ครั้งแรกที่คุณวีรชัยหรือโกตี่ และคุณต็อบ จาก The Attitude Club Phuket ชวนให้มาทำอะไรสนุกๆ ที่ภูเก็ต และได้ยินชื่อ F.A.T TABLE ก็คิดอยู่ว่าจะให้เราไปทำอาหารอ้วนๆ มันๆ หวานๆ รึเปล่า? แต่พอรู้ที่มาที่ไปก็ถึงบางอ้อ เพราะ F.A.T TABLE ไม่ได้แปลว่าโต๊ะอ้วนหรือไขมันแต่อย่างใด มันมาจากคำว่า ‘FOOD ART TOWN’ ที่ถอดใจความมาจากความเป็นภูเก็ตที่เป็นทั้งเมืองศิลปะและเมืองแห่งอาหาร ซึ่งภูเก็ตเองก็เพิ่งได้รับรางวัล Creative City of Gastronomy จาก UNESCO ในฐานะเมืองแห่งมรดกอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าความสวยงามของท้องทะเลเลย
แต่ F.A.T TABLE เป็นโปรเจกต์ที่อยากจะสร้างความยั่งยืนด้านอาหารและศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในภูเก็ตถึง 11 ชุมชน โดยแต่ละชุมชนมีของดี ของเด่นต่างกันไป มีความผสมผสาน อยู่ร่วม และแตกต่างกันทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ บางแห่งติดแม่น้ำ บางที่ติดทะเล บางชุมชนอยู่บนภูเขา บางชุมชนเป็นชุมชนจีน ชุมชนมุสลิม ชุมชนชาวประมง บ้างทำสวน บ้างทำไร่ เป็นความหลากหลายทางระบบนิเวศมาก โปรเจกต์นี้จึงมีแนวคิดที่อยากให้ทุกคนได้รู้จักวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนต่างๆ แล้วนำเสนอสิ่งเหล่านี้ผ่านอาหารจากเชฟหลายๆ ท่านที่มีมุมมองต่างกันแต่มีแนวทางการทำงานคล้ายคลึงกัน
F.A.T TABLE จึงเป็นเหมือนการเชื้อเชิญคนมากินข้าวบ้านเพื่อนโดยมีเชฟมาช่วยทำอาหารจากหลังบ้านคนภูเก็ต และคอยบอกเล่าเรื่องราว ของวัตถุดิบ ของผู้คนในแต่ละที่ เพราะมันสนุกตรงที่ อาหารมันไม่ใช่แค่การกินให้อิ่มหรือกินให้อร่อย และแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่เป็นมื้ออาหารที่เสิร์ฟประสบการณ์ใหม่ๆ ผสมผสานกับวัตถุพื้นถิ่น ทำให้อาหารแต่ละจานมีความพิเศษและที่สำคัญที่สุด สิ่งเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยงไปกับชุมชน สังคม วัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน เป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างดี
ขอเล่าเรื่อง 11 ชุมชน ที่ทางทีมงานเข้าไปเก็บข้อมูล เพื่อรวบรวมเป็นหนังสือ ภูเก็ตนวัตวิถี เริ่มจาก บางคณฑี ส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิม มีผ้าบาติกที่สวยมากๆ มีอาหารมุสลิมที่เน้นใช้ของทะเลและของในป่าชุมชน ชุมชนที่สองคือ บางโรง มีหญ้าช้องเป็นของขึ้นชื่อ เอาไว้ทำเบือทอดกับกุ้งฝอยทะเล หญ้าช้องเป็นพืชน้ำลักษณะคล้ายๆ กุยช่าย มาทอดกรอบๆ อร่อยมาก บ้านเคียน มีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร สองวีรสตรีไทยจากเมืองภูเก็ต มีปลาฉิ้งฉ้าง หรือปลาตัวเล็กทอดกรอบ ม่าหนิก เป็นโซนปลูกพืชผักออร์แกนิก เช่น กระเจี๊ยบ มีหมูฮ้องอร่อย ลิพอนใต้ แหล่งผลิตหนังลุง ชุมชนแบบวิถีคนใต้ดั้งเดิม มีกะละแมอร่อย นอกเล เป็นชุมชนชาวประมง ของอร่อยที่ผมชอบมากคือผักลิ้นห่านที่ขึ้นอยู่ตามผืนทรายริมชายหาด แกงกะทิที่ใช้เนื้อควายมาทำอาหาร บางหวาน อีกชุมชนมุสลิมที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ป่าเขา มีน้ำตกสวยมากๆ พันวา มีหมู่เกาะน้อยใหญ่ ชอบที่สุดคือ หมึกโวยวาย หรือ หมึกตระกูล octopus หาทานยาก มีมากตามฤดูกาล สะปำ ชุมชนจีน มีอาหารฮกเกี้ยน อาหารเพอรานากัน ท่าฉัตรไชย ชุมชนริมน้ำปากน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์อนุบาลปลา และกุ้งมังกร 7 สี หรือ Phuket Lobster ของขึ้นชื่อเมืองภูเก็ต นาคา ชุมชนที่มีจุดชมวิวที่สวยที่สุดจุดนึงในภูเก็ต สิ่งที่ขึ้นชื่อคือ การนั่งช้างชมเมืองภูเก็ตจากมุมสูง ชมทะเล และชิมอาหารใต้พื้นถิ่น
ส่วนงานที่จัดขึ้นเป็น Chef’s table ที่เสิร์ฟเป็นจานๆ โดยเชฟจะออกมาอธิบาย บอกเล่า ส่งต่อเรื่องราวต่างๆ ให้ผู้ที่มากินอาหารได้สัมผัสมิติใหม่ๆ ไปด้วยกัน ครั้งนี้ได้ใช้ชั้น 2 ของร้าน Dibuk house เนรมิตเป็นสถานที่จัดงาน และได้เชฟม่อนและวิน เชฟรุ่นใหม่ของภูเก็ตจากร้านกาบกล้วย และร้าน Dibuk house มาดูแลเรื่องอาหารและเครื่องดื่มในวันนั้น
งานนี้จะจัดขึ้นทุกๆ สามเดือน โดยวนเวียนเชฟจากทั่วทุกสารทิศ ในธีมที่แตกต่างกันไปตามเทศกาลและฤดูกาลต่างๆ ของภูเก็ตนั่นเอง ได้ข่าวแว่วๆ ว่าเป็นเดือนพฤษภาคมในธีม ‘เหมืองแร่’ คอยติดตามเรื่องราวกันได้นะครับ
ภาพถ่าย: เชฟแบล็ค