ใครไม่ชอบกินผัก เพราะไม่โอเคกับรสชาติเขียวๆ อี๋ๆ อาจจะเคยอะลุ้มอล่วยกับตัวเองด้วยการยอมกิน ‘ผักสายย่อ’ ที่พบเจอได้ในจานข้าวประจำวัน ด้วยความที่เจ้าผักจิ๋วเหล่านี้ก็เหมือนผักที่ย่อส่วนให้มีขนาดเล็กกว่าปกติ จึงลดระดับความเป็นผักกลิ่นเขียวๆ ให้กลายเป็นของเคี้ยวง่ายๆ สบายใจทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่

G101 ประจำเดือนนี้ อยากชวนมารู้จักบรรดาผักไซส์เบบี้ ที่มีอะไรมากกว่าหน้าตาน่ารักๆ มากกว่าความเล็กกะทัดรัดเคี้ยวง่าย แต่บางชนิดก็มีที่มาที่ไปแสนสนุก และบางชนิดคุณประโยชน์ของมันก็ไม่ได้เล็กตามขนาดเลย

1
เบบี้แครอท

เบบี้แครอทในท้องตลาดมีสองแบบ แบบแรกคือ ‘เบบี้’ จริงๆ เพราะเป็นการเก็บเกี่ยวแครอทตั้งแต่ยังโตไม่เต็มวัย กับแบบที่สองคือ ‘เบบี้-คัท’ ซึ่งเป็นการนำแครอทขนาดใหญ่มาตัดเป็นท่อนเล็กจิ๋วยาว 2 นิ้ว โดยไอเดียนี้เกิดขึ้นในปี 1986 เจ้าของฟาร์มชาวแคลิฟอร์เนียคนหนึ่งต้องการแก้ปัญหาแครอทผิวไม่สวยล้นตลาด เลยเอาพวกมันมาปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้นจิ๋วใส่กระป๋องขาย ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเชิงการตลาดที่ประสบความสำเร็จในอเมริกา จนถึงขั้นเกิดเป็นยุค ‘เบบี้แครอทบูม’ ในอเมริกาอยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว

แต่เมื่อผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เบบี้-คัทแครอทก็กลับกลายเป็นขยะอาหารอีกครั้ง เพราะหลายคนไม่เชื่อมั่นในวิธีการแปรรูป สารที่ใช้แช่ให้สดอยู่ได้นาน รวมไปถึงคุณประโยชน์ที่หลงเหลืออยู่ของมันสักเท่าไหร่ ปัจจุบันจึงกลายมาเป็นยุคของ ‘เบบี้แครอท’ แบบแรก (ที่เป็นเบบี้ยังไม่โต) เพราะมันเป็นแครอทที่ถูกเก็บเกี่ยวขึ้นมาจากผืนดินจริงๆ และไม่ได้ผ่านการแปรรูป

ประโยชน์ของเบบี้แครอท ที่จริงแล้วไม่ต่างกับแครอทโตเต็มวัย คือสารอาหารตัวเอกที่เรียกว่า ‘เบต้าแคโรทีน’ ที่อยู่ในเปลือกแก่ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอเมื่อเข้าสู่ร่างกาย แถมยังมีวิตามินบี 1 บี 2 และอื่นๆ กินแล้วช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคหวัด ป้องกันโรคไม่ติดต่ออย่างมะเร็ง รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับกระดูก ผิวหนัง และสายตาด้วยนะ

2
แขนง

แขนง คือชื่อของผักเขียวใบจิ๋ว ที่มักถูกคนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นลูก (ต้นอ่อน) ของผักคะน้า เพราะเห็นว่าชื่อและหน้าตาของมันคล้ายๆ กัน แต่ที่จริงแล้วผักแขนง เกิดจากการแตก ‘แขนง’ ขึ้นมาใหม่จากต้นกะหล่ำปลี หลังจากที่เราเก็บเกี่ยวหัวของกะหล่ำปลีไปแล้วเพียงไม่กี่วัน ด้วยลักษณะกรุบกรอบคล้ายคะน้าทำให้หลายคนสับสนอยู่เหมือนกัน

สารอาหารที่โดดเด่นของผักแขนงคือโฟเลต (folate) ซึ่งเป็นสารจำเป็นในเลือดที่ช่วยต่อต้านไวรัสและสารก่อมะเร็งในร่างกายได้ดี และอินโดล (indole) สารที่ช่วยกระตุ้นเอนไซม์ต้านมะเร็งและควบคุมฮอร์โมนเพศหญิงให้เป็นปกติ ป้องกันมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในผู้หญิงได้ ยังไม่รวมถึงวิตามินต่างๆ ในผักแขนงที่มีมากมายไม่แพ้ความอร่อยกรุบกรอบของมันเลย

3
ฮ่องเต้น้อย

ฮ่องเต้น้อย หรือเบบี้ฮ่องเต้ คือผักกาดฮ่องเต้เวอร์ชั่นอายุน้อย เก็บเกี่ยวตั้งแต่ออกยอดมาเพียง 20-25 วัน เลยมีขนาดเล็กกว่าผักฮ่องเต้ปกติประมาณ 1-1.5 เท่า ผักฮ่องเต้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีนอย่างที่เดาได้ตามชื่อ เริ่มเป็นที่รู้จักในไทยจากการเป็นเมนูในภัตตาคารจีน ด้วยรสชาติหวานกรอบของผักทำให้มันติดตลาดและเป็นที่ติดใจของคนไทย พอย้ายมาปลูกที่ไทยได้ ให้ผลผลิตตลอดปี เลยกลายเป็นผักสร้างรายได้ให้เกษตรกรแถบภาคเหนือของไทย

ไม่จะผักฮ่องเต้แบบโตเต็มวัย หรือฮ่องเต้น้อย ก็มีคุณประโยชน์เช่นเดียวกับผักตระกูลใบเขียวอื่นๆ อันประกอบด้วยวิตามินเอ บี และซีสูง รวมไปถึงสารอาหารจำพวกแคลเซียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคกล้ามเนื้อเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาอาการตะคริว ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย บำรุงกระดูก เลือด สายตาและผิวพรรณ

4
เบบี้บ็อกชอย

ผักชื่อจี๊นจีนนี้ บางคนเรียกว่า เบบี้บ็อกชอย เบบี้บ็อกฉ่อย หรือ เบบี้ผักฉ่อย ทั้งหมดนี้เพี้ยนมาจากคำศัพท์ภาษาจีนกวางตุ้งที่แปลว่าผักสีขาว บ็อกชอยมีจุดเด่นอยู่ที่แขนงสีขาวจั๊วะ ส่วนใบก็มีสีเขียวเข้ม คนนิยมเก็บเกี่ยวและกินบ็อกชอยตอนที่มันยังเป็นต้นเล็กๆ มินิๆ เพราะเป็นตอนที่มันกำลังกรอบและอร่อย รสชาติเหมือนผักโขมที่กรอบและจัดจ้านกว่านิดๆ นิยมเอาไปปรุงเป็นเมนูอาหารจีนแบบผัด หรือใส่ซุปน้ำใส่หรือน้ำแดงสไตล์เอเชี่ยน

ประโยชน์ที่โดดเด่นในเบบี้บ็อกชอย นอกเหนือจากวิตามินและใยอาหาร คือสารกลูโคสิโนเลต (glucosinolate) ซึ่งเป็นสารประกอบตระกูลกำมะถันที่พบได้ในผักตระกูลกะหล่ำปลี สารพิเศษในพืชชนิดนี้นี่เองที่มีงานวิจัยว่ามีคุณสมบัติในการลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ขณะเดียวกันมันก็เป็นที่มาของรสขมและกลิ่นเฉพาะตัว ใครกลัวกะหล่ำปลีขมๆ ลองกินเบบี้บ็อกชอยแทนก็มีประโยชน์ไม่แพักันนะ

5
ข้าวโพดอ่อน

เบบี้คอร์น ข้าวโพดอ่อน หรือแอ้ข้าวโพด ก็คือฝักอ่อนของข้าวโพดที่เราบริโภคกันในรูปของผัก โดยเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวมาขายตั้งแต่ฝักยังไม่มีเมล็ดและยาวเพียงแค่ 4-10 เซนติเมตร ด้วยรสชาติหวานๆ และขนาดจิ๋วพอดีมือเด็กน้อย ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนนิยมเอาข้าวโพดอ่อนมาหลอกล่อหนูๆ ให้ยอมกินผัก  

พลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุมากมายในข้าวโพดอ่อน ทั้งคาร์โบไฮเดรต เบต้าแคโรทีน วิตามิน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ใยอาหาร ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือด ช่วยลดอาการบวมน้ำ รักษาและโรคไตอักเสบเรื้อรัง ป้องกันเบาหวานและความดันโลหิตสูง ทำให้เจริญอาหาร และกระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้ทำงานได้ดีอีกด้วยนะ

6
เบบี้คอส

คอส คือผักรสหวานยอดฮิตที่มักใส่อยู่ในจานสลัด บางคนก็เรียกผักกาดหวาน เพราะใบคอสจะหวานกรอบและฉ่ำน้ำ เมื่ออายุได้ประมาณ 45-50 วันก็จะถูกเก็บเกี่ยวมาบริโภค การเก็บในช่วงเวลาที่ยังเบบี้จึงทำให้ใบของเบบี้คอสไม่มีรสขม ทานง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับผักอื่นๆ ในจานสลัด

คุณประโยชน์ที่สำคัญของเบบี้คอส คืออุดมด้วยวิตามินเอ ซี เค แมกนีเซียม โครเมียม และสารซีแซนทิน (Zeaxanthin) สารประกอบของลูทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวกับสายตา และลดความเสื่อมของประสาทตาในผู้สูงอายุ

เห็นเล็กๆ อย่างนี้ ผักไม่เล็กนะครับ…

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง