กว่า 2 ปีแล้วที่ UddC (Urban Design and Development Center) หรือศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง ร่วมกับ กทม. สสส. และภาคีเครือข่าย ได้เข้ามาทำงานในพื้นที่พระโขนง-บางนา ซึ่งเป็นพื้นที่ในโซนสุขุมวิทใต้ที่เติบโตเร็ว แต่ในทางกลับกันก็ประสบปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวเป็นอันดับต้น ๆ ของกรุงเทพมหานคร พื้นที่นี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยนำเอากลไกการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายสวน 15 นาทีเข้ามาใช้ ซึ่งตอนนี้มีสวนนำร่อง 3 แห่งที่ชวนให้ติดตามตอนต่อไป ว่าหลังจากพัฒนาเสร็จสมบูรณ์แล้วจะมีหน้าตาเป็นยังไง
เทศกาลพระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล: ปลูกย่าน สร้างเมือง ที่จัดขึ้นเมื่อ 29-30 เมษายน 2566 ทำให้เราได้ทำความรู้จักกับย่านพระโขนง-บางนา มากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นแค่ทางผ่านออกจากกรุงเทพฯ เราได้รู้ว่าย่านเก่านี้มีร้านอาหารเจ้าดังเก่าแก่อยู่คู่พระโขนงมานานวันซ่อนอยู่ มีหอประวัติอุทกศาสตร์ไทย พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้อุตุนิยมวิทยา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ ของเขต ที่ชวนให้เดินตามลายแทงในคราวหน้า
และการที่ย่านนี้กำลังจะมีสวนเล็ก ๆ ให้คนในย่านและละแวกใกล้ ๆ มาใช้สอยเวลาในอนาคต ก็ยิ่งทำให้ย่านนี้มีอะไร ๆ ที่น่าสนใจให้เราตั้งใจมา ไม่ใช่แค่ผ่านมาแล้วผ่านไปเหมือนเมื่อก่อน
สวน 15 นาที ของชาวพระโขนง-บางนา
หนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คือการพัฒนาพื้นที่ให้คนได้มาทำกิจกรรมและใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ไม่ใช่มีแค่พื้นคอนกรีตหรือโครงสร้างดาดแข็ง ซึ่งตอนนี้สวนเพลินพระโขนงที่เป็นสถานที่จัดงาน ยังมีลักษณะแบบนั้นอยู่ แต่อีกไม่นาน พื้นที่นี้จะถูกปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นสวนขนาดเล็กที่ชาวชุมชนได้เข้ามาใช้สอยร่วมกันได้
การจะเกิดสวนเหล่านี้ขึ้นได้ ต้องผ่านกระบวนการร่วมกันคิดของภาคีและชาวชุมชนอยู่หลายครั้งหลายหน ซึ่ง รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าว่า “ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อออกแบบและเลือกพื้นที่ ว่าพื้นที่ในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่เหลือที่พัฒนาพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมได้อย่างไรบ้าง และต้องพิจารณาถึงความยากในการเข้าใช้พื้นที่ เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการออกแบบต้องมาจากความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ เพื่อความคุ้มค่าของงบประมาณในการจัดการ จึงต้องมีแนวทาง Policy Sand Box”
เป็นอีกครั้งที่เราได้ยินคำว่า “Sand Box” ซึ่งได้ยินอยู่บ่อย ๆ ผ่านโครงการต่าง ๆ ของรัฐในพักหลังมานี้ และย่านพระโขนง-บางนา ก็ป็นพื้นที่ Policy Sand Box หรือพื้นที่ทดลองทางนโยบาย ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่ง ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า
“ย่านพระโขนง-บางนา เป็นกระบะทรายในการทดลองนำร่องนโยบายพื้นที่สีเขียวสาธารณะ และเป็นนโยบายนำร่องเรื่องแรกของคณะกรรมการนวัตกรรมเมือง กรุงเทพมหานคร จุดเริ่มต้นของการร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ว่าจะทำอย่างไรให้ย่านพระโขนง-บางนา ที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้มีความน่าอยู่ เช่น มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีถนนทางเท้า เดินได้เดินดี จะทำได้อย่างไร
“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และนำมาสู่การยกระดับเป็นนโยบายนำร่อง ซึ่งใน 1-2 ปีข้างหน้า น่าจะได้เห็นความก้าวหน้าอย่างชัดเจนจากความทุ่มเทครั้งนี้ คือสวน 15 นาที ที่เข้ามาเชื่อมโยงพื้นที่ที่มีต้นทุนเดิมดีอยู่แล้ว”
แปลนของสวน 15 นาที ทั้ง 3 สวน จัดแสดงผ่านนิทรรศการพร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนที่เข้ามาเยี่ยมชมไปด้วย ประกอบกับการได้ฟังเรื่องเล่าของการทำงานนี้จากเวทีเสวนา ที่ผู้ออกแบบนำมาเล่าสู่การฟัง ก็พบว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อย
สวนแห่งแรก เป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่ท่าน้ำสรรพาวุธ บางนา ซึ่งเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร อยู่ติดริมน้ำเจ้าพระยา ออกแบบโดย PNUR Urban Architect ให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน มีสวนสีเขียวสำหรับการพักผ่อนริมน้ำ และเป็นพื้นที่กิจกรรมของคนในย่าน
สวนแห่งที่สอง คือสวนเพลินพระโขนง ซึ่งอยู่ติดถนนสุขุมวิท และอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบางจากเพียงนิดเดียว ตรงนี้เป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ที่มอบให้สำนักงานเขตพระโขนง เพื่อใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ มีแนวทางออกแบบให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นลานกีฬา พื้นที่ประชุม พื้นที่กิจกรรม และสวนสีเขียว โดยมี Landscape Collaboration เป็นผู้ดูแลการออกแบบ
และสวนแห่งที่สาม ในซอยวชิรธรรมสาธิต 35 เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่มอบให้กรุงเทพมหานครพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ เป็นเวลา 10 ปี โดยมอบให้ตั้งแต่ปี 2018 คือสมัยผู้ว่าฯ คนเดิม และต่อเนื่องมาถึงสมัยผู้ว่าฯ ปัจจุบัน โดยมีสำนักงานออกแบบระฟ้า เป็นผู้ดูแล ซึ่งออกแบบให้เป็นพื้นที่รับน้ำของเมือง และเป็นพื้นที่สวนเชิงเกษตร ที่จะปลูกพืชกินได้ สมุนไพร ไม้ประดับ ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็มีลานกีฬา พื้นที่สำหรับเด็ก ลานกิจกรรม ลานพักผ่อน เป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มทุกวัยได้เข้าถึงพื้นที่สีเขียวอย่างไม่มีข้อจำกัด
ปลูกผักในกรุงเทพฯ พื้นที่สีเขียวที่กินได้และปลอดภัยด้วย
เวทีเสวนาถูกส่งต่อมายังวันที่ 2 ด้วยหัวข้อที่น่าสนใจอย่าง “คิดจะปลูก ปลูกผักในกรุงเทพฯ” ซึ่งมีพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และผู้เชี่ยวชาญจากงานขับเคลื่อนเกษตรในเมือง มาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีพื้นที่เกษตรในเมือง และแชร์ประสบการณ์การทำสวนผักในเมืองที่ทำได้โดยไม่ต้องรอ ซึ่งการปลูกผักในแนวทางเกษตรอินทรีย์ จะทำให้ชุมชนเข้าถึงอาหารปลอดภัย และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับตนเอง
“พื้นที่อาหารเหล่านี้จะช่วยยึดโยงให้คนมาทำงานร่วมกัน การปลูกผักในเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะทำได้ เพียงแต่ต้องเรียนรู้และเข้าใจว่าการจะได้พืชผักมาให้เรากิน ต้องดูแลดิน ดูแลพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลน้ำให้สะอาด และดูแลคนที่มาทำงานกับเราด้วย” วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมืองกล่าว
แต่การปลูกผักในเมืองไม่ได้จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เป็นผืนดินเสมอไป เพราะรัชพล ไกรจิรโชติ แห่งศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน ซึ่งมีฟาร์มผัก Wastegetable Farm อยู่บนดาดฟ้า ชี้ให้เห็นถึงโมเดลที่สามารถทำได้ทุกสเกล โดยยกตัวอย่างการจัดการอย่างครบวงจรของห้าง ทั้งการคัดแยกเศษอาหารจากศูนย์อาหารไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ปลูกผักเพื่อได้ผักสดที่กินได้และขายได้ และยังมีจัดเทรนนิ่งให้คนสนใจปลูกผักกินเองที่บ้านได้มาเรียนรู้ในฟาร์มด้วย
เช่นเดียวกับเซฟติสท์ฟาร์ม ที่ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยในย่านบางมด แต่ยังเปิดฟาร์มให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ในการฝึกให้คนในชุมชนได้ปลูกผักเพื่อสร้างเป็นอาชีพได้
“เมื่อเราผลิตอาหารเองได้ ดูแลสมาชิกได้ เราคิดว่าควรแบ่งปันให้คนอื่นได้บริโภคอาหารปลอดภัยด้วย จึงได้มีการทำตะกร้าผักเซฟติสท์ ให้สมาชิกได้กินผักผลไม้ 400 กรัมต่อวัน ตามคำแนะนำปริมาณการบริโภคที่เพียงพอ เน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจัดส่งไม่เกิน 30 กิโลเมตร เพื่อความสดและแบ่งเบาภาระค่าขนส่งของลูกค้า” อรอุมา สาดีน ตัวแทนจากเซฟติสท์ฟาร์มขยายความ
นอกจากเรื่องเล่าบนเวที งานนี้ยังชวนคนเมืองมาเรียนรู้การปลูกผักกินเอง ด้วยเวิร์กช็อป “ปรุงรสปุ๋ย ลุยปลูกสวน” โดยทีมงานจากสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ที่เปิดห้องเรียนเตรียมดินสำหรับปลูกพืชสวนครัว และสาธิตการทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารภายในบ้านฉบับง่าย ๆ เพื่อให้มือใหม่ได้ลงมือปลูกอย่างมั่นใจขึ้น พร้อมทั้งให้กล้าพันธุ์ผักสวนครัวและปุ๋ยกลับไปทดลองปลูกที่บ้านอย่างครบเซต
แต่รอปลูกกินเองรอบนี้เห็นจะไม่ทันใจ งานนี้เลยมีตลาดเขียวของผู้ผลิตอินทรีย์นำผลผลิตมาจำหน่ายด้วย ทั้งผักสด วัตถุดิบ อาหารแปรรูปต่าง ๆ อีกโซนเป็นร้านค้าร้านอาหารจากชาวชุมชนพระโขนง ที่นำของดีของย่านมานำเสนอ เป็นความคึกคักเล็ก ๆ ในวันตั้งต้นของสวนเพลินพระโขนง ที่หากสวนแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์เมื่อไร ภาพของพื้นที่แห่งนี้จะเปลี่ยนไปจากเดิม เพิ่มเติมด้วยสีเขียวที่มากขึ้น