​เทรนด์อาหารไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะพฤติกรรมการกินของคนในสังคมมักไหลตามประเด็นปัญหาที่กำลังถูกจับตา หรือทำให้เป็นกระแสขึ้นในช่วงนั้น อย่างหลายปีก่อนที่เราอินกับอาหารชีวจิตกันสุดๆ เพราะเปอร์เซ็นต์ผู้ป่วยโรคอายุรกรรมเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ และไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความนิยมอาหารปลอดสารเคมีก็มาแรงแซงทุกเทรนด์ เพราะคนรุ่นใหม่หันมารักษาสุขภาพกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ ตีคู่มากับปัญหาเรื่อง Food Waste หรืออาหารเหลือทิ้งที่ทุกสังคมกำลังช่วยกันหาทางออกอย่างขะมักเขม้น

​เช่น ที่ฝรั่งเศสเพิ่งออกกฎหมายห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งอาหารหมดอายุ (Best before) เพราะจริงๆ แล้วมันยังกินได้ แค่ไม่อร่อยเท่าเดิม โดยให้นำอาหารเหล่านั้นบริจาคให้กับองค์กรการกุศลแทน หรือการรณรงค์ให้ครัวเรือนนำขยะสดมาหมักปุ๋ยเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมแทนการทิ้งเศษอาหารไปเปล่าๆ

​แต่นอกจากร่วมมือกันในระดับประเทศและระดับครัวเรือน เทรนด์ล่ามาแรงที่กำลังอินในแวดวงอาหารตอนนี้ คือการหันมา ‘เก็บกิน’ (Foraging) เช่น การเก็บผักริมทางมาทำผัดผักแสนอร่อย หรือการพาลูกน้อยเดินเข้าป่าท้ายหมู่บ้านไปเก็บเห็ดมาปรุงเป็นมื้อเย็นเหมือนในนิทานที่เราอ่านกันสมัยเด็ก

กินแค่ไหน เก็บแค่นั้น

​โดยแนวคิดแรกเริ่มของการเก็บผักเก็บหญ้ากินนี้เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนรักอาหารสะอาดในอเมริกา เริ่มหันมาคุยกันว่าการกินอาหารแบบ Farm to table จำพวกอาหารรู้แหล่งที่มา อาหารอินทรีย์ หรืออาหารออร์แกนิกก็ยังมีจุดบอดน่าหวั่นใจ เพราะแม้จะขึ้นชื่อว่าอาหารสะอาด แต่กระบวนการผลิตอาหารในฟาร์มย่อมมี Food Waste เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การคัดเกรดผักที่ทำให้ส่วนหนึ่งต้องกลายเป็นขยะ หรือการขนส่งและการเก็บรักษาที่ไม่ได้คุณภาพก็อาจทำให้พืชผักเน่าเสียกลายเป็นขยะได้เหมือนกัน สุดท้ายเลยเกิดเป็นกระแสการกิน Wild Food ขึ้นมาและกลายเป็นเทรนด์น่าจับตาอยู่ตอนนี้

​Wild Food ในที่นี้หมายรวมตั้งแต่อาหารจากป่าลึก เรื่อยมาถึงอาหารตามริมทางข้างถนนที่เราสามารถเก็บกินได้ เช่นเบอร์รี่ในป่าละเมาะข้างบ้าน เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ฯลฯ ทำนองว่า ‘กินเท่าไหร่เก็บเท่านั้น’ เพื่อลดการกินทิ้งกินขว้าง และในอีกแง่นักกิจกรรมด้านอาหารยังมองว่าการออกไปเดินเก็บผักเก็บหญ้ามากินยังช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย เพราะการรู้ว่ามีสิ่งใดกินได้อยู่ใกล้มือก็นับว่าเป็นความมั่นคงทางอาหารแบบนึง

Satoyama cuisine

​ตัวอย่างชัดเจนและสุดว้าวลำดับต้นๆ เราขอยกให้ร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่นนาม Narisawa ในมหานครโตเกียว ที่ออกแบบทุกเมนูของร้านภายใต้คอนเซ็ปต์ Satoyama ซึ่งหมายถึงพื้นที่ระหว่างป่าและหมู่บ้าน ที่ๆ มักมีพืชผักให้เก็บกินได้อย่างอุดมสมบูรณ์ โดยเมนูในแต่ละวันจะไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นเชฟเก็บวัตถุดิบอะไรจากป่ารอบโตเกียวกลับมาได้บ้าง ก่อนจะนำมาปรุงด้วยวิถี Real Food หรือการปรุงแต่น้อยและเคารพรสชาติของวัตถุดิบให้มากที่สุด ความพิถีพิถันแถมยังไม่ก่อให้เกิด Food Waste นี้ผลักให้ร้าน Narisawa กลายเป็น 1 ใน 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกไปเมื่อต้นปีอย่างไร้ข้อครหา

​เก็บกินใกล้บ้าน

​แต่ถ้าอ่านทั้งหมดข้างบนแล้วยังรู้สึกว่าไกลตัว คนเมืองแบบฉันจะมีโมเมนต์เดินเก็บผักข้างบ้านกินได้ยังไง เราขอแอบบอกว่าบางทีพืชผืกกินได้ก็ใกล้ตัวอย่างที่คิด เพียงแค่เราไม่รู้ว่ามันกินได้เท่านั้นเอง และต่อไปนี้คือตัวอย่างผักริมทางที่เราอาจเคยมองข้ามเพราะไม่รู้ว่ามันอร่อยและเรียงร้อยด้วยประโยชน์

​1.โสน

​ดอกโสนเป็นพืชล้มลุก ขึ้นตามป่าละเมาะทั่วไปทั้งในภาคกลาง มักพบในที่น้ำขังหรือใกล้แหล่งน้ำ เช่นริมคลองหรือริมคู ดอกโสนจะออกแยะเป็นพิเศษช่วงปลายฝน ตั้งแต่กันยายน-ตุลาคม ดอกนิยมนำมาแกงส้ม เจียวใส่ไข่ หรือทำขนมดอกโสน มีสรรพคุณช่วยลดพิษไข้ และบำรุงลำไส้

​2.พวงชมพู

​ดอกพวงชมพูขึ้นริมทางทั่วไป ในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะที่ๆ แดดจัด แถมยังออกดอกตลอดทั้งปี คนจึงนิยมนำมาเพาะเป็นไม้ประดับ แต่จริงๆ แล้วดอกพวงชมพูกินได้ แม่ครัวนิยมนำมาชุบแป้งทอดหรือลวกกินกับน้ำพริก มีสรรพคุณช่วยคลายเครียด ทำให้หลับสบาย

​3.อ่อมแซ่บ (ตำลึงหวาน)

​ชื่ออ่อมแซ่บ อาจไม่คุ้นหูใครหลายคน แต่จริงๆ เจ้าต้นนี้มันเติบโตเป็นวัชพืชอยู่รอบตัวเองมานานแล้ว โดยอ่อมแซบมักขึ้นตามที่รกร้างข้างทางรวมๆ กับผักบุ้งและตำลึง ขยายพันธุ์ง่ายและไว คนนิยมนำใบอ่อมแซ่บมาแกงจืด แกงอ่อม รสคล้ายตำลึงแต่ไม่เหม็นเขียว มีสรรพคุณบำรุงเลือดและลดอาการปวดข้อ