‘สายสุขภาพ’ ไม่รู้ทำไมทุกวันนี้คำนี้ถึงกลายเป็นคำล้อเลียนหรือแซวตัวเองของกลุ่มคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายจริงจัง ไม่ได้มีเป้าหมายจะลงแข่ง บางคนแซวไปแซวมาถึงกับท้อแท้ ผิดหวัง อับอายจนเลิกออกกำลังกายไปก็มี วันนี้ผมจึงอยากอธิบายถึงคำว่า ‘สายสุขภาพ’ ที่แท้จริงให้อ่านกัน

“ฉันเก่งกว่า แต่ทำไมฉันไม่ชนะ” 

เคยมีกลุ่มคนมาประท้วงถามหาความโปร่งใส หลังจากที่ผมไปช่วยจัดกิจกรรมหาคนที่สุขภาพดีแข็งแรงประจำฟิตเนสให้กับหน่วยงานหนึ่งในสมัยก่อน ทำไมผู้แข่งขันมีทั้งนักกล้าม นักวิ่ง นักกีฬาระดับติดถ้วยมากมาย แต่คนชนะกลับเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ วัย 50 ปี เหตุผลที่ผมชี้แจงนั้นมีดังนี้ กิจกรรมนี้จัดหาคนที่สุขภาพดีร่างกายแข็งแรง ดังนั้น เกณฑ์ทดสอบจึงใช้แบบทดสอบสมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพ (Health – Related Physical Fitness) ซึ่งคำนึงถึงความสามารถของระบบต่างๆ ในร่างกายประกอบด้วย เพราะความสามารถเชิงสรีรวิทยาด้านต่างๆ ที่ช่วยป้องกันบุคคลจากโรคที่มีสาเหตุจากภาวะขาดการออกกำลังกาย นับเป็นปัจจัยหรือตัวบ่งชี้สำคัญของการมีสุขภาพดี ซึ่งความสามารถหรือสมรรถนะเหล่านี้ สามารถปรับปรุงพัฒนาและคงสภาพได้โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีองค์ประกอบดังนี้ 1. องค์ประกอบของร่างกาย 2. ความอดทนของระบบไหลเวียนเลือด 3. ความอ่อนตัวหรือความยืดหยุ่น 4. ความแข็งแรงและอดทนของกล้ามเนื้อ

เกณฑ์เพื่อสุขภาพไม่ใช่เพื่อความเป็นเลิศ

ดังนั้น สิ่งที่ผมจะบอกคือ เกณฑ์เพื่อสุขภาพไม่ใช่เพื่อความเป็นเลิศ สมมติถ้าการทดสอบวิดพื้นเกิน 35 ครั้งจะได้คะแนนเต็ม คุณวิดพื้นได้เป็นร้อยครั้งก็ได้คะแนนเต็มเท่ากัน เช่นเดียวกันกับการทดสอบความอดทนระบบไหลเวียนเลือด คุณจะวิ่งเร็ววิ่งนานขนาดไหนก็ไม่ได้คะแนนเพิ่มเป็น 2 เท่า หรือจะเป็นการทดสอบความยืดหยุ่น ก้มแตะปลายเท้าได้เกินฝ่ามือได้คะแนนเต็มคนที่ยืดหยุ่นดีจนเอาขาไขว้คอได้ก็ได้เท่ากัน ที่สำคัญหลายคนชอบคิดว่านักกีฬานั้นแข็งแรง ใช่ครับ แต่แข็งแรงแต่ไม่ได้หมายความว่าเขามีสุขภาพที่ดี เนื่องจากการออกกำลังกายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพนั้น เมื่อฟิตไปถึงระดับหนึ่งแล้วก็จะเริ่มคงที่และจะลดลงด้วยซ้ำถ้าฝึกมากเกินไป

การที่จะฝึกนักกีฬาเพื่อเข้าแข่งขันต้องฝึกร่างกายอย่างหนัก ยิ่งฝึกมากขึ้นเท่าไรความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บข้อต่อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ปวดเมื่อย เป็นไข้อ่อนๆ ป่วยง่าย ภูมิคุ้มกันก็ต่ำลง ฮอร์โมนผิดปกติ ผลเสียต่างๆ ก็จะยิ่งมากขึ้น เราต้องเข้าใจว่าที่จริงแล้ว การออกกำลังกายคือการทำลายกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ฯลฯ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายปรับตัวให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งการสร้างความแข็งแรงนั้นเกิดขึ้นตอนพักผ่อนและได้รับสารอาหารเพียงพอ ดังนั้น คนทั่วไปที่มีงานประจำไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอแบบนักกีฬาอาชีพ ก็อาจจะทำให้สุขภาพแย่ลงได้

คุณอาจจะเป็นแชมป์วิ่งมาราธอน แต่ถ้าวิดพื้นฟอร์มสวยๆ ไม่ได้แม้สักที (หัวใจฟิตเต็ม 10 แต่ความแข็งแรงกล้ามเนื้อตกเกณฑ์) หรือเป็นแชมป์เพาะกายแต่ก้มแตะปลายเท้าตนเองไม่ได้ วิ่งไม่ไหว (ความแข็งแรงเต็ม 10 แต่ความยืดหยุ่นและความฟิตของหัวใจตกเกณฑ์) ถ้าใช้เกณฑ์สุขภาพที่เฉพาะด้านวัด คุณก็อาจจะแพ้คนธรรมดาที่แม้จะไม่ได้ดูเด่นอะไรสักอย่างอยู่ดี

สิ่งสำคัญคือความสมดุล 

บทความนี้ไม่ได้จะให้คุณทิ้งความเป็นเลิศ แต่ต้องการให้เห็นว่าบางครั้งถ้าเราเน้นไปแค่ด้านใดด้านหนึ่ง จนละเลยสมรรถภาพด้านอื่นๆ ไป ก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในด้านนั้นได้อย่างที่ควร แม้คุณจะเป็นนักกีฬาแต่ถ้าคุณมีปัญหาร่างกายยืดหยุ่นไม่ดี กล้ามเนื้อไม่สมดุล ก็ไม่สามารถฝึกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โอกาสเกิดการบาดเจ็บก็ง่าย นักกีฬาว่ายน้ำหรือปั่นจักรยานอาจจะมีปัญหากระดูกพรุนได้ในอนาคต ถ้าละเลยการฝึกที่มีแรงต้านเพื่อสร้างความแข็งแรงของกระดูก เป็นต้น

การกีฬาอาจแข่งกันง่ายๆ ที่ผลงานและสถิติ ใครทำได้มากกว่าก็ชนะไป เพื่อสุขภาพ สมรรถภาพทางกายที่ควรประเมินก็มี 4 ด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่อย่าลืมว่าในเรื่องการใช้ชีวิต ต่อให้เป็นนักกีฬา คนดัง คนรวยระดับโลกที่ชนะในการแข่งขัน แต่ก็อาจแพ้ในการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น เราลองพิจารณาดีๆ ว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร มีด้านใดบ้างที่เราต้องให้ความสำคัญ การงาน การยอมรับ รายได้ ครอบครัว ความรัก สุขภาพ ฯลฯ บางครั้งคะแนนแต่ละด้านที่เราประเมินให้ตนเองอาจจะไม่เยอะ ประสบความสำเร็จไม่สุด แต่คะแนนรวมอาจชนะคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ ก็ได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นไปได้ในทุกด้าน และที่สำคัญที่สุดการมีสุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่งนะครับ