ทำไมเวลาเรียนวิชาสังคมศึกษาจากตำราถึงรู้สึกเบื่อนักนะ แต่ถ้ามีใครสักคนบอกว่า “ออกไปเที่ยวกัน” เราจะตาโตทันที  ซึ่งเราอาจไม่ทันได้สังเกตเลยว่า สิ่งที่ประสาทสัมผัสทั้งมวลจับต้องอยู่เวลาออกเที่ยวนั่นแหละคือความรู้ จึงอยากชวนคนอ่านมาตะลุยโคลน ท่องแปลงนาที่ Ginger Farm แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตธรรมชาติแบบไทยๆ ไปด้วยกัน แถมยังเป็นความรู้ที่ไม่ใช่แค่สนุกเท่านั้น แต่ยังทำให้อิ่มท้องได้ด้วย

ฟาร์มแห่งนี้เกิดมาด้วยเหตุบังเอิญจากที่นักธุรกิจคู่หนึ่งตั้งใจจะสร้างบ้านริมทุ่งนาหวังใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจส่วนตัว ระหว่างเข้ามาติดตามงานก่อสร้าง ลูกๆ หลานๆ หลายคนมีโอกาสมาเที่ยวเล่นในทุ่งนาป่าโคลนแห่งนี้ด้วย แต่ละคนสนุกจนไม่อยากกลับบ้าน เกิดการบอกต่อปากต่อปากไปเรื่อยๆ จากพื้นที่กิจกรรมทำนาปลูกข้าวและเกี่ยวข้าวที่จัดขึ้นสนุกๆ กันเองในหมู่คนรู้จัก จึงกลายเป็นธุรกิจใหม่ของครอบครัวไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว  คนเชียงใหม่เลยพลอยโชคดีที่ได้มีพื้นที่เรียนรู้เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ตามไปด้วย

ฉันเคยถามเด็กๆ บางคนว่า “รู้ไหมน้ำมาจากไหน” เด็กตอบว่า “น้ำมาจากก๊อก”  “แล้วข้าวล่ะมาจากไหน” “ข้าวมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ต”  ถามว่าเด็กผิดหรือเปล่า คงบอกไม่ได้เต็มปากนัก  เพราะตลอดชีวิตน้อยๆ ของพวกเขาก็เห็นว่าการเดินทางของสิ่งของต่างๆ ที่ว่า มันสิ้นสุดอยู่ที่ตรงคำตอบนั้นจริงๆ เพราะอย่างนี้ล่ะ เราจึงต้องออกไปสู่โลกใบใหญ่เพื่อช่วยขยายประสบการณ์ของเด็กๆ ว่ายังมีเรื่องราวน่าสนุกให้เราเรียนรู้อีกมากมายเหลือเกิน

หน้าฝนปีนี้ฝนมาเร็วกว่าทุกปี ท้องทุ่งดูเริงร่าพร้อมแล้วสำหรับการเริ่มต้นใหม่  ยามแล้งปูปลาทั้งหลายจะซ่อนตัวจำศีลอยู่ในโคลนใต้ท้องนา แต่เมื่อได้น้ำฝนกลับคืนมามันจะเริ่มออกมาหากินอีกครั้ง  วันนี้เด็กๆ จะออกไปหาปูและจับปลาในนากัน นี่คืออาหารแสนอร่อยที่ชีวิตบ้านนามอบให้ แค่ต้องใช้การสังเกตเสาะแสวงหากันหน่อยเท่านั้นเอง ปูนาจะทำรูอยู่ริมนาหรือริมคลอง เวลาจะจับต้องใช้มือล้วงเข้าไปในรูแล้วจับตรงด้านข้างลำตัวเพื่อไม่ให้ถูกก้ามปูหนีบ ปูนาถือเป็นศัตรูพืชของต้นข้าว ก่อนจะทำนาต้องจับปูออกให้หมดเสียก่อน พอดำนาไปได้สักพักก็ต้องมาตรวจตราดูปูนาอีกรอบ ไม่อย่างนั้นปูจะกัดกินต้นข้าวจนเสียหายหมด ปูนาที่ได้เอาไปทำเป็นอ่องปู (มันปูผสมไข่และเครื่องปรุงรสย่างไฟอ่อนๆ จิ้มกินกับข้าวเหนียว) หรือทำปูดองใส่ส้มตำได้สบายๆ

ส่วนการจับปลาในนาต้องวิดน้ำออกจากนาเสียก่อน จะได้เห็นตัวปลาชัดเจนขึ้น จากนั้นก็ลุยจับกันได้เลย จะใช้มือเปล่า ใช้สุ่มหรือแซะจับปลาก็ได้  ปลาช่อนนาที่ได้จากมื้อนี้ก็กลายเป็นอาหารกลางวันแสนอร่อยจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาเอง  เสียงหัวเราะสนุกสนานเฮฮาของเด็กๆที่ไถลไปตามพื้นโคลนเป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา น่าจดจำ เพราะเป็นการเรียนจากการลงมือทำด้วยตัวเอง สนุกกว่าเรียนในจากตำราในห้องเรียนและจะเป็นความรู้ที่เขาไม่มีวันลืมได้เลยแน่นอน

คุณปุ้ย-ศิริลักษณ์  ปริเตนัง เจ้าของธุรกิจ Ginger farm เล่าว่า “เวลาเห็นพ่อแม่ลูกทำกิจกรรมด้วยกันอย่างมีความสุข เรารู้สึกได้เลยว่าผู้คนโหยหาสิ่งนี้จริงๆ คนไทยเราขาดพื้นที่สีเขียวที่จะได้พักผ่อนเรียนรู้ ดีใจที่แปลงนาของเราได้เป็นพื้นที่แบ่งปันความสุขให้ครอบครัวอื่นๆด้วย  เป็นความตั้งใจเลยว่าเราจะทำที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของครอบครัว มาเดินเล่นในแปลงนา มาเก็บไข่เป็ดไข่ไก่ เก็บผักกลับบ้านกันได้ อยากให้ทุกคนที่มามีความรู้สึกเหมือนได้มาเที่ยวบ้านเพื่อน”

อันที่จริงคุณปุ้ยมีธุรกิจดั้งเดิมร่วมกับสามี-คุณธงชัย ปริเตนัง พร้อมหุ้นส่วนชาวเดนมาร์คอยู่ก่อนแล้วคือการทำผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านเพื่อการส่งออกในนาม Ginger Fashion และภายหลังได้ขยายธุรกิจมาทำร้านอาหาร The House ด้วย ดังนั้น เหตุผลหลักที่คุณปุ้ยเก็บรักษาผืนดินแห่งนี้ไว้เป็นแปลงผักแปลงนาก็เพราะตั้งใจผลิตวัตถุดิบต่างๆ ได้แก่ ข้าว ไข่ ผักและสมุนไพรต่างๆ ส่งไปยังร้านอาหาร เมื่อเปิดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้เด็กๆและผู้ปกครองจึงได้มีโอกาสทดลองกิจกรรมต่างๆ ในฟาร์มไปด้วย ทั้งปลูกผัก เก็บผัก ดำนา เกี่ยวข้าว ตีข้าว  เก็บไข่เป็ดไข่ไก่ ให้อาหารไก่ ฯลฯ และได้มีการเพิ่มเติมกิจกรรมอื่นๆ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยเช่น ทำขนมไทย ทำอาหาร ปั้นดินเหนียว โยคะเด็ก เป็นต้น

“เราเน้นกิจกรรมครอบครัวในวันเสาร์อาทิตย์เพราะอยากเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่อยากไปห้างสรรพสินค้า  อยากให้เด็กได้เล่นบ้างหรือห่างจากการเรียนพิเศษบ้าง เวลาได้ยินเด็กๆพูดว่า ‘สนุกกว่าไปห้างอีก’ แล้วมันชื่นใจ เด็กๆชอบสไลเดอร์โคลนมาก อันนี้แข่งกับสวนน้ำได้ เพราะน้ำคือพระเจ้าของเด็ก (หัวเราะ)  หรือบางคนวอล์คอินเข้ามาวันธรรมดาแล้วขอทำกิจกรรมด้วยก็มี เราก็ดูว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง ปลูกผัก เก็บไข่ หรือทำอาหารจากของที่เก็บมา เพ้นท์กระถาง ปลูกดอกทานตะวัน อยากทำอะไรก็บอกได้ เราอยากให้เป็นพื้นที่เปิดกว้างในการเรียนรู้จริงๆ ” คุณปุ้ยเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ปัจจุบัน อาคารที่เคยตั้งใจจะใช้เป็นบ้านถูกดัดแแปลงเป็นร้านค้าเล็กๆเพื่อให้ลูกค้าได้มีพื้นที่ร่มเงาสำหรับรับประทานอาหารหลังทำกิจกรรม ขณะเดียวกันก็ใช้จำหน่ายผลผลิตที่เหลือจากฟาร์มได้ด้วย เช่น ขิงอบแห้ง อัญชันอบแห้ง และไข่สดๆ จากฟาร์ม

ไข่เป็ดที่วางขายในร้านได้มาจากฝูงเป็ดในสวนที่กินหอยเชอรี่ในนาเป็นอาหาร เด็กๆ ที่ไปช่วยกันเก็บไข่จึงได้เรียนรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความเกื้อกูลกันตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่มนุษย์อย่างเราต้องหยุดแทรกแซงวงจรด้วยการใช้สารเคมี เพราะนั่นคือการทำลายทุกสิ่ง  หากหอยเชอรี่มากินข้าวในนา เราก็เลี้ยงเป็ดเพื่อกินหอยเชอรี่ นอกจากจะทำลายศัตรูข้าวแล้วยังได้ของแถมเป็นไข่เป็ดแสนอร่อยด้วย ยิ่งกินหอยมากเท่าไร เป็ดก็ยิ่งออกไข่บ่อยขึ้นเท่านั้น  ฟางข้าวที่เหลือจากการทำนา เอามาทำลอมฟางเป็นสนามเด็กเล่นของเด็กๆ หรือจะเอามาคลุมหน้าดินช่วยรักษาความชื้นแปลงผักด้วยก็ยังได้

ฉันถามเด็กๆ ว่าถ้าใช้วิธีการง่ายๆ ด้วยการพ่นสารเคมีจะเป็นอย่างไร “ปูตาย ปลาตาย เป็ดก็อาจตายด้วย” เด็กๆ บอกอย่างนั้น..แล้วคนที่กินข้าวใส่เคมีเยอะๆ จะตายไหมนะ  เด็กๆ บางคนเริ่มคิดต่อ

แปลงข้าวบางส่วนที่ปลูกไว้ก่อนหน้านี้เริ่มออกรวงแล้ว ผึ้งน้อยใหญ่บินไปตอมน้ำหวานจากดอกข้าว  ผึ้งน้อยเหล่านี้ล่ะที่ช่วยผสมเกสรให้ต้นไม้ต่างๆออกลูกออกผลให้เรากิน   แมลงปอบินฉวัดเฉวียนช่วยกัดกินแมลงศัตรูพืชในนาข้าว แถมยังเป็นนักกำจัดยุงชั้นดีประจำบ้านด้วย  ยังมีเรื่องราวอีกมากมายในธรรมชาติที่เราไม่รู้ และไม่เคยรู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไร  แต่เมื่อได้รู้แล้ว วิธีคิดในการมองโลกของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เราอาจรักโลกใบนี้ได้มากกว่าเดิม กว่าที่เคยเป็นมา

การเรียนรู้ในโลกใบใหญ่ ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบสำเร็จรูปเสมอไป และบางครั้งคำตอบก็ไม่ได้มาในคราวเดียว การหยอดเมล็ดพันธุ์แห่งความกระหายใคร่รู้ไว้ในใจของพวกเขานั่นแหละคือสิ่งที่ดีสุด

และบางที ความสนุกอาจเป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่แท้จริงก็เป็นได้

Ginger farm ตั้งอยู่บนถนนวงแหวนรอบสอง ซ.หางแคว9 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ (เข้าทางสถานพยาบาลแมคเคน) มีกิจกรรมเรียนรู้สำหรับเด็กๆและครอบครัว เช่น ปลูกผัก เก็บไข่ ดำนา เกี่ยวข้าว ตีข้าว ทำอาหาร ทำขนมไทย ปั้นดินเหนียว โยคะเด็ก ฯลฯ ราคาเริ่มต้นที่ 290 บาท (รวมอุปกรณ์อาหารว่างและอาหารกลางวัน)
โทรศัพท์: 088-1370425
FB: Ginger farm Chiangmai