หมูทอด หมูตุ๋น หมูกรอบ และอีกสารพัดอาหารเมนูหมูๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารของหลายๆ บ้าน

เนื้อหมูถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญและได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีการบริโภคหมูภายในประเทศมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก) เนื้อหมูนอกจากจะอุดมไปด้วยโปรตีนแล้ว ยังเป็นแหล่งของสารอาหารอื่นๆ ทั้งไขมัน วิตามินบี 1 วิตามินเอ และฟอสฟอรัส ความอร่อย มีประโยชน์และหากินได้ง่าย ทำให้หมูเป็นเมนูคุ้นเคย เป็นวัตถุดิบที่เราไว้ใจได้มาอย่างยาวนาน แต่หลายครั้งที่เราเกิดคำถามว่าจริงๆ เรารู้จักหมูตรงหน้าเเค่ไหน เรารู้ไหมว่าหมูเหล่านี้มาจากไหน มีการเลี้ยงดูอย่างไรและมีสารเคมีอะไรบ้างที่อาจตกค้างมาถึงคนกิน

สารอันตราย ในเนื้อหมู

เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้เริ่มการเจรจาขอเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในหมูในไทย ให้สามารถนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้ แม้ว่าการเจรจานำเข้าจะยังไม่เป็นผลสำเร็จแต่ก็สร้างความกังวลต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากเพราะเราต่างรู้กันดีว่าสหรัฐฯ อนุญาตให้มีใช้ ‘สารเร่งเนื้อแดง’ ในเนื้อหมูได้ ซึ่งสารชนิดนี้เป็นหนึ่งในสารอันตรายที่ประเทศไทยแบนอย่างจริงจังมานานกว่าสิบปี

สารเร่งเนื้อแดงคือสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) ซึ่งมีฤทธิ์ส่งเสริมการเปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อและลดการสะสมไขมันในเนื้อเยื่อ ในอดีตจึงมีการนำสารดังกล่าวมาใช้ผสมในอาหารหมูอย่างแพร่หลาย เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดไขมันลง ตอบโจทย์ความนิยมบริโภคเนื้อหมูสีแดงสวยของคนไทย

ซึ่งการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง จะมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด หลอดลมและกระเพาะปัสสาวะ มีการรายงานว่าผู้ได้รับพิษจากสารเร่งเนื้อแดง จะมีอาการกล้ามเนื้อสั่น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะ อาเจียน มีไข้ และเป็นอันตรายมากต่อผู้มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง ประเทศไทยจึงประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาดไปแล้วตั้งแต่ 14 มิถุนายน 2542 แล้ว

นอกจากสารเร่งเนื้อเเดงแล้ว ยาปฏิชีวนะก็เป็นอีกหนึ่งสารเคมีที่ผู้บริโภคหมูควรระวังไว้ จากการสุ่มตวรจเนื้อหมูในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2016 พบว่าเนื้อหมูถึง 13% ยังมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ การตกค้างเหล่านี้ส่งผลอันตรายทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ เพราะเมื่อเราได้รับยาปฏิชีวนะในปริมาณมากและบ่อยครั้ง จะส่งผลให้เกิดการดื้อยาในการรักษาโรคและอาจมีการแพ้ยา รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ตามมาได้

ไม่เพียงแค่สารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชีวนะเท่านั้น ตลอดชีวิตของหมูเขายังต้องเจอสารพัดยา ทั้งยาถ่ายพยาธิ วัคซีนป้องกันโรคอีกมากกว่า 10 ชนิด ไปจนถึงฮอร์โมนเร่งเนื้อเร่งโต ที่คงไม่ปลอดภัยเมื่อเรากินเข้าไปอย่างแน่นอน

ทำไมหมูต้องใส่สาร

สารพัดยานั้นมาจากการเลี้ยงหมูในระบบฟาร์ม ในประเทศไทยนิยมทำฟาร์มกัน 2 ระบบ ระบบแรกคือฟาร์มเปิด ที่จะสร้างโรงเรือนแบบโปร่ง ทำคอกหมูด้วยพื้นเทปูน และอีกระบบคือฟาร์มปิดซึ่งจะทำการคลุมพลาสติกทั้งโรงเรือน เพื่อไม่ให้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์จากมูลสัตว์เล็ดลอดออกไป การทำฟาร์มเหล่านี้ถือว่าเป็นการผลิตในระบบอุตสาหกรรม เน้นเลี้ยงสัตว์ในปริมาณมาก ออกแบบพื้นที่ให้เกษตกรจัดการความสะอาดได้ง่าย แต่อาจไม่ได้คำนึงถึงธรรมชาติของสัตว์เท่าไหร่ คุณสุพจน์ สิงห์โตศรี เจ้าของฟาร์มหมูหลุมดอนแร่ ผู้เคยทำงานอยู่ในฟาร์มหมูมา 20 ปีบอกเราว่า “ระบบผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้สัตว์ไม่สามารถแสดงออกพฤติกรรมทางธรรมชาติได้เลย เขาไปเจอพื้นปูน ไปเจอที่แคบ ก็เกิดภาวะเครียด สังเกตุได้ว่าหมูในฟาร์มจะถูกตักหางทุกตัวเพราะไม่งั้นเขาจะกัดหางกันเอง ซึ่งพอเคลียดเขาก็จะอ่อนแอในฟาร์มหมูจึงต้องทำวัคซีนกันทุกตัว เนื่องจากเขาไม่สามารถที่จะสร้างภูมิด้วยตัวเองได้ จึงต้องกระตุ้นภูมิด้วยการใช้วัคซีน นอกจากนี้หมูที่ยืนบนพื้นที่เเข็ง กีบเท้าของหมูมีปัญหา หมูกีบแตก เกิดการเจ็บ ป่วย เป็นไข้ ตัวร้อนซึ่งจะต้องฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยในการต่อสู้และป้องกันโรคติดต่อในสัตว์ รวมไปถึงการผสมยาในอาหาร หมูในฟาร์มนั่นมีการใช้ยาปฏิชีวนะเยอะมาก กว่าเขาจะปล่อยมาให้พวกเราได้กิน แม้ว่าจะมีระยะปลอดยาตามข้อกำหนดในการใช้ยาสำหรับสัตว์ว่าควรหยุดการใช้ยาก่อนส่งสุกรเข้าโรงฆ่าสัตว์ 7-14 วันหรือตามคำแนะนำของฉลากยา แต่มันก็อาจจะยังมีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่ในเนื้อหมูได้บ้าง”

“นอกจากนี้พื้นปูนยังทำให้หมูมีปัญหาในเรื่องของการยืน ทำให้ต้องสร้างกล้ามเนื้อชุดใหม่ที่มีความเหนียวและแข็งแรงขึ้นมาเพื่อให้หมูสามารถรับน้ำหนักตัวเองได้ นอกจากนี้การใช้ยายังทำให้ร่างกายของหมูผลิตสารต่อต้านยา ทำให้เนื้อกระด้างขึ้นหรือเหม็นคาวมากกว่า เราจึงเจอว่าหมูบางที่ทำไมถึงเหม็นคาว”

ฟาร์มหมูปลอดภัยที่ไร้ยา

‘กินคอหมู ไม่เจอเข็ม’ คือสโลแกนของฟาร์มหมูหลุมดอนแร่ ฟาร์มหมูทางเลือกในวิถีอินทรีย์ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติต่อสู้กับกลิ่นและโรคเเทน คุณสุพจน์เล่าย้อนไปถึงที่มาของฟาร์มหมูหลุมดอนแร่ตั้งแต่ปี 2548 ว่าตอนที่ทำงานเป็นสัตวบาลในฟาร์มหมูต้องเผชิญกับปัญหาเรี่องกลิ่นหมูอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการแพ้อากาศ รักษาอย่างไรก็ไม่หาย แต่เมื่อได้เจอกับเกษตรกรคนทำหมูหลุมในราชบุรี จึงรู้ว่ามันมีระบบการเลี้ยงหมูที่เพราะไม่มีกลิ่น ไม่มีเเมลงวัน ไม่มีน้ำเสียออกนอกระบบซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการมาตลอดได้ จึงตัดสินใจไปเรียนรู้มาจากอาจารย์โชคชัย สารกิจ ศูนย์เรียนรู้พัฒนายั่งยืนภาคเหนือ จ.เชียงราย และนำมาปรับใช้ทันที

ซึ่งหมูหลุมนั่นเป็นวิธีเลี้ยงหมูที่เริ่มต้นจากเกาหลี แล้วก็มีการศึกษาดูงานพัฒนาวิธีการกันตลอดมา จนแพร่หลายมาถึงประเทศไทย โดยฟาร์มหมูหลุมเป็นการเลี้ยงระบบเปิด แต่คอกหมูจะมีขนาดกว้าง ไม่เทซีเมนต์บนพื้น โดยสร้างคอกบนพื้นดินอาจจะมีการขุดหลุมลงไปเล็กน้อยและใช้แกลบเป็นวัสดุรองพื้น พื้นแกลบนอกจากจะนุ่มเดินสบายเท้า ทำให้หมูไม่มีปัญหากีบเท้าแตกแล้ว แกลบยังทำหน้าที่ดูดซับความชื้นของเสียต่างๆ ลดการเกิดแก๊สจากการสะสมของเสีย ทำให้ไม่มีกลิ่นและไม่มีน้ำเสียออกนอกระบบ นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อมแล้ว หมูที่เลี้ยงในระบบนี้จะไม่มีการฉีดวัคซีนและยาฆ่าเชื้ออีกด้วย เนื่องจากหมูไม่มีความเครียดทำให้ไม่ป่วยง่าย ไม่กัดหางกันจึงไม่เกิดเเผลไม่ติดเชื้ออะไร ซึ่งหากเกิดเจ็บป่วยเป็นโรคสำคัญๆ ที่หมูมักเป็น เช่น โรคปากเท้าเปื่อย ก็จะรักษาด้วยด่าง (แกลบเผา) ส่วนโรคที่ไม่ร้ายแรงก็รักษาตามอาการ ใช้สมุนไพรอย่างฟ้าทลายโจรรักษาไข้ หญ้าแห้วหมูรักษาอาการท้องเสีย เป็นต้น

“ตัวผมเองมีปัญหาเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว เรารู้ว่าการกินอาหารที่มีสารเคมีตกค้างมันส่งเรา จึงทำให้ผมคิดว่า ผมต้องทำกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยทั้งหมด ไม่ใช่เคมีเลย ให้สัตว์สร้างภูมิขึ้นมาเอง เเต่เราต้องใส่ใจตั้งแต่พันธ์ุหมูที่เลือกมา อาหารที่ผสมให้ ไปถึงการจัดการที่ดี มีพื้นที่ในโรงเรือนเพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้หมูได้เเสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ผมว่านี่คือมาตรฐานที่ปศุสัตว์อินทรีย์เกี่ยวกับหมูหลุมต้องการ”

หมูปลอดภัยในวัฏจักรอินทรีย์

“ที่ผ่านมาการเปิดฟาร์มเองมักมีปัญหาชุมชนไม่ยอมรับ เพราะคิดว่าการเลี้ยงหมูต้องมีกลิ่นเหม็นเนื่องจากการเลี้ยงหมูต้องมีน้ำเสียปล่อยออกมานอกระบบ แต่ตอนนี้มีภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าหมูหลุมเป็นหมูที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่น ไม่มีแมลงวัน ไม่มีน้ำเสีย เป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนได้ด้วย ปกติคนไม่มาเที่ยวในฟาร์มหมูนะ แต่หมูหลุมที่ดอนแร่คนสามารถเข้ามาเที่ยวได้เลย”

“ระบบนี้ทำให้ผู้บริโภคได้สื่อสารกับตัวเกษตรกรโดยตรง เมื่อได้คุย ได้รู้เรื่องราว เขาก็จะเห็นความตั้งใจของเกษตรกร ยิ่งได้ลองกินหมูเองแล้วรู้สึกว่ามีความแตกต่าง เป็นหมูที่ไม่เหม็นคาว ไม่กระด้าง ทำให้หมูหลุมกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คนสนใจและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคที่สนใจเรื่องอาหารปลอดภัยในปัจจุบัน”

หมูหลุมดอนแร่ไม่เพียงแค่ผลิตหมูอินทรีย์ที่ปลอดภัย แต่ยังได้สร้างโมเดลตลาดวิถีธรรมชาติที่รวบรวมเกษตรกรที่ทำเกษตรอิทรีย์และเกษตรพอเพียงในจังหวัดประมาณเกือบ 40 กลุ่มให้เกิดขึ้นในราชบุรีได้อีกด้วย “เราคิดว่าหมูหลุมเป็นเเหล่งกำเนิดของอาหารอินทรีย์ได้ไม่เฉพาะในชุมชนเรา การเลี้ยงหมูนอกจากจะได้เนื้อหมูที่ปลอดภัย เรายังได้ปุ๋ยอินทรีย์ปีละเป็นพันๆ ตัน ซึ่งปุ๋ยส่วนนี้จะนำไปใส่ผักผลไม้ ต่อยอดถึงกระบวนการผลิตอาหารที่เป็นอินทรีย์ทั้งหมดได้ ข้าวอินทรีย์ที่สีแล้วเราก็เอาแกลบมารองพื้นให้หมู เอารำมาผสมอาหารให้หมู หมูหลุมจึงกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ได้และทำให้เกษตรกรผู้ผลิตหมูอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

ภาพถ่าย : สุพจน์ สิงห์โตศรี, หมูหลุมอินทรีย์วิธีชุมชนตำบลดอนแร่, ธัญนที หยกสกุล

FB: หมูหลุมอินทรีย์วิธีชุมชนตำบลดอนแร่

อ้างอิงข้อมูล: www.knowledgefarm.in.th/ractopamine-on-pork
www.the101.world/ractopamine-on-pork
www.prachachat.net/economy/news-31509
www.thaihealth.or.th