เรารู้จักข้าวโพดมากแค่ไหน?
เคยซื้อกินบ่อยๆ ตามร้านรถเข็น เลือกให้เป็นเมนูอุ่นท้องในร้านสะดวกซื้อ ลิ้มรสหวานๆ ในจานส้มตำหรือสลัด ฯลฯ บางคนที่สันทัดกับข่าวสารบ้านเมืองสักหน่อยอาจจะพอรู้ว่า ข้าวโพดคือสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการอาหารสัตว์ของไทยเลยนะ
เราอาจจะสบายใจกับการได้มีข้าวโพดหวานไว้กินตลอดทั้งปี แต่ปัญหาก็คือ เรากินมันลงไป โดยไม่รู้ ไม่สนใจ หรือไม่ค่อยจะตั้งคำถามกับที่มาที่ไปของพืชชนิดนี้เลยว่า มันมาจากไหน ผ่านกระบวนการปลูกยังไงมาบ้างก่อนจะมาถึงมือและลงถึงท้องของเรา
เมื่อข้าวโพดที่เรากิน อาจอันตรายโพดโพด!
อีกด้านหนึ่งของการที่ข้าวโพดได้นั่งแท่นเป็นพืชเศรษฐกิจ คือความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องเผชิญโดยไม่รู้ตัว เพราะยิ่งความต้องการของตลาดโลกมีสูงเท่าไหร่ ยิ่งกระตุ้นให้ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอยากสร้างรายได้จากการปลูกข้าวโพดแบบเน้นผลผลิตและปริมาณมากขึ้นเท่านั้น ทั้งการใส่ปุ๋ยและตัดแต่งพันธุกรรม
ประกอบกับธรรมชาติของข้าวโพด เป็นพืชที่อาศัยน้ำในการปลูก และมักปลูกได้ดีช่วงฤดูฝน แต่ก็ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของ โรคต่างๆ ที่มักมากับความชื้น เช่น โรครา โรคใบไหม้ และ ปัญหาวัชพืช ที่มาจากแมลงศัตรูพืชที่จ้องบุกทำลายข้าวโพดหวานๆ ระหว่างการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นหนอนเจาะลำต้น หนอนกระทู้ หนอนเจาะฝัก มอดดิน ฯลฯ เกษตรกรก็เลยท้อแท้ใจในการดูแลประคบประหงมให้อยู่รอดตลอดรอดฝั่งจนต้องใช้อาวุธเคมีเข้าปราบปราม และหนึ่งในสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืชของข้าวโพดก็คือ ‘พาราควอต’ สารเคมีที่ไม่ถูกแบนไปจากประเทศของเราได้เสียที
เมื่อปุ๋ยต้องมา พาราควอตต้องมี จีเอ็มโอก็ไม่รอด เราคนกินก็เหมือนว่าจะสิ้นหวังเรื่องความปลอดภัยแล้ว แต่โชคยังดีที่ยุคสมัยนี้ มีเกษตรกรที่หันมาปลูกข้าวโพดอินทรีย์กันมากขึ้น แถมข้าวโพดอินทรีย์ที่กลายเป็นเทรนด์ฮอตฮิตของสังคมขึ้นมา ก็ไม่ใช่พันธุ์ธรรมดาซะด้วย
ข้าวโพดพันธุ์ไทย หวาน แดง ดี สวย ปลอดภัยด้วย!
ข้าวโพดหวานพิเศษสีแดง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ข้าวโพดทับทิมสยาม’ คือข้าวโพดพันธุ์แรกที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดชาวไทย ความเจ๋งคือไม่ได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพหรือการตัดต่อยีนแต่อย่างใด หลายคนอาจเข้าใจผิดว่ามันคือข้าวโพดข้าวเหนียวสีแดง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ มันคือข้าวโพดหวานที่กรอบและหวานอร่อยเป็นเอกลักษณ์
ความดีงามของข้าวโพดพันธุ์นี้ คือความพรีเมียมในเชิงสุขภาพ ประโยชน์ที่แฝงอยู่คือสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) รงควัตถุสีม่วงแดงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ยิ่งมันหวานอร่อยในตัวอยู่แล้ว เลยกลายเป็นจุดเด่นที่สามารถกินได้เลยแบบสดๆ ไม่ต้องนึ่งหรือต้มด้วยซ้ำ
ด้วยความที่คุณสมบัติดี ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าข้าวโพดทั่วไป เลยมีเกษตรกรอินทรีย์ไร่เล็กๆ หลายรายที่หันมาพัฒนาองค์ความรู้ในการปลูกข้าวโพดสีแดงพันธุ์นี้ ให้ไม่ใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการปลูก หนึ่งในนั้นคือ ไร่บุญฉลวย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เป็นตัวแทนเกษตรกรฝั่งอินทรีย์มาสรุปให้เราฟังว่า พวกเขาทำให้ข้าวโพดสีแดงนี้กลายเป็น ‘ข้าวโพดที่ปลอดภัยโพดโพด’ ที่พิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม และขายได้ราคาดีกว่าเดิมได้ยังไงบ้าง
ข้าวโพดออร์แกนิก ปลอดภัยกว่ามากมาก!
ความปลอดภัยของข้าวโพดออร์แกนิก ส่งผลให้เกิดจุดสังเกตง่ายๆ ที่เราพอจะดูได้ด้วยตาที่ภายนอก หรือชิมลิ้มรสดูด้วยตัวเอง ก็จะพบความแตกต่าง
- ปลอดภัยจากเมล็ด GMOs เพราะเกษตรกรอินทรีย์เลือกใช้เมล็ดจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เป็นเมล็ดแท้ ไม่ผ่านการตัดต่อยีน ดังนั้น เราอาจจะเห็นฝักข้าวโพดที่ไม่ใหญ่ และไม่ได้สูงเท่ากัน อาจยังเจอเมล็ดที่สีแดงไม่สม่ำเสมอเต็มเมล็ดบ้าง แหม ก็มันเป็นเรื่องธรรมชาติ
- ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้า รู้ว่าอ่อนแอต่อวัชพืช แต่แทนที่จะใส่พาราควอตที่สุดแสนอันตรายต่อคนกินและตัวเอง เกษตรกรอินทรีย์ก็หันมาใช้ฟางคลุมดินกันวัชพืชแทน และต้องยอมตัดใจปล่อยวางให้ข้าวโพดบางต้นล้มหายตายจากไปบ้าง ไม่มากมาย
- ปลอดภัยจากปุ๋ยเคมี และปุ๋ยคอกที่ปนเปื้อน GMOs ข้าวโพดทั่วไปไม่เพียงเสี่ยงปุ๋ยเคมี แต่ยังมีโอกาสเจอปุ๋ยคอกจากสัตว์ที่กินอาหารสัตว์แบบ GMOs เข้าไป ทางออกที่น่ารักของเกษตรกรอินทรีย์จึงคือการหันมาใช้ปุ๋ยจากการหมักผักอินทรีย์ ที่มั่นใจว่าปลอดภัยจากสารตกค้าง เพราะเป็นผักที่ปลูกอยู่ในไร่ของตัวเองกับมือ
- ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง เพราะรู้ว่าธรรมชาติจัดการกันเองได้ ไม่ต้องเหนื่อยเรา เกษตรกรอินทรีย์เลยปล่อยให้ตัวห้ำคอยกินแมลงศัตรูพืช และปล่อยให้ตัวเบียนจัดการทำลายศัตรูอย่างเงียบเชียบ คราวนี้หนอนหรือมอดก็ทำอะไรข้าวโพดได้ไม่มาก
- ปลอดภัยจากน้ำตาลและเกลือที่ปรุงเพิ่ม เพราะเมื่อข้าวโพดอินทรีย์สีแดงนี้ส่งมาถึงมือคนกิน มันก็กรอบอร่อยและหวานในตัวเองอยู่แล้ว จนกินสดได้ไม่ต้องนึ่งหรือต้ม เมื่อไม่ได้ผ่านมือพ่อค้าแม่ค้า เลยยิ่งสบายใจได้ว่าไม่มีใครแอบเอาข้าวโพดของเราไปจุ่มเกลือและน้ำตาลก่อนหั่นใส่ถุงให้เรากินอย่างแน่นอน 100%
ที่มาข้อมูล:
- อ.น้ำ ไร่บุญฉลวย ออร์แกนิกฟาร์ม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
- www3.rdi.ku.ac.th/?p=8646
- www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_15735
- https://prachatai.com/journal/2019/02/80918