เมื่อทราบข่าวประชาสัมพันธ์การจัดงาน “ตลาด Greenery Market” ชุมชนคนคุ้นเคยกับประสบการณ์ความสุขสนุกสนานสีเขียวที่เคยได้สัมผัสมาตลอด 5 ปี ในฐานะลูกค้าจากหน้าใหม่จนกลายเป็นหน้าเก่า จึงเตรียมทำรายการสินค้าที่ต้องไปจับจ่ายซื้อหาจากร้านในงานนี้ไว้พร้อมสรรพ
สิ่งตั้งใจมากกว่าการไปซื้ออาหาร และสินค้าปลอดภัยที่จดรายการเอาไว้ยาวเหยียด คือจะไปพูดคุยกับคุณลุงคุณป้า คุณน้า คุณพี่ ให้หายคิดถึง รอฟังว่าช่วงเวลาที่ไม่ได้มาขายของในตลาดนี้ แต่ละคนมีเรื่องราวอะไรมาแบ่งปัน และทุกร้านมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อะไรมาให้อุดหนุนเพิ่มเติมจากครั้งก่อนบ้าง
เช่นเดียวกับทุกครั้ง การเดินทางไป ตลาด Greenery Market ทุกๆ ทำเลที่เลือกเปิดตลาดนั้นสะดวกสบาย เอื้ออำนวยให้ลูกค้าเดินทางมาได้ง่าย และครั้งนี้ตลาดได้ความเอื้อเฟื้อพื้นที่จาก “ร้านปลาออร์แกนิก” ร้านอาหารทะเลปลอดภัยและวิสาหกิจเพื่อชุมชน ในซอยวิภาวดี 22 ที่เดินทางมาได้สะดวกทุกทิศทางทั้งถนนวิภาวดี พหลโยธิน และลาดพร้าว มาได้โดยรถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้า รถสาธารณะ หรือแม้แต่การเดินทอดน่องลัดเลาะเข้ามาในซอยก็ยังถือว่าสะดวกอยู่มาก
เลือกการเดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว และโดยสารสองเท้าก้าวเดินไปเรื่อยๆ จากปากซอยลาดพร้าว 4 ไปถึงสถานที่จัดงาน ในขณะที่เดินเข้าไปนั้น ก็เห็นลูกค้าหลายๆ คนที่มาตลาดก่อนหน้าเดินสวนกลับออกไปแบบหอบหิ้วถุงผ้าที่เตรียมมาจับจ่ายซื้อของกันจนล้นแน่นทุกใบ หลายคนคุ้นหน้ากันอยู่ก็ได้ถือโอกาสนี้ส่งยิ้มแห่งไมตรีให้กัน
ป้ายบอกจากข้างหน้าชี้บอกว่าใกล้มาถึงตลาดแล้ว เดินต่อไปอีกนิดก็มาถึงตลาด Greenery Market เสียงเพลงหวานๆ จากดนตรีที่บรรเลงในงานลอยมาต้อนรับอาคันตุกะหน้าเดิมคนนี้ บรรยากาศรอบตัวแวดล้อมไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้นานาพรรณ มีไม้ใหญ่อาวุโสระดับคุณปู่คุณย่าสูงตะหง่านและมีพุ่มใบหนาปกคลุมไปทั่วบริเวณ เสมือนหลังคาธรรมชาติช่วยกันแดดฝน
และที่ชื่นชอบเป็นพิเศษคือพื้นของตลาดส่วนใหญ่เป็นพื้นดินที่ถูกปรับให้เดินสะดวกสบาย ดินแบบดินจริงๆ ที่ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ฝังรากอยู่ นานแล้วนะที่ไม่ได้เดินตลาดที่ตั้งอยู่บนดินบนหญ้าจริงๆ แบบนี้ นี่แหละตลาดที่ถูกจริตคนติดดินของแท้
พื้นที่จัดงานในวันนี้ไม่ใหญ่ไม่เล็ก แต่ลงตัวตัวด้วยการจัดสรรร้านค้าที่นับด้วยตาแบบไม่ผิดพลาด รวมได้ 36 ร้าน ทั้งของกิน ของใช้ เสื้อผ้า สมุนไพร หนังสือ ของเล่น ของฝาก ของสด ของแห้ง และแปรรูป พ่อค้าแม่ค้าคนหน้าคุ้นยังอยู่ และมีร้านใหม่ๆ มาเพิ่มความกินดีกรีนดี
สินค้าละลานตาทั้งหลายทุกร้านต้องผ่านมาตรฐานการประเมินของตลาด ต้องไม่ใช้สารเคมี เป็นผู้ประกอบการสินค้ารักษ์โลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นวัตถุดิบออร์แกนิกอย่างน้อย 70% หน้าที่เดียวของลูกค้าคือเลือกซื้อหาสินค้าที่ถูกปาก ถูกใจ ถูกสไตล์ตนเองเท่านั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น เพราะเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพนั้นทางผู้จัดตลาดได้คัดกรองให้แล้วอย่างเคร่งครัด ไม่ต้องสัมผัสประสบการณ์ “ตาดีได้ตาร้ายเจอสารเคมี” อีกแล้ว
ก่อนจะเริ่มจับจ่ายสินค้า อารามดีใจจนรีบร้อนออกจากบ้านมาแล้วพบว่าลืมหยิบถุงผ้าคู่กายมาด้วย และในงานก็ไม่มีผลิตภัณฑ์สะดวกสบายแต่ใจร้ายกับโลกที่เรียกว่าถุงหิ้วพลาสติกให้ใช้ จึงไม่ลังเลที่จะเดินไปที่ซุ้มประชาสัมพันธ์ของงานเพื่อเลือกซื้อถุงผ้ามือสองที่ได้รับการบริจาคมา ซึ่งทำความสะอาดแล้วเป็นที่เรียบร้อยมา 1 ใบ สนนราคาตาความประสงค์ของผู้ซื้อ หยอดสตางค์ลงกระปุกได้เลย จุดนี้ชวนให้คิดว่าครั้งหน้าจะนำถุงผ้าเก๋ๆ ที่บ้านมาบริจาคแบ่งปันกันหิ้วด้วย
และแล้ว…มหกรรมการเดินเข้าร้านโน้น ซื้อร้านนี้ ชิมฟรีบ้างก็เริ่มต้นขึ้น
ร้าน มะพร้าวลุงวิท คือจุดหมายแรกเพราะลีลาการเฉาะมะพร้าวของลุงกวักมือเรียกอยู่ไหวๆ มะพร้าวน้ำหอมออร์แกนิกจากสวนมะพร้าวลุงวิท ปลูกแบบปลอดสารเคมี รับประทานแบบไม่สร้างภาระและขยะให้กับโลก เพราะนอกจากคุณลุงจะยกทะลายมะพร้าวน้ำหอมลูกย่อมๆ จากสวนมาวางไว้ที่ร้าน พร้อมมีดพร้าและแท่นปอกมะพร้าวคู่กายก็ประจำการอยู่ข้างๆ กัน มีถังน้ำแข็งขนาดใหญ่แช่มะพร้าวที่ปอกเปลือกไว้รอพร้อมเฉาะเสิร์ฟความหวานหอมเย็น และแน่นอนว่าไม่มีหลอดหรือช้อนพลาสติกไว้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรับประทาน แต่มาในรูปของหลอดไม้ไผ่
ความน่ารักของหลอดไม้ไผ่จากร้านของลุงวิทคือ มีหลากหลายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางให้เลือก สั้นยาวไม่เท่ากัน เพราะเป็นหลอดจากธรรมชาติ ความหลากหลายน่ารักจึงเป็นเสน่ห์ให้ชวนหยิบใช้สอย เลือกหยิบหลอดที่มีขนาดเล็กหน่อย จะได้กินได้นานๆ เพราะความอร่อยทั้งน้ำและเนื้อนี้เอง จึงขอตั้งฉายาให้ว่า “แม่เนื้ออ่อนสามพราน” เพราะเนื้อมะพร้าวของลุงวิทนั้นทั้งอ่อนจางบางเบา และหวานชนิดที่เรียกว่าขูดเนื้อกินจนเพลิน ไม่อยากให้หมดเลยจริงๆ
แคร่ไม้ไผ่ข้างๆ ร้านลุงวิท เหมาะจะเป็นที่นั่งรับลมชมตลาด อาศัยจังหวะคุณลุงว่างจากลูกค้าเลยชวนคุย
“มะพร้าวที่สวนของลุงปลูกแบบปลอดสารเคมีมา 10 ปีแล้ว ช่วงแรกที่งดสารเคมี เราต้องเพิ่มความสมบูรณ์ของดินด้วยผักตกชวา แรกๆ ยังใส่ปุ๋ยมูลสัตว์อยู่บ้าง พอผักตบชวาในร่องเริ่มต้นใหญ่เราก็เอามาใช้ทำปุ๋ยได้ หน้าดินเริ่มสมบูรณ์ได้ครบ 3 ปี มะพร้าวก็จะเริ่มเนื้อบางและหวาน
“ตอนเริ่มต้นก็ไม่เคยรู้ว่านี่คือวิธีแบบออร์แกนิก แต่เพราะเราใช้สารเคมีมานานแล้วเราแพ้ เราเลยเริ่มหาตลาดที่ผู้บริโภคเข้าใจวิธีการปลูกมะพร้าวของเรา และก็ได้มาเป็นผู้ค้าในตลาด Greenery Market ตั้งแต่แรกๆ ตั้งแต่จัดที่สยามดิสคัพเวอรี การมาขายมะพร้าวที่ตลาดนี้ผมขนมะพร้าวลูกเขียวๆ มา ผู้บริโภคก็ได้ความรู้สึกว่ายกสวนมาไว้ที่ตลาด ขายเสร็จได้ขนเปลือกกลับไปเป็นปุ๋ย ได้ขยะจากพ่อค้าแม่ค้าร้านอื่น ๆ กลับไปหมักเป็นปุ๋ย ในอนาคตก็อยากจะนำผลลิตชนิดอื่นๆ ที่อร่อยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค จากสวนมาขายเพิ่มด้วย”
พ่อค้ามะพร้าวน้ำหอมออร์แกนิกปากก็พูดคุย มือก็เฉาะมะพร้าวส่งให้ลูกค้า สลับกับปอกลูกใหม่ฟันเปลือกสีเขียวอ่อนฉับๆ อย่างชำนาญ พอมีลูกค้ากลุ่มใหญ่เดินเข้ามาอุดหนุน และเริ่มส่งเสียงฮือฮากับความหอมหวานของมะพร้าวลุงวิท ก็เลยถือโอกาสกล่าวลา แต่ในมือยังถือมะพร้าวลูกเดิมไปสำรวจตลาดต่อ
หากอ่านที่เล่าแล้วสนใจความหอมหวานของมะพร้าวลุงวิท ก็ติดต่อได้ที่ Facebook: สวนป่ามะพร้าวลุงวิท
ถัดมาอีกนิดก็มาหยุดอยู่ที่หน้าร้าน “ปันกันกรีน” หนึ่งในร้านโปรดร้านประจำที่เป็นเสมือนมินิมาร์ทเพื่อสุขภาพคนและสุขภาพบ้าน เพราะมีครบตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ล้างมือ ซักผ้า ล้างจาน ล้างห้องน้ำ ถูพื้น ขจัดคราบ ฯลฯ มีครบทุกชั้นทุกแผนกอยู่ในร้านเดียวกันนี้ และแน่นอนว่าปันกันกรีน คือร้านที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับคน กับบ้าน และกับสิ่งแวดล้อม บนชั้นวางสินค้าของร้าน คือความหลากหลายที่ชวนให้เราย้อนสำรวจตัวเองและการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องข้องแวะกับสารเคมีมากหน้าหลายตา ถ้าผลิตภัณฑ์มากมายเหล่านี้ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เพียงส่วนหนึ่งที่สามารถทดแทนความเสี่ยงเรื่องสารเคมีของให้เราได้ นั่นก็หมายความว่ายังมีอีกหลายๆ ผลิตภัณฑ์เคมีที่เรายังต้องสัมผัสและใช้งานอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันสินะ เมื่อมีสิ่งที่ทดแทนได้และปลอดภัยกว่า เราในฐานะผู้บริโภคก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน
ความน่ารักของร้านปันกันกรีน ที่นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์เลือกซื้อหากลับบ้านแล้ว ก็ยังมี refill station คือสามารถพกขวดเก่าที่ใช้หมดแล้ว หรือขวดใหม่เอี่ยมมากดเติมผลิตภัณฑ์จากถังบรรจุขนาดใหญ่กลับไปใช้ที่บ้านได้โดยไม่ต้องเพิ่มภาระให้กับโลก ลดขยะได้ 1 ชิ้น = โลกเบาไปอีก 1 หน่วย
พี่เก๋ ชัฏศิญาณ์ พรหมมงคลกุล เจ้าของแบรนด์ปันกันกรีน ยิ้มต้อนรับทักทายเหมือนเช่นเคย จากอดีตแม่บ้านที่ใช้วิชาความรู้เรื่องการหมักน้ำยาธรรมชาติใช้เองในครอบครัวและแบ่งปันสู่กลุ่มคนใกล้ชิด วันนี้พี่เก๋มีตลาดสินค้าที่ค่อยๆ เติบโตทีละนิดๆ แต่ไม่เคยหยุดปันและหยุดกรีน
“การมาออกบูธคือความสุขของพี่ ได้เจอเพื่อนๆ ผู้ค้าทุกคนรู้จักกันหมด ได้เจอลูกค้าที่เข้าใจผลิตภัณฑ์ของเรา แม้ว่าพี่เองจะอยู่มาตั้งแต่เปิดตลาดช่วงแรกๆ ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานอยู่เสมอ ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราอาจจะห่างกันไปบ้าง แต่ก็อาศัยการได้อยู่บ้านคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค การได้กลับมาครั้งนี้และเห็นว่าลูกค้ายังให้การตอบรับอบอุ่นเหมือนเดิม ผู้ผลิตอย่างเราทุกคนก็มีกำลังใจขึ้นมากค่ะ มาอุดหนุน มาเยี่ยมชมตลาด Greenery Market กันเยอะๆ นะคะ”
ทำความรู้จักและอุดหนุนปันกันกรีนได้ที่เพจ Facebook: ปันกันกรีน
จากของกิน ของใช้ ฉันขยับไปมองหาร้านของเล่นและของสะสมจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งร้านที่มักจะแวะเวียนไปเยี่ยมชมพูดคุยถึงคอลเลกชั่นของเล่นใหม่ๆ อยู่เสมอ คือร้าน ๑4๑ (หนึ่งสี่หนึ่ง) แต่ความเมื่อออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษ คือ ‘one four one’ ความหมายคือ ‘หนึ่งเพื่อหนึ่ง’ และในความหนึ่งเพื่อหนึ่งนี้ก็มีที่มาน่ารักๆ ที่เชื่อมโยงความสุขจากของเล่นของคนหนึ่ง ไปสู่ของเล่นอีกชิ้นที่ส่งไปสร้างความสุขให้อีกหลายๆ คน เป็นผู้ประกอบการ social enterprise ที่ดำเนินธุรกิจแบบห่วงใยผู้คนในสังคม
พี่แพท กฤติยา ตระกูลทิวากร พี่สาวนักออกแบบจากแบรนด์ ๑4๑ ย้อนเล่าให้ฟังถึงของเล่นธรรมชาติ
“คอลเลกชันแรก ที่ใช้ชื่อเดียวกับชื่อร้าน คือ ๑4๑ ที่คั่นหนังสือหนึ่งชิ้นช่วยเติมเต็มช่องว่างของการให้ เพราะที่ถูกออกแบบมาให้สามารถนำชิ้นส่วนที่ถูกเจาะ หรือตัดออกนั้น นำไปทำเป็นของเล่นไม้ได้อีกชิ้นหนึ่ง แล้วนำไปบริจาคให้กับเด็กๆ ไม่มีเศษเหลือทิ้งขว้างให้เปล่าประโยชน์ หรือเจ้ากวางน้อยเขากิ่งไม้ จากคอลเลกชัน slow play เป็นของเล่นแบบปลายเปิด ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถชักชวนลูกๆ ออกไปสำรวจกิ่งไม้ใบไม้ในธรรมชาติมาเสียบทำเป็นเขาหรือหูได้ เจ้าสัตว์ตัวน้อยจึงอาจเป็นได้ทั้งกวาง หรือกระต่าย หรือสัตว์อื่นๆ ที่สุดแต่หนูๆ จะจินตนาการ
“ของเล่นคอลเลกชันใหม่ล่าสุด คือกล้องกลับหัวที่ก็ยังคงมีส่วนประกอบหลักคือไม้และเสริมด้วยกระจกเงา ที่ใช้งานได้จริง เล่นได้จริง ซึ่งทั้งเด็กและผู้ใหญ่เมื่อได้เล่นแล้วจะสนุกและตื่นเต้นกับภาพที่มองเห็นในกระจกของกล้องตัวนี้จริงๆค่ะ”
นอกจากจะได้ของเล่น ได้แบ่งปันแล้ว ฉันยังมองเห็นข้อดีอีกข้อหนึ่งคือ ของเล่นทุก ๆ ชิ้นที่ทำมาจากไม้และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากร้าน ๑4๑ ที่เด็กๆ ได้สัมผัสนั้นล้วนปลอดภัย ปราศจากสีหรือวัตถุอันตราย แตกต่างจากของเล่นพลาสติกที่มีอยู่เต็มท้องตลาด เพราะมือน้อยๆ ที่ได้จับ ได้ถือไม้จริงๆ ได้เห็นลวดลายผิวไม้ที่ธรรมชาติเป็นผู้วาดไว้ คือประสบการณ์ที่จะโยงใยให้เด็กได้รับเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้สัมผัสเลยทีเดียว และในขณะเดียวกันก็สอนให้เราและเด็กๆ ได้รู้ว่าบางครั้งการคิดถึงตัวเรา ก็เท่ากับการคิดถึงคนอื่นๆ ได้พร้อมๆ กัน
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปัน ของเล่นหนึ่งหรือหลายๆ ไปกับ ๑4๑ ได้ที่ Facebook: ๑4๑ Social Enterprise
จากผู้ประกอบการเจ้าประจำที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ถึงเวลาพาตัวเองไปพบปะกับผู้ประกอบการรายใหม่หัวใจสีเขียวรายอื่นๆ ที่ได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งพร้อมการกลับมาอีกครั้งของตลาดแห่งนี้ และสิ่งที่ดึงดูดได้มากที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกิน กลิ่นหอมจากเตาย่างเนื้อที่พี่ชายในชุดสไตล์คาวบอยคนหนึ่งกำลังจัดเรียงบาร์บีคิวเนื้อแน่นๆ อยู่บนตะแกรงย่างอย่างไม่หยุดหย่อน เตรียมเสิร์ฟลูกค้าที่เข้าแถวรอกันแน่นขนัด
ว.ทวีฟาร์ม ชื่อนี้อาจจะดูใหม่สำหรับสมาชิกชาวตลาด Greenery Market แต่สำหรับสายเนื้อ สายหมู สายสเต๊กและบาร์บีคิว ที่ชื่นชอบเนื้อแบบออร์แกนิกนั้น พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเนื้อวัวและเนื้อหมูออร์แกนิกที่เลี้ยงปล่อยด้วยระบบธรรมชาติ ของ ว.ทวีฟาร์ม นั้นมีชื่อเสียงมานานแล้ว วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อแถวชิมความสด อร่อย ของเนื้อคุณภาพที่เลื่องลือในความอร่อยแบบออร์แกนิก สัตว์ทุกๆ ตัวในฟาร์ม เติบโตในธรรมชาติที่สะอาด วิ่งเล่นอย่างอิสระและแข็งแรงจากกินอาหารที่เป็นมิตรกับโลก ไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต หรือใช้ยาปฏิชีวนะ
พี่หมอฟิวส์ วานิชย์ วันทวี คือผู้ก่อตั้ง ว.ทวีฟาร์ม ที่วันนี้รับบทคาวบอยหนุ่มคอยดูและและให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์เนื้อหมูและเนื้อวัวให้กับลูกค้า เล่าให้ฟังว่า
“ว.ทวีฟาร์ม คือฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของประเทศไทย คือการการันตีคุณภาพว่าทุกกระบวนการผลิตนั้นปลอดภัยต่อสัตว์ในฟาร์ม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และปลอดภัยกับโลกทั้งใบ
ไบโอไดนามิก คือวัฏจักร คือการหมุนเวียนเป็นวงจรความปลอดภัยของทั้งคน สัตว์ พืช และโลก ไม่มีใครไม่เกี่ยวกับใคร สัตว์ในฟาร์มทุกตัวจะได้กินอาหารปลอดภัยที่เราทำเอง หรือรับซื้อจากผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ใกล้เคียงที่เรามั่นใจในความปลอดภัย 100%”
“ผมเดินทางมาไกลจากของแก่นเพื่อมาเปิดร้านในตลาด Greenery Market ถ้าเป็นเมื่อก่อน มองในมุมของความคุ้มค่าเรื่องการเดินทาง ค่าใช้จ่ายก็คงจะถือว่าเสี่ยงเล็กน้อย แต่ตอนนี้ผมมองว่าเป็นการเปิดโลกให้กว้างขึ้น และไม่ได้คิดถึงการทำธุรกิจแค่ในวันนี้แล้วต้องประสบความสำเร็จในวันนี้ ผมได้มีตลาดใหม่ๆ ได้เจอลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งจะแตกต่างจากเมื่อก่อนจะมีโควิด เพราะสินค้าของผมจะถูกส่งตรงและควบคุมตลาดโดยเชฟหลายๆ คน โดยที่ไม่มีโอกาสได้เจอลูกค้าที่กินเนื้อของผมเลยจริงๆ ขอบคุณตลาด Greenery Market ครับ และหวังว่าเราจะได้เจอกันอีกเรื่อยๆ นะครับ”
ติดตามกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ของ ว. ทวีฟาร์ม ได้ที่ Facebook: ว. ทวีฟาร์ม
อีก 1 ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวตลาด Greenery Market ที่มาตั้งจุดรับบริจาคขยะพลาสติกนานาชนิด เพื่อนำไปรีไซเคิลและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือกันในระบบโลกอยู่ได้ เราอยู่ได้ นั่นคือ “CirPlas” ผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญด้านการหมุนเวียนและแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก แม้การคัดแยกขยะจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้วคนไทยส่วนมากยังคงแยกขยะอย่างไม่ถูกวิธี และในระหว่างทางนั้นเกิดความสูญเสียทั้งเวลาและโอกาสในการ “นำกลับมาใช้ใหม่ได้100%” ไปอย่างน่าเสียดาย จึงขออนุญาตเข้าเรียนวิชาคัดแยกขยะเบื้องต้น 101 กับพี่ๆ ผู้บริหารของ CirPlas ฉบับครบ จบ ง่ายใน 5 นาที เพราะพี่ๆ สามารถอธิบายคำศัพท์เทคนิควงการคัดแยกพลาสติกที่ซับซ้อนให้ฟังง่าย เข้าใจง่าย แต่กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิดได้และแยกเป็น อย่างน้อยก็จำแนกประเภทของขยะที่ผ่านมือผ่านตาในแต่ละวันได้ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การคัดแยกที่ประหยัดสูงประโยชน์สุดได้มากขึ้น เพราะหลายๆ คนคงถือคติเดียวกันนี้ว่า
“ถ้าเข้าใจได้ง่าย ก็จะปฏิบัติได้จริง”
“CirPlas มาจากคำว่า Circular Plastic คือการวนนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ กลับมาหมุนวนใช้ เพราะเรามีความเชื่อว่าพลาสติกเกือบ 100% สามารถวนกลับมาใช้ได้ ในระบบการจัดการพลาสติกประเภท single use จะมีอยู่ 7 อย่าง เรียกเป็น 7 เบอร์นะครับ แต่เราจะไม่รับตัว pvc คือเบอร์ 3 เพราะต้องใช้ความชำนาญในการรีไซเคิลที่เฉพาะทางมากกว่าพลาสติกประเภทอื่นๆ อย่างที่เห็นนี่ก็จะมีพลาสติดหลายประเภท ทั้งแก้วน้ำ ฝาขวดเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ขวดเครื่องดื่ม ไล่ไปจนถึงอวนจับปลา ซึ่งหลายๆ คนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วอวนจับปลาเก่าๆ ก็สามารถนำเอามารีไซเคิลและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ ดีกว่าปล่อยลงทะเลแล้วกลายเป็นปัญหามลภาวะและขัดขวางการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ
“แม้ว่า CirPlas จะยังเป็นน้องใหม่แต่ก็ได้รับโอกาสนี้จากตลาด Greenery Market ได้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมของคนที่หัวใจกรีนๆ เหมือนกัน อย่างน้อยเราก็ได้มาบอกต่อ ได้มาออกเสียงในตลาดที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว คนที่หัวใจสีเดียวกันจะได้รู้จักเรามากขึ้น การที่เราได้มาประชาสัมพันธ์ในสถานที่ที่ถูกต้องคนก็จะได้ยินมากขึ้น และหวังว่าในโอกาสหน้าจะมีคนส่งพลาสติกมาให้เรากำกัดมากขึ้นนะครับ”
พี่ๆ CirPlas ยืนยันเสียงหนักแน่นว่าจะยังคงมาพบกันที่ตลาด Greenery Market ในครั้งต่อๆ ไป และฝากกระซิบถึงลูกค้าของตลาดทุกๆ ท่านว่า มาตลาดคราวหน้า อย่าลืมหยิบขยะพลาสติกที่บ้านมาทิ้งในถังของ CirPlas ได้นะคะ
สนใจเรียนรู้ข้อมูลเรื่องการคักแยกและหมุนเวียนขยะพลาสติกแบบ CirPlas สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ Facebook: CirPlas
เป็นการปิดครบจบรายการสำรวจตลาด Greenery Market ในวันนี้ทั้งอาหารกาย อาหารตา และอาหารสมอง ใครจะรู้ว่าการไปตลาดจะให้อะไรได้มากมายเพียงนี้ หากคิดแค่ว่าจะมาเดินเล่น หาของกินของใช้นิดๆ หน่อยๆ แล้วกลับบ้าน แต่ความจริงคือหอบหิ้วพะรุงพะรังเต็มสองมือทุกครั้ง คราวหน้าเลยวางแผนไว้ว่าจะขับรถมา เพราะที่จอดรถกว้างขวางสะดวกสบาย อยู่ติดกับตลาด ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น เพื่อนบ้านผู้อารีเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการและลูกค้านำรถยนต์มาจอดได้ฟรีตลอดงาน
เชิญชวนมากินอยู่ปลอดภัย ใส่ใจโลกกับตลาด Greenery Market กันเยอะๆ และอบอุ่นสนุกสนานด้วยกันอีกนะคะ
ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สองของเดือน (ทั้งนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงวัน เวลา และสถานที่)
เพื่อไม่ให้พลาดกิจกรรม และข่าวประชาสัมพันธ์การจัดตลาดครั้งหน้า สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.greenerymarket.org
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร