“แม่นายลืมแล้วฤาเจ้าคะ มีระดูก็ต้องขี่ม้าเจ้าค่ะ”
พอแม่การะเกดได้ย้อนเวลากลับไปพบเจอพี่หมื่นจากละครดังอย่างบุพเพสันนิวาส ก็พลอยทำให้เราได้ย้อนเวลาไปรู้จักกับผ้าอนามัยสมัยโบราณอีกด้วย พอนางมีประจำเดือน พี่ผินพี่แย้มก็กุลีกลุจอจัดเตรียมข้าวของทำ ‘ผ้าขี่ม้า’ อันเป็นชื่อเรียกของผ้าอนามัยสมัยนั้น
ข้างในผ้าขี่ม้า นอกจากบรรจุด้วยกาบมะพร้าวแล้ว บางคนก็อาจจะใช้ฟาง นุ่น หรือแกลบเป็นตัวซึมซับได้เหมือนกัน เอาตัวซึมซับเย็บม้วนใส่ผ้ายาวๆ โยงจากข้างหลังถึงข้างหน้า มัดด้วยเชือกกล้วยและผูกไว้กับเอว จะเกะกะหรือเดินเหินอย่างไรนั้นก็มิอาจทราบได้
ซึ่งหากแม่นายการะเกดย้อนเวลามายุคปัจจุบัน ก็คงต้องอึ้ง ต้องทึ่ง เพราะผ้าอนามัยสมัยนี้มีส่วนประกอบต่างๆ ตั้งแต่ 7 ชั้น! ทั้งแผ่นผิวสัมผัส แผ่นป้องกันการไหลย้อนกลับ แผ่นซึมซับ แผ่นซึมเปื้อนซ้ายขวา แผ่นรอง แถวกาว และพลาสติกห่ออีก มีทั้งพลาสติกดูดซับที่ย่อยสลายยาก ขยะที่กระจัดกระจายยากต่อการคัดแยกและจัดเก็บ….
“แล้วจะใครจะมาเก็บไปทิ้งล่ะพี่ ของๆ เราแท้ ๆ…เอาเข็มกับด้ายมา เดี๋ยวข้าทำเอง” แม่นายการะเกดอาจจะพูดแบบนี้
ผ้าขี่ม้ายุคตื่นเขียว
ทุกวันนี้ เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำผ้าขี่ม้าใช้เองเหมือนกัน หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ‘ผ้าอนามัยแบบใช้ซ้ำ’
ผ้าอนามัยใช้ซ้ำอาจเป็นเรื่องใหม่ของใครหลายๆ คน แต่จะว่าไปมันก็มีมาตั้งแต่โบราณกาล สาวยุครัตนโกสินทร์ก็ใช้ผ้าซับระดูที่เอามาทบซ้อนกันหลายชั้น พอใช้เสร็จก็นำมาซัก หรือปัจจุบันผ้าอนามัยแบบนี้ก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในยุโรปและยอดฮิตในประเทศญี่ปุ่น
ด้วยความที่เราไปอ่านบทความเกี่ยวกับกลุ่มสาวๆในประเทศอินเดียที่ผลิตผ้าอนามัยใช้เอง เพราะผ้าอนามัยจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาแพง เด็กในชนบทอินเดียที่มีประจำเดือนก็ต้องขาดเรียนอยู่บ้านเฉยๆ หรืออาจจะต้องคุดคู้อยู่ในห้องน้ำทั้งวัน ส่วนผ้าอนามัยราคาถูกก็คุณภาพไม่ดี ใส่ไม่สะดวกสบาย และบางคนก็แพ้สารเคมีที่ใส่มากับกระบวนการผลิต นี่จึงเป็นเหตุผลให้ Eco femme รวมกลุ่มกันผลิตผ้าอนามัยซักได้ ราคาถูก และเข้าถึงทุกคน
เวิร์กไหม ผ้าอนามัยใช้ซ้ำ
ตอนแรกที่รู้จักผ้าอนามัยใช้ซ้ำ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีสิ่งนี้ในโลก และก็เป็นเหมือนคนอื่นๆ ที่มักจะมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย จะใช้ดีจริงหรือ ดูแลรักษาอย่างไร จะสะอาดไหม? ซึ่งเราก็ไม่รู้จะหันหน้าไปถามใครนอกจากทดลองใช้เอง
ผลการทดลองใช้ ขอบอกเลยว่า “ใส่สบายมากกกกกก” เหมือนกับเราใส่กางเกงหนาๆ ที่ผิวสัมผัสเป็นผ้าฝ้ายนุ่มๆ ไม่ใช่แผ่นพลาสติกแข็งๆ ที่สำคัญคือลายน่ารัก (ฮา)
ส่วนการซึมซับก็จะอยู่ได้สัก 3-5 ชั่วโมง พอใกล้เต็มก็จะเริ่มรู้สึกตัวได้ก่อนที่มันจะเลอะ เน้นเปลี่ยนบ่อยๆ เพื่อสุขอนามัยที่ดีอีกด้วย ส่วนการซักล้างก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แช่น้ำให้นานหน่อย ผสมน้ำยาซักผ้าหรือเบกกิ้งโซดาทิ้งไว้แล้วค่อยมาซัก แต่ต้องมั่นใจว่าตากให้แห้งจริงๆ
สำหรับวันมามากหรือเดินทางไกล เราก็ยังไม่ได้ปฏิเสธผ้าอนามัยสำเร็จรูปเสียทีเดียวนะ
ผ้าอนามัยแบบถ้วย ก็มีด้วย
อันนี้ก็ได้ยินมานานแล้วแต่ยังไม่เคยลองกับตัวเอง ‘Menstrual Cup’ หรือถ้วยอนามัย ผลิตจากซิลิโคนคุณภาพดีที่ใช้ซ้ำได้นานหลายปี วิธีใช้คล้ายๆ กับผ้าอนามัยแบบสอดที่จะต้องใส่เข้าไปในช่องคลอด ทำให้สะดวกสบายในการเคลื่อนตัว ไม่เลอะตลอดทั้งวัน แถมกักเก็บได้นานถึง 12 ชั่วโมง ส่วนการทำความสะอาดก็ต้องเอาต้มในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อเรียกได้ว่าแบบถ้วยนี้สะดวกสบายและรักโลกแบบสุดๆ มีใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ สำหรับบ้านเรายังจัดว่ามีราคาสูงอยู่มาก ทำให้ต้องคิดหลายตลบก่อนจะตัดสินใจลอง ส่วนที่ราคาถูกลงมาหน่อยก็ยังไม่แนะนำนะคะ เพราะอาจจะเป็นซิลิโคนที่เกรดต่ำกว่าและอาจจะไม่พอดีกับน้องของเราสรุปว่า ผ้าขี่ม้าแบบใช้ซ้ำนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในยุคปัจจุบันที่สาวๆ จะเลือกใช้ได้ เพียงแค่เปิดใจ ยอมรับความไม่สะดวกสบายบางประการ แต่รับรองว่าน่าจะใช้ดีกว่ากาบมะพร้าวแบบโบราณอย่างแน่นอน!