เคยรู้ไหมว่า เบื้องหลังของการจะเป็นผ้าสักผืน เสื้อสักตัว หรือชุดสวยๆ สักชุด เราต้องสูญเสียทรัพยากรอะไรไปบ้าง? หากเราซื้อแล้วใช้อย่างไม่คุ้มค่า หรือมีการผลิตที่ล้นความต้องการ จะส่งผลกระทบไปถึงไหน? และการหมุนเร็วของแฟชั่น ทำให้เรา ซึ่งหมายถึงทุกคนบนโลกนี้นั้น ต้องแลกคืนด้วยอะไร?

เมื่อคำสี่คำของแฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes ปรากฏขึ้นในโลกโซเชียลเมื่อปี 2562 ก็ได้กลายเป็นประโยคสั้นๆ ที่สร้างความฉุกใจให้กับผู้คนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่คลุกคลีหรือสนใจเรื่องราวของแฟชั่น ที่การตั้งคำถามว่าใครเป็นคนผลิตเสื้อผ้าให้เราสวมใส่ ได้พาเราล่วงเข้าไปถึงห่วงโซ่ของการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นหมุนเร็ว ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน โลก และสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เราคิด

ผู้อยู่เบื้องหลังแฮชแท็กนี้ คือ Fashion Revolution องค์กรที่จุดประกายให้คนหันมาปฏิวัติตัวเองในการบริโภคสินค้าแฟชั่นอย่างตระหนักรู้ถึงผลกระทบของอุตสาหกรรม fast fashion ซึ่งเริ่มต้นโดยกลุ่มดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ ที่รวมตัวกันออกมาป่าวร้องว่าวงการแฟชั่นจะเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มของโรงงานเย็บผ้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในบังกลาเทศ ถล่มทับคนงานเสียชีวิตนับพันคน ท่ามกลางกองเสื้อผ้าที่พวกเขากำลังตัดเย็บ

Fashion Revolution ขยายกิ่งก้านอย่างรวดเร็วไปสู่อีกนับร้อยประเทศ รวมถึง Fashion Revolution Thailand โดยการรวมตัวกันในปีแรกของ อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี บล็อกเกอร์สายคราฟต์ที่เคยทำงานอยู่ในธุรกิจ fast fashion มาก่อน และลูกแก้ว-ภัสสร์วี โคะดากะ เจ้าของแบรนด์ Folkcharm ที่คลุกคลีอยู่ในห่วงโซ่ของ slow fashion มามากกว่าห้าปี

จากการเริ่มต้นเพียงสอง ตอนนี้ Fashion Revolution Thailand ผลิกิ่งก้านออกไปมากขึ้นเช่นเดียวกันด้วยกำลังเสริมที่เข้ามาสมทบ ทั้งเตย-ณัฏฐ์กฤตา นราพรพิพัฒน์ ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการองค์กร วีณ-วรวีณ เหลืองเลิศกุล อดีตคนทำงานสายการเงิน และหยก-เจนจิรา จินตนาเลิศ อดีต Content Creator ที่ปัจจุบันทำงานอิสระ แม้จะมาจากต่างสายงาน ทุกคนต่างมีความเชื่อเดียวกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างผลกระทบต่อโลกและไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน

เราชวน Fashion Revolution Thailand แชร์เรื่องเล่าถึงการทำงานที่ผ่านมา และแผนงานที่รออยู่ เพื่อสร้างการขับเคลื่อนไปสู่การบริโภคสินค้าแฟชั่นที่ยั่งยืน ที่ต้องหนุนพลังกันทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค

อยากให้เล่าถึงการทำงานของ Fashion Revolution ให้ฟังสักนิดว่าประเด็นการขับเคลื่อนขององค์กรมีทิศทางอย่างไร

อุ้ง: ขอเล่าให้ฟังในระดับโลกก่อนว่า Fashion Revolution เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องความโปร่งใสในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพราะว่าความโปร่งใสเป็นสเต็ปแรกของความยั่งยืน ซึ่งไม่ได้ทำงานเฉพาะกับผู้บริโภค

แต่มุ่งที่จะให้ทั้งระบบ คือทั้งผู้ผลิต ไปจนถึง supply chain ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัย ยุติธรรม ยั่งยืน สำหรับทุกฝ่าย

ประเด็นแรกที่เราพูดถึง คือเรื่องสิทธิแรงงาน ผู้ผลิตมีความยุติธรรมในการจ่ายค่าแรงและสวัสดิภาพของคนงาน ไม่ใช่แค่รายได้ แต่เป็นความปลอดภัย บรรยากาศในการทำงาน ประเด็นที่สองเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในการผลิต ทั้งมลภาวะ สารเคมี ควรจะเอาออกไปจากสายพานระบบการผลิตหรือเปล่า หรือทำอย่างไรเพื่อที่จะบำบัดและไม่ปล่อยน้ำเสียหรือสารเคมีลงไปในดินในน้ำมากเท่าที่เป็นอยู่ ประเด็นที่สามเป็นเรื่อง Women’s Empowerment เพราะประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนในห่วงโซ่การผลิตสินค้าแฟชั่นส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และมักจะถูกคุกคามทั้งทางเพศ ค่าจ้างในที่ทำงาน ซึ่งได้รับต่ำกว่าผู้ชายมาก และคนทำงานในห่วงโซ่นี้ มักจะเป็นผู้หญิงที่เป็นกลุ่มคนชายขอบในประเทศของโลกที่สาม ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่เปราะบางมาก เลยจะมีเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวด้วย

แล้วในส่วนของผู้บริโภคล่ะคะ มีการสื่อสารออกไปในประเด็นไหน เพื่อที่จะให้ทั้งระบบขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกัน

เตย: เราอยากให้ผู้บริโภคตระหนักรู้เกี่ยวกับเสื้อผ้าที่เขาใส่มากขึ้นในเชิงของผลกระทบต่อตัวเอง ต่อผู้ผลิต ต่อผู้คนต่างๆ ใน supply chain และต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เพราะว่าการแต่งตัวก็เป็นเครื่องมือในการแสดงออกอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน บางคนอาจจะอยู่ในวัยที่กำลังอินเรื่องการแต่งตัว เขาอยู่ในวัยที่จะฟอร์ม identity ของตัวเอง เราก็อยากจะชวนให้คิดไปถึงจุดที่ว่า เสื้อผ้าของคุณที่ใส่มันตรงกับวิธีคิดของคุณไหม ตรงกับความเชื่อของคุณไหม ถ้าคุณเชื่อในความยุติธรรม คุณเคยทราบหรือไม่ว่าเสื้อผ้าของคุณมันถูกผลิตโดยความยุติธรรมหรือเปล่า นี่คือตัวอย่างนะคะ แต่ว่าแต่ละคนก็จะมีความคิด วิธีคิดไม่เหมือนกัน

Fashion Revolution เป็นองค์กรที่มีอยู่ในหลายประเทศ โจทย์ของการทำงานต้องมีความสอดคล้องหรือทำงานร่วมกันไหม

อุ้ง: ปกติแล้วเรื่องกลยุทธ์จะออกมาจากทางโกลบอลที่อังกฤษ ว่าเดือนนี้เราจะพูดถึงเรื่องนี้ เขาจะมีหัวข้อมาให้ เช่น เดือนนี้สิงหาคม 2563 พูดเรื่องการบริโภคนิยม เดือนต่อไปจะพูดเรื่องการใช้เสื้อผ้ามือสองดีอย่างไร และอาจจะพูดเรื่องแรงงานในอีกเดือนถัดไป ก็จะมีคอนเทนต์แชร์มาให้ เราซึ่งเป็นผู้ประสานงานอยู่ในประเทศนั้นๆ ก็จะมีหน้าที่แปลหรือส่งต่อให้ทีมที่พูดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน แต่เราไม่จำเป็นต้องทำก็ได้

เพราะเราก็ได้อิสระมากในการที่จะทำอะไรของเราเอง เพียงแต่ต้องมีไกด์ไลน์ว่า จะไม่ทำอะไรที่ไปขัดแย้งกับแบรนด์ พาดพิงแบรนด์ หรือเชิดชูแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเหนืออีกแบรนด์

ตอนนี้การทำงานของ Fashion Revolution ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการคุยกันมากขึ้นว่าอยากทำอะไรร่วมกัน อุ้งมองว่าถ้าได้ทำงานในระดับ regional ก็จะทำให้การขับเคลื่อนมันแข็งแรงขึ้น เพราะทางสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม เขาแอ็กทีฟมาก

แล้ววิธีการทำงานของประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไร ต่างกันกับเราไหม

อุ้ง: คล้ายๆ กับที่เราทำค่ะ มีจัดกิจกรรมในพื้นที่ของตัวเอง บางที่ก็จะทำแคมเปญ บางที่มีออนไลน์แคมเปญ อย่างที่เยอรมนีเขาทำเป็นแคมเปญใหญ่ มีตู้ขายสินค้าสำเร็จรูปซึ่งในตู้เป็นเสื้อยืดราคาถูกไปตั้งไว้กลางเมือง ขายตัวละประมาณ 2 ยูโร เวลาจะกดซื้อ ตู้นี้ก็จะเล่าเรื่องว่าคุณกำลังจะซื้ออะไร คนซื้อก็จะเห็นภาพของสินค้าที่เป็น fast fashion แต่ละประเทศสามารถครีเอตแคมเปญได้อิสระเลย ถ้าที่ไหนมีอะไรดีเขาจะหยิบไปเล่าต่อใน global platform ที่มีคนตามอยู่หลายแสน

ไอเดียของ Fashion Revolution Thailand โฟกัสไปที่เรื่องอะไรเป็นหลัก

อุ้ง: ตอนที่เราทำงานกันในปีแรก คือปี 2561 เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ถูกคนพูดถึงน้อยมาก ไม่มีใครพูดเรื่อง Sustainable Fashion หรือเรื่องของความยั่งยืน งานแรกที่เราจัดเป็นเกี่ยวกับ Fair Trade เรื่อง Social Enterprise การทำงานกับชุมชน คนที่มาก็จะเป็นคนทำงานคราฟต์อย่าง Folkcharm ภูคราม แม่ฑีตา ส่วนปี 2562 เราโฟกัสให้เข้าถึงผู้บริโภคในเมืองมากขึ้น เป็นการสร้าง awareness ต่อผู้บริโภค มีการฉายหนังสารคดี เวิร์กช็อป เสวนา

ลูกแก้ว: ปี 2562 เดือนเมษายนประมาณหนึ่งสัปดาห์ เรามี Fashion Revolution Week ค่ะ มีกิจกรรมทุกวัน

อุ้ง: จากผู้สนใจกลุ่มเล็กๆ ก็วิวัฒนาการเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น จากคนมาร่วมงาน 50-60 คน ล่าสุดปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 300 คน ปีนี้เราจะขยับมาที่การสร้างประสบการณ์ตรง อย่างเช่น พาคนไปลงพื้นที่ชุมชน จัดเวิร์กช็อปที่ทำงานกับ inner, mindset การเรียนรู้เรื่องสไตล์ การค้นหาตัวตน คือทำงานโดยมาเน้นเรื่องโซลูชั่น และ Clothes Swap ก็เป็นหนึ่งในโซลูชั่นด้วย ส่วนปีนี้เราก็จะเน้นจัดกิจกรรม จัด Clothes Swap จัดเวิร์กช็อป จัดทริปกัน แทนที่จะเป็นการให้ข้อมูลอย่างเดียว

เรียกได้ว่าตอนนี้คนเข้าใจคอนเซ็ปต์ Fashion Revolution แล้ว จากการทำงานกันมาสองปี?

เตย: คนจากฐานกลุ่มเดิมหรือคนที่เข้ามาจอยน์ค่อนข้างเข้าใจแล้ว แต่ปีนี้เรามองว่าอยากให้ awareness ไปได้ไกลมากขึ้น แล้วกิจกรรมอย่าง Clothes Swap จากที่เราจัดครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ก็เป็นคีย์ที่สามารถดึงคนใหม่ๆ เข้ามาได้ เหตุผลที่ดึงคนเข้ามาได้เพราะ Clothes Swap เองไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก ไม่ต้องศึกษาอะไรมาก เขาแค่มาลอง แต่ให้ผลลัพธ์เดียวกัน

