สำหรับมนุษย์ในเมืองใหญ่ กินข้าวเหลือนิด ๆ หน่อย ๆ อาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเอาอาหารเหลือมารวมกันในระดับโลก รู้หรือยังว่า ‘1 ใน 3 ของอาหารที่มนุษย์ผลิตขึ้นบนโลกใบนี้ สุดท้ายจะถูกทิ้ง แล้วไปลงเอยแน่นิ่งที่หลุมฝังกลบขยะ’

นี่คือหลักฐานว่าพวกเรากินทิ้งกินขว้างกันขนาดไหน และผลเสียที่ตามมา ไม่ใช่แค่กลิ่นเน่าเหม็นในถังขยะบ้านที่เราโยนทุกอย่างทิ้งรวมไว้เท่านั้น แต่ขยะอาหารยังรวมตัวกันลุกลามไปสร้างผลแย่ ๆ ในระดับโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ กระทบสู่ผู้คนที่หิวโหย รวมไปถึงสร้างปัญหาเชิงเศรษฐกิจ!

ลองฟังเสียงอ้อนวอนของเหล่าอาหารและวัตถุดิบกันดูบ้าง ว่าทำไมพวกเขาถึงอยากให้มนุษย์คิดให้ดี ก่อนเหลือทิ้งวัตถุดิบในแต่ละมื้อ

ทำไมต้องช่วยกันลดขยะอาหาร?
“โปรดคิดให้ดี ก่อนทิ้งฉัน” ถ้าวัตถุดิบพูดได้ พวกมันคงอยากบอกเราอย่างนั้น

ภาพฝันคือ ถ้าเราทุกคนเลือกที่จะจับจ่ายอาหาร รู้จักนำมาปรุงอย่างคุ้มค่า และกินอย่างชาญฉลาด (เหลือทิ้งน้อย) เราก็จะช่วยกันหลีกเลี่ยงการสูญเสียอาหารและลดการก่อขยะได้อย่างมีนัยสำคัญ แถมยังทำให้เรามีอาหารมากพอที่จะเลี้ยงดูประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น โดยต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างระบบในการจัดเก็บอาหารและวัตถุดิบที่ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

แต่ในความเป็นจริง มีคน 700 ล้านคนในโลกหิวโหยทุกวัน แต่หนึ่งในสามของอาหารทั้งหมดที่เราผลิต กลับไม่ได้ถูกกิน และถูกส่งไปเป็นขยะ

ทุกครั้งที่อาหารเดินทางจากฟาร์มสู่จาน มักจะเกิดการสูญเสียหรือทิ้งขว้างอาหารอย่างไม่จำเป็นแทบทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น วิธีการทำฟาร์มที่ไม่เหมาะสม การจัดเก็บที่ไม่ดี และการกระจายสินค้าที่ไม่ยืดหยุ่น หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น ถุงที่ไม่แข็งแรงพอที่จะใส่วัตถุดิบ จนทำให้ข้าวไหลออกมาจากรูเล็ก ๆ

สูญเสียกันต่อ ด้วยการสร้างขยะอาหารจำนวนมหาศาล ณ จุดบริโภค ทั้งในร้านค้า โต๊ะอาหารที่บ้าน อาหารที่ยังไม่ได้กินส่วนใหญ่จะถูกส่งไปทิ้งสะสมอยู่ในหลุมฝังกลบ ซึ่งจะเน่าเปื่อยและปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขยะอาหารมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณ 8% ซึ่งฟังดูเหมือนน้อย แต่ไม่น้อยเลย

ถ้าข้อมูลเหล่านี้ ทำให้คุณเริ่มอยากช่วยกันลดขยะอาหารขึ้นมาบ้างแล้ว ไม่ต้องคอยใคร ทำได้เลย เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

อย่าทิ้ง เพียงเพราะผักผลไม้ที่เห็น ‘ดูดี’ ไม่พอ
เหตุผลทางสุนทรียศาสตร์ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับคุณค่าโภชนาการ พูดง่าย ๆ ก็คืออาหารที่หน้าตาไม่ดี (ที่ไม่ได้เน่าหรือขึ้นรา) ไม่ควรเป็นเหตุผลที่เราจะโยนทิ้งหรือเลือกที่จะไม่ซื้อมัน ถามว่าเรื่องนี้สำคัญยังไง หากพวกเราสร้างมาตรฐานด้านหน้าตาของผักผลไม้เอาไว้แบบลำเอียงต่อไป สุดท้ายผลิตผลดี ๆ จำนวนมากก็จะถูกคัดทิ้งตั้งแต่ที่ฟาร์ม และพวกที่ถูกวางไว้บนแผงก็จะยังคงไม่มีใครแตะต้อง และรอที่จะถูกโยนทิ้งอย่างน่าเสียดาย

จ่ายตลาดคราวหน้า อย่าลืมพาน้อง ๆ ผักผลไม้หน้าตาไม่ดีกลับบ้านด้วยนะ

อย่าทิ้ง เพียงเพราะคิดว่าวัตถุดิบนี้ ‘หมดอายุ’
หลายคนยังคงสับสนในการอ่านฉลากข้างวัตถุดิบและอาหาร โดยเฉพาะคำว่า ‘Best Before (BB หรือ ควรบริโภคก่อน)’ ที่มักเข้าใจผิดว่าคือวันหมดอายุ แต่ความหมายแท้จริงของ BB คือวันสุดท้ายที่วัตถุดิบหรืออาหารเหล่านั้นยังคงคุณภาพที่ดีอยู่ เพียงแต่ว่าต้องมีความรู้ในการตรวจสอบว่าอาหารนั้น ๆ ควรทิ้งหรือยัง และยังมีคำว่า Best Before End (BBE) ที่จะระบุช่วงเวลาสิ้นสุดที่ผลิตภัณฑ์นั้นจะคงคุณภาพดีที่สุด แต่มักใช้กับการระบุเดือนหรือปีโดยไม่เจาะจงวัน เช่น BBE Dec 2024 หมายถึง ผลิตภัณฑ์นั้นจะมีคุณภาพดีที่สุดหากบริโภคก่อนสิ้นเดือนธันวาคม ปี 2024

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า หากจะกินอาหารหลังจากวันที่ ‘ควรบริโภคก่อน’ ผู้บริโภคควรพิจารณาว่า อาหารดังกล่าวมีลักษณะ กลิ่น สี และรสชาติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เช่น มีเส้นใยหรือจุดของเชื้อรา หรือ มีลักษณะเป็นเมือก หากพบว่าอาหารนั้นมีลักษณะที่ว่ามาก็ควรทิ้งเสีย แต่ถ้าไม่ แปลว่ายังกินได้นะ ขอแค่เชื่อในดวงตาและจมูกของเราก็พอ

อย่าทิ้ง เพียงเพราะ ‘อิ่ม’ แล้ว กินไม่ทัน
หลายครั้งที่เราซื้อวัตถุดิบมาเยอะเกินไป โดยเฉพาะผักผลไม้ที่เสียง่าย พอหมดแพสชันต่อกัน ก็ไม่ตั้งใจเก็บรักษา แต่กลับโยนทิ้งไปแบบง่าย ๆ

เคล็ดลับง่ายมากคือการใช้ตู้เย็นให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์ เช่น ถ้ามีผักผลไม้ที่สุกแล้ว ลองเพิ่มเวลาในการจัดเก็บอีกหน่อย หั่นหรือตัดไว้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เก็บแยกชนิดไว้ในช่องฟรีซหรือช่องแช่แข็ง เตรียมสำหรับทำน้ำปั่นในมื้อถัด ๆ ไป ก็คงไว้ได้ทั้งคุณประโยชน์ ไม่ต้องสร้างขยะ แถมมีน้ำสดชื่นไว้กินชื่นใจ ถือเป็นการกดรีเฟรชความสัมพันธ์ให้กลับมาสดใสได้อีกทาง ลองเอาไปทำตามกันดูนะ!

ที่มาข้อมูล:
www.saveonethird.org
wwf.panda.org
pr.moph.go.th