เราได้ยินเรื่องราวความสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพในเมืองไทยมามากมาย แต่ก็รู้สึกว่าได้ว่าแนวคิดธุรกิจที่มาแรงที่สุดในทศวรรษนี้ไม่ค่อยมีบทบาทกับแวดวงสินค้าเกษตรเสียเท่าไหร่ จนเราได้รู้จักกับ FARMTO ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเกษตรแนวคิดใหม่ ที่ไม่เพียงแค่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เขายังหวังว่าโลกเสมือนจริงบนอินเทอร์เน็ตนี้จะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันได้

โต-อาทิตย์ จันทร์นนทชัย ชาวนารุ่นใหม่ของจังหวัดปทุมธานีและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งฟาร์มโตะ บอกว่าจุดเริ่มต้นของฟาร์มโตะเกิดขึ้นเพราะเขาเและเพื่อนๆ ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีในอย่างแอพพลิเคชั่น สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาซ้ำซากที่เกษตรกรต้องเจออยู่ทุกวัน ทั้งเรื่องตลาด  ราคา และลูกค้า ความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ที่อยากแก้ไขปัญหาและอยากช่วยให้เกษตรกรทุกคนสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไป จึงกลายมาเป็นฟาร์มโตะที่เราเห็นในวันนี้

จากชาวเมือง สู่ชาวนา และความหวังที่จะแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร

“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นเกษตรกรนะครับ แค่อยากมีพื้นที่ที่เราชอบ มีพื้นที่ผ่อนคลาย” โตเล่าให้เราฟังว่าก่อนจะมาเป็นชาวนารุ่นใหม่อย่างทุกวันนี้ เขาเป็นชาวเมืองทั่วไปที่สนใจเกษตรอินทรีย์และเริ่มทำเกษตรผสมผสานบนที่นาเปล่าซึ่งซื้อมาจากเงินเก็บของตัวเอง แต่การทำนาอินทรีย์ในช่วงแรกไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะที่ดินผืนที่เขาซื้อนี้ เดิมเป็นของเกษตรกรที่ทำนาเคมี ทำให้ดินเสียจนแทบปลูกอะไรไม่ได้ โตต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี ในการแก้ไขให้ดินปรับตัว และพัฒนาตัวเองให้ปลูกเก่งขึ้น เวลาผ่านไป จากความตั้งใจแรกของโตที่อยากมีพื้นที่นาเอาไว้ผ่อนคลาย ปลูกข้าว ปลูกผัก เป็นผลพลอยได้ไว้กินเองในครอบครัว เขาก็เริ่มอยากต่อยอดค้าขายผลผลิตขึ้นมา

“แต่ตอนนั้นไม่รู้จะขายให้ใคร ถ้าเอาไปขายในตลาดเราต้องขายราคาเท่ากับผลผลิตเคมีซึ่งมันก็ไม่แฟร์กับเราเท่าไหร่ ขายแพงก็ไม่ได้เพราะลูกค้าไม่ซื้อ เขาไม่รู้ไม่เห็นว่ามันต่างกันอย่างไร เราคิดว่าปัญหามันอาจจะไม่ใช่แค่ต้องขายอย่างไร แต่เราจะสื่อสารยังไงกับคนภายนอก ให้เข้าใจในคุณค่าของสิ่งที่เราทำ”

ในเวลานั้นการทำเพจ Facebook เพื่อซื้อขายของออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยความชอบเล่นเฟซบุ๊กอยู่แล้วและเห็นว่าการทำเพจคือช่องทางสื่อสารที่ดี เขาจึงตัดสินใจเปิดเพจของตัวเองขึ้นมาในชื่อ ‘บ้านฉันออร์แกนิกส์’

