เรารู้และเชื่อว่าหลายคนก็รู้ว่า ต่อหนึ่งวัน แต่ละคนแต่ละบ้านผลิตขยะจากอาหาร (food loss and waste) มากน้อยแค่ไหน ถึงแม้จะมีการรณรงค์จำพวกกินเกลี้ยงอย่างรู้คุณค่าหรือทิ้งอาหารสดให้น้อยที่สุด แต่ขยะจากอาหารก็ยังมากเกินคุมไหว เพราะแท้จริงแล้วขยะอาหารจากครัวเรือนเป็นเพียงแค่ปลายทาง หากเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป จำหน่าย กระจายต่อ จนกระทั่งมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ

แม้ขยะจากอาหารจะดูเหมือนกำจัดง่ายดาย เพราะดูเป็นขยะหมวดย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ข้อมูลจาก FAO (Food and Agriculture Organization) ยืนยันว่า ขยะจากอาหารมีส่วนเพิ่มการก่อตัวของก๊าซเรือนกระจกถึง 8% นอกจากนี้ 30% ของอาหารที่ผลิตจากระบบเกษตรกรรมและปศุสัตว์มักถูกทิ้งตั้งแต่ในฟาร์ม เพียงเพราะหน้าตาและสัดส่วนไม่ตรงตามภาพพืชผัก ‘สมบูรณ์แบบ’ ที่ผู้บริโภคนิยมกัน

ข่าวดีมีอยู่ว่า ความตื่นตัวเรื่องขยะจากอาหารทำให้มีหลายชุมชนและองค์กรปรับเปลี่ยนความคิดต่ออาหารสดมากขึ้น เป็นต้นว่า แครอท หัวไช้เท้า มันฝรั่งหน้าตาแคระแกร็นจะไม่ถูกมองข้าม ไข่ฟองเล็กก็สร้างสรรค์อาหารได้ไม่แพ้ไข่เบอร์ 0-1 ปลาตัวเล็กตัวน้อยหรือปลาบางชนิดที่ไม่ได้รับความนิยม แต่ติดตาข่ายมาพร้อมปลาขนาดได้มาตรฐานก็จะถูกจัดสรรหาวิธีรับประทานที่เหมาะสมในที่สุด อาหารที่ถูกแปะฉลากวันหมดอายุได้รับการตีความใหม่ว่ารสชาติอาจเปลี่ยนแปลง แต่ยังรับประทานได้อย่างปลอดภัย หรือเคล็ดลับการเก็บอาหารจำพวก food hack ที่ถูกแชร์กันอย่างแพร่หลายก็เข้าหมวดนี้ได้ เพราะมีเป้าหมายช่วยยืดอายุอาหารให้อยู่ในตู้เย็นได้นานขึ้น แถมยังไม่ต้องรบกวนกระเป๋าสตางค์ให้ต้องออกไปซื้อของสดเพิ่มบ่อยๆ ด้วย

สวีเดนให้ความสำคัญต่อประเด็นขยะจากอาหารไม่แพ้ชาติอื่น Swedish National Food Agency ภายใต้การสนับสนันของรัฐบาลสวีเดนได้จัดตั้งแคมเปญ More to Do More ที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ฝ่ายกระจายสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ไปจนถึงผู้บริโภคให้หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันใหม่

เช่น ผู้ผลิตต้องรายงานว่าฟาร์มของตัวเองผลิตขยะจากอาหารมากน้อยแค่ไหน ร้านค้าอาหารสดออนไลน์ต้องเพิ่มข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าควรเก็บรักษาพืชผักชนิดนั้นๆ อย่างไรให้สดใหม่และยืนยาว โรงพยาบาลต้องสร้างบรรยากาศการรับประทานที่รื่นรมย์และไม่เร่งเร้า เพื่อให้ผู้ป่วยมีเวลารับประทานอย่างเต็มที่และลดความเป็นไปได้ที่จะมีอาหารเหลือ สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเป็นกิจกรรมที่จะป้อนความเข้าใจเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืนได้ตั้งแต่ยังเด็ก เป็นต้น โครงการนี้ออกสตาร์ทตั้งแต่ปี 2018 และตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 สวีเดนจะกำจัดขยะจากอาหารได้สำเร็จ

แน่นอนว่า CSS (Chalmers Students for Sustainability) หนึ่งในตัวตั้งตัวตีของแทบทุกอีเวนต์เกี่ยวกับความยั่งยืนในระดับมหาวิทยาลัยของเมืองเราก็มีโครงการเกี่ยวกับการลดขยะจากอาหารด้วย หนึ่งในโครงการที่จัดมาอย่างต่อเนื่องคือภารกิจกู้ชีวิตอาหาร (Food Rescuing) ซึ่งเมื่อกิจกรรมนี้เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง เราจึงไม่รีรอที่จะเข้าร่วมด้วย

