มากกว่าแค่ร้านอาหารพื้นบ้าน คือความรู้สึกอบอุ่นหัวใจราวกับได้ยินประโยค “กลับมาแล้วเหรอ หิวไหม” จากคุณยายที่ตั้งโต๊ะรอเรากลับบ้าน

มากไปกว่าการได้ชิม Comfort Food ประจำตระกูลของคนเฒ่าคนแก่ คือการที่เบื้องหลังของเมนูเหล่านั้นเกิดจากวัตถุดิบดีๆ ดีระดับที่ออร์แกนิกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

มากไปกว่าวัตถุดิบดีๆ คือการที่เราได้รู้ว่าต้นทางวัตถุดิบปลอดสารบนโต๊ะเดินทางไกลมาจากเชียงใหม่

และคงไม่มากเกินไปที่จะบอกว่า มีไม่กี่ร้านนักหรอก ที่แค่เปิดประตูร้านเข้าไป ก็เหมือนกับเราได้กลับบ้าน

Ginger Farm Kitchen คือหนึ่งในนั้น โดยร้านนี้้เป็นร้านที่เดินทางจากสาขาแรกในเชียงใหม่ มาสู่สาขาใหม่ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เราได้สัมผัสกับประสบการณ์อาหารพื้นบ้านตั้งโต๊ะ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับบ้านต่างจังหวัดแล้วนั่งล้อมวงกินข้าวกันอย่างอบอุ่น

เปิดประตูสู่ห้องกินข้าว

เราเปิดประตูเข้า Ginger Farm Kitchen สาขา 101 True Digital Park แล้วพบว่าที่นี่ตกแต่งได้อบอุ่นเหมือนสาขาแรกที่เชียงใหม่เด๊ะเหมือนยกกันมาอย่างไรอย่างนั้น

เราได้เห็นโคมไฟที่ทำจากสุ่มจับปลา ต้นไม้เขียวขจีเข้มรอบๆ ร้าน ตัดกับโต๊ะไม้และสีเขียวอ่อนที่ทาตกแต่งให้เหมือนอยู่ในบ้านไม้หลังเล็ก มีกิมมิกหน้าต่างไม้เจาะทะลุแบ่งโซนร้านให้น่ารัก และเพิ่มกระจกใสรอบๆ ร้านให้นั่งแล้วไม่อึดอัดเกินไปนัก แถมคุมโทนเข้าไปอีกด้วยการเสิร์ฟอาหารในถาดไม้ ตะกร้าหวาย กระด้ง จานกระเบื้อง รวมไปถึงใบตองรองจานที่เพิ่มสีเขียวสดชื่นให้หลายๆ เมนู แต่ก่อนจะเริ่มกิน เราแวบเข้าไปเยี่ยมครัวกันสักครู่ก่อนดีกว่า

แอบดูในครัว

รถขนส่งวัตถุดิบจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ จะทำรอบอาทิตย์ละ 2 ครั้ง นี่คือร้านอาหารจากฟาร์มสู่เมืองที่แท้จริง และฟาร์มที่ว่าก็คือฟาร์มของที่ร้านเอง

Ginger Farm เกิดขึ้นก่อนร้านอาหารสาขาแรกที่เชียงใหม่ราวๆ 4-5 ปี ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเจ้าของธุรกิจอย่างคุณธงชัย ปริเตนัง ผู้รักและสนใจเกษตรอินทรีย์ถึงขั้นเปิดฟาร์มออร์แกนิกเอง เพราะคุณธงชัยเชื่อมั่นว่าเมื่อมีฟาร์มแล้ว นอกจากจะมีวัตถุดิบไว้ใช้ที่ร้านตัวเองในอนาคต ก็ยังการันตีได้ว่าวัตถุดิบเหล่านั้นปลอดภัยอย่างแน่นอน

ที่ฟาร์มกว้างกว่า 30 ไร่ เขาลงมือทั้งปลูกข้าว เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปูนา ปลูกผัก ปลูกดอกไม้ แต่ถ้ามีอะไรเหนือบ่ากว่าแรง ทางร้านก็มีวัตถุดิบที่ได้จากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สามพรานโมเดล แถมทางฟาร์มยังให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เขาส่งวัตถุดิบให้กับร้านต่างหากอีก เป็นความจริงใจและจริงจังของ Ginger Farm Kitchen ที่เราสัมผัสได้จากเรื่องเล่า

ได้เวลาตั้งโต๊ะ

อาหารพื้นบ้าน ก็คืออาหารที่ทำกินเองที่บ้านตามแถบพื้นที่ต่างๆ เมนูของร้านนี้ก็เช่นกัน ทุกจานเป็นสูตรอาหารพื้นบ้านของครอบครัวคุณธงชัยที่ตกทอดกันมานานหลายต่อหลายรุ่น แต่ด้วยความที่เป็นครอบครัวคุณธงชัยเป็นคนเหนือ ที่ร้านจึงเน้นอาหารเหนือเยอะสักหน่อย

นอกจากสูตรอาหารพื้นบ้านที่จริงใจแล้ว ที่นี่ยังจริงจังด้วยการใช้วัตถุดิบออร์แกนิกเกือบ 100% ปลอดผงชูรส น้ำตาลก็ใช้แบบไม่ขัดสี และน้ำตาลมะพร้าว ส่วนน้ำปลาก็เป็นน้ำปลาออร์แกนิกโซเดียมต่ำ

อาหารจานแรกที่ตั้งโต๊ะเป็น ‘ปูอ่อง’ เราตาโตที่ได้รู้ว่าปูในกระดองเล็กๆ นี้คือปูนาที่เลี้ยงในจิงเจอร์ฟาร์มเอง พอได้ลองชิมก็พบว่าเป็นปูอ่องที่อร่อยมันเป็นพิเศษ ด้วยความที่พ่อครัวจะใส่ไข่น้อย เราเลยได้สัมผัสรสมันๆ เน้นๆ จากปูนาออร์แกนิก พอใช้ช้อนตักปูอ่องออกจากกระดอง กินกับข้าวหอมมะลิอัญชันสีสวยก็เพิ่มอรรถรสในการกินเข้าไปใหญ่

เราได้ลองชิมผักตามฤดูกาลถึง 2 ชนิด ชามแรกเป็น ‘แกงผักหวานปลาสลิด’ การเสาะหาวัตถุดิบจานนี้คือ ที่ร้านไปติดต่อและให้ความรู้กับชาวดอยให้ปลูกผักหวานแบบออร์แกนิกส่งให้โดยตรง แถมยังพิถีพิถันด้วยพริกแกงออร์แกนิกที่ร้านทำเอง ใส่กะปิ และมีวุ้นเส้นอยู่ในแกงด้วย รสชาติเข้มข้นแต่ก็ซดคล่องคอ

อีกจานเป็นเมนูพื้นบ้านง่ายๆ อย่าง ‘เชียงดาออร์แกนิกผัดไข่’ ที่รสชาติกลมกล่อม ผักพื้นบ้านของภาคเหนือในจานนี้มาจากทั้งที่ปลูกเองในฟาร์มและกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในเครือข่าย ส่วนไข่มาจากแม่ไก่อารมณ์ดีในจิงเจอร์ฟาร์มเลี้ยงไว้ แถมเมนูนี้ยังมีมะเขือเทศแซมเพิ่มรสเปรี้ยวนิดๆ และยังเป็นอาหารตาสีสวย ทำให้จานนี้ถ่ายรูปขึ้นมากเข้าไปอีก

เมนูแซ่บสุดประจำโต๊ะนี้ต้องยกให้ ‘ยำขนมจีนข้าวกล้อง’ ขนมจีนที่ทำมาจากข้าวกล้องล้วนๆ ยำที่ใส่น้ำปลาร้าออร์แกนิกของร้าน และเมนูสุดท้ายที่เราประทับใจสุดๆ จนอยากมอบ 5 ดาวให้ คือ ‘เมี่ยงคะน้าออร์แกนิก’ ที่นอกจากเสิร์ฟสวยๆ ในชามไม้จิ๋วบนถาดไม้ยักษ์แล้ว รสชาติยังเข้ากันได้ดีไปซะหมด ไหนจะน้ำราดสูตรทางร้านที่ไม่หวานมาก ยิ่งพอกินกับคะน้าที่ไม่ขมเลย รู้ตัวอีกทีก็เกลี้ยงถาดแล้ว

อีกหนึ่งความน่ารักที่ไม่เขียนถึงไม่ได้คือใบตองที่รองมาสวยๆ แทบทุกจานนั้นก็เดินทางไกลจากจิงเจอร์ฟาร์มเชียงใหม่ด้วย คุณผู้จัดการร้านเล่าให้ฟังว่าที่โน่นปลูกต้นกล้วยเยอะ มีใบตองเหลือเฟือเชียวล่ะ

(เมนู) น้ำ (ที่เป็น) นางเอก (ของร้าน)

ความน่ารักยังไม่หมด เราแนะนำว่าอย่าเพิ่งออกจากร้านถ้ายังไม่ได้ลองเมนูน้ำหน้าตาน่ารักสีสวยแก้วนี้ ‘Forest Harmony’ พิเศษตรงที่เป็นทั้งน้ำผักผลไม้ที่อร่อยมากในแบบที่หลอกเด็กให้กินผักชอบกินได้ หลอกเพื่อนที่ไม่ชอบผัก รวมไปถึงหลอกตัวเองที่ไม่ชอบกลิ่นเหม็นเขียวให้ดื่มได้สบายๆ

ความอร่อยของแก้วนี้ ประกอบด้วยชาอัญชันออร์แกนิก น้ำสับปะรด น้ำผึ้ง น้ำมะนาว และสารพัดผักอย่างเซอลารี่ ขึ้นฉ่าย ผักโขม กะเพรา ซึ่งพอรวมกันแล้วแทบจะไม่มีกลิ่นผักเหม็นเขียวเลย เพราะเขาใส่สับปะรดให้กลบกลิ่นผักจนหมดจด รสชาติที่ได้เลยเหมือนได้กินน้ำสับปะรดที่กลมกล่อมอร่อยและดื่มง่ายกว่าน้ำสับปะรดเดี่ยวๆ

เครื่องดื่มจากผักผลไม้สดๆ ของร้านนี้ จัดเสิร์ฟมากับหลอดกระดาษแข็งแรง เพราะนอกจากร้านจะรักษ์โลกแล้ว ยังใส่ใจกับความคงทนแข็งแรงของหลอดกระดาษที่หนาหน่อย จึงไม่เปื่อยยุ่ยไปก่อนดูดหมดแก้ว เป็นจุดเล็กๆ ที่สำคัญที่บอกถึงความใส่ใจต่อคนกินด้วย

ความจริงจังจริงใจของ Ginger Farm Kitchen เช่นนี้เองที่ทำให้เราประทับใจ แม้จะร่ำลาและเดินออกจากร้านมาจนไกลแล้วก็ตามที

ร้าน Ginger Farm Kitchen
สาขา 101 True Digital Park (ชั้น 3) 101 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
วันเวลา: เปิดทุกวัน เวลา 10:00-21:00 น.
รายละเอียด: www.facebook.com/gingerfarm101

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร