ด้วยเชื่อว่าอาหารที่ดี คืออาหารที่เรารู้จักที่มา…

ที่มาที่นับตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ผู้ปลูก เรื่อยมาถึงผู้ปรุงและคนกิน เป็นเส้นทางของอาหารที่เชื่อมโยงเราเข้ากับธรรมชาติรอบกาย ที่จะยิ่งแนบแน่นขึ้นอีกเมื่อเรารู้และเข้าใจต้นทางของวัตถุดิบว่าเกิดขึ้นอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้อาหารในจานของเราดีหรือด้อยคุณภาพลงจากเดิม

ความตั้งใจเดียวกันนี้ ทำให้กลุ่มกิจกรรมด้านอาหาร Slow Food ถือกำเนิดขึ้นในเมืองที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมการกินดีอย่างบราส์ ประเทศอิตาลี ก่อนแนวคิดดังกล่าวจะขยายอาณาเขตไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งคนรักการกินดีอยู่ดีจากทุกสารทิศพร้อมใจจับมือกันก่อตั้ง Slow Food Youth Network Thailand ขึ้นเมื่อราว 3 ปีก่อน พร้อมจัดกิจกรรมสื่อสารความรู้ความเข้าใจเรื่องอาหารและระบบอาหารให้กระจายสู่สังคมอยู่เรื่อยๆ ด้วยพวกเขาเชื่อตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ นั้นเกิดจากการออกแรงเล็กๆ หลายแรงร่วมกัน และนั่นทำให้ล่าสุดเกิดเป็นงานสื่อสารเรื่องอาหารผ่านของอร่อย Good Seed, Good Food ครั้งที่ 2 ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่เรามีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปแจม

หัวเรือใหญ่ของงานอย่าง ต้องการ-วลัยกร สมรรถกร นักวาดสายออร์แกนิกและกลุ่มเพื่อนจาก Slow Food Youth Network จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้เราฟังระหว่างเตรียมอาหารสำหรับงานในเย็นวันนั้นว่าเป้าหมายของพวกเขาคือ อยากสื่อสารเรื่องราวของอาหารทั้งประเด็นความยั่งยืนและวัฒนธรรมการกินผ่านสื่อกลางที่ทั้งเป็นมิตรและเข้าถึงง่ายอย่างอาหารอร่อยๆ ในจาน

และอย่างที่รู้กันว่าบรรดาเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่นั้นมีกิจกรรมเกี่ยวกับการกินดีอยู่ดีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทว่าหากไล่สายตามองออกไปยังเมืองรอบนอก จะพบว่ามีอีกหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดกิจกรรมไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน โดยเฉพาะเมืองเล็กที่รายล้อมด้วยแหล่งวัตถุดิบคุณภาพดีอย่างอำเภอปากช่อง โคราช พื้นที่ที่เจ้าบ้านอย่างต้องการคอนเฟิร์มว่าสามารถทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้โดยไม่ต้องจ่ายแพง เพราะมีอาหารพื้นถิ่นดีๆ ให้เลือกกินเลือกซื้อกันตลอดทั้งปี



โดยในงาน Good Seed, Good Food ครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือการออกร้านขายสินค้าและอาหารการกินสายอินทรีย์ ไม่ว่าจะนมสดหอมมันจากฟาร์มที่เลี้ยงแม่วัวแบบปล่อยอิสระ หรือผลไม้ลูกอวบอ้วนส่งตรงจากสวนผลไม้อินทรีย์ในอำเภอปากช่อง ก็มีให้เลือกซื้อหากันในราคาน่ารัก



ส่วนถัดมาคือดินเนอร์สุดพิเศษฝีมือพ่อครัวแม่ครัวกิตติมศักดิ์ จากกลุ่มนักกิจกรรมด้านอาหารต่างๆ ที่พร้อมใจกันลงครัวปรุงอาหารกันอย่างสุดฝีมือ สำคัญคือปรุงจากวัตถุดิบสดใหม่ ปลอดภัยจากสารเคมี อนึ่ง มื้อเย็นในวันนั้นแบ่งออกเป็นส่วนของบุฟเฟต์ที่มีไฮไลต์คือพ่อครัวรับเชิญอย่างอาจารย์ต้น-อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนและนักปรุงผู้ซึ่งน้านนานทีจะหยิบกระทะคว้าตะหลิวทำอาหารให้สาธารณะได้ชิมสักครั้ง

ส่วนมื้อเย็นอีกด้านนั้นคือ Chef’s Table จำนวน 8 คอร์สซึ่งร้อยเรียงรสชาติกันมาอย่างลงตัว เริ่มจากซอฟต์ดริงค์น้ำมัลเบอร์รี่สดผสมกับน้ำผึ้งดอกสาบเสือ สมุนไพรพื้นถิ่นที่มีสรรพคุณแก้กระหายและชูกำลัง แต่งรสด้วยน้ำเลม่อนและน้ำส้มจี๊ดเพิ่มความสดชื่น ช่วยเรียกน้ำย่อย ก่อนเสิร์ฟคอร์สแรกซึ่งช่วยกระตุ้นประสาทรับรสของเราให้ตื่นเต้นขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งเมี่ยงคำครบรส ชะอมชุบไข่ทอดชิ้นพอดีคำท็อปด้วยมะเขือเทศพื้นบ้านและมะพร้าวคั่วหอมๆ และจานปิดท้ายอย่างด้วยสับปะรดย่างราดซอสอะโวคาโดรสชาติกลมกล่อมกำลังดี



