ก.เอ๋ย ก.ไก่ ไม่ได้เป็นแค่พยัญชนะตัวแรกที่คนไทยทุกคนต้องทำความรู้จัก แต่คือแหล่งโปรตีนที่ใกล้ตัวเราที่สุดมาแต่ไหนแต่ไร 

ด้วยความที่ไก่เป็นสัตว์ปีกที่ตัวไม่ใหญ่ ดูแลไม่ยาก คนไทยยุคโบราณเลยเลี้ยงไก่เอาไว้วิ่งเล่นแทบทุกบ้าน กินไข่บ้าง กินเนื้อบ้าง แต่โลกวันนี้เปลี่ยนไปจนเราไม่เลี้ยงไก่ไว้กินเองที่บ้าน เด็กๆ อาจรู้จักไก่ในรูปแบบอุตสาหกรรมที่วางขายเป็นชิ้นๆ ใส่แพ็กในซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า จนผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็หลงลืมหรือมองข้ามไปว่า ‘ไก่ก็ต้องการความสุขขั้นพื้นฐานเช่นกัน’  

G101 ตอนนี้จึงขอว่ากันด้วยเรื่อง ความสุขของไก่ ว่ามันสำคัญยังไง โปรตีนในจานที่เรากินอยู่แทบทุกวัน เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของเกษตรกร และสะท้อนมาสู่สุขภาพของเรามากแค่ไหน

ทำไมไก่ทั่วไป ถึงไม่ค่อยจะมีความสุข

เพราะระบบของการเลี้ยงสัตว์หรือปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม ได้นำความรู้ใหม่และวิทยาการมาเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงไก่ เพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งเนื้อไก่และไข่ที่มีปริมาณมากพอต่อความต้องการของตลาด เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘ไก่กรงตับ’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงแบบเบียดเสียดกันเป็นตับ จนไก่เกิดความเครียดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมในการอยู่ เดิน กิน นั่ง นอน และนิสัยก้าวร้าว นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา และนำไปสู่การดื้อยา

แน่นอนว่าตอนหยิบไก่ทอดเข้าปาก เราอาจจะไม่ได้นึกสงสารชะตากรรมของเจ้าไก่ ที่ต้องถูกดูแลแบบไม่แคร์หลักสวัสดิภาพสัตว์ แต่ขณะเดียวกัน สุขภาพของคนกินเองก็น่าระแวงเช่นกัน เพราะยังไม่มีใครออกมายืนยันชัดเจนเรื่องความปลอดภัยของคนกินที่อาจเสี่ยงไม่แพ้กัน 

โชคดีที่ในขั้วตรงข้าม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตื่นตัวเรื่องนี้ และมีเกษตรกรหลายคนที่เริ่มหันมาเลี้ยงไก่ด้วยวิถียั่งยืนมากขึ้น ทำให้เกิดศัพท์น่ารักๆ มาบรรยายไก่ ไม่ว่าจะเป็น ‘ไก่เลี้ยงปล่อย’ ‘ไก่อารมณ์ดี’ ‘ไก่บ้านอินทรีย์’ เป็นทางเลือกให้กับคนกินที่ใส่ใจในวิถีธรรมชาติ และต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากผู้บริโภคหันมาใส่ใจความสุขของไก่กันเยอะๆ

เพราะไก่ควรมีอิสระ ได้อยู่ในบ้านที่ไม่เบียดเสียด

ไก่เป็นสัตว์ที่มีนิสัยขี้ตกใจเป็นทุน ดังนั้น มันจะไม่ชอบอยู่ในที่เบียดเสียด ยิ่งถ้าเป็นไก่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้กินไข่จะชอบความปลอดภัยเป็นพิเศษ นอกจากจะต้องมีที่เดินเพียงพอ รวมถึงที่นอนและที่ฟักไข่ที่มันจะรู้สึกสบายใจ ส่วนไก่ที่เลี้ยงไว้กินเนื้อแม้จะเชื่องกว่าและชอบอยู่ใกล้อาหาร แต่ก็ต้องการที่เดินที่ไม่หนาแน่นเกินไปเช่นกัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดว่าโรงเรือนระบบเปิดต้องมีน้ำหนักของไก่เนื้อมีชีวิตไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ส่วนด้านเกษตรกรเจ้าของฟาร์มเอง อาจใช้วิธีประเมินจากจำนวนไก่ โดยเจ้าของแทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม กำหนดให้ในเลี้ยงไก่ในเล้า 5 ตัว ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร 

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สำรวจพบว่า การเลี้ยงไก่แบบเบียดเสียดเกินไป จะทำให้ไก่มีสุขภาพและพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น กินเยอะกว่าเพราะถูกกระตุ้นจากตัวรอบข้าง นั่งนานกว่าจนอาจทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ยืนนานจนเล็บเท้ายาวและบิดเบี้ยว ส่งผลให้เกิดโรคเล็บและเท้าตามมา เป็นต้น 

แต่ไก่เนื้อที่ถูกเลี้ยงแบบปล่อยจะมีวิถีชีวิตแบบง่ายๆ คือปล่อยให้ออกมาเดินรับแดดตอนเช้า กินอาหาร เอาตัวมาคลุกดินไล่ไรและทำความสะอาดตัวเอง พอแดดร้อนก็เข้าไปหลบในโรงเรือน ตกค่ำก็นอนบนพื้นได้เลย ชิลล์กว่ากันเยอะ

เพราะไก่ควรได้กินอาหารดี ไม่ต้องพึ่งอาหารสำเร็จรูป

อาหารสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตอาหารที่มีส่วนผสมครบถ้วนต่อการเติบโตของไก่ ผ่านการทดลองและเติมสารอาหาร เช่น กรดอะมิโนสังเคราะห์ วิตามินสังเคราะห์ เข้าไปเพื่อช่วยให้ไก่โตและมีขนาดของเนื้อตามต้องการ โดยทำออกมาในรูปแบบของอาหารสำเร็จรูปที่อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรมาเสร็จสรรพ