นอกจากจะบอกเล่าถึงวิถีของเกษตรอินทรีย์ของเขายังมีกิจกรรมที่ให้คนภายนอกได้มาลองดำนาและผูกปิ่นโตกับข้าวในนาของเขา เรื่องราวเหล่านี้ค่อยๆ ได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าช่องทางออนไลน์อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรได้ ไม่ใช่แค่ฟาร์มของโตคนเดียว “พอทำเพจเราก็ได้เจอเพื่อนที่ทำสวนอินทรีย์และมีแนวคิดคล้ายๆ กัน เจอปัญหาแบบเดียวกัน เลยคุยกันเล่นๆ ว่าเราน่าจะมีโมเดลธุรกิจอะไรที่ชวนผู้บริโภคมาทำอะไรซักอย่าง เช่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเพาะปลูก ที่เขาจะได้ผลผลิตกลับไปก็คงดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดฟาร์มโตะ” โต เตย (ภัททิยา อัครทวี) และไผ่ (ประณัศเดช ตันติพงศ์) จึงจับมือร่วมกันพัฒนาแนวคิดที่เคยคุยกันเล่นๆ ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ร่วมเป็นเจ้าของผลผลิต โมเดลธุรกิจใหม่ที่คนไม่คุ้นเคย

“การร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตในตอนนั้นเป็นสิ่งที่ใหม่มาก ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ไหม เลยทดสอบโมเดลด้วยการทำในนาของตัวเองก่อน”

แม้จะไม่มีใครเคยทำธุรกิจอย่างจริงจัง แต่ด้วยอาชีพที่คลุกคลีอยู่กับวงการสื่อและการตลาด จึงเริ่มต้นธุรกิจฟาร์มโตะจากความถนัดและต้นทุนที่เขามีคือความรู้ในการทำสื่อประชาสัมพันธ์

“เราเริ่มประชาสัมพันธ์เพจฟาร์มโตะด้วยการทำวิดีโอง่ายๆ เพื่อบอกเล่าว่าเราจะทำเกษตรรูปแบบใหม่ เชิญชวนให้คนทั่วไปมาร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตในนาของเราเอง โฆษณาเพียงไม่นานผลตอบรับที่ได้กลับมาดีมาก ตอนนั้นมีคนมาร่วมจองพื้นที่ 100 กว่าคน ขายข้าวได้ 80% ของผลผลิตทั้งหมด ก็เริ่มคิดแล้วว่าโมเดลธุรกิจอย่างการร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตใช้ได้นะ มีคนซื้อของตั้งแต่ยังไม่เห็นผลผลิต และแก้ปัญหาเรื่องราคาได้เพราะเราซึ่งเป็นเกษตรกรสามารถกำหนดราคาได้เอง ผู้บริโภคก็ได้เห็นคุณค่าจากความใส่ใจของเกษตรกรตั้งแต่ตอนปลูก ก็เลยคุยกับเพื่อนว่าถ้าเอาไปใช้กับเกษตรกรทั่วประเทศได้คงจะดี”

โตบอกว่าตอนนั้นแนวคิดการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพกำลังเข้ามา ซึ่งข้อดีของธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นคือการนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน ลดแรงงาน และทำให้โมเดลกิจกรรมของธุรกิจสามารถทำซ้ำและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์สิ่งที่ฟาร์มโตะกำลังมองหาและคิดว่าน่าจะนำมาต่อยอดความสำเร็จที่จับต้องได้จากยอดจองในพื้นที่นาของตัวเอง โตจึงเชื่อว่าโมเดลสตาร์ทอัพแบบฟาร์มโตะจะต้องได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างแน่นอน

โตเริ่มชักชวนเกษตรกรในครือข่ายที่ตนรู้จักและเล่าถึงสิ่งที่ฟาร์มโตะอยากทำ ซึ่งก็คือการให้ทุกฟาร์มบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ว่าเขาเป็นใคร ปลูกอะไร แล้วชวนผู้บริโภคมาร่วมเป็นเจ้าของ แม้จะฟังดูเป็นโมเดลที่เกษตรกรได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะมีลูกค้ารอซื้อของตั้งแต่ยังไม่มีผลผลิตออกมา แต่เกษตรกรส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วย “ทุกคนบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะโดยปกติแล้ว การทำเกษตรในประเทศไทยนั้น มักจะดำเนินไปตามประสบการณ์และความคุ้นเคย เกษตรกรส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเองต้องมีผลผลิตที่ดีที่สุดก่อนแล้วค่อยขายออกไป แต่ฟาร์มโตะเหมือนกำลังจะขายต้นข้าวให้คนที่จะซื้อข้าวสาร ใครมันจะไปซื้อ”

พิสูจน์ตัวตน เริ่มต้นจากฟาร์มที่ใช่

แม้เสียงตอบรับจากเกษตรกรในเครือข่ายไม่ดีเท่าที่คิด แต่โตและเพื่อนๆ ก็ไม่ได้ย่อท้อในการหาเกษตรกรที่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ “เราเชื่อว่าต้องมีคนที่คิดเหมือนกัน ก็เลยหาไปเรื่อยๆ จนมาเจอน้องเปิ้ล (ศิริวิมล กิตะพาณิชย์) เจ้าของไร่รื่นรมย์ เราเล่าให้ฟังว่าเราอยากทำอะไร ปรากฏว่าเขาชอบไอเดียเรา และเขามีเพื่อนๆ เป็นเกษตรกรในกลุ่ม slow food อยู่ด้วย จึงชักชวนกันมาจนเราได้เกษตรกรชุดแรกที่ร่วมลงเรือกับเรามา 10 คน”

หลังจากได้เกษตรกรที่สนใจ โตและเพื่อนๆ ได้เดินทางไปฟาร์มต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อทำคลิปวิดีโอประชาสัมพันธ์เกษตรกรทุกฟาร์มแล้วปล่อยออกไปพร้อมๆ กันผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง

นอกจาก Passion ความมุ่งมั่น และโมเดลที่ต้องสามารถทำซ้ำได้ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยของธุรกิจสตาร์ทอัพคือเงินทุน ระหว่างการผลิตคอนเทนต์ชุดแรก โตจึงนำโมเดลธุรกิจของเขาไปการประกวดโครงการ Banpu Champions for Change ควบคู่ไปด้วย เมื่อชนะการประกวดพวกเขาจึงนำเงินรางวัลเหล่านั้นมาช่วยประชาสัมพันธ์ทำให้ฟาร์มโตะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้างกว่าเดิม

“ผลตอบรับช่วงเดือนแรกดีมากครับ เพราะเราทำการประชาสัมพันธ์ไปเยอะ มีลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสาย เกษตรกร 10 เจ้าแรกของเรามีคนจับจองผลผลิต มีคนไปเยี่ยมชมฟาร์มถึงที่ ทำให้โมเดลนี้เริ่มมีรูปธรรมที่คนอื่นๆ เห็นว่าทำให้สำเร็จได้”

ยอดขายที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรทั้ง 10คน เสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าและคนภายนอก ทำให้เกษตรกรรายอื่นที่ตอนแรกไม่กล้าสมัครเนื่องจากไม่มั่นใจ เริ่มมองเห็นว่าสิ่งที่ฟาร์มโตะทำจะช่วยพวกเขาได้ จึงสมัครกันเข้ามามากกว่า 3,000 คน ซึ่งตอนนั้นเองที่ทำให้โตเห็นข้อจำกัดของเพจและเว็บไซต์ขึ้นมา

“ตอนนั้นเกษตรกรสามารถติดต่อเราได้ผ่านกล่องข้อความหน้าเว็บไซต์ เมื่อเขาติดต่อเข้ามา เราถึงจะพูดคุยกับเกษตรกรทีละคน เจรจาสร้างข้อตกลง พอเห็นตรงกันจึงค่อยไปอัดคลิปวิดีโอสร้างคอนเทนต์ให้แต่ละฟาร์ม เพื่อนำกลับมาโปรโมตให้กับเกษตรกรผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของเรา”

ด้วยขั้นตอนการทำงานที่ทีมงานต้องลงมือเองตั้งแต่รับเรื่องไปจนถึงประชาสัมพันธ์ ทำให้ฟาร์มโตะไม่สามารถรับเกษตรกรครั้งละมากๆ นอกจากต้องลงพื้นที่ไปฟาร์มต่างๆ เพื่อถ่ายวิดีโอแล้ว ข้อมูลอัพเดตความเป็นไปของแต่ละฟาร์มนั้นมีช่องทางสื่อสารรวมๆ ผ่านเพจฟาร์มโตะที่เดียว ทำให้เกิดข้อกำจัดทั้งปริมาณงานที่เยอะเกินกว่าโตและเพื่อนจะทำไหว รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ง่ายต่อเกษตรกรและตัวลูกค้าเอง

ทำให้พวกเขาต้องหาเครื่องมือที่ช่วยให้การจัดการบริหารข้อมูลอันมหาศาลจากเกษตรกรหลายพันคน ซึ่งสิ่งที่จะมาช่วยคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นก็คือแอพพลิเคชั่นนั่นเอง

เส้นทางสายประกวด ที่ช่วยให้ฝันของฟาร์มโตะเติบโตได้จริง

“ในทีมเรามีเพื่อนที่เขียนโปรแกรม UX/UI ได้อยู่แล้ว แต่กว่าจะมาเป็นแอพฯ ที่เห็นตอนนี้ไม่ง่ายเลย การสร้างแอพฯ แต่ละแอพฯ นอกจากจะต้องมีคนเขียนโปรแกรมเป็นแล้ว ยังต้องใช้เงินทุนเป็นล้านๆ แต่เราเป็นคนปกติทั่วไป ไม่มีเงินทุนเยอะขนาดนั้น จึงตัดสินใจเข้าประกวด ระดมทุนจากโครงการสตาร์ทอัพและธุรกิจเพื่อสังคมต่างๆ เพื่อหางบมาสร้างแอพฯ ให้เกิดขึ้นได้จริง”

กว่าจะได้มาเป็นแอพพลิเคชั่นฟาร์มโตะที่เราเห็นในวันนี้ โตและเพื่อนๆ ต้องเดินสายประกวดกันมาไม่ต่ำกว่า 10 เวที เพื่อให้ได้งบที่เพียงพอต่อการพัฒนาจนได้แอพพลิเคชั่นที่พวกเขาฝันไว้

“มีหลายๆ การประกวดบอกว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในแง่ของกำไร”

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุกวันนี้ อย่างเช่น Grab หรือ Airbnb มีหนึ่งปัจจัยที่ตรงกันคือธุรกิจเหล่านั้นสร้างมาเพื่อการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค แต่ฟาร์มโตะกลับอยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะสตาร์ทอัพของเขาสร้างมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ผลิตอย่างเกษตรกรเป็นหลัก

“เราต้องการสร้างเครือข่าย สร้างการเชื่อมโยงเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ทำให้เกิดการซื้อขายที่เป็นธรรม มากกว่าสร้างตลาดออนไลน์ให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อเยอะๆ เลยทำให้นักลงทุนมองว่ามันอาจจะไม่สามารถเติบโตได้แบบที่เขาคาดหวังได้ เราก็เลยชวดทุนไปหลายๆ การประกวด” โตพูดพลางหัวเราะ

และในการประกวดแต่ละครั้ง นอกจากจะต้องพัฒนาแอพฯ ให้เป็นไปตามที่คาดหวัง โตกับเพื่อนๆ ยังต้องกลับมาแก้ไขโมเดลธุรกิจให้คลี่คลายและสำเร็จได้จริง “จะให้เราเปลี่ยนมาทำแต่ตลาดสินค้าอินทรีย์ตอบโจทย์ผู้บริโภคและนักลงทุนเพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ ก่อนก็คงไม่ได้ ก็เลยต้องพยายามหาตรงกลาง ที่ยังแก้ปัญหาเกษตรกรได้ แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายขึ้นด้วย จนได้มาเป็นแอพพลิเคชั่นฟาร์มโตะที่เราเห็นในตอนนี้”