แม้จะไม่ได้ออกตระเวนไปตามล่าอาหารเหลือทิ้งจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหารตามภาพที่เราคิดไว้ แต่ CSS ก็ร่วมมือกับ All Win องค์กรจัดการชุบชีวิตอาหารเหลือทิ้งที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดนที่มีหน้าที่รับขนส่งอาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองโกเตนเบิร์ก สตอกโฮล์ม และมัลเมอ ส่งมาให้พวกเรา All Win ดำรงอยู่ได้ด้วยการรับบริจาคเงินและอาหาร พวกเขาตั้งข้อเสนอว่า โดยปกติแล้วอาหารเหลือทิ้งจะถูกนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล แต่เงินบริจาคที่มายัง All Win จะถูกนำไปสนับสนุนพนักงานให้มีอาชีพ บำรุงช่องทางการเก็บรักษาอาหาร ส่วนอาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกต่างๆ จะถูกส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการแทนที่จะโยนทิ้ง ทำให้ภารกิจของ All Win นอกจากจะลดขยะ ลดความหิวโหยของผู้ยากไร้ ยังสร้างวงจรอาหารที่ยั่งยืนอีกด้วย  

ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าของสดตรงหน้ามีที่มาจากไหน พืชผักที่ All Win ส่งมาให้นั้นส่วนใหญ่แทบไร้รอยตำหนิ แม้พริกหวานอาจมีรอยน่วมบ้าง แครอทมีรอยตะปุ่มตะป่ำและบางหัวก็ดูจิ๋วจ้อยเกินว่าปกติ ผักสลัดที่ดูสลดหดเหี่ยวไปหน่อย แอปเปิ้ลเนื้อช้ำ ส้มเปลือกไม่เด้งตึง แต่ถ้าเรามองข้ามความไม่สมบูรณ์แบบทางกายภาพเหล่านี้ไป รสชาติและสารอาหารก็ยังถือว่าเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่พืชผักแต่ละชนิดควรเป็น

หลังจากแกะหีบห่อดูวัตถุดิบที่ได้มาเสร็จสรรพ พวกเราแต่ละคนก็รับอาสาไปตามสเตชั่นต่างๆ ตามเมนูที่วางแผนกันไว้ ซึ่งมีตั้งแต่อาหารเรียกน้ำย่อยอย่างซัลซ่า สลัดมันฝรั่ง จานหลักของคืนนี้คือพาสต้าและริซอตโต้ ไปจนถึงของหวานตบมื้ออย่างสลัดผลไม้รวม นับว่าเป็นครั้งแรกที่เราต้องเตรียมอาหารร่วมกับคนกลุ่มใหญ่กว่า 50 คน ความโกลาหลขนาดย่อมเกิดขึ้นภายในห้องใต้ดิน เสียงล้าง สับ หั่นเป็นระวิงดังอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสนทนาระหว่างคนแปลกหน้าข้างๆ ขั้นตอนเตรียมวัตถุดิบเคลื่อนสู่การปรุงแบบไม่รอช้า ครั้นแล้วภายใน 1 ชั่วโมงทุกอย่างก็พร้อมสรรพ ทุกเมนูถูกลำเลียงใส่หม้อใบโต และถูกแจกจ่ายให้ทุกคนอิ่มหนำกับมื้อค่ำที่เดินไปเติมอีก 2-3 รอบก็ยังไม่หมด  

แม้ว่า Food Rescuing จะฟังดูคล้ายภารกิจระดับฮีโร่ แต่เราคิดว่ากิจกรรมที่พวกเราร่วมกันทำ แม้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เพียงน้อยนิด แต่ข้อคิดส่วนใหญ่จากนิทานอีสปบอกเราเสมอว่าผลจากการกระทำเล็กๆ กระทบไปยังวงจรรวมได้เสมอ หากภารกิจของฮีโร่คือการกู้โลก เราก็เชื่อว่ากิจกรรมนี้ของชาว CSS ได้ช่วยลดความคุกรุ่นของก๊าซเรือนกระจกและต่ออายุโลกผ่านการชุบชีวิตขยะจากอาหารเช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง
www.fao.org/food-loss-and-food-waste
www.fao.org/save-food/resources/keyfindings
www.livsmedelsverket.se
www.allwin.nu

ภาพถ่าย: ณวรา หิรัญกาญจน์