ถ้านึกภาพสัตว์สูญพันธุ์ในจินตนาการของใครหลายคน คงจะหนีไม่พ้นไดโนเสาร์เต่าล้านปีแบบในจูราสิกปาร์ค หรือสัตว์ยอดนิยมอย่างช้างแมมมอธหรือเสือเขี้ยวดาบ

นับตั้งแต่โลกได้ให้ถือกำเนิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมา การสูญพันธุ์ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกันนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เพราะมีภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดอย่างในยุคจูราสิก หรืออุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลกแบบยุคครีเตเชียส แต่ที่จริงแล้วในทุกยุคสมัยแม้กระทั่งในปัจจุบัน ก็มีสัตว์ที่ต้องสูญพันธุ์ไปด้วยสาเหตุที่แตกต่าง

แล้วการสูญพันธุ์ในปัจจุบันสำคัญอย่างไร?

ยุคนี้เราไม่เจออุกกาบาตหรือภูเขาไฟยักษ์ระเบิด แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่คือการระบาดและแพร่พันธุ์ของมนุษย์ไปทั่วโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติมากมายและการปล่อยมลพิษต่างๆ มหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็ว จนยุคปัจจุบันถูกจัดเป็นการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งในนามว่า Holocene Extinction (หรือการสูญพันธุ์โดยมนุษย์)

​สัตว์ที่สูญพันธุ์จึงไม่ได้มีแค่ไดโนเสาร์เท่านั้น แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็มีสิ่งมีชีวิตค่อยๆ จากโลกใบนี้ไป…อย่างเงียบงัน

แรดขาวจะอยู่อย่างไรเมื่อไร้ตัวผู้

หลายคนอาจจะพอได้ยินข่าวเล็กๆ เมื่อเดือนมีนาที่ผ่านมา (ท่ามกลางกระแสออเจ้า) ถึงการจากไปของตัวผู้ตัวสุดท้ายของ Northern White Rhinoceroses แรดขาวพันธุ์เหนือตัวนี้เป็น 1 ใน 3 ตัวที่ได้รับการดูแลในอุทยานแห่งชาติ Ol Pejeta ประเทศเคนยา มันถูกตัดนอออกไปเพื่อป้องกันคนมาลักลอบฆ่าและมีเวรยามคุ้มครองอย่างดีตลอด 24 ชั่วโมง เพราะนอแรดมีมูลค่ามหาศาลและถูกล่าเพื่อใช้ทำเป็นยาจีนโบราณ

ถึงมันจะได้รับการดูแลอย่างดี แต่ด้วยร่างกายที่ทรุดโทรมตามอายุขัย ทำให้เจ้าหน้าที่จำต้องตัดสินใจวางยาเพื่อให้มันจากไปอย่างสงบ และแม้แรดขาวพันธุ์เหนือตัวเมีย 2 ตัวสุดท้ายของโลกจะยังมีชีวิตอยู่ แต่การจากไปของตัวผู้ก็บ่งบอกชัดเจนแล้วถึงการจบสิ้นของสายพันธุ์ตามธรรมชาติ

เต่ายักษ์เฒ่าผู้เดียวดายจนวาระสุดท้ายของชีวิต

​จอร์จเป็นเต่ายักษ์กาลาปากอส (Galapagos Tortoise) ตัวสุดท้ายที่บนโลกใบนี้ มันฟันฝ่าชีวิตยืนยาวมากว่า 100 ปี จอร์จถูกค้นพบครั้งแรกบนเกาะพินตาท่ามกลางฝูงแกะจำนวนมาก การเข้าไปตั้งถิ่นฐานและเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเต่ายักษ์กาลาปากอสลดน้อยลง จอร์จจึงถูกนำมาดูแลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกาลาปากอส เจ้าหน้าที่พยายามอย่างมากในการหาสาวมาให้ผู้เฒ่าจอร์จได้สืบพันธุ์ แต่กลับไม่พบเต่าสายพันธุ์เดียวกันหลงเหลืออยู่อีกเลย แม้จะพยายามให้ผสมพันธุ์กับเต่าสายพันธุ์ใกล้เคียงซึ่งใช้เวลากว่า 35 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

จนเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 จอร์จก็ได้จากโลกนี้ไป และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความพยายามในการปกป้องระบบนิเวศอันเปราะบางของหมู่เกาะกาลาปากอสและระบบนิเวศทั่วโลก

