เพราะกระแสโลกร้อนกำลังมาแรง ช่วงหลังๆ มานี้เราเลยเริ่มเห็นของใช้ต่างๆ ที่ขึ้นป้ายสีเขียวเอาใจสายกรีนกันบ่อยขึ้น ทั้งสิ่งของที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ นวัตกรรมสิ่งของย่อยสลายได้ที่ช่วยลดขยะ และอีกสารพัดเทคนิคกู้โลกที่กลายมาเป็นทางเลือกให้เราในปัจจุบัน แต่รู้กันไหมว่าเครื่องใช้เหล่านี้ บางอย่างอาจไม่ได้ดีต่อโลกจริงๆ หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ‘greenwashing’ หรือการฟอกเขียวของแบรนด์ต่างๆ ที่หยิบความกรีนมาเป็นจุดหนึ่งในสายพานธุรกิจ เพื่อสร้างภาพลักษณ์รักษ์โลก ซึ่งอาจช่วยให้ผู้บริโภคมองข้าม หรือเบี่ยงเบนความสนใจจากกระบวนการอื่นๆ ที่ทำลายโลกไป
ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริโภคสายกรีนอย่างเราจึงเป็นการเช็กให้ดีก่อนใช้ เพื่อจะได้ไม่สร้างผลกระทบต่อโลกเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
จงระวังของใช้ eco-friendly และผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามักตัดสินใจซื้อสินค้าจากรูปลักษณ์ที่ดูดี ยิ่งโดยเฉพาะกับของใช้ใกล้ตัว อย่างสบู่ แชมพู หรือผลิตภัณฑ์ในบ้าน ถ้าเลือกได้ก็ต้องขอเลือกที่เป็นธรรมชาติเพื่อความปลอดภัย เราเลยมักพบสินค้าเหล่านี้ปะหน้าด้วยหีบห่อสีเขียว ตกแต่งด้วยใบไม้และสิงสาราสัตว์ที่สร้างความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติสุดๆ หรือจะเป็นตัวอักษรโตๆ ที่ระบุชัดเจนว่า eco-friendly, natural, non-chemical ฯลฯ ที่ทำให้เราตัดสินใจหยิบสินค้าพวกนี้มาใช้อย่างไม่รู้สึกผิดต่อโลกและตัวเองนัก
แต่บ่อยครั้งที่สินค้าเหล่านี้มักให้ข้อมูลไม่เพียงพอทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิต และวัตถุดิบที่ใช้ สิ่งที่เรามักพบบ่อยที่สุดคือการระบุว่าใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ปราศจากสารบางชนิดที่มีชื่อทางเคมีแปลกๆ แต่กลับไม่สามารถรู้ได้ว่าวัตถุดิบที่ว่าเหล่านั้นคืออะไร มีปริมาณเท่าไหร่ แล้วการไม่มีสารเคมีบางชนิดจะถูกแทนที่ด้วยสารเคมีตัวอื่นไหม หรือการระบุว่า no tested on animals แต่การไม่ทดลองกับสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าสินค้าเหล่านั้นจะปลอดสารเคมี ซึ่งสุดท้ายสารเคมีที่ผสมไปกับน้ำก็อาจวนกลับไปทำลายสัตว์ สิ่งแวดล้อม และดีไม่ดีก็อาจวนกลับมาทำร้ายตัวเราเองอยู่ดี
คำแนะนำ การอ่านฉลากหลังผลิตภัณฑ์บางทีก็ยากเหมือนทำความเข้าใจภาษาต่างดาว เพราะฉะนั้นการหาแบรนด์ที่เราไว้ใจ ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดได้ว่าไม่ทำร้ายธรรมชาติจริงๆ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด อาจสังเกตจากสัญลักษณ์ขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหรือมาตรฐานออร์แกนิกต่างๆ หรือจะลองเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์โฮมเมดที่พอจะพูดคุยเรื่องกระบวนการผลิตได้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเหมือนกันนะ
