ถ้าไม่อยากเจ็บป่วย เราต้องรักษาความสะอาด…

ใครๆ ก็คงได้ยินมาแบบนี้ ด้วยกิจวัตรประจำวันที่ถูกปลูกฝังเรื่องความสะอาด ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ล้างมือระหว่างวัน แปรงฟันอีกครั้งหลังทานอาหาร ซักผ้า ถูบ้านทุกสัปดาห์ และอื่นๆ รวมทั้งในยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยอุปกรณ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สรรพคุณการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสูงถึง 99.9% ทั้งกระดาษเช็ดมือ สเปรย์แอลกอฮอล์ รวมไปถึงเครื่องปรับอากาศฆ่าเชื้อภายในบ้าน ฯลฯ

แต่เชื่อหรือไม่ว่าช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาในโลกตะวันตกกลับมีอัตราผู้ป่วย ‘ภูมิแพ้’ และ ‘เบาหวาน’ มากกว่าประเทศกำลังพัฒนา แถมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ เด็กในสหรัฐอเมริกากว่า 40% มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน แม้แต่ในประเทศเดียวกันเด็กที่ครอบครัวร่ำรวย ก็กลับมีแนวโน้มที่จะป่วยบ่อยกว่าเด็กยากจนกว่าอีกด้วย เพราะอะไรกันล่ะ?

เพื่อนเก่าที่หายไป

เราอาจหลงลืมไปว่า มนุษย์อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแบคทีเรียและจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ มากว่านับหมื่นปี ซึ่งการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั้นมีส่วนเกี่ยวพันกับจุลินทรีย์เหล่านี้อย่างแยกไม่ออก ที่ผ่านมา ‘แบคทีเรียที่ดี’ คือตัวช่วยกระตุ้นการพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายในมนุษย์ให้มีความแข็งแรง จุลินทรีย์บางตัวมีส่วนช่วยในระบบย่อยอาหาร หรือแม้กระทั่งอารมณ์ของเรา

​แต่ในยุคปัจจุบันที่ความเจริญกระจายตัวมากขึ้น ความ ‘สะอาดเกินไป’ กลับทำลายจุลินทรีย์เพื่อนยากจนเกือบสูญพันธุ์ โดยมีงานวิจัยเรื่องทฤษฎี ‘Hygiene Hypothesis’ หรือที่มีชื่อเล่นน่ารักว่า ‘Lost friends hypothesis’ ที่แสดงให้เห็นว่า ‘ความสะอาดเกินไป’ อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว

การพัฒนาภูมิคุ้มกันของมนุษย์พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 1-3 ขวบ โดยจากการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก พบว่าเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อหรือสะอาดเกินไปจะทำให้เด็กมีโอกาสเป็น ‘ภูมิแพ้’ ได้ง่าย และอาการเจ็บป่วยต่างๆ ก็มักจะ ‘หายยาก’ กว่าปกติ แถมในระยะยาว อาจมีโอกาสเป็นเบาหวานและโรคซึมเศร้ามากกว่าปกติอีกด้วย

ตรงกันข้ามกับเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์ มีหนู หรือแมลงสาบภายในบ้าน กลับมีโอกาสสัมผัสกับจุลินทรีย์ที่หลากหลายกว่า และทำให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่า

ทฤษฎีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเด็ก ในผู้ใหญ่เองก็เช่นกัน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในปัจจุบันกว่า 50% อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Oxford Academic ยังพบว่าการที่ไม่ได้สัมผัสกับแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ เกี่ยวข้องกับการอักเสบของสมองและทำให้มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์สูงขึ้นได้เช่นกัน

ทำตัวสกปรก จะได้แข็งแรง?

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าให้คุณเลิกอาบน้ำหรือมาทำบ้านรกกันเถอะ แต่เราอยากจะสื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสุขภาพที่แข็งแรงกับระบบนิเวศภายนอก เพราะร่างกายของเรา ก็เปรียบเสมือนโลกใบเล็กๆ ที่จะแข็งแรงได้ก็ด้วยสมดุลและความหลากหลายของจุลินทรีย์ต่างๆ ที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ไม่ใช่การทำตัวสกปรก แต่เราอาจเสริมสร้างสมดุล ‘แบคทีเรียที่ดี’ ในร่างกายเราได้ด้วยวิธีการต่างๆ เริ่มจากการกิน เราควรรับประทานอาหารที่มีกากใย อาหารอินทรีย์ อาหารปรุงสดใหม่ที่ไม่ผ่านการแปรรูป ทานของหมักดองหรือนมเปรี้ยวบ้าง เพื่อช่วยเติม probiotic ให้กับร่างกาย

ยิ่งไปกว่านั้น การออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ เดินเล่นในสวนสาธารณะ ขุดดิน ทำสวน ก็ช่วยให้เราได้รับแบคทีเรียที่ดีอีกด้วย

อย่าทำให้ความกลัวและความสะอาดเกินไป พรากเพื่อนเก่าไปจากคุณ

ที่มาข้อมูล:

หนังสือ Dirt Is Good: The Advantage of Germs for Your Child’s Developing Immune System.

Hygiene and the world distribution of Alzheimer’s disease: https://doi.org/10.1093/emph/eot015

ภาพประกอบ: paperis