เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความพ่ายแพ้ จากการศึกษาอัตราชุกของโรคในประเทศไทยพบว่า โรคภูมิแพ้มีความชุกหรือจำนวนผู้ป่วยต่อประชากรอยู่ที่ 15-45 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศเรานั้น เผชิญกับโรคภูมิแพ้อยู่ การแพ้อาหารเป็นหนึ่งในอาการแพ้ที่พบมากในปัจจุบัน ซึ่งความรุนแรงมีตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อย มีผื่นคัน ไปจนถึงขั้นส่งผลต่อชีวิตได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องรู้จักและทำความเข้าใจกับโรคแพ้อาหาร ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้ตัว

ทำไมถึงแพ้

อยากเลี้ยงสุนัขก็เลี้ยงไม่ได้ อาหารทะเลดูน่าอร่อยแค่ไหนก็ต้องอดใจ คนเป็นโรคภูมิแพ้คงสงสัยว่าทำไหมเราใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้

โรคภูมิแพ้คือโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นที่แตกต่างจากคนทั่วไป เราเรียกสารกระตุ้นอย่างเช่น ไรฝุ่น เชื้อราในอากาศ หรืออาหาร ว่าสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่ร่างกายคนปกติจะแพ้ได้น้อยหรืออาจไม่มีอาการแพ้เลย แต่ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น ร่างกายจะตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ได้มากกว่าปกติ

อย่างการแพ้อาหาร เป็นการแพ้ที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของเราตอบสนองผิดต่อโปรตีนบางชนิดในอาหาร อธิบายง่ายๆ ว่าร่างกายเราดันไปจดจำว่าโปรตีนในอาหารชนิดหนึ่งเป็นอันตราย ระบบภูมิคุ้มกันจึงตอบสนองสารก่อภูมิแพ้นั้นด้วยการกระตุ้นให้ผลิตแอนติบอดี้ชนิด Immunoglobulin E หรือ IgE ขึ้นมาเพื่อป้องกันร่างกายจากสารอันตราย ทำให้ครั้งต่อไปเมื่อร่างกายเราได้รับโปรตีนชนิดนั้น แอนติบอดี้ IgE จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านสารดังกล่าวขึ้นมาและส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮีสทามีนและสารเคมีอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเกิดอาการแพ้

ในแต่ละคนมีการแพ้อาหารไม่เหมือนกัน แล้วแต่ความซับซ้อนในกระบวนการย่อยอาหาร บางครั้งอาการจะเริ่มต้นจากมีอาการคันที่ปากก่อนเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร พออาหารถูกย่อยในกระเพาะอาหารแล้ว มักจะเกิดอาการบริเวณทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องร่วง และปวดท้องได้ เมื่อสารที่ทำให้แพ้เข้าสู่กระแสเลือดก็อาจทำให้ระดับความดันโลหิตตกลง หากไปที่ผิวหนังก็เกิดอาการผื่นแพ้ หรือไปที่ระบบทางเดินหายใจก็อาจทำให้เกิดอาการหอบหืดได้ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที หรือหลังจากทานอาหารเป็นชั่วโมงก็ได้เช่นกัน
 

ฉันแพ้ให้เธอทุกที: 5 อาหารยอดนิยมที่คนแพ้

ร่างกายของแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองและแพ้ต่อสารอาหารที่ต่างกันไป แต่อาหาร 5 ประเภทนี้คืออาหารที่คนแพ้กันมากที่สุด

นมวัว
นมวัวคืออาหารที่พบว่าเกิดอาหารแพ้มากโดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก โปรตีนในนมวัวที่ทำให้เกิดการแพ้ได้มี 2 ชนิดหลัก คือ โปรตีนเคซีนที่พบได้จากนมในส่วนที่เป็นไขนมข้นแข็งและโปรตีนเวย์ซึ่งพบในส่วนที่เป็นของเหลวหลังจากนมจับตัวเป็นไขแล้ว อาหารการแพ้นมวัวนั้นส่วนใหญ่ที่หายได้เมื่ออายุถึงประมาณ 6 ขวบ ส่วนคนที่แพ้นมวัวตลอดชีวิตนั้นมีเพียง 1% จากผู้แพ้ทั้งหมดเท่านั้น เรามักเข้าใจกันว่า การดื่มนมแล้วท้องอืด ปวดท้อง เป็นการแพ้นมวัว แต่ที่จริง มันคือ food intolerance ที่จะเล่าต่อไปต่างหาก

ไข่
ไม่น่าเชื่อว่าอาหารยอดนิยมอย่างไข่จะมีผู้แพ้อยู่ไม่น้อย ไข่เป็นอีกหนึ่งอาหารที่มักพบการแพ้มากในเด็กและทารก อาการแพ้ไข่มักเกิดจากการแพ้โปรตีนในไข่ขาว แต่สามารถหายได้เมื่อโตขึ้นคล้ายๆ กับอาการแพ้นม ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การหายแพ้อยู่ที่ 68% เมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป

ถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กอายุไม่เกิน 3 ปี มักเกิดจากการแพ้โปรตีนที่เมล็ดถั่วเหลืองเก็บสะสมไว้เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของเมล็ดถั่วเอง และอาจเกิดจากการกินนมถั่วเหลืองมากเป็นพิเศษของแม่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมลูกได้อีกด้วย

แป้งสาลี
ช่วงนี้เรามักจะได้ยินสินค้าประเภทกลูเตนฟรีอยู่บ่อยๆ ซึ่งความมาแรงของสินค้าประเภทนี้มีความสัมพันธ์กับการแพ้แป้งสาลีที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากการแพ้แป้งสาลีนั้นมักมีผลมาจากการแพ้โปรตีนกลูเตนที่อยู่ในแป้ง ซึ่งอาการแพ้กลูเตนสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ในแต่ละวัยก็เกิดอาการค่อนข้างแตกต่างกัน

อาหารทะเลเปลือกแข็ง
การแพ้อาหารทะเลคือการแพ้ที่พบได้มากในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นการแพ้อาหารทะเลเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย ซึ่งโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สำคัญในสัตว์ทะเลเปลือกแข็งคือโปรตีนโทรโปไมโอซิน อาการแพ้อาหารทะเลมักจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาตั้งแต่หลายนาทีหรือเป็นชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารเข้าไป แต่ยังสามารถเกิดขึ้นจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้สะสมตั้งแต่เด็ก บางคนจึงเพิ่งพบว่ามีอาการแพ้เมื่อโตขึ้น แม้ว่าแต่ก่อนจะเคยรับประทานได้ปกติด้วย

แพ้ไม่จริง

หลายครั้งที่เรามักสับสนการแพ้อาหาร (food allergies) กับ การรับอาหารบางชนิดไม่ได้ (food intolerance) ซึ่งการรับอาหารบางชนิดไม่ได้ นั้นไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน แต่เกิดจากความบกพร่องของสารบางชนิดในร่างกาย ตัวอย่างของการรับอาหารบางชนิดไม่ได้ที่มักจะพบบ่อยเช่น ภาวะพร่องน้ำย่อยน้ำตาลนม ผู้ที่มีภาวะนี้เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไป จะรู้สึกท้องอืด ปวดท้อง และอาจจะท้องเสีย การเลือกนมประเภท lactose-free ที่สกัดน้ำตาลนมออกไปก็ช่วยได้ หรือบางคน อาจมีปฏิกิริยาต่อสารปรุงแต่งรส อย่างเช่นการกินผงชูรสเข้าไป แล้วมีอาการร้อนซู่ซ่า ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก อ่อนแรงหรือหงุดหงิดได้ ก็เป็นอาการรับอาหารบางชนิดไม่ได้เช่นกัน

อีกกรณีที่หลายคนเข้าใจผิดว่าอาการแน่นหน้าอก แสบร้อนที่ปากจากการกินอาหารทะเลคือการแพ้อาหาร แต่ที่จริงแล้วอาจจะเป็นปฏิกิริยาต่อสารฟอร์มาลีนที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลจากการขนส่งเพื่อยืดอายุความสด การเลือกรับประทานอาหารทะเลจากประมงยั่งยืนที่ปลอดภัยจากสารอันตราย อาจเป็นทางออกสำหรับคนที่อยากลิ้มรสจากท้องทะเล

อีกหนึ่งอาการที่มีความใกล้เคียงการแพ้อาหารคืออาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งอาการนี้เมื่อกินอาหารเข้าไปจะทำให้เราปวดท้องและอุจจาระร่วง ไปจนถึงระคายเคืองปอดและอาจจะเกิดการหดตัวของหลอดลมจนหอบได้ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายเมื่อไหร่ เราจึงควรไปหาหมอให้วินิจฉัยอาการดีที่สุด

ต้องสู้ถึงจะชนะ

อีกหนึ่งสิ่งเราได้ยินเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้นั่นคือการแนะนำให้อยู่กับสารก่อภูมิแพ้บ่อยๆ แล้ววันหนึ่งภูมิคุ้มกันเราจะแข็งแรงจนเราหายแพ้ไปเอง นั่นเป็นคำแนะนำที่ค่อนข้างอันตราย แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่จริงเลยเสียทีเดียว เพราะในปัจจุบันมีวิธีการรักษาแบบ Oral Immunotherapy ซึ่งเป็นการให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แพ้ทีละน้อยในระดับที่ปลอดภัย เพื่อสังเกตอาหารของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของเราทนต่อการรับประทานอาหารที่เคยแพ้จนอาจจะหายจากโรคแพ้อาหารได้ แต่ทำได้ในผู้แพ้อาหารบางชนิด และบางคนเท่านั้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน

รับมือกับความพ่ายแพ้

วิถีการกินที่เปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้การแพ้อาหารดูจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาการแพ้อาหารใดที่ยืนยันว่าจะทำให้โรคหายขาดได้ ฉะนั้นสิ่งที่ผู้แพ้อาหารควรทำนั้นคือการเรียนรู้กับอาการแพ้ของตนเอง ให้แพทย์วินิจฉัยว่าเราแพ้อาหารชนิดใดแล้วพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารชนิดนั้น รวมไปถึงการอ่านรายละเอียดส่วนผสมที่ฉลากอาหารก่อนซื้ออย่างถี่ถ้วนว่ามีสิ่งที่ตัวเองแพ้ผสมอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อเป็นผู้แพ้อาหารแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลตนเอง

ข้อมูลอ้างอิง
www.pobpad.com
www.honestdocs.co
www.healthline.com
www.thaihealth.or.th