คางคกทองคำที่สูญหาย

สีเหลืองทองอร่ามทำให้คางคกที่หน้าตาตะปุ่มตะปั่มดูมีสง่าราศีขึ้นมาไม่น้อย คางคกสีทองหรือ Golden Toad ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1964 บนป่าเมฆที่สูงกว่า 1,500 เมตรในประเทศคอสตาริก้า มันอยู่อาศัยในป่าสูงที่ชื้นแฉะและหนาวเย็น ในปี 1987 มีการประมาณจำนวนประชากรสูงถึง 1,500 ตัว แต่เพียงหนึ่งปีถัดมา ประชากรที่พบเห็นมีเพียง 10-11 ตัวเท่านั้น และหลังจากนั้นอีกสองปี (1989) ก็ไม่มีรายงานการพบเห็นเจ้าคางคกสีทองอีกเลย

นักวิจัยต่างสันนิษฐานว่าการสูญพันธุ์อันรวดเร็วนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรง บางปีเป็นปีที่มีฝนน้อยและแห้งแล้งมาก ประกอบกับเชื้อราระบาดในกลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ คางคกสีทองจึงเป็นเหมือนนาฬิกาเตือนภัยว่าสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤต

จากไขมันสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แมวน้ำ

Caribbean Monk Seal แมวน้ำหน้าตาน่ารัก อัธยาศัยดีที่อาศัยอยู่ในทะเลแคริบเบียน มีรายงานการค้นพบมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยคริสโตเฟอร์โคลัมบัสเดินเรือ ประมาณการว่ามีมากมายหลายพันตัว นอนอาบแดดบนชายหาดกันเป็นกลุ่มใหญ่ จนกระทั่งปี 1688 เริ่มมีการทำเกษตรกรรมบนเกาะเล็กเกาะน้อยและมีการล่าแมวน้ำชนิดนี้เพื่อนำเอาไขมันใต้ชั้นผิวหนังมาหล่อลื่นเครื่องจักรและใส่ตะเกียงสำหรับเดินเรือ เพราะพวกมันไม่กลัวคนและออกจะอยากรู้อยากเห็นเสียด้วยซ้ำทำให้ถูกล่าได้ง่ายวันละกว่าร้อยๆตัว เป็นเหตุให้ประชากรของเจ้าแมวน้ำลดลงอย่างรวดเร็วและกลายเป็นสัตว์หายาก

มีรายงานการพบเห็นแมวน้ำชนิดนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1952 แม้จะมีการสำรวจอย่างจริงจังแต่กลับไม่พบร่องรอยของมันอีกเลย เมื่อปี 2008 จึงประกาศให้ Caribbean Monk Seal เป็นสัตว์สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ

เจ้าชายสมันแห่งทุ่งบางกอก

สมัน (Schomburgk’s deer) คล้ายกวางขนาดเล็กแต่มีเขาแตกกิ่งก้านสาขาที่งดงามกว่ามาก ไม่น่าเชื่อว่าสมันเคยอาศัยอยู่ในใจกลางกรุงเทพมหานครรวมถึงพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเขาใหญ่ที่แลดูเทอะทะทำให้มันอาศัยอยู่ในที่เปิดโล่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้สมันถูกล่าได้ง่าย บางครั้งอาจจะใช้ปืนล่า หรือถ้างบน้อยก็จะเอาเขาของมันมาสวมปลอมเป็นตัวผู้เพื่อล่อให้ตัวจริงเข้ามาใกล้ก่อนใช้หอกแทง และเอาเนื้อมาประกอบอาหารหลากหลาย

สมันตัวสุดท้ายในธรรมชาติถูกยิงตายเมื่อปี 1932 ส่วนสมันในที่เลี้ยงกลับน่าสลดยิ่งกว่าเพราะถูกคนขี้เมาตีตายเมื่อปี 1938 ประเทศไทยจึงสูญเสียสิ่งมีชีวิตที่สวยงามไปอย่างน่าเศร้าใจโดยที่เราไม่มีโอกาสได้พบเห็นมันเลย

นอกจากสัตว์เหล่านี้แล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่สูญพันธุ์ไปในทุกนาที ไม่ใช่แค่เพียงการล่า การเอามาทำอาหาร แต่รวมถึงการเบียดเบียนทรัพยากรและที่อยู่อาศัย การก่อให้เกิดมลพิษและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง E.O. Wilson กล่าวว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของพืชและสัตว์บนโลกจะสูญพันธุ์ในช่วงเวลา 100 ปี

แน่นอนว่าเราอาจจะไม่มีโอกาสได้อยู่ถึงวันนั้น แต่การกระทำของเราในทุกๆ วันจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้