คอร์สต่อมาคือซุปไก่… แต่ไม่ใช่ไก่ธรรมดา ทว่าเป็นไก่ลูกผสมระหว่างไก่บ้านและไก่พันธุ์เนื้อจึงเหนียวเคี้ยวสนุกเป็นพิเศษ ยิ่งบวกกับน้ำซุปใสซดคล่องคอปรุงด้วยสมุนไพรจากชุมชนชาวปกาเกอะญอ ยิ่งทำให้ซุปไก่ชามนี้กลิ่นรสซับซ้อนเป็นพิเศษ และเป็นการร้อยเรียงรสชาติได้อย่างดี เมื่อคอร์สต่อไปคือยำส้มโอแสนสดชื่นที่รวมไว้ด้วยสมุนไพรพื้นถิ่นที่ช่วยขับสารพิษจากร่างกาย ทั้งยังช่วยเบรกรสชาติเข้มข้นของเนื้อไก่ได้อย่างดี ส่วนคอร์สถัดมา เป็นจานที่เรายอมรับในไอเดีย ด้วยพ่อครัวนำกุ้งจิ๋วอย่างเครย์ฟิชมาปรุงเข้ากับสมุนไพรรสหอมเย็นอย่าง ‘ฮอวอ’ พืชที่เติบโตอยู่ในไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืนทางอาหารที่เหล่าเชฟหัวก้าวหน้าพากันเลือกใช้ด้วยห่างไกลจากระบบอาหารอุตสาหกรรม ทั้งยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาการสร้างอาหารในไร่หมุนเวียนที่ชาวปกาเกอะญอสืบทอดกันมานับร้อยปี



​นอกจากอาหารสไตล์ตะวันออก หนึ่งในหลายคอร์สยังประกอบด้วยจานลูกผสมน่าสนใจ อาทิ ราวิโอลีสอดไส้ ‘ลาบอาข่า’ เมนูของชาติพันธุ์อาข่าที่ปรุงจากเนื้อสับผสมกับสมุนไพรพื้นถิ่น ‘หอมชู’ รากพืชสีขาวสะอ้านรสหอมเย็นเป็นเอกลักษณ์ ปรุงรสด้วยพริก เกลือ และผักพื้นถิ่น เมื่อเข้าคู่กับแป้งราวีโอลีเนื้อนุ่มหนึบแล้วจึงเข้ากันดีอย่างน่าอัศจรรย์ กว่านั้นยังเสิร์ฟเคียงกับผักอินทรีย์ทอดกรอบที่ช่วยเพิ่มสัมผัสขึ้นอีกระดับ  


​ส่วนคอร์สถัดมา คือจานที่เรารักในรสที่สุดในค่ำนั้น ด้วยพ่อครัวนำปลาสร้อยนกแก้วที่ได้จากกลุ่มประมงพื้นบ้าน มาปรุงกับเครื่องเทศล้านนากลิ่นหอมลึกอย่าง ‘มะแขว่น’ และสมุนไพรพื้นเมืองอีกหลายชนิด เป็นสมการรสชาติที่ปรากฎเป็นผลลัพธ์น่าประทับใจไม่น้อย และพิเศษกว่านั้น มื้อเย็นในค่ำคืนนั้นตบท้ายด้วยของหวานรสชาติล้ำลึก เมื่อเชฟเลือกน้อยหน่าจากสวนอินทรีย์ในอำเภอปากช่อง มาปรุงเข้าคู่กับชีสนมแพะออร์แกนิกรสหอมมันลึกซึ้ง ตัดกันกับครัมเบิ้ลร่วนๆ เคี้ยวสนุก เป็นจานหวานหน้าตาน่ารักแต่รสหนักแน่นน่าสนใจ

หลังลิ้มรสครบจบทุกคอร์ส เราเหล่าผู้ร่วมโต๊ะในมื้อนั้นต่างสนทนาและเห็นตรงกันว่า ทุกจานที่ไล่เรียงมาตั้งแต่น้ำมัลเบอร์รี่แสนสดชื่นนั้นอร่อย และกว่านั้นยังน่าประทับใจ ด้วยวัตถุดิบที่ใช้นั้นเชื่อมโยงเราเข้ากับเรื่องราวของวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม รวมถึงความตั้งใจของผู้ปลูกและผู้ปรุงที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง ผ่านการร่วมแรงลงครัวด้วยความใส่ใจ และใช่ ไม่ว่าจากนี้เราจะเลือกกินอะไร ก็คงต้องคิดให้ไกลกว่าความอร่อยชั่วครั้งชั่วคราว

ภาพถ่าย: ม็อบ อรุณวตรี