จงระวังเสื้อผ้า ที่แปะป้ายว่าใส่ใจทั้งผู้ผลิตและผู้ใส่
อีกสิ่งหนึ่งที่เรามักซื้อกันอยู่บ่อยๆ คือเสื้อผ้า เดี๋ยวนี้เรามักจะเจอป้ายระบุการใช้ฝ้ายออร์แกนิก หรือพวก green label และ ethnic care อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่วนมากป้ายเหล่านี้มักเป็นการแยกไลน์ของแบรนด์เสื้อผ้าขนาดใหญ่ ที่บางทีก็ทำให้เรารู้สึกผิดน้อยลงเวลาช้อปเสื้อผ้าเยอะๆ
แต่ถึงจะขึ้นป้ายว่าดีขนาดไหน การตรวจสอบเสื้อผ้าออร์แกนิกก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะโดยทั่วไปเสื้อผ้าไม่ได้มีมาตรฐานออร์แกนิกรับรองเหมือนอย่างอาหารและข้าวของเครื่องใช้ ดังนั้นไม่ว่าเสื้อตัวนั้นจะทำจากฝ้ายออร์แกนิก 100% หรือ 1% ก็สามารถขึ้นป้ายว่าเป็นออร์แกนิกได้หมด หากไม่มีป้ายระบุเปอร์เซ็นต์ของเนื้อผ้าอย่างชัดเจน เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าสรุปแล้วเสื้อตัวนั้นใช้ผ้าออร์แกนิกจริงหรือเปล่า หรือถ้าใช้จริงเราก็ไม่มีทางรู้อีกว่าการกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบ fast fashion นี้ ยังคงต้องพึ่งน้ำและสารเคมีมากมายมหาศาลอยู่อีกไหม
อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจหลงลืมก็คือมนุษย์อีกนับพันชีวิตที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการผลิตอันยิ่งใหญ่นี้ หลายๆ ครั้งป้าย made in ประเทศดีๆ สักที่ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของเสื้อผ้าชิ้นนั้นๆ เพราะบางทีขั้นตอนก่อนมาถึงโรงงานก็ยังมีคนอีกมากมายทั้งคนปลูกฝ้าย คนทอผ้า และแรงงานอีกนับร้อยที่ช่วยกันสร้างวัตถุดิบต่างๆ ขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้
คำแนะนำ หากจำเป็นต้องซื้อเสื้อประเภทนี้ ลองหาข้อมูลให้มากกว่าแค่การอ่านป้ายปะหรือคำอธิบายคอลเลกชั่นนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน แต่จะให้ดีกว่า คือลองลดนิสัยนักช้อป และหันมาสนับสนุนแบรนด์ที่คำนึงเรื่อง seasonless fashion หรือแบรนด์ที่ไม่ได้ผลิตเสื้อผ้าตามเทรนด์สั้นๆ ที่ผ่านมาแล้วผ่านไปให้มากขึ้น หรือจะลองสนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบปลอดภัยและคำนึงถึงกำลังของผู้ผลิตเป็นหลัก เพื่อลดขยะจากวงการ fast fashion ที่มีอยู่มากมายในตอนนี้ก็ได้นะ
จงระวัง bamboo cup แก้วกรีนไม่จริง
เทรนด์ยืดอกพกแก้วกำลังมาแรง เราเลยมีแก้วสวยๆ ให้เลือกซื้อในท้องตลาดเพียบ หนึ่งในนั้นคือ bamboo cup แก้วที่มีส่วนผสมของไผ่ ซึ่งดูจะอัพเลเวลความกรีนของเราไปอีกขั้น แถมพบเจอได้บ่อยมากๆ ตามร้านกาแฟและร้านขายแก้วพกพาต่างๆ
ถึงจะบอกว่าเป็นไผ่ แต่กระบวนการผลิตแก้วเหล่านี้ส่วนมากไม่ได้ทำมาจากเยื่อไผ่ แต่เป็นการใช้ผงที่สกัดจากไผ่ (bamboo powder) หลอมแก้วขึ้นมาโดยอาศัยเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์เป็นตัวเคลือบ ซึ่งไม่เป็นอันตรายในอุณหภูมิปกติ แต่ความร้ายกาจของมันคือการละลายสารเคลือบอย่างฟอร์มาลดีไฮด์ออกมากับน้ำเมื่อเจอความร้อนจัด และยิ่งอันตรายเข้าไปอีกเมื่อเข้าไมโครเวฟ เนื่องจากเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์สามารถดูดซับคลื่นไมโครเวฟและสะสมความร้อนจนปล่อยสารฟอร์มาลดีไฮด์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผิวหนัง ตับ และกลายเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายได้ถ้าใช้บ่อยเกินไป
และด้วยความที่เจ้าถ้วยไผ่นี้ ไม่ได้ผลิตจากวัสดุธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น มันจึงไม่สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด แม้ส่วนที่เป็นไผ่จะสามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ แต่สารเคมีประกอบอื่นๆ ก็ยังคงตกค้างอยู่ และสารตกค้างเหล่านี้จะสลายด้วยวิธีการเผาที่อุณหภูมิสูงมากเท่านั้น
คำแนะนำ หลีกเลี่ยงการมีแก้วเหล่านี้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นแก้วจากไผ่หรือพืชชนิดไหนก็ตามที่มีกระบวนการใกล้เคียงกัน นั่นคือการเปลี่ยนเยื่อพืชเหล่านั้นให้กลายเป็นผงแป้งแล้วขึ้นรูปด้วยเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ทีหลัง หรือถ้ามีอยู่แล้ว ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากระบวนการผลิตแก้วเหล่านั้นมีมาตรฐานรับรองด้านอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการเคลือบเมลามีนที่ได้คุณภาพ ไม่ปล่อยสารฟอร์มาลดีไฮด์ออกมามากกว่าปกติ และที่สำคัญควรตรวจสอบเรื่องการทนความร้อน เพราะแก้วประเภทเดียวกันนี้ในแต่ละแบรนด์อาจสามารถรองรับความร้อนได้ต่างกัน ซึ่งส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 60 องศาเซลเซียส ถ้าพบว่าอาจมีอันตราย ลองเปลี่ยนมาพกแก้วแก้วที่ใช้ซ้ำได้ เช่น เซรามิก สแตนเลส หรือซิลิโคนแทน
จงระวังถุง oxo-biodegradable ที่บอกว่าย่อยสลายได้
ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเมื่อพูดถึงพลาสติกย่อยสลายได้ก็คือ เมื่อเราทิ้งถุงหรือขวดเหล่านั้นไว้ที่พื้นดิน พวกมันก็จะค่อยๆ สลายหายไปเอง แต่ก็ไม่ใช่พลาสติกย่อยสลายได้ทุกรูปแบบที่จะสามารถหายไปได้ง่ายๆ ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ เพราะมันยังถูกจัดประเภทออกมาอีกหลากหลาย และแต่ละประเภทก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันไป ถ้านำไปทิ้งแบบไม่ถูกต้อง ก็จะยิ่งกลายเป็นการสร้างปัญหาเรื่องไมโครพลาสติกซึ่งยากต่อการจัดการขึ้นไปอีก!
เพราะฉะนั้น เราจึงควรมารู้จักประเภทของพลาสติกย่อยสลายที่พบได้บ่อยๆ กันก่อน
พลาสติกย่อยสลายได้ประเภทแรก คือ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ซึ่งเราอาจจะไม่ได้พบบ่อยนัก โดยสังเกตได้จากตัวพิมพ์ที่ระบุไว้บนแก้วพลาสติก โดยชนิดที่พบบ่อยคือ PLA หรือ PBS ซึ่งพลาสติกประเภทนี้สามารถย่อยสลายกลายเป็นชีวมวลได้จริง (compostable) ภายใต้สภาวะความชื้น เวลา และอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งในต่างประเทศมีโรงงานสำหรับการย่อยสลายพลาสติกชีวภาพโดยเฉพาะ ข้อสังเกตของพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (compostable) คือต้องได้รับรองมาตรฐานการการย่อยสลาย EN13432 หรือ ISO17088 หรือ ADTMD6400 เท่านั้น การใช้งานพลาสติกกลุ่มนี้ยังมีอยู่น้อยเนื่องจากราคาที่สูง และพลาสติกกลุ่มนี้ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลร่วมกับพลาสติกชนิดอื่นได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบการแยกประเภทและการจัดการอย่างถูกต้อง
แต่ไม่ใช่ว่าพลาสติกที่ย่อยสลายได้เมื่อเข้ากระบวนการอย่างถูกต้องแล้วจะสลายหายไปโดยไม่ทิ้งอะไรไว้กวนใจเรา เพราะเราอาจพบว่าห้างร้านบางแห่งก็มีการเลือกใช้ถุงอีกรูปแบบ ที่ระบุว่าเป็น EDP (Environmentally Degradable Plastic) หรือประเภท oxo-biodegradable อยู่ ซึ่งพลาสติกประเภทนี้มีความแตกต่างจากพลาสติก compostable ทั่วไปตรงที่มันคือพลาสติกดั้งเดิมที่ถูกเติมสารเคมีเร่งให้เกิดการแตกสลายภายในระยะเวลา 2-5 ปี การแตกสลายนี้ก็จะทำให้เกิดไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนไปกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบนดินหรือในน้ำ แถมยังมีโอกาสเป็นที่สะสมของสารอันตรายอย่างโลหะหนัก หรือยาฆ่าแมลง ซึ่งมีโอกาสเข้าสู่ร่างการมนุษย์และสัตว์ รวมถึงพลาสติกประเภทนี้ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ประเทศแถบยุโรปได้แบนพลาสติกประเภทนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย
คำแนะนำ เพราะพลาสติกประเภท EDP และ oxo-biodegradable ยังเกลื่อนกลาด แถมประเทศไทยยังไม่มีโรงงานสำหรับย่อยสลายพลาสติกชนิดนี้ ดังนั้นหากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติกไปเลย ส่วนใครที่เผลอรับถุงพลาสติกมาแล้ว ก็ต้องเช็กให้ดีก่อนนะว่าถุงเหล่านั้นเป็นประเภทไหน หากเป็นพลาสติก 100% compostable ก็ควรรวบรวมไว้ส่งไปย่อยสลายให้เป็นประโยชน์ในระบบอุตสาหกรรมด้านอินทรีย์ขนาดใหญ่ หรือถ้าเจอถุง EDP หรือ oxo-biodegradable ก็ต้องแยกเอาไว้ให้ดี อย่าเผลอส่งไปรีไซเคิลรวมกับพลาสติกชนิดอื่นๆ นะ!
อย่างไรก็ตามการเลิกใช้ถุงพลาสติกเหล่านี้ไปเลย แล้วหันมาพกถุงผ้าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องระวังการใช้ถุงผ้าของตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะถุงผ้าเองก็ผ่านกระบวนการผลิตที่ต้องเสียทรัพยากรไปมากมายเช่นเดียวกัน และจากการวิจัยของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร ประเทศเดนมาร์ก บอกว่าเราควรจะต้องใช้ถุงเหล่านั้นให้บ่อยถึงประมาณ 7,000 ครั้งเลยล่ะ ดังนั้นการนำถุงผ้าวนกลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มที่สุดจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เพราะฉะนั้นสายกรีนทั้งหลายก็อย่ามัวแต่หลงความกรีน จนลืมตรวจสอบความถูกต้อง และต้องระวังพฤติกรรมการบริโภคด้านอื่นๆ ของตัวเองกันด้วยนะ
ที่มา:
ข้อมูลส่วนหนึ่งจากทีม Chula Zero Waste
www.feedough.com/what-is-greenwashing-types-examples
www.wellmadeclothes.com/articles/HMConsciousCollectionIsGreenwashing101
www.heritagepaper.net
www.ecowatch.com
www.diamondsandspikes.com/green-sustainable/bamboo-cup
www.obeoliving.com/2019/07/11/compostable-packaging
www.chulazerowaste.chula.ac.th
www.dw.com/en/keep-your-hands-off-bamboo-coffee-cups
ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง