เป็นประเด็นที่คนทั้งในวงการเกษตรกรรม แวดวงวิชาการ รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอร่วมลุ้นกันมานานแรมปี ว่าผลการตัดสินใจของรัฐบาล ในการสั่งแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชฤทธิ์ร้ายอย่าง พาราควอต (Paraquat) จะออกมาอย่างไร ในโมงยามที่ประเทศเกษตรกรรมกว่า 53 ประเทศทั่วโลกต่างพร้อมใจแบนสารเคมีชนิดนี้

กระทั่งผลลัพธ์ปรากฎแก่สาธารณะเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ ไม่สั่งห้ามการใช้พาราควอตในการเกษตร ในวงเล็บว่าต้องใช้อย่างระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐซึ่งจะลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยในแปลงเกษตรทุกๆ 2-3 เดือน

คำถามถัดมาก็คือ เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปอย่างรัดกุมจริงหรือ?

เมื่อมองดูภาพรวม พบว่าประเทศต้นทางผู้ผลิตพาราควอตอย่างอังกฤษเอง ก็มีมติสั่งห้ามใช้พาราควอตในแวดวงการเกษตร หรือประเทศจีนที่มีโรงงานผลิตพาราควอตขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก็สั่งยุติการซื้อขายในประเทศอย่างเด็ดขาดไปเมื่อปี ค.ศ. 2016 ด้านกลุ่มประเทศนอร์ดิกซึ่งอินกับวิถีเกษตรอินทรีย์มาเนิ่นนาน ก็สั่งห้ามใช้พาราควอตกันตั้งแต่ยุค 80 โน่นแล้ว ด้วยเหตุผลตรงไปตรงมาว่าเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเข้าใจดีแล้วว่าพาราควอตนั้นอันตราย ทว่าอันตรายในระดับไหน ส่งผลร้ายแรงอย่างไร ทำไมหลายฝ่ายถึงพากันร่วมลุ้นร่วมต่อต้านสารเคมีชนิดนี้กันแบบสุดตัว?

และต่อไปนี้คือตัวอย่างความน่ากลัวที่พาราควอตมีมากกว่าแค่ทำลายวัชพืช

ฝังลึกในดิน ปนเปื้อนในน้ำ ทำลายชีวิต

ย้อนกลับไปยังศตวรรษที่ 18 เดิมทีพาราควอตเป็นสารเคมีซึ่งผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เชิงอุตสาหกรรม ก่อนนักวิทยาศาสตร์จะพบว่ามันมีคุณสมบัติกำจัดวัชพืชจำพวกหญ้ารากตื้นได้ดีมาก สำคัญคือไม่ทำร้ายต้นไม้ที่เป็นต้นประธาน แค่เพียงเกษตรกรนำพาราควอต (หรืออีกชื่อคือ กรัมม็อกโซน) ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นบริเวณโคนต้น จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงเหล่าวัชพืชก็จะพากันล้มตายจนเกลี้ยง ทั้งเร็ว ง่าย และสะดวก

ทว่าอะไรที่ทั้งเร็วและแรง ก็มักมีผลข้างเคียงที่น่ากังวลเสมอ…   

เมื่อพาราควอตสามารถละลายน้ำได้ดี ฉะนั้นหากฉีดพ่นลงบนดิน ก็ย่อมเกิดการชะล้างจากฝนบ้าง น้ำรดต้นไม้บ้าง กระทั่งไหลรวมลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจนเกิดมลพิษ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกบริเวณที่ราบสูงซึ่งหน้าดินถูกน้ำชะล้างได้ง่าย อาทิ พื้นที่เกษตรในจังหวัดน่าน ซึ่งใช้พาราควอตฉีดพ่นกำจัดวัชพืชทั้งในไร่ข้าวโพด ไร่กะหล่ำปลี รวมถึงพืชอุตสาหกรรมอื่นๆ กระทั่งสัตว์น้ำจืด อาทิ ปูนา กบ หรือปลาตัวเล็กตัวน้อยในแหล่งน้ำชุมชน ถูกตรวจพบว่ามีสารพาราควอตปริมาณสูงกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้หลายเท่า เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเมื่อชาวบ้านนำสัตว์น้ำเหล่านั้นไปปรุงเป็นอาหาร สารพาราควอตก็จะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย รอวันกลับกลายเป็นโรคร้าย อาทิ มะเร็ง โรคตับ หรือพาร์คินสัน ในอนาคต

ร้ายแรงขนาดนี้ ภาคประชาชนควรทำยังไง

นอกจากอันตรายระยะยาว ถ้ามองกันในระยะใกล้ตัว พาราควอตก็ชวนให้หวาดกลัวไม่แพ้กัน เพราะเพียงสัมผัสโดนผิวหนังโดยตรง สูดเอาไอของมันเข้าไป หรือเผลอป้ายตาเพียงเล็กน้อย สารเคมีชนิดนี้ก็จะออกฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่ออย่างรุนแรง จนเกิดอาการบวมแดง หรือหากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากก็อาจส่งผลแก่ชีวิต

ถึงกับมีผลวิจัยสำรวจว่า ในประเทศที่แบนพาราควอตนั้นมักมีอัตราคนฆ่าตัวตายด้วยสารเคมีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ มีอัตราคนฆ่าตัวตายด้วยสารเคมีลดลงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ หลังสั่งแบนพาราควอตไปเมื่อปี ค.ศ. 2011 หรือประเทศไทยเอง ก็พบว่ามีการใช้พาราควอตเพื่อฆ่าตัวตายนับร้อยรายในแต่ละปี เนื่องจากพาราควอตเพียง 1 ช้อนชานั้นสามารถทำลายอวัยวะภายในจนยับเยิน

หนทางง่ายที่สุดในการป้องกันและต่อต้านชีวิตจากสารพาราควอตก็คือ การเลือกบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก เพื่อหลีกให้ไกลสารเคมีตัวร้าย และช่วยสนับสนุนเกษตรกรสายอินทรีย์ให้เติบโตสู้กับบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ได้ในอนาคต นอกเหนือจากเลือกบริโภคอาหารปลอดภัยแล้ว ภาคประชาชนยังสามารถช่วยกันจับตาการตัดสินใจของภาครัฐ รวมถึงตรวจสอบความโปร่งใสผ่านช่องทางต่างๆ เหมือนอย่างที่ประชากรชาวยุโรปร่วมกันลงนามกว่า 5 ล้านรายชื่อเพื่อต่อต้านการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่ออนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้า ที่อาจเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความอันตราย หากเราไม่ร่วมมือกัน

ภาพถ่าย: บารมี เต็มบุญเกียรติ (WWF Thailand Project)

ที่มาข้อมูล:
www.reuters.com/article/brazil-pesticide-paraquat-idUSL2N0WY2V720150402
www.chula.ac.th/cuinside/10196
https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/PQ
www.thaipan.org/sites/default/files/file/pesticide_doc35.pdf