สุขภาพดีเริ่มต้นที่การกิน และแม้ว่าข้อจำกัดในการเลือกกินของแต่ละประเทศจะแตกต่าง แต่เราเชื่อว่า ‘วิถี’ การกินดี เป็นเรื่องที่คนเราควรศึกษา เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนกันได้ไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหนหรืออาศัยอยู่ตำแหน่งใดในโลก
แน่นอนว่า คนไทยเราเองก็มีเคล็ดลับสุขภาพดีจากการกินข้าวเป็นสำรับกับข้าว กินข้าวกับน้ำพริก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่อยู่ในบ้านเรามายาวนาน เลยอยากชวนมาเปิดหูเปิดตาด้วยการถอดรหัสเรื่องการกินจาก 5 ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารดี แล้วดูว่ามีวิธีคิด วิธีเลือก และวิธีกินแบบไหนที่ปรับใช้กับโต๊ะอาหารบ้านเราได้บ้าง
1
กินครบหมู่ แบบคนญี่ปุ่น
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงได้มีอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก เหตุผลสำคัญคือสัดส่วนการกินที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ งานวิจัยหนึ่งได้บอกไว้ว่า อาหารญี่ปุ่นแต่ละมื้อนั้นอุดมด้วยคาร์โบไฮเดรต ผัก และผลไม้ ในสัดส่วนที่พอๆ กับโปรตีนจากปลาและเนื้อ นั่นเท่ากับว่าในหนึ่งมื้อแบบตามธรรมเนียมญี่ปุ่นนั้นจะมีสารอาหารครบ 5 หมู่เสมอ โดยไม่ต้องรอสโลแกน ‘ผักครึ่งนึง อย่างอื่นครึ่งนึง’ มากระตุ้นแบบบ้านเราเลย
รัฐบาลญี่ปุ่นเคยประกาศแนะนำให้ประชาชนกินไขมันและอาหารสำเร็จรูปให้น้อยลง และกินคาร์โบไฮเดรตจากข้าวและผักให้มากขึ้น ผลสำรวจปรากฏว่าคนที่ทำตามคำแนะนำมีอัตราความเสี่ยงต่อการตายที่ลดลงถึง 15% ด้วยเหตุนี้เอง การกินข้าวของคนญี่ปุ่นเลยเอาชนะความเชื่อของคนอีกกลุ่มที่เชื่อว่าข้าวขาวเป็นอาหารที่ไม่ดีได้ รวมทั้งการดื่มชาเป็นประจำแทนเครื่องดื่มชนิดอื่น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนญี่ปุ่นสุขภาพดีเช่นกัน
2
กินของใกล้ตัว แบบชาวนอร์ดิก
ขนมปังไรย์ ปลามัน โรสฮิป รากผัก ชีสจากการหมักนม เหล่านี้คืออาหารสามัญประจำบ้านของกลุ่มดินแดนนอร์ดิกอันประกอบไปด้วยสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเทรนด์อาหารดีที่กำลังนิยมไปทั่วโลก
หัวใจของอาหารแบบนอร์ดิก อยู่ที่การเลือกกินของจากวัตถุดิบพื้นถิ่นที่ทั้งสดและมีประโยชน์มากแล้วในตัวมันเอง อย่างปลาและผักท้องถิ่นสีสันสดใสก็อุดมด้วยเบต้าแคโรทีนและสารต้านอนุมูลอิสระ ส่วนขนมปังก็อุดมด้วยใยอาหาร ถ้ามองในภาพรวม อาหารนอร์ดิกมีปริมาณของน้ำตาลที่ต่ำ เต็มไปด้วยผักและผลไม้สด การไมไ่ด้กินอาหารแปรรูปหรือเนื้อสัตว์ใหญ่มากนักก็ลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายนั่นเอง
3
กินถั่วกินเมล็ด แบบชาวแอฟริกาตะวันตก
ฟังดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่อาหารของชนชาติแถบแอฟริกาตะวันตกจะติดอันดับอาหารสุขภาพดีของโลก แต่ผลสำรวจออกมาแล้วว่า ถ้าไม่นับปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ ที่จริงแล้ว ชาวมาลี เซเนกัล ชาด และเซียร์ราลีโอน คือประเทศที่กินอาหารสุขภาพดีไม่แพ้ชาวญี่ปุ่นเลย
อาหารท้องถิ่นยอดฮิตของชาวแอฟริกาตะวันตกอย่างข้าวผัดหรือข้าวหุงสีเหลืองที่เรียกว่า Jollof rice ที่กินกับสตูว์ถั่ว ปลารมควัน และแยม นั้นอุดมไปด้วยส่วนประกอบที่ดีต่อร่างกายอย่างธัญพืช เนื้อไม่ติดมัน ผักและผลไม้ ซึ่งมีใยอาหารและโอเมก้า 3 รวมทั้งมีแคลอรี่ต่ำ นั้นลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และถือว่าเป็นอาหารที่ดีกว่าอาหารแปรรูปหลายเท่า
4
กินไม่เยอะ แบบคนฝรั่งเศส
ทำไมชนชาติที่กินชีส ครัวซองต์ และเนื้อเป็นชีวิตจิตใจอย่างฝรั่งเศส ถึงมีผลสำรวจออกมาว่าประชาชนมีอัตราความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและความดันที่ต่ำได้ คำตอบคือเป็นเพราะ ‘ปริมาณ’ การกินที่จุ๋มจิ๋มนั่นเอง
ผลสำรวจบอกว่าอาหารที่เสิร์ฟในร้านอาหารที่ปารีสมีน้ำหนักเฉลี่ยต่อจานเพียง 277 กรัม ขณะที่ร้านอาหารในฟิลาเดลเฟียมีน้ำหนักมากถึง 346 กรัม นักวิทยาศาสตร์ยังบอกอีกด้วยว่าการกินอาหารที่มีคุณภาพดีของคนฝรั่งเศส ยังช่วยทำให้คนหยุดกระหายได้ดีกว่าและไม่กินเยอะจนเกินไปอีกด้วย
ส่วนประกอบในจานอาหารใบโตของฝรั่งเศส นอกจากจะมากองตรงกลางแบบไม่เยอะจนเกินไปแล้ว ยังประกอบด้วยผลไม้ ผัก ธัญพืช ถั่ว รวมทั้งยังเป็นไขมันดี ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันมะกอกบริสุทธ์ ไขมันดีในปลา รวมทั้งเนื้อไม่ติดมันอีกด้วย กินน้อย แต่กินเน้นๆ แบบนี้แล้วคนฝรั่งเศสจะไม่สุขภาพดีได้ยังไง
5
กินดีผสมผสาน แบบคนเมดิเตอร์เรเนียน
ผลไม้และผักสด ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วหลากสี ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม และน้ำมันมะกอก นี่คือส่วนผสมมหัศจรรย์ที่ทำให้อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนได้รับการขนานนามว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดในโลก เพราะทั้งลดการเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน รวมไปถึงโรคความจำเสื่อม
งานวิจัยไม่นานนี้เพิ่งค้นพบว่า เบอร์รี่และสตรอว์เบอร์รี่ช่วยต้านโรคอัลไซเมอร์ได้ ส่วนน้ำมันมะกอกที่เป็นไขมันหลักของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนก็มีกรดไขมันตัวดีที่ช่วยรักษาหัวใจ คนแถบนี้จึงมีอายุยืนและหัวใจดีได้เพราะอาหารที่กินเข้าไปนั่นเอง
ภาพประกอบ: npy j.