขามีความตั้งใจ มีพลัง และมีความคิดที่น่ารับฟัง เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่เราจะดูดายหรือมองเป็นเทรนด์ที่ผ่านมาผ่านไปได้อีกแล้ว หากแต่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรสร้างสำนึกที่ยั่งยืนต่อไป
ไม่มีใครรู้ว่าโลกจะแตกเมื่อไหร่ก็จริง แต่ตราบใดที่โลกนี้ยังอยู่ เราก็ยังต้องอยู่กับโลก จึงไม่มีอะไรดีไปกว่า เห็นคุณค่าและรักในสิ่งที่เราต้องอยู่…ไปทั้งชีวิต
Environment + Man
อย่างที่เกริ่นไปว่า กลุ่มผู้ก่อตั้งของ Environman เป็นกลุ่มเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน และมีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกันให้ได้ เพื่อต่อยอดความสนใจในเรื่องธุรกิจและสิ่งแวดล้อม แต่ความที่ทุกคนยังใหม่ในแวดวงการทำธุรกิจ แต่ชัดเจนในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม พวกเขาจึงเริ่มต้นในสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดและเข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากที่สุด นั่นก็คือการเปิดเพจเพื่อสื่อสารในสิ่งที่พวกเขาสนใจ
“จริงๆ ถ้าย้อนกลับไปสองปีที่แล้ว การสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังมีไม่ค่อยมีเยอะมาก ตอนนั้นเราก็คิดจะทำธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมกันอยู่แล้วด้วย เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเรามาเปิดเพจเพื่อสื่อสารสิ่งที่เราสนใจเองเลยดีกว่า ก็เลยทำเพจเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมา โดยมีหวาย (ร่มธรรม ขำนุรักษ์) เป็นบ.ก และเป็นคนเขียนคอนเทนต์เป็นหลัก เราเลือกทำเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมในแบบที่สื่อสารกันง่ายๆ และย่อยง่ายด้วย แต่พื้นฐานพวกเราก็ไม่ใช่เด็กที่จบด้านวารสารฯ อาจจะเขียนไม่เก่งนัก แต่เราเน้นแค่ให้มันเป็นสิ่งที่มาจากความรู้สึกของเรา เล่าให้เข้าใจง่ายที่สุด แต่กว่าจะเห็นแบบนี้ก็ลองผิดลองถูกมาเยอะ จนกระทั่งมาลงตัวให้อ่านจบในภาพได้เลย เผื่อคนอ่านไม่สะดวกอ่านแคปชั่น”
“ส่วนชื่อของเราที่ตั้งใจว่าจะเป็น Environman เพราะอยากจะสื่อให้รู้ว่า คำว่าสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้มีแต่คำว่า Environment แต่มันคือ Environment + Man หรือคน ที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากคนนี่แหละที่สร้างผลกระทบให้สิ่งแวดล้อม หรือเป็นตัวแปรสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย”
การเริ่มต้นของ Environman ก็คงเหมือนอีกหลายๆ เพจในโลกที่ไม่ได้โด่งดังตั้งแต่วันแรก แต่ต้องอาศัยความอดทน ความสม่ำเสมอ และหัวใจที่รักในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทำให้เพจที่มีคนตามในช่วงเริ่มต้นเพียงหลักร้อยต้นๆ กระโดดไปเป็นจำนวนหมื่นต้นๆ ได้ภายในสามเดือนแรก
“จริงๆ ช่วงแรกในการทำเพจก็ถือเป็นช่วงยาก และเป็นช่วงที่เราต้องเรียนรู้กับมันเยอะมาก คนยังเข้าไม่ถึงตัวเพจเท่าไหร่ แต่ความตั้งใจของเราก็คือ อยากจะสื่อสาร อยากจะให้ความรู้ เพราะการที่คนยังไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจเป็นเพราะเขายังไม่รู้ว่า จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ยังไงบ้าง ในต่างประเทศเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง เราก็เลยนำเสนอเรื่องตรงนี้ และตั้งใจจะลงคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาด จนมันมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ เราไปเขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับเสื้อ Lacoste ซึ่งปกติโลโก้จะเป็นรูปจระเข้ แต่ตอนนั้นเขาทำแคมเปญหนึ่งที่เปลี่ยนรูปจระเข้เป็นสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธ์ุ โดยทำจำนวนเสื้อเท่าจำนวนสัตว์ที่เหลืออยู่ พอเราเขียนเรื่องนั้นไปปุ๊บ คนก็แชร์ไปเยอะมาก จนกลายเป็นไวรัล ซึ่งตอนนั้นเพจเราเพิ่งทำมาได้แค่ 3 เดือน จากคนตาม 300-400 คนก็ขึ้นมาเป็น 20,000 คนในชั่วข้ามคืน”
ก้าวต่อไปของเพจที่สื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม คือธุรกิจที่ยั่งยืน
ถ้าใครเข้าไปอ่านเรื่องราวสนุกๆ ในเพจ Environman น่าจะสังเกตเห็นว่า พวกเขานำเข้าสินค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาจำหน่ายด้วย ซึ่งนั่นก็คืออีกวิธีหนึ่งในการดำเนินธุรกิจเพื่อหารายได้มาหล่อเลี้ยงบริษัท แม้จะต้องเริ่มต้นเรียนรู้การทำธุรกิจกันใหม่ และไหนจะมีทุนรอนจำกัดที่ทุกคนต้องใช้ทุนของตัวเองเพื่อช่วยกันประคับประคองบริษัทก็ตาม
“สั่งสินค้ามาขายล็อตแรกยังทำไม่ค่อยเป็น ก็งงๆ กันอยู่พักหนึ่ง” อาจจะเรียกว่าเป็นคำจำกัดความในช่วงเริ่มต้นของพวกเขาก็ว่าได้
แต่อาศัยใจรักและความสม่ำเสมอ เนื้อหาในเพจ Environman จึงเข้าตาใครหลายๆ คนรวมทั้งกลุ่มลูกค้าด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขามีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นในอนาคต
“ต้องเรียกว่าเรียนรู้และล้มลุกคลุกคลานกันมาเยอะมาก จน ณ วันนี้ เราเลยได้ business model ออกมา และมีการจัดตั้งเป็นบริษัทอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเราก็ทำธุรกิจหลักๆ สามเรื่องก็คือ online publisher มีรายได้จากเอเจนซี่หรือลูกค้า สอง คือตัว trading ที่เรานำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่าย ซึ่งเราตั้งเป้าว่าเราอยากมีมาร์เก็ตเพลสที่คนสนใจสินค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสามารถเข้ามาดูและซื้อของได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าสินค้าเราเพื่อสิ่งแวดล้อมจริงมั้ย ส่วนที่สามเราทำด้านที่ปรึกษาหรือ consult ให้องค์กรหรืออีเวนต์ต่างๆ”
“ทั้งสามอย่างที่เราทำ เกิดขึ้นได้เพราะเราเรียนรู้จากลูกค้าที่เข้ามาหาเรา จากนั้นเราค่อยมาคิดว่าอะไรที่เหมาะกับ Environman แล้วทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศ หรืออย่างน้อยคือพฤติกรรมของผู้บริโภคในแง่มุมต่างๆ ได้”
“ก่อนที่เราจะทำงานด้านเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรต่างๆ พวกเราแต่ละคนก็ล้วนเคยทำงานในองค์กรใหญ่ๆ หรือทำบริษัทอื่นๆ มาก่อน เลยทำให้เรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วองค์กรพวกนี้ เขาก็พยายามที่จะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม พยายามที่จะปรับตัวให้ทันผู้บริโภค เพราะอาจจะโดนผู้บริโภคโจมตี หรือเห็นว่าเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมันมี demand ที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ความที่เป็นองค์กรใหญ่ บางทีมันเปลี่ยนแปลงเร็วไม่ได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งมันก็อยู่ที่แต่ละองค์กรด้วย ถ้าพื้นฐานคุณไม่ได้ทำในสิ่งที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แรก หรือมีส่วนรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ถ้าวันนี้คนมาพูดเรื่องนี้เยอะ คุณก็จะมีเรื่องพูดของตัวเอง หรือเรียกว่ามี core value ที่คุณสามารถหยิบยกขึ้นมาให้เราที่เป็น publisher พูดได้ แต่บางแห่งที่ทำธุรกิจจ๋ามาก ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมมาก่อนเลย ก็ต้องปรับตัวเยอะหน่อย”
การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องใช้พลังจากทุกคน
ความเชื่อที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งของกลุ่ม Environman ที่เรารู้สึกและสัมผัสได้ก็คือ พวกเขาเชื่อว่า จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากตัวเอง เพื่อส่งแรงกระเพื่อมไปสู่คนอื่นๆ
“เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วเดี๋ยวมันจะเริ่มส่งผลกับคนข้างๆ ไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเรื่องที่เราทำเองได้ง่ายๆ เช่น พกถุงผ้า ไม่รับสลิป หรือนำแก้วไปเอง บางคนบอกว่าทำไมจะต้องทำให้ชีวิตลำบาก แต่ถ้าเราค่อยๆ ลองทำ จะเห็นว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องยากในการที่ทุกคนจะช่วยกันทำ ถ้าทั้งประเทศช่วยกันพกแก้ว เราก็จะมีแก้วพลาสติกอย่างน้อย 70 ล้านใบที่จะหายไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน”
เสียงของสมาชิกอีกคนในกลุ่มก็ตอกย้ำเรื่องนี้เช่นกัน
“อย่างในกลุ่มพวกเราหลายคนสนใจเรื่องขยะ แต่เราจะไปบอกให้คนอื่นทำตามมันก็ไม่ใช่เรื่อง เขาก็อาจจะไม่รับฟังหรือไม่ได้สนใจ เราก็เริ่มจากตัวเองนี่แหละ ด้วยการทำอะไรที่เราเชื่อให้คนอื่นเห็น อย่างพวกเราเอง พอได้อ่านข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันก็มีผลให้เราเลิกใช้หลอดพลาสติกไปได้เยอะมาก ถึงจะยังลดการใช้พลาสติกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราก็มีจิตสำนึกมากขึ้น พอเรารู้สิ่งเหล่านี้ เราก็แชร์ให้คนอื่นรู้ และทำเหมือนเรา มันก็เลยมีการปรับตัวจากคนรอบข้างมากขึ้น”
“คือถ้าเราจะทำอะไรให้คนอื่นทำตาม เราก็ต้องทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นก่อน”
แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากต้องการให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างชัดเจนเห็นผลในวงกว้างแล้ว พลังของทุกภาคส่วนต่างหากที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่เราต้องการได้ เรื่องของพลังประชาชนไม่ควรเป็นแค่เรื่องไม้ซีกไปงัดไม้ซุง แต่ควรเป็นพลังที่รวมกันสร้างไม้ยืนต้นที่เป็นร่มเงาและให้ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
“วันนี้เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนหันมาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ถามว่าจะทำให้มันยั่งยืนได้อย่างไร มันก็ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันทุกภาคส่วน เช่น ในเมื่อรัฐมีนโยบายห้ามแจกถุงพลาสติก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี รวมทั้งภาคประชาชนก็ตระหนักแล้วว่าต้องลดขยะ ต้องแยกขยะ แต่ถ้ารัฐไม่มีระบบการจัดการขยะที่เหมาะสม มันก็จะทำให้มีข้อสงสัยจากประชาชนตลอดว่า แยกขยะแล้วไปไหน แยกแล้วก็ไปเทรวมกันอีกหรือเปล่า รัฐจึงมีส่วนอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางเหล่านี้”