งานนั้นมีคนมาร่วมเยอะไหม

วีณ: มีประมาณ 120 คนค่ะ แต่ถ้าเป็น Fashion Revolution Week ที่จัดทั้งอาทิตย์ ทั้งงานประมาณ 300 คน มาการบอกต่อแบบปากต่อปาก

มีวิธีคิดอย่างไร ในการออกแบบแต่ละกิจกรรม

วีณ: จากพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยค่ะ หลังๆ เราเริ่มโฟกัสที่พฤติกรรมของผู้บริโภคไทยมากขึ้น ก็เป็นสาเหตุที่ปี 2563 เราออกแบบกิจกรรมแนว Localize มากขึ้น

อุ้ง: ถ้ามองในกระแสหลัก คนไทยยังได้รับอิทธิพลจากจากโซเชียลมีเดียเยอะ การดูเทรนด์ในอินสตาแกรม ดาราแต่งตัวอย่างไร หรือเซเล็บแต่งตัวอย่างไร มันก็ยังเป็นเรื่องปกติของเทรนด์ค่ะ แต่เราก็จะพยายามเข้าไปอยู่ในเทรนด์นี้ด้วย กับดึง Influencer แฟชั่นต่างๆ มาร่วมกิจกรรมกับ เพื่อให้เกิดอีกเทรนด์หนึ่งที่มาแลกเสื้อผ้ากัน มาทำเวิร์กช็อปย้อมสีผ้าธรรมชาติกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ถ้าเป็นกลุ่มเด็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ จะซื้อแบรนด์ไทยน้อยลงมากถ้าเทียบกับหลายปีก่อน

คือเรื่อง Localize มันหายไปจากกระแสหลักนานมากแล้ว แทบจะไม่ได้อยู่ใน mindset ของผู้บริโภครุ่นใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมของเราพยายามที่จะดึงมันกลับมา และชวนคนที่สนใจเรื่องเทรนด์นี้มาเป็นผู้นำเทรนด์

หยก: จากที่เซอร์เวย์มา ผู้บริโภคที่เป็นทาร์เก็ตเราจะมีสามกลุ่มค่ะ กลุ่มแรก คือ Explorer คนที่ยังค้นหาตัวตนอยู่ สนใจที่จะเสพประการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่าง อย่าง Clothes Swap ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เรานำเสนอว่าเขาเป็นประสบการณ์การช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มรักแฟชั่น ค้นหาตัวตนผ่านการ Consume แฟชั่น ชอบเสพประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ อยากจะเป็นผู้นำเทรนด์ และอยากที่จะแตกต่าง กลุ่มที่สามคือ กลุ่ม Craft Environment คือกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องงานฝีมือ เรื่องธรรมชาติ ชอบการท่องเที่ยว ชอบไปเวิร์กช็อป ชอบแชร์เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชุมชน

มองว่ากิจกรรม Clothes Swap จะเข้ามาเปลี่ยน mindset ของคนที่มาร่วมงาน หรือคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องความยั่งยืนเลยได้อย่างไร

วีณ: เล่าก่อนว่า Clothes Swap เป็นงานที่เราเอาเสื้อผ้าสภาพดีที่มีอยู่ แต่เราอาจจะไม่ได้อินกับมันแล้ว หรือไม่อยากจะใส่แล้ว เอามาแลกกับคนอื่น ซึ่งวิธีการคือเราเลือกเสื้อผ้ามาประมาณ 15 ชิ้น แล้วเสื้อแต่ละตัวเราจะให้ราคาเป็นเครดิต โดยดูจากมูลค่าและสภาพ

สมมติว่าเสื้อผ้าที่เอามาแลก 15 ชิ้นนั้นได้ 20 เครดิต เราก็จะเอา 20 เครดิตนั้นไปแลกกับเสื้อผ้าที่คนอื่นเอามา swap ด้วย เหมือนเราไปซื้อเสื้อผ้าเลยค่ะ แต่เป็นการซื้อด้วยเครดิต ซึ่งเสื้อผ้าที่นำมาเราจะเป็น Pre-Loved หรือเสื้อผ้าตัวเก่าที่เราเคยรัก ของคนที่มาร่วมงาน

งานที่เราจัดปี 2562 มีเสื้อผ้ามาประมาณ 3,000 ตัว จากคนร้อยกว่าคน ครึ่งหนึ่งได้เจ้าของใหม่กลับบ้านไป อีกครึ่งหนึ่งเราแบ่งไปบริจาคให้ร้านปันกันของมูลนิธิยุวพัฒน์ ส่วนที่เหลือเรานำไปทำกิจกรรมที่งาน Wonderfruit  เป็นการเอาไปปรับปรุงโฉมใหม่ และเก็บไว้ในงาน Clothes Swap ครั้งต่อไป ส่วนตัวเครดิตเองถ้าใช้ไม่หมดก็สามารถเก็บไว้ใช้ครั้งต่อไปได้ด้วย ตอนนี้เรามองว่าเป็น community หนึ่งได้เลย เพราะคนติดใจ ถามกันมาว่าเมื่อไรจะจัดอีก

อุ้ง: ที่จริงปี 2563 Fashion Revolution Global ตั้งใจจะทำ Clothes Swap Global คือจัดพร้อมกันทั้งโลกในวีคเดียวในช่วงเดือนเมษายน แล้วนับยอดรวมกันว่าแลกกันไปกี่ล้านชิ้น แล้วรอวัดพร้อมกันทั่วโลกว่าจำนวนเสื้อผ้าทั้งหมดที่มา swap กัน ทำให้เราประหยัดทรัพยากรน้ำไปเท่าไร ลดคาร์บอนได้เท่าไร แต่ติดช่วงเหตุการณ์โควิด-19 เลยอดจัดงานไปแล้วค่ะ (หัวเราะ) กลายเป็นว่าต่างคนต่างจัดกันไปก่อน

มีเงื่อนไขมั้ยว่าเสื้อผ้าที่จะมาเข้าร่วมงาน Clothes Swap ต้องเป็นยังไง

เตย: มีค่ะ เพื่อความแฟร์กับทุกคน เพราะคนที่ซื้อมาแพงเขาก็ตั้งใจซื้อมา แต่ของถูกก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี เราก็ดูคุณภาพของเสื้อผ้าด้วย ไม่ใช่ดูแค่แบรนด์อย่างเดียว

อุ้ง: เราจะเขียนไว้ในกติกาว่า เมื่อเอามาแลกกับเราแล้ว เป็นสิทธิของทีมเรานะที่จะประเมินเครดิต ซึ่งคนที่จะเป็นคนให้เครดิตจะเป็นนักเรียนแฟชั่นหรือคนที่คลุกคลีกับแบรนด์ ที่ดูคุณภาพเป็นว่าชิ้นนี้แพงกว่าชิ้นนี้ หรือคุณภาพดีกว่า ดังนั้นคนที่มาร่วมงานก็จะได้ของที่แฟร์แน่ๆ กลับไป

มองในแง่หนึ่งก็เป็นการสร้างมูลค่าให้เสื้อผ้ามือสองเหมือนกัน

วีณ: ข้อดีคือแทนที่เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้เหล่านี้จะอยู่ในตู้เรา สุดท้ายพวกวัสดุหรือเส้นใยอาจจะเสื่อมไป แล้วถูกนำไปทิ้งในกองขยะ พอนำไปเผาก็จะเกิด carbon footprint เพิ่มขึ้น ที่เราเอามาแลกกันก็เพื่อยืดอายุให้เสื้อผ้าเหล่านี้ เสื้อผ้าบางตัวที่เราไม่ชอบแล้ว แต่คนอื่นอาจจะชอบก็ได้

อุ้ง: และตามที่ได้มีรีเสิร์ชมา การยืดอายุเสื้อผ้าสองเท่า คือแทนที่จะใช้แค่คนเดียว แต่เป็นการได้แบ่งกันใช้ สามารถลด carbon footprint ได้ 44 เปอร์เซ็นต์ แล้วการไม่ซื้อเสื้อใหม่มันช่วยลดดีมานด์การผลิตเสื้อผ้าแบบ fast fashion ซึ่งใช้ทรัพยากรเยอะ เช่น ทำเสื้อเชิ้ตใหม่ตัวหนึ่ง อาจจะใช้น้ำถึง 35 แกลลอน

ซึ่งเราก็มองว่าวิธีที่เราเอาเสื้อผ้ามาแลกกัน มันง่ายมากเลยในการทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้เอนจอยเสื้อผ้าไปด้วย และในขณะเดียวกัน ถ้าเราลดดีมานด์ต่อแบรนด์ fast fashion ตัวบริษัทเองเขาก็ต้องปรับตัวจากดีมานด์ที่ลดลง และไม่ผลิตสินค้าเกินความต้องการของตลาด

สิ่งหนึ่งที่เราเจอคือคนไทยบางส่วนมีทัศนคติในด้านลบต่อของมือสอง พ่อแม่ไม่ให้ใช้ สกปรก มีคนคิดแบบนี้ก่อนจะมาที่งานเหมือนกัน แต่พอมาแล้วเขาได้คุยกับหลายคน จากที่เคยตั้งคำถามกับเสื้อผ้ามือสอง พอได้มาสัมผัสกับเสื้อผ้ามือสองของใครสักคนในห้องนี้ คนที่เป็นคอมมูนิตี้เดียวกัน เขาก็รู้สึกว่าใช้ของมือสองไม่เห็นเป็นอะไรเลย เราไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่ตลอดเวลา แล้วเสื้อผ้าในงานนี้ไม่เหมือนเสื้อผ้ามือสองเลย เหมือนเสื้อผ้าใหม่ บางตัวยังมีป้ายติดอยู่เลย เพราะเจ้าของเก่าซื้อมาแล้วไม่เคยใส่ swap เลยเหมือนเป็นการช่วยเปลี่ยน mindset ว่าเราเอาเสื้อผ้าเพื่อนมาใส่ เอามาแลกกัน

แก้ว: มันคือการ setting representation ด้วย เราไม่ได้ทำให้มันดูเป็นกอง แต่ทำให้ดูเป็นราว จัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่สุดท้ายก็กองนะคะ เพราะแบบว่าเลือกกันมันมาก (หัวเราะ) เราทำรอบละสามชั่วโมง คนก็อยู่เต็มเลย แล้วทุกคนมาด้วยความตั้งใจว่ามาแล้วจะได้เสื้อผ้าใหม่ เหมือนเป็น chasing hunter

เตย: คีย์ของงานนี้คือคำว่า ‘trust’ ค่ะ เพราะคนที่มาคือคนที่คิดแบบเดียวกัน บางคนก็แต่งตัวคล้ายเราเลย งั้นเราลองมาแลกเสื้อผ้ากันดูซิ มีบางคนยืนเลือกอยู่ใกล้ๆ กัน บอกว่านี่ของฉัน เธอลองเอาไปใส่สิ มันมีความเชื่อมโยงทางความรู้สึกกัน

อุ้ง: อุ้งว่าความรู้สึกนี้ดีมากเลยนะ มันไม่ใช่แค่เชิงมูลค่า แต่มันเหมือนการได้มารู้จักกัน  แล้วรอบนี้เราพยายามจะใส่ emotional เข้าไป อาจจะเป็นการให้คนเขียนข้อความถึงเจ้าของเสื้อผ้าคนใหม่ แล้วห้อยติดไว้ คือที่เราทำเราไม่ได้แค่อยากทำเศรษฐกิจใหม่นะ แต่เราอยากทำคอมมูนิตี้ อยากให้คนรู้สึกว่ามาแล้วรู้สึกดีกับงานนี้จัง

ในปี 2563 นอกจากงาน Clothes Swap แล้ว Fashion Revolution Thailand มีโปรเจ็กต์อะไรต่ออีกบ้าง

อุ้ง: ปีนี้เราได้ทุนจากสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมสังคม (SYSI) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. ก็ทำให้เกิดโปรเจ็กต์ที่จะตามมา โปรเจ็กต์นี้เราตั้งสมมติฐานกันว่าถ้าคนรุ่นใหม่ในชุมชนเมืองได้ไปเชื่อมโยง ปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้จากชาวบ้าน ชุมชนชนบท ช่างฝีมือ เขาจะสามารถเปลี่ยนความคิดและเห็นคุณค่าในวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม แล้วตระหนักกับปัญหาสังคมมากขึ้น จากสมมติฐานนี้เราก็เลยออกแบบกิจกรรมกันเป็นสี่เรื่องใหญ่ๆ

หนึ่ง เป็นเรื่องการรู้จักตัวเอง เรามองว่าแฟชั่นเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงตัวตน จุดยืน ความเชื่อของเรา เรามารู้จักตัวเองกันก่อนว่าเรามีคุณค่าแบบไหน เราใส่ใจเรื่องอะไร แล้วเราจะสามารถใช้เสื้อผ้าเป้นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงออกถึงจุดยืนนั้นได้ยังไง ก็จะมีเวิร์กช็อปการบริโภคอย่างมีสติ เวิร์กช็อปการรู้จักตัวเองผ่านเสื้อผ้า มีเวิร์กช็อปจัดตู้เสื้อผ้า

สอง เป็นเรื่องการรู้จักธรรมชาติ คือจะชวนให้รู้จักสิ่งที่อยู่บนผิวหนังของเราก็คือผ้า แต่เราจะเน้นไปที่การรู้จักเส้นใยธรรมชาติ เราจะมีเวิร์กช็อป ‘ข้างหลังผ้า’ ให้มาเรียนรู้เบื้องหลังกระบวนการการผลิตผ้า เรียนรู้ผลกระทบของแต่ละวัสดุที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผ้าได้เหมาะกับการใช้งานหรือความต้องการมากขึ้น มีเรื่องการดูแลรักษาเสื้อผ้าที่เราอยากให้ผู้บริโภคสามารถอ่านฉลากเสื้อผ้าเป็น จะได้ถนอมดูแลให้เสื้อผ้าอยู่กับเราได้นานๆ

สุดท้ายเป็นทริปพาออกไปลงพื้นที่ชุมชน เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสีธรรมชาติ พาไปเก็บครามที่น่านแล้วเอามาทำสีย้อมธรรมชาติกัน แล้วก็มีทริปในเมืองที่พาคนไปรู้จักชุมชนคนทำงานเย็บผ้าในเมือง ไปดูคัลเจอร์ของตลาดผ้าในกรุงเทพฯ แล้วพาไปเยี่ยมชมคนงานหรือกลุ่มแรงงานเย็บผ้าที่เขารวมตัวกันทำอะไรดีๆ อยู่ จะเป็นแนว ethical fashion จากนั้นก็จะเป็น Co-Creation Workshop คือหลังจากได้เรียนรู้เรื่องตัวเอง เรียนรู้เรื่องธรรมชาติ เรียนรู้เบื้องหลังคนทำเสื้อผ้าของเราแล้ว ก็จะเป็นทริปกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการเวิร์กช็อปกับชุมชนที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีทั้งการปลูกฝ้ายออร์แกนิก ยังมีการปั่นฝ้าย ทอผ้าด้วยวิถีดั้งเดิมอยู่ เป็นการเรียนรู้วิถีการผลิตแบบ slow fashion แล้วผู้บริโภคก็มีโอกาสมาเป็นนักออกแบบบ้าง ก็เป็นการได้เรียนรู้ทั้งสองฝั่ง

เป้าหมายปลายทางของโปรเจ็กต์นี้คืออะไร

อุ้ง: พอเราเชื่อมโยงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายกับชุมชนได้แล้ว หลักๆ ฝั่งผู้บริโภคน่าจะเห็นคุณค่าของกระบวนการผลิตแบบ slow fashion มากขึ้น ว่ากว่าจะได้เสื้อผ้ามาหนึ่งตัวมันยากลำบาก ที่ราคาสูงเพราะการผลิตเป็นแบบนี้ เพื่อที่จะค่อยๆ ขยายฐานผู้บริโภคเสื้อผ้ายั่งยืน แล้วก็รู้ผลกระทบว่าการบริโภคของเราจะสามารถช่วยโลกหรือช่วยสังคมได้ยังไง

เราไม่จำเป็นต้องหยุดซื้อ แต่มันมีหนทางของการบริโภคที่ดีกว่า หลักๆ คือเราอยากให้ทั้งฝั่งผู้บริโภคได้รู้ว่าเขามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงได้

ฝั่งชุมชนก็ได้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีคนสนใจ มีคนเห็นคุณค่า ซึ่งหลายๆ กิจกรรมของเราก็จะเชิญชุมชนมาร่วมกิจกรรมกับคนในเมืองด้วย ไม่ใช่แค่เราเข้าไปหาเขาอย่างเดียว ก็คิดว่าโปรเจ็กต์นี้น่าจะจบช่วง Fashion Revolution Week เดือนเมษายนปี 2564 พอดี และผลิตภัณฑ์จากที่เราทำ Co-Creation ก็จะได้มาลอนช์ในงานนั้นด้วย และชวนชุมชนมาเจอกัน

Fashion Revolution Thailand เองมีความคาดหวังในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงจากการทำงานของเราอย่างไร

แก้ว: หลักๆ เลยน่าจะเป็นเรื่องของผู้บริโภค เรามองว่าจุดเปลี่ยนของทุกอย่างทั้งระบบ ทั้งกระแส คือตัวผู้บริโภค เราโฟกัสที่การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง แล้วเมื่อเขารู้มากขึ้นเขาจะเปลี่ยนแปลงยังไง เมื่อผู้บริโภคเป็นแบบนี้ เราจะเปลี่ยนทัศนคติหรือทำให้เขามีการเปลี่ยนแปลงภายในยังไง เพื่อให้ออกมาเป็นกระบอกเสียงให้เราในอนาคต ในการปรับเปลี่ยนชีวิตด้วยวิธีการใส่เสื้อผ้า

ถ้าอย่างนั้น หากมองไปข้างหน้าในระยะ 5-10 ปี คิดว่า Fashion Revolution Thailand จะเติบโตหรือขยับตัวอย่างไร

เตย: สิ่งที่ Fashion Revolution ทำก็คงเเปรผันไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค และสิ่งที่ผู้บริโภค ’เป็น’ ตามช่วงเวลา ตอนนั้นคงมีเรื่องใหม่ๆ ในวงการเเฟชั่นที่จะมานิยามวิถีชีวิตหรือแฟชั่นยั่งยืน แล้วเราก็คงเรียนรู้เกี่ยวกับมันไปพร้อมๆ ทุกคน แต่ก็เห็นความหวังว่าจะมีโมเดลใหม่ๆ ที่จะมาช่วยปรับพฤติกรรมและทัศนคติผู้บริโภคให้บริโภคอย่างเบียดเบียนทุกฝ่ายน้อยลง ทั้งตัวเองและผู้คนในโลกนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเเรงงานในการผลิต และสิ่งแวดล้อม

เตยเชื่อว่าตอนนี้แบรนด์ใหญ่ๆ ก็เริ่มปรับตัวกันเเล้ว ถ้าแบรนด์ใหญ่เปลี่ยน กลไกในระบบของอุตสาหกรรมนี้ก็คงปรับเปลี่ยนไปตามกัน ส่วนทาง Fashion Revolution ก็จะเป็นกระบอกเสียง สะท้อนให้ผู้บริโภคเห็นความจริง แล้วก็ช่วยสร้างแรงขับให้ทุกคนเห็นพลังของตัวเองในการเปลี่ยนแปลงต่อไป เชื่อว่าการที่แบรนด์ใหญ่ๆ ในระบบอุตสาหกรรมแฟชั่นหันมาปรับตัว ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเช่นกัน ไม่มีใครนำเทรนด์หรือตามเทรนด์ เเต่พึ่งพากันเป็นวงกลม

ในอนาคต Fashion Revolution ก็คงจะมีเครือข่ายที่กว้างขึ้น และทำหน้าที่ของเราในการเติมพลังให้ผู้บริโภคเห็นถึงพลังของตัวเองในการเปลี่ยนแปลง ในรูปแบบที่เหมาะสมกับโลกในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

Fashion Revolution กำลังจะมีงาน Clothes Swap ในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ที่ Lido Connect หลังจากปาร์ตี้แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ Fashion Revolution Thailand จัดขึ้นครั้งก่อนหน้า ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้คนหันมาเห็นคุณค่าของเสื้อผ้ามือสอง และนำมาแลกกันใส่ จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ของคนแฟชั่นที่รักโลก ซึ่งนอกจากจะได้ชุดใหม่กลับไปใส่ ยังได้เติมไอเดียในเรื่องแฟชั่นจากกูรู และได้ความรู้เรื่องแฟชั่นยั่งยืนกลับไปเล่าต่อ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Fashion Revolution Thailand 

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, Fashion Revolution Thailand