เทศกาลฮาลโลวีนแบบฝรั่งกำลังจะเวียนมาอีกปี ชวนนึกไปถึงประเพณีที่เด็ก ๆ จะแต่งตัวเป็นผีแล้วเดินตามบ้านเคาะประตูถามว่า Trick or Treat ? เพื่อขอขนม อีกสิ่งที่เป็นภาพจำคือ ฟักทองแกะสลักหน้าผี แล้วใส่เทียนหรือไฟเข้าไปข้างใน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ว่าฮัลโลวีนเมื่อไรต้องนึกถึงฟักทอง ว่าไปฟักทองเองก็มีเรื่องราวมากมายซุกซ่อนอยู่ ทั้งสรรพคุณดีที่สามารถ Treat สุขภาพเรา หรือสารพัด Trick เคล็ดลับวิธีการเลือก การใช้ หรือการบริโภคฟักทองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครั้งนี้จึงขออิงเทศกาลสักหน่อย ขอชวนคุณไปรู้หลากเรื่องราวของฟักทอง ผลไม้เนื้อเหลือง มากคุณประโยชน์นี้กัน

ทำไมฮาลโลวีนต้องมีแจ็คหัวฟักทอง
รู้ไหมทำไมวันฮาลโลวีนต้องมีโคมไฟ ว่ากันว่าเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าของแจ็คจอมเจ้าเล่ห์ที่หลอกยมทูตได้หลายครั้ง พอตายทั้งสวรรค์และนรกไม่ยอมรับวิญญาณเพราะแจ็คเป็นคนเจ้าเล่ห์ จึงปล่อยให้เป็นผีเร่ร่อนในความมืดยามค่ำคืนและให้ถ่านไฟที่ยังไม่มอดไว้ 1 ก้อนเพื่อส่องทาง ผีแจ็คเลยต้องนำเอาผักกาดมาคว้านเป็นโพรงแล้วใส่ถ่านที่ยังไม่มอดลงไปเพื่อใช้แทนตะเกียง ต่อมาชาวยุโรปย้ายถิ่นมาอเมริกา เลยใช้ฟักทองแทนผักกาด เพราะหาง่ายและทนทาน และมีสีสันสวยงาม แถมยังเชื่อกันว่าถ้าแกะสลักโคมไฟจากฟักทองให้น่ากลัวแล้ววางไว้หน้าบ้าน จะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายในเทศกาลวันฮาลโลวีนซึ่งเป็นวันปีใหม่ของพวกแม่มดได้

รู้จักฟักทองพันธุ์ดีพื้นบ้านของไทย
ฟักทองทุกชนิดล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพกันทั้งหมด แต่ก็คงดีไม่น้อย หากการจ่ายเงินของเรา ได้อุดหนุนเกษตรกรไทยที่ยังอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมืองเอาไว้ในคราเดียว วันนี้เลยอยากจะชวนคุณไปทักทายกับสามสายพันธุ์ฟักทองพื้นบ้านของไทย ที่ยังคงพอมีให้หาซื้อบริโภคได้อยู่บ้าง ว่าแล้วไปดูกันดีกว่าว่าวาไรตี้ฟักทองของไทยนั้นมีอะไรบ้าง

ฟักทองไข่เน่า ฟักทองพื้นบ้านของจังหวัดน่าน เป็นฟักทองพื้นถิ่นที่ปลูกกันมายาวนานกว่า 3 ชั่วอายุคน มีทั้งชนิดทรงผลกลม และทรงผลแบน ผิวเปลือกสีครีม เจือเขียว น้ำตาล และส้มเล็กน้อย บางผลมีลาย แต่จะรู้ว่าเป็นฟักทองไข่เน่าแท้ไหมต้องปอกเปลือกดูเนื้อ เพราะที่ได้ชื่อว่าไข่เน่าเนื่องจากสีของเนื้อที่จะมีสีเหลืองเจือสีเขียวขี้ม้าดูไม่สวย แต่รสชาตินั้นอร่อย เมื่อปรุงสุกเนื้อจะเหนียวหนึบหนับ รสหวานมันกำลังดี ปัจจุบันโชคดีที่ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนให้ทำการอนุรักษ์และคัดเลือกเมล็ดพันธุ์แท้เอาไว้ และยังได้รับการส่งเสริมจากห้างสรรพสินค้า ที่นำฟักทองไข่เน่าจากบนเขามาให้เราท่านหาซื้อกินได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ปัจจุบันฟักทองไข่เน่ากำลังอยู่ในขั้นตอนขอจดทะเบียน GI เป็นพืชประจำถิ่นของจังหวัดน่านอีกด้วย

ฟักทองกระโถน ฟักทองชนิดนี้มีทรงผลน่ารัก ไม่รู้ว่าคนโบราณจินตนาการอย่างไรว่าคล้ายกระโถน แต่ทรงผลของเจ้าฟักทองนี้ว่าไปคล้ายน้ำเต้าของเซียนมากกว่า เพียงแต่ทรงตรงคอผลไม่คอด ผิวของฟักทองนี้มีสีครีมออกไปทางน้ำตาลพาสเทล ร่องผลไม่ลึก ไม่หยักแบบฟักทองไข่เน่า แต่ก็มีทรงผลอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “ฟักทองกระโถนจีบ” คือช่วงปลายผลจะรี และผิวมีร่องจีบ เนื้อฟักทองชนิดนี้ เหนียว แน่น หนึบ มีกลิ่นหอม และมีรสหวานมัน ปัจจุบันหายากเต็มที แต่ก็ยังมีปลูกอยู่ทางภาคเหนือ

ฟักทองพันธุ์โบราณผลยาวรี จากสระบุรี ฉันเองเห็นฟักทองชนิดนี้ครั้งแรกตอนที่ไปช่วยชาวบ้านที่ บ้านถ้ำน้ำพุ อ.แก่งคอย จ.สระบุรีออกแบบไส้ขนมปั้นขลิบทอด ซึ่งฟักทองป่าของพวกเขาจัดเป็นของดีที่หากินได้แค่ปีละ 1 ครั้ง เพราะชาวบ้านจะนำเมล็ดพันธุ์ไปหยอดไว้ตอนฤดูฝน และเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูหนาวยาวไปสิ้นสุดช่วงต้นฤดูร้อนนั่นเอง ความพิเศษคือทรงผลของฟักทองนี้นั้นมีรูปทรงยาวปลายรีคล้ายมะละกอ ผลที่ขนาดใหญ่จะยาวเกือบเมตรก็มี เนื้อฟักทองชนิดนี้ เหนียว หนึบ ละเอียด เนียน มัน และหวานธรรมชาติ จำได้ว่าตอนที่นำมากวนไส้ขนม ใส่น้ำตาลเพียงน้อยนิดก็ได้รสหวานแล้ว

รู้จักฟักทองพันธุ์พื้นบ้านของไทยกันแล้ว ครานี้ไป Trick or Treat กับเจ้าฟักทองกัน

Trick : เคล็ดลับควรรู้ เกี่ยวกับฟักทอง

เก็บฟักทองแบบไหนไม่เน่าเร็ว วิธีคือ เลือกเก็บฟักทองเป็นผล โดยเลือกผลแก่พอดีกิน และที่สำคัญคือ ผลฟักทองต้องมีก้านขั้วผลติดอยู่ และเก็บไว้ในร่ม อย่าให้โดนแดด ประเด็นเรื่องขั้วผลนั้นสำคัญ หากผลฟักทองไม่มีขั้วจะทำให้ฟักทองเน่าเร็ว

เคาะ-ดู วิธีเลือกฟักทองแก่ดีเนื้อแน่น อย่างแรกคือ ดู นั่นคือดูที่ร่องเปลือกฟักทองต้องลึก ผิวขรุขระ จุดนี้ขึ้นกับสายพันธุ์ด้วย เพราะบางสายพันธุ์ผิวก็ไม่มีร่อง หากเป็นฟักทองพันธุ์ที่มีรูปทรงแบน เวลาพลิกท้ายผลฟักทองขึ้น จุดตรงกลางผลจะบุ๋มลง สีของฟักทองแก่เปลือกจะเจือสีเหลืองหรือส้ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ถัดมาคือการ เคาะ และฟังเสียง หากเคาะผลฟักทองแล้วมีเสียงดัง “เปาะ ๆ” แสดงว่า ฟักทองผลนั้นยังอ่อน หรือเนื้อไม่แน่น ไม่ควรเลือก แต่ถ้าเสียงเคาะนั้นแน่นทึบ แสดงว่าฟักทองแก่แล้ว หรือเป็นฟักทองที่มีเนื้อแน่นหนาให้รีบคว้าไว้เลย

กินฟักทองมากไปตัวเหลือง สารสีธรรมชาติในฟักทองมีประโยชน์ก็จริง แต่ถ้ากินมากเกินไป จะทำให้ไปสะสมอยู่ในร่างกายจนทำให้ผิวเราเป็นสีเหลือง หรือที่เรียกว่าอาการ “แคโรทีเนเมีย” (carotenemia) แม้จะไม่ได้มีอันตรายแต่ก็ดูไม่ดี วิธีแก้ไขก็คืองดการบริโภคฟักทองสักพัก ก็จะทำให้ผิวพรรณกลับมาเป็นสีปกติได้ แต่ถ้าจะให้ดี เลือกกินฟักทองในปริมาณที่พอเหมาะจะดีที่สุด นั่นก็คือ กินรวมกับพืชผักอื่น ๆ ให้ได้ประมาณ 6 ทัพพี ก็จะตรงตามสูตรโภชนาการสุขภาพดีแบบคนไทยแล้ว

Treat : สุขภาพดี ด้วยฟักทอง

สายตาดีด้วยเนื้อฟักทอง สารสีเหลืองในเนื้อฟักทอง เป็นกลุ่มของสารแคโรทีนอยด์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ และจะช่วยไปสร้างสารที่ส่งเสริมการมองเห็น สารสีในกลุ่มแคโรทีนอยด์ อย่าง ลูทีน (lutein) และ ซีแซนทีน (zeaxanthin) จะไปสะสมที่เรติน่าของจอประสาทตา ช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ของดวงตาได้

เพคตินในฟักทองช่วยให้อิ่มท้อง และ ลดน้ำหนัก ฟักทอง 100 กรัม ให้พลังงาน แค่ 20 กิโลแคลอรีเท่านั้นเอง และปริมาณน้ำตาลในฟักทองก็ต่ำมาก ที่สำคัญสารเพคตินในฟักทองช่วยให้กินแล้วยังรู้สึกอิ่ม อยู่ท้อง เรียกได้ว่าเป็นอาหารลดน้ำหนักชั้นดีแสนอร่อย เหมาะกับใครที่เส้นรอบเอวเริ่มเกินกว่ากำหนด

ผิวสวยใสไร้รอยเหี่ยวย่น วิตามินเอ และวิตามินอี ในเนื้อฟักทอง ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV ได้ ฟักทองจึงช่วยลดความเหี่ยวย่นของผิวได้ แต่การบริโภคฟักทองมาเกินไป ก็ทำให้เกิดการสะสมของเบต้าแคโรทีนในผิว ทำให้ผิวมีสีเหลือง แม้ไม่ได้มีอันตราย แต่อาจถูกมองว่าผิวพรรณมีสีผิดปกติไป

ฆ่าพยาธิด้วยเมล็ดฟักทอง แพทย์แผนไทย ได้ระบุให้ เมล็ดฟักทอง เป็นยาสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อเบื่อและฆ่าพยาธิตัวตืด โดยมีสัดส่วนและวิธีใช้ดังนี้

เมล็ดฟักทองแก่ 60 กรัม ไม่ต้องคั่ว นำมาบุบหรือทุบให้แตก แล้วใส่ลงคนผสมกับน้ำอุ่น หรือ นมอุ่น ให้ได้ปริมาณ 500 มลลิลิตร แช่ไว้สักพัก จึงแบ่งดื่มสามครั้ง โดยแต่ละครั้งให้ดื่มห่างกัน 2 ชั่วโมง เมื่อครบสามครั้งแล้ว ให้พัก 2 ชั่วโมง แล้วจึงรับประทานน้ำมันละหุ่งเพื่อช่วยให้ระบาย

ไส้ฟักทองแก้ฟกช้ำดำเขียว มีข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เยื่อกลางของฟักทองสามารถแก้อาการฟกช้ำได้ โดยวิธีใช้ก็ง่ายแค่นำเอาเยื่อกลางของฟักทองมาพอกไว้ในบริเวณที่ฟกช้ำ ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้

ถึงตรงนี้คุณคงรู้แล้วว่า ฟักทองมีดีมากมาย ไม่ต้องรอให้ถึงเทศกาลพิเศษ ก็สามารถเลือกหามาปรุงเป็นอาหารสุขภาพกินกันได้ทั้งปี ที่สำคัญอย่าลืมอุดหนุนฟักทองพันธุ์พื้นบ้านไทย หรือ ฟักทองที่ปลูกแบบอินทรีย์ จะได้ปลอดภัยจากสารเคมีและยังช่วยรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชอาหารของไทยเอาไว้ได้อีกด้วยนะจ๊ะ

เอกสารอ้างอิง
– หนังสือ “ยาสมุนไพร สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน” สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวง, สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์, ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ภาคเหนือ
– บทความ ‘อนุรักษ์ฟักทองไข่เน่า’ พืชอัตลักษณ์เมืองน่าน (www.nstda.or.th/home/news_post/bcg-delight-fak-thong-kai-nao)
– บทความ “ฟักทอง” กับประโยชน์ดี ๆ ต่อสุขภาพที่รู้แล้วจะอยากกินให้เยอะขึ้น! (www.fic.ifrpd.ku.ac.th/fic/index.php/2016-04-26-06-50-20/food-news-main-menu-3/fic-food-news-menu/651-food1-01-11-2018)
– ข้อมูลสมุนไพร “ฟักทอง” จากเว็บไซต์สถานการณ์แพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (www.fic.ifrpd.ku.ac.th/fic/index.php/2016-04-26-06-50-20/food-news-main-menu-3/fic-food-news-menu/651-food1-01-11-2018)
– ช่องยูทูป ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share ตอน ชัวร์ก่อนแชร์:10 ประโยชน์ของฟักทองจริงหรือ (www.youtube.com/watch?v=omR9hci7MBk)

ภาพประกอบ : Peperis