“นอกจากนี้ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่เขาคิดยังไงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เลยมีเรื่องอยากจะแชร์ว่า ทุกวันนี้เด็กๆ Gen Alpha เรียนเรื่องแยกขยะมาจากโรงเรียนแล้วนะ พอกลับถึงบ้าน เขาสามารถแยกขยะเป็นแล้ว คนรุ่นเรา ไม่ว่าจะเป็น Gen X หรือ Gen Y นี่แทบจะเป็นกลุ่มที่ช้าไปด้วยซ้ำในการมาสนใจเรื่องนี้ ที่สำคัญ รุ่นน้องๆ พวกเราหรือ Gen Z เขาก็เริ่มคิดแล้วว่าในเมื่อเขายังต้องอยู่กับโลกต่อไปอีก 60-70 ปี เขาก็ต้องลุกมาทำอะไรสักอย่างแล้วละ แล้วกลุ่มนี้แหละที่จะเป็นนักกิจกรรมและมีการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่คนรุ่นเราหรือรุ่นผู้ใหญ่กว่าต้องทำ ก็คือการรีบปรับตัวให้ทันโลก เพราะเมื่อเด็ก 5 ขวบที่แยกขยะเป็นแล้ว โตขึ้นมาแล้วพบว่า อ้าว ไม่เห็นมีใครแยกขยะเลย เขาอาจจะกลายเป็นคนแอนตี้สังคมไปเลยก็ได้”
“เราไม่รู้ว่าโลกจะแตกเมื่อไหร่ แต่เราก็เชื่อว่า เรายังมีเวลาในการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าในบางเรื่องอาจจะไม่ได้เห็นผลในรุ่นของเรา แต่ก็น่าจะเห็นผลในรุ่นของเด็กๆ ที่จะโตขึ้นมาอย่างแน่นอน”
“เรามองว่ากลุ่มคนอ่าน Environman ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่น แต่เคยมีน้องป.2 อินบ็อกซ์เข้ามาถามว่า พี่ๆ คะ หนูเครียดมากเลยว่า หนูจะอยู่ในโลกนี้ต่อไปได้ใช่มั้ย? นี่คือคำพูดของเด็กป.2 ที่เราต้องแคปเก็บกันไว้เลย เพราะไม่น่าเชื่อว่าเขาจะอ่านเฟซบุ๊ก เลยทำให้เราคิดว่า บางทีเด็กๆ ก็รู้อะไรเยอะนะ แล้วเขาอาจจะรู้ก่อนเราอีกว่าโลกมันไปถึงไหนแล้ว เราเห็นเลยว่า เด็กตัวแค่นี้เขายังมีความกังวลเรื่องนี้แล้วว่าเขาจะโตมาได้ยังไง ในเมื่อโลกมันไม่ได้สวยงามอย่างที่เคยรู้มาจากห้องเรียน แต่โลกมันกว้างกว่านั้นแล้ว ดังนั้นถ้าทุกคนช่วยกันคนละมุม มันก็อาจจะเป็นพลังที่ใหญ่ขึ้นได้ และส่งผลให้ภาคที่มีอำนาจมากกว่าเราได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากตัวเองก่อนน่ะใช่ แต่เมื่อคนรอบข้างเปลี่ยนด้วย และเปลี่ยนกันมากขึ้น มันก็จะคูณสิบคูณพันเท่าได้”
แม้จะทำงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ผู้คนสำนึกในปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่พวกเขาก็ยอมรับว่า ทุกวันนี้ก็ยังเจอปัญหาที่ทำให้เจ็บปวดเสมอ
“เรื่องการจัดการขยะเป็นเรื่องที่เราเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะช่วงโควิดที่เราเห็นขยะเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดการไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่ขยะที่มาจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น แล้วเราก็ยังเห็นข่าวว่าขยะพวกนี้มันไปมีผลต่อสัตว์ ต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก เราก็จะเจ็บปวดทุกครั้งที่เราแชร์ หรือบอกปัญหานี้ เพราะไปๆ มาๆ มันดูเหมือนว่าทุกคนไม่ได้ปลูกจิตสำนึกกันจริงๆ จังๆ เวลาผ่านไปสักพัก เราก็สร้างปัญหาขึ้นมาอีก เหมือนเราเห็นตัวเองก่อนสิ่งแวดล้อม ปัญหามันก็เลยเกิดขึ้นซ้ำๆ แม้ตอนแรกอาจจะมีอะไรดีขึ้นบ้างแล้วก็ตาม”
“พวกเรายังเคยคุยกันตอนไปช่วยกันเก็บขยะที่ป่าชายเลนว่า มันเก็บเท่าไหร่ก็เก็บไม่หมด เพราะมันเยอะมาก แล้วมันทำให้เราตั้งคำถามขึ้นมาเลยว่า ทำไมมนุษย์เราไปถึงดวงจันทร์ได้ แต่ทำไมแค่กันขยะไม่ให้เข้าป่าชายเลนนี่เราถึงทำกันไม่ได้ ทำไมมันถึงไม่มีนวัตกรรมตรงนี้ แต่เอาเถอะ เราเข้าใจว่าเรื่องนี้มันอาจจะต้องใช้เงินเยอะ และเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันผลักดันในอนาคต แต่เราก็เชื่อว่า เราน่าจะทำได้ เราเชื่อว่าคนเราต้องสร้างนวัตกรรมอะไรสักอย่างที่มาแก้ปัญหานี้ได้”
Environman กับความฝันที่กลายมาเป็นเป้าหมาย
วันนี้สิ่งที่กลุ่มเพื่อนทั้ง 6 คนเคยฝัน ได้กลายมาเป็นเรื่องจริงที่อยู่ตรงหน้า เราอดถามพวกเขาไม่ได้เหมือนกันว่า พวกเขารู้สึกยังไงกับความฝันก้อนนี้ เคยมีช่วงที่ท้อกับเขาบ้างไหม
“ก็ยังคงต้องทำต่อไป เราย้อนกลับไปคิดว่า ตอนเริ่มทำเพจใหม่ๆ ถึงตอนนั้นจะยังไม่มีคนรู้จัก ก็ไม่รู้สึกว่าท้อนะ เพราะเราก็เข้าใจว่าการที่จะสร้างกลุ่มคนให้มารู้จัก มันต้องใช้เวลา ต้องใช้ความสม่ำเสมอ มีวินัยในการสร้างคอนเทนต์ แต่จุดที่ทำให้เราเติบโตได้ เราเชื่อว่าเพราะเรามีความตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจจริงๆ มันมีความจริงใจอยู่ในนั้น ไม่ได้คิดเรื่องการทำเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าเพจมันจะโตหรือไม่โต เราก็ถือว่าได้สื่อสารแล้ว ส่วนในแง่ธุรกิจเราก็หาวิธีทำให้มันดำเนินต่อไป มีช่องทางในการขายของได้ โดยของก็ต้องเป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ
“เหมือนคอนเซ็ปต์ที่เราอยากให้คนกับสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้ เรายังดำเนินชีวิตได้ และเราก็ยังรักโลกได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่เราอยากเห็นในอนาคตก็คือ สภาพสังคม เศรษฐกิจ ที่มันเอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม”
“ในมุมของ Environman เรารู้สึกว่า วันหนึ่งเราต้องไม่ทิ้งอะไรไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง แปลว่า เราต้องมีทั้งสิ่งแวดล้อม และมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันได้ และในขณะเดียวกัน โลกก็ต้องก้าวไปข้างหน้าด้วย จริงๆ แล้วเรามองด้วยซ้ำไปว่า บริษัทต่างๆ ที่เขากำลังทำนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ต้องเข้ามาตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ต่อไปเราไม่จำเป็นต้องทุบตึกทิ้งเพื่อปลูกต้นไม้ก็ได้ แต่เราสามารถมีนวัตกรรมที่ปลูกต้นไม้ในตึกได้”
“ตอนแรกการรวมกลุ่มทำ Environman อาจจะเป็นแค่ความฝัน ที่พวกเราเริ่มทำเพราะอยากให้คนอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน แต่ตอนนี้มันกลายมาเป็นเป้าหมายที่เราต้องทำให้ได้ เป็นเป้าหมายที่เราต้องไปให้ถึง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ยอมรับว่ามันเป็นการเดินทางที่พวกเราก็มาไกลมาก และยังไปอีกไกลได้ แล้ววันนี้ก็ไม่ได้มีแค่เราที่พูดเรื่องนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่หลายๆ คนช่วยกันสื่อสาร ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อนบนเส้นทางนี้อีกเยอะ”
ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ, Environman