แต่สำหรับไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ อาหารของมันคือการผสมเอาวัตถุดิบในธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปลายข้าว รวมถึงของเหลืออื่นๆ จากการปลูกพืชผักมาผสมกัน แม้กระบวนการจะเยอะกว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาจจะแพงกว่าบ้างหรือถูกกว่าบ้าง (ตามแต่ราคาตลาด) แต่เกษตรกรแต่ละคนก็มีสูตรผสมอาหารที่ช่วยให้คุณค่าทางอาหารของไก่เนื้อครบถ้วนไม่ต่างกับอาหารสำเร็จรูป ไก่เองก็ได้กินของที่รสชาติอร่อย พร้อมกากใยเพียบ และมั่นใจได้ว่าปลอดภัยแน่นอน

เพราะไก่ไม่อยากพึ่งยาปฏิชีวนะตอนเจ็บป่วย

ประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดของไก่ในระบบอุตสาหกรรม คือความเสี่ยงของการใช้ยาปฏิชีวนะเวลาไก่ป่วยนั่นเอง ซึ่งบางครั้งอาจปะปนอยู่ในส่วนผสมของอาหารสัตว์บางชนิด ยานี้จะเข้าไปควบคุมแบคทีเรียในร่างกายของไก่ไม่ให้เพิ่มจำนวน ก่อโรค หรือไปดึงสารอาหารที่ไก่กินเข้าไป ทำให้ไก่เจริญเติบโตได้ดี แต่ปัญหาคือเมื่อใช้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ กลับก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาในไก่ได้เช่นกัน ซึ่งเราคงเคยเห็นในข่าวว่าหากคนกินได้รับเชื้อดื้อยานี้เข้าไป ก็อาจเสี่ยงที่จะดื้อยาตามไปด้วย

ไก่ที่เลี้ยงแบบวิถียั่งยืน เกษตรกรจะใช้วิธีดั้งเดิมไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่คนโบราณกินกัน นั่นก็คือการใช้ยาสมุนไพรจากธรรมชาติ การกินผักเป็นยา โดยใส่มันลงไปเป็นส่วนหนึ่งในอาหารเลย ไม่ว่าจะเป็นฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล พืชสมุนไพรพื้นบ้านแบบไทยๆ ที่เป็นภูมิปัญญาโบราณนี่แหละดี และปลอดภัยที่สุด

เพราะไก่อยากมีเพื่อนหลากหลาย ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้

สุดท้ายนี้ เราอยากให้ผู้บริโภคหันมาสนับสนุนไก่ของเกษตรกรรายเล็กๆ กันมากขึ้น เพราะมีผู้ผลิตดีๆ ในท้องตลาดอีกมากมายที่สนใจเรื่องสายพันธุ์ไก่ที่หลากหลาย แถมยังใส่ใจเรื่องความสุขของไก่ รวมทั้งสุขภาพของคนเลี้ยงและคนกินด้วยเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับไก่รสชาติเดิมๆ เพราะโลกนี้มีไก่อีกหลากหลายสายพันธุ์ที่อร่อยไม่เหมือนกันด้วยนะ เช่น ไก่เนื้อ ไก่บ้าน ไก่พื้นเมือง รสชาติ รสสัมผัส ความเหนียว ความนุ่ม และความอร่อยก็แตกต่างกันไป

ต่อไปนี้คือพันธมิตรที่รักและใส่ใจในความสุขของไก่เนื้อ ที่เราอยากแนะนำ

  • แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม ฟาร์มไก่เนื้อที่เชฟดังหลายๆ คน เลือกไปใช้ในร้านอาหารของตัวเอง ฟาร์มนี้การันตีเรื่องสวัสดิภาพและความสุขของไก่ อาหารที่ใช้ก็เป็นของเหลือจากนาข้าวอินทรีย์ของตัวเอง สั่งไก่โดยตรงกับฟาร์มได้ที่ คลิก และย้อนไปอ่านบทสัมภาษณ์เจ้าของฟาร์มได้ที่ คลิก
  • สิรินฟาร์ม ฟาร์ม ณ เชียงรายของครอบครัวนักแสดง แหม่ม-คัทลียา ที่เน้นทำวัตถุดิบดีให้ครอบครัวกิน จนขยายมาเป็นธุรกิจที่ใส่ใจความยั่งยืน ไก่เนื้อของที่นี่เขายืนยันว่าปลอดยาปฏิชีวนะแน่นอน ส่งขายซูเปอร์มาร์เก็ตไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ และสั่งโดยตรงได้ที่ คลิก 
  • ไก่เนื้อโคราช เนื้อเหนียวหนับเป็นเอกลักษณ์ พัฒนาพันธุ์โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจไก่โคราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ไว้ใจได้เรื่องวิธีการเลี้ยงแบบอินทรีย์ แถมยังขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ด้วย คลิก
  • ไก่บ้านตะนาวศรี ไก่บ้านอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่พัฒนาด้วยความตั้งใจของคนไทย เลี้ยงด้วยอาหารผสมสมุนไพร เพื่อให้ไก่แข็งแรงแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ เขาบอกว่าไก่บ้านมีโปรตีนสูงกว่าไก่เนื้อทั่วไปด้วยนะ คลิก 

ที่มาข้อมูล:
www.agri.ubu.ac.th/mis/seminar/upload/71.pdf
www.acfs.go.th/standard/download/GAP_BROILER_FARM.pdf

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง