ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริง ถ้าจะบอกว่าวิถีออร์แกนิกนั้น เป็นวิถีการกินอยู่แห่งสหัสวรรษได้เลยทีเดียว เพราะเป็นวิถีที่กลับไปมองหาคุณค่าจากอดีตอันเก่าแก่ และเป็นวิถีที่แสวงหาหนทางอันดีงามในปัจจุบันเพื่อเป็นรากฐานอนาคตข้างหน้าที่ทุกคนร่วมกันถักทอขึ้น นั่นคือวิถีการกินอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ

เกือบ 100 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2467 รูดอล์ฟ สไตเนอร์ คุรุทางจิตวิญญาณ นักปรัชญา ศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ ได้ศึกษาทดลองและเปิดบรรยายวิชาเกษตรเพื่อตอบสนองคำร้องขอจากชาวไร่ ชาวนา สัตวแพทย์ แพทย์ รวมไปถึงผู้บริโภคที่สนใจเรื่องของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ใช้ในการเกษตร และคุณภาพอาหารที่ผลิตได้อ่อนแอและเสื่อมโทรมลงมากขึ้น เนื่องมาจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร จนเกิดกลายเป็นการเกษตรชีวพลวัต (Biodynamic Agriculture) ที่เปรียบฟาร์มดังสิ่งมีชีวิตที่จะต้องพึ่งพาตนเองได้ โดยการหมุนเวียนทรัพยากรต่างๆ กลับคืนสู่ดิน และทำงานต่างๆ ในไร่นาให้สอดคล้องกับระบบนิเวศตามธรรมชาติ ตลอดจนคล้อยตามอิทธิพลของการเคลื่อนที่ของดวงดาวที่คอยกำหนดจังหวะต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น กลางวันกลางคืน น้ำขึ้นน้ำลง ลมฟ้าอากาศ ตลอดจนฤดูกาล ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของเกษตรอินทรีย์ในยุคสมัยใหม่

เช่นเดียวกันกับในอีกซีกโลกหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2478  ที่ประเทศญี่ปุ่น โมกิจิ โอกาดะ นักปราชญ์ชาวญี่ปุ่น ก็ได้ค้นพบว่าผลของการปลูกพืชด้วยปุ๋ย (ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์และปุ๋ยคอกที่ยังไม่ได้ย่อยสลาย) จะทำให้พืชอ่อนแอต่อโรคและแมลง หากแต่การปลูกพืชด้วยใบไม้ที่ผุพังย่อยสลายดีแล้วกลับทำให้พืชแข็งแรงและมีความต้านทานต่อโรคและแมลง ท่านจึงประกาศเป็นแนวทางการเกษตรโดยไม่ใช้ปุ๋ย ซึ่งเป็นแนวทางเกษตรธรรมชาติ MOA (Nature Farming of Mokichi Okada Association) ในเวลาต่อมา และเป็นแนวทางการเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งที่สถาบันโรเดล หนึ่งในสถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกให้การยอมรับว่าเป็นแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืนในปัจจุบัน

และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในปี พ.ศ. 2483 เซอร์อัลเบิร์ต โฮวาร์ด นักเกษตรจากจักรวรรดิอังกฤษก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาวิธีการทำปุ๋ยหมักอย่างใหม่ในอินเดีย ดินแดนอาณานิคมของเครือจักรภพในสมัยนั้น โดยไม่ต้องขุดหลุมลงไปหมักแบบโบราณ แต่สามารถตั้งกองบนพื้นและจัดการอากาศภายในกองให้เกิดการย่อยสลายที่ดีและเร็วขึ้น ช่วยให้เกิดการพัฒนาดินที่อุดมสมบูรณ์ได้ด้วยวิธีทางชีวภาพและพึ่งตนเองได้แทนที่จะใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ที่ชาวไร่ชาวนาไม่มีทุนจะซื้อหา รวมไปถึงข้อค้นพบจากประสบการณ์ที่โฮวาร์ดพบว่า สุขภาพที่ดีเริ่มต้นจากผืนดิน อันเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศหรือสายใยแห่งชีวิตที่เราผูกพันกับธรรมชาตินี้ ทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมไว้ใน คัมภีร์การเกษตร (An Agricultural Testament) และท่านก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร ทรงได้นำเอาวิทยาการเกษตรสมัยใหม่ เช่น เครื่องจักร ปุ๋ยเคมี และพันธ์ุพืชสมัยใหม่ที่นิยมปลูกในที่ดอนอย่างข้าวโพด ข้าวฟ่าง จากตะวันตกเข้ามาสู่สยามหรือประเทศไทย แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังรู้ถึงผลกระทบของวิทยาการสมัยใหม่เหล่านั้นก่อนใคร จึงทรงเน้นให้ทำการเกษตรอย่างเข้าใจธรรมชาติด้วยหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในตำรา ‘กสิกรรมบนดอน หลักวิทยาศาสตร์และคำแนะนำสำหรับทำจริง’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2479 ซึ่งพระองค์ก็ได้เข้าถึงความจริงที่ว่า

“การเขตกรรมหรือการไถ คราด พรวนดินนี่เอง ที่เป็นปุ๋ยของคนจน” เป็นการพลิกฟื้นผืนดินด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์

ดังนั้น หากมองด้วยใจที่เป็นธรรม เราจะสังเกตเห็นถึงเจตนารมณ์ในการถือกำเนิดขึ้นของเกษตรอินทรีย์ว่าเป็นการแสวงหาหนทางการเข้าใจและเข้าถึงวิถีการเกษตรที่ควรจะเป็น นั่นคือวิถีการเกษตรที่สอดคล้องกับธรรมชาติที่มนุษย์อย่างเราดำรงอาศัยอยู่มาหลายหมื่นหลายพันปี เกษตรอินทรีย์จึงไม่ใช่แค่เกษตรปลอดสารพิษ หรือเกษตรไร้สารเคมี แต่เป็นเกษตรที่ช่วยรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเฉพาะดิน น้ำ พืชพรรณ และชีวิตสัตว์ต่างๆ ในระบบนิเวศให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ

และก็ไม่ได้เป็นการสรุปที่เกินความจริงว่า เหล่าผู้คนที่สนับสนุนวิถีเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก คือผู้ที่ร่วมธำรงรักษาและสร้างสรรค์ธรรมชาติอันงดงามนี้ไว้ให้คนรุ่นสืบไป ด้วยการเลือกให้วิถีนี้มาเป็นหนึ่งเดียวกันกับวิถีการกินอยู่ของพวกเขา การกินอยู่ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์หรืออร์แกนิกจึงเป็นวิถีการกินอยู่เพื่อเราและเพื่อโลกไปพร้อมๆ กันอย่างแท้จริง

ในบทความหน้า ผมจะพาไปติดตามกันว่า วิถีออร์แกนิกอย่างที่เราทำและสนับสนุนกันนั้น มีบทบาทและผลลัพธ์อย่างไรอีกบ้างในการช่วยเราและช่วยโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข

เพราะการกินอยู่ของเรามีความหมาย มาสนับสนุนวิถีออร์แกนิก วิถีเกษตรอินทรีย์ไปด้วยกันนะครับ

เจ้าชายผัก
ต้นฤดูฝน ก่อนฤดูกาลเพาะปลูกประจำปี 2562

ภาพประกอบ: npy.j