แม้ว่า ‘คะน้า’ จะเป็นผักใบเขียวที่เราคนไทยใกล้ชิดจนแทบจะนับญาติเป็นพี่ป้าน้าอากันได้ เพราะทั้งหาซื้อง่าย ปลูกได้ในบ้านเรา มีให้กินตลอดปี และราคาเป็นมิตร แต่ความใกล้ชิดเกินไปนี่เองทำให้เราหลงลืมที่จะหาคำตอบให้กับข้อสงสัยหลายๆ อย่างในตัวผักคะน้า โดยเฉพาะหนึ่งในข้อครหาที่คะน้าถูกพูดถึงและตั้งคำถามเสมอมา คือเรื่องสารเคมีตกค้าง 

ในฐานะผู้บริโภคที่อยากมีวิถีกินดี เราจึงอยากชวนมานับญาติกับผักคะน้าในคอลัมน์ G101 ไปด้วยกัน โดยเรานำ 4 คำถามยอดฮิตไปพูดคุยกับคุณน้าที่เป็นผู้รู้ในวงการเกษตรอินทรีย์ คราวนี้รู้คำตอบแล้วจะได้หมดคำถาม เลิกเซ้าซี้เสียทีว่า ทำไมคะน้า? 

Q: ทำไมขม…คะน้า?

A: เพราะธรรมชาติของคะน้า คือผักใบเขียวที่มีก้านอวบๆ (ที่เราชอบความกรอบตอนกัดกินนั่นแหละ) ซึ่งก้านอวบของคะน้าประกอบไปด้วยน้ำจำนวนมาก หากเกษตรกรปลูกคะน้าด้วยวิธีการใช้สารเคมี เป็นไปได้สูงมากว่าคะน้าจะดูดซับสารเคมีหรือปุ๋ยที่เข้มข้นเอาไว้ที่บริเวณก้านอวบๆ นั้นมากที่สุด 

คุณน้าผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จริงๆ แล้วสาเหตุการขมของผักส่วนใหญ่นั้นอาจมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น พันธุ์ของผักที่มีรสขมอยู่แล้ว เกษตรกรเก็บผักตอนแก่เกินไป หรือเก็บผักตอนมียางออกมาก ก็เป็นไปได้ แต่กับคะน้า ส่วนใหญ่ในกระบวนการปลูกแบบเคมี จะมีสารเคมีมาข้องเกี่ยวด้วยค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อไหร่ที่เรากัดเข้าไปแล้วเจอคะน้าก้านขม นั่นเดาได้เลยว่าอาจจะเป็นคะน้าเคมีแน่ๆ หลีกเลี่ยงไว้ก่อนปลอดภัยต่อสุขภาพกว่า

Q: ทำไมอันตราย… คะน้า?

A: เพราะความอันตรายของคะน้าไม่ใช่แค่ข่าวลือ หรือคิดไปเองเรื่องความขม แต่ทุกครั้งที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแถลงผลตรวจผักและผลไม้ประจำปีออกมา ก็จะมีคะน้าติดอันดับต้นๆ ด้วยทุกครั้ง โดยในปีล่าสุด 2562 ก็ติดอันดับเช่นกัน 

จากการเก็บตัวอย่างทั้งหมด 286 ตัวอย่างจากห้างค้าปลีก ตลาดสดทั่วไปในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี และสงขลา ครอบคลุมผัก 15 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิดที่นิยมบริโภคทั่วไป โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ในสหราชอาณาจักร พบว่าคะน้า…

  • ติดอันดับ 2 ของผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเยอะที่สุด คือพบมากถึง 9 ตัวอย่าง จาก 12 ตัวอย่าง แพ้กวางตุ้งไปนิดเดียว

  • แถมยังเป็น ผักอันดับ 1 ที่มีจำนวนชนิดของสารพิษตกค้างมากที่สุดถึง 27 ชนิด!

แม้กระทั่งเกษตรกรเอง ยังเป็นที่รู้กันในวงการว่าการปลูกคะน้าแบบเคมีนั้นค่อนข้างไม่ปลอดภัย เพราะต้องใช้วิธีการหว่านเพื่อความรวดเร็วและควบคุมปริมาณในการปลูกแต่ละรอบ ทำให้คะน้าแบบเคมีมีโอกาสต้องโดนอาบสารเคมีตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากการแช่เมล็ดฆ่าเชื้อรา ไปจนถึงฉีดสารฆ่าหนอนใบ ฉีดฮอร์โมนบำรุงต้นใบ ผสมสารกำจัดแมลงจนขั้นตอนสุดท้าย 

แม้ว่าจะมีข้อมูลแนะนำวิธีการล้างผักที่ถูกต้องอยู่มากมาย แต่ได้ยินอย่างนี้แล้วเราก็ขนลุก ไม่กล้ากินคะน้าแบบเคมีแล้วเหมือนกัน

Q: ทำไมมีทุกฤดู… คะน้า?

A: จริงอยู่ที่เกษตรกรบางรายใช้สารเคมีตั้งแต่เริ่มต้นแช่เมล็ด ยันยาฆ่าแมลงตอนสุดท้าย เลยทำให้คะน้าเคมีทนทานเป็นพิเศษ แต่คะน้าที่เรากินตลอดปี อาจจะไม่ได้แปลว่าเป็นคะน้าเคมีเสมอไป คุณน้าเกษตรกรอินทรีย์บอกว่า แม้ว่าธรรมชาติของคะน้าจะเป็นผักที่ชอบอากาศเย็นๆ ทำให้ปลูกได้ดีและปลูกง่ายกว่าในฤดูหนาว 

แต่เดี๋ยวนี้เกษตรกรอินทรีย์เองก็สรรหาวิธีการปลูกคะน้าในโรงเรือน เพื่อคุมอากาศตอนฤดูร้อน และหลบน้ำค้างในตอนกลางคืน ทำให้ปลูกแบบอินทรีย์ได้ทั้งปีเหมือนกัน แต่ช่วงหน้าร้อนที่แดดจัดๆ คะน้าอินทรีย์อาจจะใบแกร็น ต้นเล็กหน่อย คนกินไม่ว่ากันนะ

Q: ทำไมต้องอินทรีย์… คะน้า?

A: คำถามนี้ คุณน้าเกษตรกรอินทรีย์ตอบอย่างมั่นใจว่า เพราะคะน้าที่ปลูกแบบอินทรีย์ คือความใส่ใจทุกขั้นตอนจริงๆ เริ่มจากการบำรุงดินให้มีอินทรียวัตถุ โดยใส่ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ ไก่ วัว รำข้าว น้ำหมัก พืชผัก แถมต้องคอยกลับดินรดน้ำอยู่เป็นเวลา 45-60 วัน หลังจากนั้นก็ปลูกต้นถั่วหรือปอเทืองลงไปเพื่อให้ดินมีไนโตรเจน ขั้นตอนการลงมือปลูกก็ใช้เวลามากกว่า เพราะเลือกใช้วิธีการเพาะกล้าก่อนนำไปลงแปลงจริงในโรงเรือน ระหว่างทางก็ต้องคอยดูแลระบบนิเวศโดยรอบให้ยังสมบูรณ์ นั่นแปลว่าต้องยอมสปอร์ตปล่อยให้แมลงกินใบคะน้าไปบางส่วนบ้าง กว่าจะได้คะน้าอินทรีย์มาถึงมือคนกิน 

การเลือกซื้อคะน้าอินทรีย์ของเรา จึงมีความหมายมากกว่า เพราะมันคือการส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์ให้ได้เดินทางและต่อสู้ในเส้นทางของตัวเอง ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าแค่ตัวเงิน และนอกจากความฟินในเรื่องนี้แล้ว คนกินเองก็จะได้ฟินกับคะน้าใบกรอบที่หวานและอร่อยกว่าคะน้าเคมี ไม่ขมแน่นอน 

ไม่เชื่อก็ลองพิสูจน์ดู คุณน้าทิ้งท้ายไว้อย่างนี้

ที่มาข้อมูล:
– เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
– คุณน้าปัญญา ใคร่ครวญ ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน จังหวัดสุพรรณบุรี

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง