แตงโมลูกโตๆ รสหวาน น่าจะเป็นสิ่งที่คนไทยคิดถึงกันในช่วงฤดูร้อน ที่ร้อนทั้งกายและร้อนทั้งใจไปกับสถานการณ์โลกแบบนี้ เพราะแตงโมเป็นผลไม้ที่สนิทสนมและอยู่คู่กับสำรับครัวไทยมาแต่โบราณ คุณย่าคุณยายบางบ้านอาจจะเคยเอาแตงโมมาปรุงเป็นอาหารคาวเพราะเชื่อว่ากินแล้วช่วยคลายร้อนได้ดี๊ดี
แต่เรื่องที่ใหญ่ไปกว่าการกินแตงโมดับร้อน คือเบื้องหลังที่มีทั้งดีและไม่ดีของแตงโมเนื้อแดงๆ หวานๆ ฉ่ำๆ G101 ในตอนนี้ อยากพาไปเรียนรู้และเข้าใจว่าการเลือกกินแตงโมของเราแต่ละครั้ง มันส่งผลต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ ไปจนถึงความภูมิใจของคนปลูกได้ยังไง
(ขออนุญาตร้องเป็นเพลง ใส่ทำนอง แตงโมจินตหรา)
แตงโมเคมีรสหวาน ใครรับประทานตกอกตกใจ
แล้วจะไม่ตกใจได้ยังไง ถ้าเรารู้ว่า ‘แตงโมอาบยา’ ไม่ใช่ข่าวลือ จากเอกสารเผยแพร่ของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ในกระบวนการปลูกแตงโมแบบเคมีของบ้านเราซึ่งพบได้ทั่วไป อาจมีการใช้สารเคมีมากถึง 120-150 กิโลกรัมต่อไร่ต่อฤดูปลูก! ยังไม่นับรวมยาฆ่าแมลงอีกมากกว่า 5 ชนิด!
มากไปกว่ากินแตงโมอาบสารพิษ ยังมีเสียงลือเล่าอ้างในทางลบอีกว่า แตงโมเคมีที่เราชิมแล้วหวานจ๋อยสดชื่นอาจจะไม่ได้หวานด้วยตัวเอง แต่มีการฉีดฮอร์โมนเพิ่มรสหวาน! หรือฉีดสีให้แดงเข้าไปอีก! ถึงแม้เรื่องนี้จะไม่ได้มีบทพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่เพื่อความปลอดภัย ในท้องตลาดก็ยังมีแตงโมอินทรีย์จากเกษตรกรที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีให้เราเลือกกินอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะภาคอีสานที่กำลังหันมานิยมปลูกกันเลยล่ะ
แตงโมอินทรีย์มาใหม่ ผ่าดูข้างในเนื้อแดงจ่ายหวาย
แตงโมอินทรีย์ที่หาซื้อได้ในท้องตลาด ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ยอดฮิตอย่างตอร์ปิโด (ผลรี) และกินรี (ผลกลม) ซึ่งปลูกบนดินที่ระบายน้ำได้ดี เช่น ดินทราย เริ่มจากใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดภัยไม่ชุบยา ค่อยๆ ลงดินและปล่อยให้เติบโตด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมัก เช่น เศษอาหาร มะละกอ และกากน้ำตาล หากเจอแตงโมต้นไหนป่วยเกษตรกรก็จะถอนต้นนั้นทิ้งออกจากแปลงเพื่อไม่ให้แพร่โรคต่อ เรียกว่าดูแลกันเป็นอย่างดีตลอดเวลากว่าสามเดือนในการปลูก
วิธีสังเกตแตงโมว่าเป็นอินทรีย์รึเปล่า เราอาจจะดูภายนอกไม่ค่อยรู้ แต่ผู้บริโภคที่กินแตงโมอินทรีย์หลายๆ คนบอกต่อกันว่า ถ้าเป็นแตงโมอินทรีย์ เปลือกจะอ่อน ผ่าออกมาแล้วได้กลิ่นหอมออกมาทันที เนื้อละเอียดสีแดงน่ากิน แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วจะได้รสหวานแบบพอสดชื่น ไม่หวานจนแสบคอ เคยมีคุณแม่บ้านบางคนก็ทำการทดลองเปรียบเทียบและพบว่า แตงโมอินทรีย์เมื่อผ่าแล้วตั้งทิ้งไว้จะอยู่ได้ไม่นานเท่าแตงโมเคมีอีกด้วย
เอาไหมชิมไหมพี่จ๋า แตงโมหลังนาเปลือกบางเนื้อแดง
ไม่ใช่แค่ความอร่อยที่เราจะได้จากการกินแตงโมอินทรีย์ แต่การเลือกกินของเรายังช่วยเหลือชาวนาทั้งในแง่ของรายได้ ชีวิต และจิตใจอีกด้วย
เพราะธรรมชาติของแตงโมนั้นเป็นพืชระยะสั้น ใช้เวลาปลูกไม่มาก และยังชอบดินที่ไม่มีน้ำขังอยู่มากนัก จึงเหมาะจะเป็น ‘พืชหลังนา’ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวนาผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง โดยเฉพาะชาวนาภาคอีสานที่เจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำจนต้องเลิกทำอาชีพเกษตรกรไปตามๆ กัน
เราได้คุยกับตัวแทนกลุ่ม ‘ปลูกฮัก’ หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกแตงโมอินทรีย์ ที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งเดิมปลูกข้าวอินทรีย์ที่ผ่านมาตรฐานทั้ง IFOAM และ PGS อยู่แล้ว แต่พอช่วงต้นปีที่เริ่มเข้าหน้าแล้ง ปลูกข้าวไม่ได้ ก็หันมาปลูกแตงโมเป็นพืชหลังนาเพื่อเป็นอาชีพเสริม ซึ่งใช้นวัตกรรมชาวบ้านที่เรียกว่า All-Bio แถมยังผ่านการตรวจแปลงที่ได้มาตรฐานทุกปี สร้างแบรนด์จนส่งขายไปยังห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ และได้รับการยอมรับเรื่องแตงโมอินทรีย์มาหลายปี จนทุกวันนี้มีเกษตรกรในเครือข่ายเพิ่มเติมไปยังจังหวัดอุบลราชธานีและอำนาจเจริญด้วย
“สโลแกนของเราคือ นาเรา เราปลูก เราขาย เพราะแตงโมของเราทุกลูกไม่ได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่มาจากหยาดเหงื่อของชาวนาและลูกหลานที่มาช่วยกันทำ ช่วยกันขาย ทำบริษัทกันเอง”
หัวหน้ากลุ่มปลูกฮักเล่า
“เราอยากให้ลูกหลานของเรา มีความทรนงในอาชีพเกษตรกร”
คันได้กินเบิ่งแล้ว เจ็บหัวปวดแอวกินแล้วหายส่วง
เหตุผลสุดท้ายที่เราควรหันมาเลือกแตงโมอินทรีย์ คือความสบายใจและดีต่อสุขภาพ เพราะไม่ใช่แค่กินแล้วดับร้อน บรรเทาไข้และอาการคอแห้ง แต่ยังอุดมด้วยสารไลโคปีน ที่ว่ากันว่ากินแล้วต้านมะเร็ง ดูแลหัวใจ มี โพแทสเซียม ที่ช่วยลดความดันโลหิตได้ และยังมีประโยชน์อีกมากมายเช่นเดียวกับพืชผักอีกหลายชนิด ที่ช่วยพิชิตโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคหัวใจและมะเร็ง
ลูกหนึ่งไม่พอเอาสอง ลูกสองไม่พอเอาสามสี่ห้า
ซื้อแตงโมอินทรีย์ที่ไหนดี
- แตงโมอินทรีย์กลุ่มปลูกฮัก หาซื้อได้ที่ TOPS Supermarket สาขาในกรุงเทพฯ หรือสอบถามได้ที่ ปลูกฮัก ประเทศไทย
- แตงโมอินทรีย์เลมอนฟาร์ม จากเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ หาซื้อได้ที่ร้าน เลมอนฟาร์ม
- ลองเดินตลาดสีเขียวให้บ่อยขึ้น จะมีโอกาสได้เจอแตงโมอินทรีย์จากเกษตรกรรายเล็กๆ ที่นำมาขายด้วยตัวเอง
วิธีเลือกซื้อ
- กะจากน้ำหนัก ถ้าหนักจะมีโอกาสเนื้อแน่นกว่า
- ดีดที่เปลือกเบาๆ ถ้าดังป๊อกๆ แสดงว่าค่อนข้างแน่น น่าจะสุกพอดี
- ดูที่ก้าน ถ้ามีสีน้ำตาลหงิกงอ น่าจะเป็นผลแก่ สุกจัด หวานฉ่ำ
- ดูที่ลายตรงก้น ถ้ายิ่งสวยและชิดกัน น่าจะหวานและอร่อยกว่า
ช่วงนี้บ้านเราเผชิญทั้งเรื่องไวรัสและฝุ่น การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการกินผักผลไม้อินทรีย์ ย่อมเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพแน่นอน
ที่มาข้อมูล:
- รัตนภิโพธิ์ ทวีกันย์ (วิทย์ มหาชน) กรรมการเครือข่ายปลูกฮัก
- เลมอนฟาร์ม
ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง