เพราะวาระเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้ถูกขับเคลื่อนเฉพาะเรื่องของอุตสาหกรรมการผลิต พลังงาน และยานพาหนะเท่านั้น แต่อาหารที่มนุษย์บริโภคกันทุกวันก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเช่นกัน หลายปีที่ผ่านมาเราจึงเริ่มได้เห็นนโยบายและการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารที่เป็นมิตรเพิ่มขึ้น บทความนี้จะพาผู้อ่านมาดูกันว่า ธุรกิจอาหารจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้อย่างไร

เทรนด์อาหารแห่งอนาคต
หากเราไปซูเปอร์มาร์เก็ต เรามักจะได้เห็นอาหารชนิดใหม่ซึ่งเป็นอาหารประเภทที่หากย้อนเวลาไปสัก 5-10 ปี แทบจะไม่มีใครรู้จัก บางส่วนถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพ แต่ส่วนมากถูกคิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ในการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำปศุสัตว์นั้น เป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก อาหารแห่งอนาคต จึงเป็นอาหารที่มุ่งไปที่การลดการบริโภคปศุสัตว์ลง การกินอย่างรับผิดชอบ รวมถึงการรู้จักแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต ดังนี้

1) โปรตีนทางเลือก (Alternative protein)
เราเริ่มคุ้นเคยกับชื่อเนื้อสัตว์เทียม (Plant-based meat) ที่ยกระดับจากโปรตีนเกษตรในอดีต มาสู่รูปแบบที่มีรสสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์แท้ ๆ มากขึ้น แต่ที่จริงแล้วยังมีแหล่งอาหารอื่น ๆ ที่มาทดแทนโปรตีนจากปศุสัตว์ได้ เช่น โปรตีนจากแมลง หรือพืชประเภทสาหร่าย รวมไปถึงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงขึ้นในห้องแล็ป (Cultured Meat) แบบในหนังวิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกินจินตนาการ แต่หาซื้อได้จริงแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ต

2) กินอย่างรับผิดชอบ (Ethical Dining)
การกินอย่างมีจริยธรรมนี้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องการไม่ทำลายชีวิตสัตว์ หรือสวัสดิภาพของปศุสัตว์ (Animal Welfare) เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการไม่ผลิตอาหารให้เหลือทิ้งเป็นขยะอาหาร (Food Waste) มากเกินไปด้วย ข้อมูลจาก TDRI ระบุว่า กว่า 64% ของขยะในประเทศไทย เป็นขยะอาหาร ซึ่งมีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล โจทย์ที่ท้าทายในตอนนี้คือ จะผลิตอาหารอย่างไรให้มีขยะน้อยที่สุด ? และจะบริโภคอาหารอย่างไรจึงจะไม่เหลือทิ้ง ? ดังนั้น ในอนาคต กระบวนการผลิตอาหารที่ไม่เกิดขยะ การนำส่วนต่าง ๆ ของวัตถุดิบมาใช้โดยไม่ทิ้ง รวมถึงการบริโภคอย่างพอเหมาะ จะเป็นแนวโน้มที่มาแรงอย่างแน่นอน

3) กินอย่างรู้ที่มา (Traceability)
ในอนาคต ธุรกิจอาหารจะไม่ได้แข่งขันกันเพียงด้านราคาหรือคุณภาพเท่านั้น แต่อาหารจะถูกประเมินรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงโต๊ะอาหาร ตรวจสอบการปล่อยก๊าซมีเทนในกระบวนการปลูกข้าว ตรวจสอบว่าพืชที่ปลูกมาจากการทำเกษตรแบบรุกป่าหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบว่าอาหารทะเลที่มาจากการประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์หรือไม่ ดังนั้นการผลิตอาหารที่สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงแหล่งที่มา จะกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับธุรกิจอาหารในอนาคตที่ต้องให้ความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เลิกกินเนื้อสัตว์ไม่ได้ จะรักษ์โลกได้ไหม?
แน่นอนว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยเฉพาะโคเนื้อ เป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก โดยองค์การสหประชาชาติเคยประเมินไว้ว่า กว่า 14% ของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากมนุษย์นั้น มาจากการทำปศุสัตว์ อย่างไรก็ดี ภาคการปศุสัตว์ไม่ใช่ผู้ก่อปัญหาเพียงคนเดียว แต่ยังมีก๊าซเรือนกระจกสัดส่วนไม่น้อยที่มาจากผลของการทำเกษตรไม่ยั่งยืนและการถางป่าเพื่อมาทำเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่าไม่ว่าจะบริโภคเนื้อสัตว์หรือพืชหากมาจากการเกษตรที่ไม่ยั่งยืนก็ล้วนมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี ดังนั้นหากเราไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ แนะนำให้ลองปรับพฤติกรรมมาเป็นแบบยืดหยุ่น (Flexitarian Diet) คือหันมาบริโภคพืชเป็นหลัก และยืดหยุ่นมาทานเนื้อสัตว์ประกอบได้ จะเป็นทางสายกลางที่ทำให้เรายังมีความสุขกับอาหารได้อยู่

ทางเลือกของนักกิน และโอกาสของธุรกิจ
การบริโภคในอนาคต ความยั่งยืนจะไม่ใช่เพียงไลฟ์สไตล์ทางเลือก แต่เป็น Mega Trend ที่จะค่อย ๆ กลายมาเป็นวิถีหลักมากขึ้น เราจะมีทางเลือกที่หลากหลายเกี่ยวกับอาหารการกิน และได้รับข้อมูลมากมายเพื่อการตัดสินใจบริโภค ซึ่งจากฟาร์มที่เป็นต้นทางของอาหาร ไปสู่ปลายทางบนโต๊ะ

ล้วนแล้วแต่มีโอกาสสำหรับธุรกิจอาหารและเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งสิ้น ธุรกิจอาหารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร เป็นผู้แปรรูปอาหาร ไปจนถึงร้านอาหาร จึงต้องหันมามองโอกาสใหม่นี้ โดยสรรหาวัตถุดิบที่ยั่งยืนขึ้น ออกแบบกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำเสนออาหารกับผู้บริโภคอย่างรับผิดชอบ นักกินอย่างพวกเราเอง ก็ควรต้องใส่ใจที่มาของอาหาร และปรับเปลี่ยนวิถีการกินอย่างรับผิดชอบ และเบียดเบียนโลกให้น้อยที่สุดเช่นเดียวกัน

ดังนั้นไม่ว่าจะกินเนื้อ หรือมังสวิรัติ สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่สิ่งที่กิน (What we eat) เพียงอย่างเดียว แต่คือแหล่งที่มาของอาหาร (Where food are from?) และวิธีการที่เราบริโภคอาหาร (How we eat) ต่างหาก

เอกสารอ้างอิง:
– www.bbc.com/news/explainers-59232599
– tdri.or.th/en/2019/10/tackling-thailands-food-waste-crisis/#:~:text=Thailand%20is%20lagging%20far%20behind,of%20the%20food%20waste%20collected.
– www.mitrpholmodernfarm.com/news/2022/03/5-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95

ภาพประกอบ : missingkk