พื้นที่เชื่อมต่อให้ผู้บริโภคและเกษตรกร

แอพพลิเคชั่นฟาร์มโตะในหน้าแรก สามารถเลือกได้ว่ามาขายหรือมาซื้อ

สำหรับหน้า ‘มาขาย’ นั้น เกษตรกรที่เข้ามาใช้งานครั้งแรกจะสามารถสร้างโปรไฟล์ของตัวเอง อัพเดตข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอให้ทีมงานฟาร์มโตะทำให้ “เมื่อก่อนเกษตรกรเหมือนต้องรอเราเป็นคนเชื่อมให้ เป็นคนกลางให้ แต่แอพฯ นี้จะช่วยให้เขาเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้โดยตรง เมื่อมีการสั่งซื้อหรือความเคลื่อนไหว โปรแกรมจะแจ้งเตือนผ่านแอพฯ ไปยังเกษตรกรได้ทันที”

สำหรับผู้ซื้ออย่างเราเมื่อเปิดเข้าไปจะเจอกับหน้า Home ที่แสดงสถานะอัพเดตของฟาร์มในหน้าต่างๆ ทั้งหน้าสินค้าสำหรับจับจ่ายซื้อผลผลิตส่งตรงจากไร่ หน้าฟาร์มของฉัน สำหรับค้นหาฟาร์มน่าสนใจเพื่อร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตกับเกษตรกร และหน้ากิจกรรมที่เอาไว้อัพเดตโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร “ตอนเป็นเพจเฟซบุ๊ก ผู้บริโภคจะไม่รู้เลยครับว่าต้องคลิกหาฟาร์มจากไหน จะเสิร์ชหา บางที่เราก็จำชื่อไม่ได้ การมีแอพฯ จึงเข้าถึงสะดวกกว่า เพราะเขาค้นหาข้อมูลได้โดยตรงว่าเกษตรกรคนนี้ปลูกอะไร ทำอะไรบ้าง”

นอกจากการใช้งานที่สะดวกแล้ว แอพพลิเคชั่นนี้ยังช่วยเกษตรกรที่สนใจร่วมงานกับแพลตฟอร์มของฟาร์มโตะ สามารถบอกเล่าเรื่องราวของเขาได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ทีมงานประชาสัมพันธ์ให้

“หลายคนถามว่าแพลตฟอร์มของฟาร์มโตะต่างจากตลาดออนไลน์อื่นๆ อย่างไร เราต้องบอกก่อนเลยว่า ฟาร์มโตะไม่ได้ขายแค่ผลผลิตทางการเกษตร ขายประสบการณ์ร่วมปลูกหรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างเดียว แต่เราขายสัมพันธภาพระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค”

ฟาร์มโตะบอกเราว่าเขาไม่ได้เป็นแค่ตลาดหรือพื้นที่ แต่คือเครื่องมือที่จะให้เกษตรกรหยิบยืมไปใช้ เพื่อให้สามารถขายผลผลิตได้อย่างยั่งยืน

“การสื่อสารที่เกิดขึ้นบนฟาร์มโตะคือการสร้างแบรนดิ้งให้เกษตรกรด้วย เกษตรกรบางคนอาจจะขายของผ่านฟาร์มโตะแค่ 10-20% จากผลผลิตทั้งหมดที่เขามี แต่คนรู้จักเขามากขึ้นเพราะมันอยู่ถูกที่ถูกทาง พอมีแบรนดิ้งชัดเจนมันก็ทำให้เขาสามารถไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ มีแฟนคลับมาตามซื้อเพราะแบรนด์ติดตลาดแล้ว ผมมองว่ากระบวนการเหล่านี้แหละที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างความยั่งยืน”

โตบอกว่าความสำเร็จของเกษตรกรหลายๆ คนในฟาร์มโตะ เกิดจากการเชื่อมโยงที่ดี การรับรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเพาะปลูกระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค นอกจากจะเพิ่มคุณค่าผลผลิตแล้ว ยังเป็นการส่งต่อมิตรภาพ สร้างสายสัมพันธ์ ที่ก่อให้เกิดสังคมแบ่งปันระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคแบบที่โตและเพื่อนๆ ฝันไว้

ซึ่งโตย้ำว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไร้เทคโนโลยี

ดาวน์โหลด FARMTO ฟาร์มโตะ ได้แล้วในระบบ Android และ IOS

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง, FARMTO