ถ้าถามว่าถั่วอะไรที่เรากินบ่อยเป็นอันดับต้นๆ หลายคนอาจมองข้ามถั่วเหลืองไป ทั้งที่จริงๆ แล้ว แม้เราจะไม่ได้กินถั่วเหลืองในรูปลักษณ์ของถั่วเป็นเม็ดๆ เท่าไหร่ แต่ถั่วเหลืองคือวัตถุดิบต้นทางของอาหารหลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ หรือเครื่องปรุงสามัญอย่างซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว มิโสะ และยังถูกแปรรูปไปใช้เป็นโปรตีนทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์เทียม ฯลฯ ที่เห็นบ่อยๆ ในเทศกาลเจที่เพิ่งผ่านมา

เมื่อชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับถั่วเหลืองขนาดนี้ G101 จึงชวนมาลงลึกถึงเหตุผลว่าทำไม ‘ถั่วเหลืองออร์แกนิก’ ถึงเป็นวัตถุดิบที่ ‘ถูกต้อง’ กับเราทุกคน ไล่เรียงเส้นทางตั้งแต่คนปลูกมาจนถึงคนกินอย่างเราๆ

ถั่วเหลืองที่ไม่ถูกต้อง เป็นยังไง

จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับแม่ค้าและเกษตรกร ทำให้เราได้รู้ข้อเท็จจริงว่าถั่วเหลืองในท้องตลาดกว่า 90% เป็นถั่วเหลืองนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ล้วนผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม หรือ GMOs มาเพื่อให้เมล็ดโตสม่ำเสมอและต้านทานแมลงได้ โดยมีตัวเลขจากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าถั่วเหลืองจีเอ็มโอมากถึง 5 ล้านตันต่อปี

แม้ว่าอันตรายจากพืชจีเอ็มโอจะยังเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ล่าสุดมีงานวิจัยที่ค้นพบว่าสิ่งที่อันตรายในถั่วเหลือง คือการที่มันถูกตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ทนต่อการใช้ สารไกลโฟเสต ซึ่งเป็นสารปราบวัชพืช สารชนิดนี้จะถูกดูดซึมเข้าไปในเนื้อของถั่วเหลืองและตกค้างมาถึงท้องของคนกิน งานวิจัยนี้ทำให้ประเทศจีนตื่นตัวมากเพราะเป็นประเทศที่กินถั่วเหลืองจำนวนมาก คำถามคือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราคนไทยจะตื่นตัวกับเรื่องนี้เช่นกัน

ถั่วเหลืองที่ ‘ถูกต้องกับคนปลูก’

  • คนปลูกปลอดภัย เพราะไม่ต้องใช้สารเคมี

ถั่วเหลืองจะขึ้นได้ดีในดินที่อุดมสมบูรณ์ และไม่ชอบน้ำมาก ที่จริงแล้วประเทศไทยมีภูมิประเทศหลายแห่งที่ปลูกถั่วเหลืองได้ดี ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง โดยส่วนใหญ่ถ้าปลูกเพื่อขายจริงจัง นอกจากจะใช้เมล็ดจีเอ็มโอ ระหว่างทางในการปลูกก็มีทั้งการใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งเมล็ดให้โต ใส่พาราควอตฆ่าหญ้าและวัชพืช รวมทั้งยาป้องกันโรคแมลงอีกจำนวนมาก ซึ่งก่อนจะถึงมือคนกิน ก็อันตรายตั้งแต่กับคนปลูกแล้ว

แต่โชคดีที่ยังมีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่หันมาปลูกถั่วเหลืองแบบอินทรีย์ เก็บสะสม และเพาะเมล็ดพันธุ์แท้เอาไว้ แต่เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองอินทรีย์นั้นมีวันหมดอายุ เกษตรกรจึงต้องแบ่งการปลูกออกเป็นสองรอบ รอบแรกคือช่วงเดือนธันวาคม เพื่อคั่นหน้านาและบำรุงดิน และรอบที่สองคือช่วงเดือนกรกฎาคม (ก่อนฤดูฝน) ซึ่งเป็นการปลูกเพื่อต่อเมล็ดพันธุ์ ให้มีเมล็ดพันธุ์เก็บไว้ใช้ปลูกในปีถัดไป

  • คนปลูกได้เพิ่มสารอาหารในดิน ในช่วงพักจากการทำนา

ด้วยความที่ถั่วเหลืองอินทรีย์ปลูกยากกว่าและขายไม่ได้ราคาสูงมากนัก เกษตรกรไทยจึงไม่ค่อยปลูกไว้เพื่อทำมาหากินเป็นหลัก แต่เน้นปลูกเพื่อคั่นหน้านา ซึ่งในขั้นตอนนี้เอง การปลูกถั่วก็นับเป็นการช่วยบำรุงดินไปในตัว เพราะถั่วเหลืองมีไรโซเบียมอยู่ในปมราก สามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศได้ ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ เปี่ยมแร่ธาตุมากยิ่งขึ้น

