รู้ไหม บนโลกใบนี้ มีพืชผักที่เรากินได้มากถึง 250,000-300,000 ชนิด แต่สิ่งที่เรากิน ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ วนเวียนอยู่แค่ 150-200 ชนิด หรือคิดเป็นแค่ 4% ในจักรวาลความอร่อยเท่านั้น

ฟังดูน่าเสียดายที่ยังมีพืชผักกินได้อีกมากมายซึ่งเราไม่ได้รู้จักหรือไม่เคยชิม แต่ถ้าว่ากันจริง ๆ จัง ๆ เรื่องที่น่าเสียดายมากไปกว่านั้น คือการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมไปเพราะเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและพฤติกรรมการบริโภคของเรานี่แหละ

สูญเสียกันไปเท่าไหร่ แล้วคนกินอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง ไปทำความเข้าใจกัน

ปลูกพืชซ้ำเดิม ซ้ำเติมอะไรบ้าง
เกษตรเชิงเดี่ยวคือผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการที่ทำให้เราสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ว่ากันในภาพใหญ่ 120 ปีที่ผ่านมา พืชพรรณกินได้ทยอยล้มหายตายจากไปกว่า 75% จากการปฏิวัติเกษตรกรรม และแปลงเกษตรในระบบอาหารมีส่วนทำลายผืนป่าทั่วโลกกว่า 90% ทั้งจากการถางป่าให้เป็นพื้นที่เกษตรและปศุสัตว์ ก่อกวนการมีอยู่ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช จุลินทรีย์ เห็ดรา ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อไปยังสัตว์ป่าที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีแหล่งอาหาร ไหนจะดินและแร่ธาตุที่ถูกทำลายจากระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว

นั่นเพราะการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำ ๆ คือการดึงแร่ธาตุเดิม ๆ ซ้ำ ๆ มาใช้ เมื่อดินหมดแร่ธาตุ ก็ต้องหาทางเติมด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีที่มีสารอาหารครบถ้วน ซึ่งสามารถบำรุงพืชนั้น ๆ ให้เติบโตได้ดีไม่ว่าจะในฤดูกาลใด (เพราะมนุษย์ต้องการบริโภคพืชชนิดเดิมซ้ำ ๆ และมาก ๆ) แต่ผลกระทบที่ตามมา คือปัญหาดินเค็ม ดินสะสมโลหะหนัก ต่อยอดไปสู่การปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ และสะสมสารพิษไว้ในพืชผักที่เรากิน

นี่ยังไม่นับยาฆ่าแมลงที่ถูกสร้างมาสู้กับศัตรูพืชในเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ที่แม้จะไล่แมลงไม่ให้ไต่ตอมทำลายพืชผล แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

บทเรียนจากกล้วยหอมทอง
ไม่มีตัวอย่างไหนจะคลาสสิกไปกว่าเรื่องนี้อีกแล้ว!

การส่งเสริมให้เกิดการปลูกกล้วยหอมทองในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนของกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรอเมริกันในช่วงศตวรรษที่ 19 ไปพร้อม ๆ กับทำการตลาดให้อเมริกันหันมากินกล้วยเป็นผลไม้หลัก ซึ่งก็ยิ่งทำให้ตลาดกล้วยโตขึ้น โตขึ้น เช่นเดียวกับพื้นที่ปลูกกล้วยมากขึ้น มากขึ้น ตามไปด้วย ทุกอย่างฟังดูหอมหวานเหมือนกล้วยสุกงอม จนกระทั่งเกิดโรคระบาด Panama Disease ที่แพร่กระจายไปทั่ว นับเป็นประวัติศาสตร์การระบาดโรคพืชที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก และทำให้กล้วยหอมทองเกือบสูญพันธุ์

ทว่าหนังเรื่องเก่าถูกฉายซ้ำ เพียงแค่เปลี่ยนพระเอกมาเป็นกล้วยหอมเขียวที่ทนโรคมากกว่า และมีศัตรูเป็นโรคตายพรายสายพันธุ์ใหม่ (Fusarium TR4) ที่ยังคงระบาดยกสวนมาจนถึงทุกวันนี้!

นั่นทำให้แนวคิดการทำเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นพันธุ์พืชที่ทนสภาพแวดล้อม พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด หรือศัตรูพืช คือทางออกของวิกฤตอาหารเท่าที่เราพอจะรับมือได้ในตอนนี้

กินผักพื้นบ้าน = รักษาความหลากหลาย
อย่างที่ย้ำสม่ำเสมอ ผู้บริโภคสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แม้ในปัญหาที่ดูยิ่งใหญ่อย่างเรื่องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

แม้ว่าเราจะไม่ใช่เกษตรกรต้นทางที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ใช่บรรษัทเกษตรและอาหารที่ผูกขาดวิถีเกษตรไปจนถึงพฤติกรรมผู้บริโภค และไม่ใช่รัฐที่จะออกโรงปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยกฎหมายได้ แต่ในฐานะคนกินปลายทาง หากเราร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรมจากการกินซ้ำเดิม พืชผักเดิม ๆ ที่ตลาดป้อนให้ ก็ถือเป็นการส่งเสียงว่าเรา ‘ไม่ซื้อ’ ระบบการผลิตอาหารที่ไม่ใส่ใจโลก และพร้อมจะสนับสนุนเกษตรกรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำเกษตรผสมผสานที่ไม่เบียดเบียนโลกใบนี้จนเกินไป

อีกพฤติกรรมการกินที่ ‘หัด’ ได้ไม่ยาก คือการหันมากินพืชผักพื้นบ้านตามฤดูกาล บ้างขึ้นเองตามธรรมชาติ บ้างปลูกง่ายไม่ต้องบำรุงปุ๋ยยามากมายเพราะเป็นพืชพันธุ์พื้นถิ่น ทนแดด ทนโรค ตามฤดูของมัน และบ้างก็เป็นพืชผักยืนต้นอายุยืน ที่เก็บกินได้ยาว ๆ เป็นทั้งร่มเงาและเครื่องปรับอากาศ (พร้อมฟอกอากาศได้ในตัว)

และเมื่อเรา ‘กินเป็น’ มันจะถูกเก็บกิน เก็บขาย ขยายพันธุ์ และเติบโตไปด้วยกันกับเรา ซึ่งนั่นเท่ากับการรักษาความหลากหลายได้ง่าย ๆ ด้วยการกิน

ที่มาข้อมูล:
www.chathamhouse.org
education.nationalgeographic.org
biothai.net
– งานวิจัย Chemical Fertilizer and its Effects on the Soil Environment โดย Hiren Das, N. Surbala Devi, Nakeertha Venu and Anchita Borah