  • คนปลูกได้มีของดีกินเองในท้องถิ่น เหลือก็ขาย สร้างรายได้ ช่วยคนกินให้มีทางเลือกที่ดีกว่า 

การปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์คั่นหน้านา จะไม่ได้ถั่วในปริมาณมากนัก แต่เน้นเก็บกินเองในชุมชน อย่างเช่นกลุ่มเกษตรกร อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ก็ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ไว้ทำถั่วเน่า (เครื่องปรุงหลักในอาหารเหนือ) เน้นกินในครัวเรือนเป็นวิถีชีวิตกันไป และเมื่อเหลือก็ส่งขายเป็นรายได้เสริม โดยรอบเก็บเกี่ยวที่แบ่งขายได้มากกว่าคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (รอบปลูกเดือนธันวาคม) ส่วนรอบเดือนกันยายนที่เราได้สั่งซื้อมาทดลองกินนี้ (รอบปลูกเดือนกรกฎาคม) อาจจะมีน้อยกว่า เพราะเน้นปลูกเพื่อต่อเมล็ดพันธุ์เป็นหลัก

ถั่วเหลืองที่ ‘ถูกต้องกับคนกิน’ 

  • คนกินไม่ต้องกินถั่วจีเอ็มโอนำเข้า ที่ทำให้เราเสี่ยงต่อโรค

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า มีงานวิจัยที่ระบุชัดเจนว่าสารไกลโฟเสตอาจนำมาซึ่งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไม่ติดต่อต่างๆ ตามมาได้ ยังไม่นับรวมถึงสารตกค้างอื่นๆ ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าเชื้อรา ยาป้องกันโรคและแมลงต่างๆ ที่มีโอกาสตกค้างเช่นกัน ทางที่ดีที่สุดคือควรหลีกเลี่ยงการกินถั่วเหลืองนำเข้า และหันมาเลือกถั่วเหลืองอินทรีย์บ้านเราดีกว่า

  • คนกินได้โปรตีนทางเลือก ที่อร่อย หอม รสนุ่มนวลกว่า

ถั่วเหลืองเป็นพืชที่คนเอเชียใช้ประกอบอาหารมาอย่างยาวนาน เป็นโปรตีนจากพืชที่เรากินกันมากมายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมันไม่อิ่มตัว ใยอาหาร มีเลซิตินซึ่งช่วยป้องกันให้ไขมันไม่ไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด และยังมีการศึกษาวิจัยที่พบว่ามีสารที่ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อได้

นอกจากปลอดสารเคมี มีคุณค่าทางสารอาหาร ถั่วเหลืองอินทรีย์ยังให้รสชาติที่หอมนุ่มนวลกว่า ยืนยันจากคนกินหลายๆ คนที่บอกว่าความโดดเด่นของน้ำเต้าหู้จากถั่วเหลืองอินทรีย์คือความหอมที่ไม่เหมือนน้ำเต้าหู้ทั่วไป ของแบบนี้พูดไปก็ไม่น่าเชื่อเท่าไหร่ ใครไม่เคยชิมต้องไปทดลองด้วยตัวเองแล้วล่ะ

  • คนกินได้ให้กำลังใจคนที่ปลูกของดี

สำหรับคนชอบกินถั่วเหลืองหรือกินเป็นประจำ และอยากมีสุขภาพที่ดี การที่มีเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ให้พอเสาะหาได้ในท้องตลาด ถือเป็นการสร้างทางเลือกที่สำคัญมากๆ ต่อผู้บริโภค ซึ่งแม้การเสาะหาและสนับสนุนถั่วเหลืองอินทรีย์จะยากกว่ามาก เพราะมีคนปลูกด้วยวิธีนี้ไม่มากนัก แต่การสนับสนุนเพียงหนึ่งครั้งหรือการทำความรู้จักกันไปเพื่ออุดหนุนกันยาวๆ ก็เป็นหนทางที่จะให้กำลังใจเกษตรกรได้มาก และทำให้เขาได้รู้ว่ามีคนต้องการถั่วเหลืองอินทรีย์อยู่เช่นกัน

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง

ที่มาข้อมูล:

  • สหกรณ์กรีนเน็ต 
  • ถิรสิน ใจปะ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
  • แอม-ศิวรี มีนาภินันท์ แบรนด์น้ำเต้าหู้และเมล็ดถั่วเหลืองอินทรีย์ YELLOW hello 
  • มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค