เราต่างยอมรับแล้วว่า สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อพวกเรา และการลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อลดผลกระทบของสภาวะดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศไทย ยังเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตทางเลือก (Alternative Lifestyle) เพราะว่าหลาย ๆ กิจกรรม ยังต้องใช้ความพยายามไม่น้อย รวมถึงบางกิจกรรมก็ยังมีต้นทุนที่แพงกว่ารูปแบบการใช้ชีวิตปรกติ แต่ทำไมเวลาเราไปต่างประเทศ ผู้คนทั่วไปจึงทำเรื่องนี้กันเสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตตามปรกติ

ง่ายและฟรี คือโจทย์ใหญ่และความท้าทาย
ในหลาย ๆ ประเทศ มีโมเดลที่น่าสนใจในการผนวกเอารูปแบบการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับโลก โดยเฉพาะการทำ 3R (Reduce, Reuse, Recycle) ให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปรกติ จนผู้คนเกิดความเคยชิน นอกจากนี้บางโมเดล นอกจากจะไม่ทำให้ประชาชนมีต้นทุนการบริโภคที่แพงขึ้นแล้ว เผลอ ๆ ยังช่วยลดค่าครองชีพลงได้เล็กน้อยอีกด้วย ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของพวกเราคือ ทำอย่างไรให้ไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับการใช้ชีวิตปรกติของคนทุกคน และไม่ว่าจะเป็นใคร มีฐานะทางเศรษฐกิจแบบใด ก็ต้องสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตร โดยไม่กระเทือนกระเป๋าสตางค์

ใคร ๆ ก็แบนถุงพลาสติก
นโยบายพื้นฐานที่หลาย ๆ ประเทศนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีแล้ว ก็คือนโยบายเกี่ยวกับการแบนบรรจุภัณฑ์บางชนิด เช่น การแบนไม่ให้ใช้บรรจุภัณฑ์จากโฟม การเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว โดยเชื่อว่าการแบน เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ประเทศไทยเองก็เริ่มมีการแบนถุงพลาสติกตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่จนถึงปัจจุบันดูเหมือนว่าการใช้ถุงพลาสติกก็ยังเป็นที่แพร่หลายอยู่ในบ้านเรา ร้านค้าและตลาดสดก็ยังมอบถุงพลาสติกให้ใส่สินค้ากันเป็นปรกติ

หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์ก มีการเก็บภาษีรีไซเคิลร้านค้าที่ให้ถุงพลาสติก และจำหน่ายสินค้าที่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การเข้มงวดกวดขันในการจัดเก็บภาษีหรือค่าปรับนี้ก็ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศลดลงอย่างมากทันที แต่บางประเทศที่ไม่ได้มีกระบวนการกวดขันจริงจัง ก็ทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนละเลยและกลับมาผลิตขยะพลาสติกมากกว่าเดิม อย่างเช่น ไอร์แลนด์ ที่หลังมีนโยบายแบนถุงพลาสติกเพียงไม่กี่ปี แต่กลับเป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิตพลาสติกมากที่สุดในยุโรป (61 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี) จนมีหลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องให้มีแนวทางที่รัดกุมมากขึ้น

“แบน” ไม่พอ ต้อง “วน” ได้ด้วย
แน่นอนว่า นโยบายแบนพลาสติกหรือการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นโดยลำพัง อาจไม่สามารถใช้จัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายต่อหลายครั้งเราเองก็มักลืมที่จะนำภาชนะส่วนตัวติดตัวไปด้วย และต้องจำใจใช้บรรจุภัณฑ์แบบ single-use ดังนั้นหลาย ๆ ประเทศจึงพิจารณาใช้ระบบการยืมบรรจุภัณฑ์มาใช้ เพื่อเป็นการหาทางออกสำหรับภาคเอกชนและภาคบริการ นอกจากนี้ ระบบเดียวกันนี้ยังนำมาใช้กับบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ด้วย โดยในสวีเดนจะมีการเก็บเงินค่ามัดจำกับผู้ซื้อ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อบริโภคเสร็จแล้วจะนำบรรจุภัณฑ์มาคืน เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้ โดยผู้ซื้อก็จะได้รับเงินมัดจำกลับคืนไป

จะเห็นว่า โมเดลการทำจุดรับคืน (Drop-off point) กลายเป็นโมเดลที่จำเป็นที่เข้ามาช่วยทำให้ระบบของการหมุนเวียนขยะและบรรจุภัณฑ์ครบวงจรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคืนเงินมัดจำ หรือซื้อคืนบรรจุภัณฑ์ โดยตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือศูนย์การค้า มักจะมีจุดรับคืนอัตโนมัติไว้คอยให้บริการ โดยผู้ที่นำภาชนะมาคืนจะได้รับเป็นเงินสดหรือคูปองส่วนลดกลับไป

นอกเหนือจากจุดรับคืนแบบที่ให้เงินมัดจำหรือส่วนลดแก่ประชาชนแล้ว ยังมีโมเดลของตู้บริจาคที่หน่วยงานสาธารณกุศลมักทำขึ้นเพื่อรับบริจาคสิ่งของสภาพดีที่สามารถนำไปขายหรือมอบเป็นของมือสองให้กับผู้มีรายได้น้อยได้อีกด้วย ส่วนขยะบางประเภท เช่น ขยะชิ้นใหญ่หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะมีจุดรับคืนหรือที่ทิ้งแยกจากขยะทั่วไป โดยบางแห่งก็มีโมเดลในการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมในการนำขยะชิ้นใหญ่ อย่างเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าไปกำจัด ทำให้การซ่อมแซมให้ใช้งานได้ หรือจำหน่ายเป็นสินค้ามือสองถูกพิจารณาก่อนจะทิ้งเป็นขยะจริง ๆ มากขึ้นด้วย

ถ้าครัวเรือนไม่แยกขยะ โมเดลก็ไม่สำเร็จ
แน่นอนว่าโมเดลทั้งหมดข้างต้น หากครัวเรือนไม่สามารถจำแนกแยกขยะออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ ก็จะไม่สามารถทำให้ขยะนั้นวนกลับไปสู่ระบบการจัดการที่เหมาะสมได้ ดังนั้นข้ออ้างที่ว่า “จะแยกทำไม เก็บไปก็ถูกนำไปรวมกันอยู่ดี” จึงควรถูกทบทวนเสียใหม่ เพื่อกระตุ้นให้ครัวเรือนนั้นแยกขยะ หลาย ๆ ประเทศจึงมีการเก็บค่าจัดการขยะแยกรายประเภท ซึ่งหากครัวเรือนหรือธุรกิจไม่มีการแยกขกยะ ก็จะต้องเสียค่าเก็บขยะในราคาที่สูง แต่หากมีการคัดแยกขยะเป็นประเภท ก็จะเสียค่าเก็บขยะในอัตราที่ต่ำกว่า

เพื่อให้ ‘ครบลูป’ ใครบ้างที่ต้องร่วมขยับ?
มาถึงตรงนี้ เราคงเห็นภาพแล้วว่าปัญหาเรื่องขยะเป็นปัญหาที่ไม่สามารถชี้นิ้วโทษใครคนใดคนหนึ่งได้ และนโยบายเพียงไม่กี่นโยบายก็ไม่สามารถช่วยให้จัดการขยะแบบองค์รวมได้อย่างครบลูป หลาย ๆ ประเทศ จึงออกแบบนโยบายที่ “คิดจบ” ตั้งแต่คนผลิต-คนขาย-คนใช้ โดยในส่วนของผู้ผลิตและผู้ขายนั้น ภาครัฐจะเน้นการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า EPR หรือ Extended Producer/Seller Responsibility หรือ การขยายขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิตหรือผู้ขาย จากเดิมที่แค่ผลิต จำหน่าย และรับประกันซ่อมแซม ให้ครอบคลุมถึงการนำมารีไซเคิล และการนำไปกำจัดอย่างถูกต้องด้วย

เราเองในฐานะของประชาชนและผู้บริโภค มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้มีนโยบายการจัดการขยะที่คิดจบและครบลูปกว่าในปัจจุบันได้ รวมถึงดึงภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมเป็นฟันเฟืองสำคัญในกระบวนการด้วย แต่อย่างไรก็ตามเราทุกคนก็ปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้บริโภคไม่ได้ เพราะแม้ในวันข้างหน้าจะมีนโยบายและระบบในการจัดการที่ดีขึ้น แต่หากเรายังไม่ใส่ใจหรือเข้าใจถึงความสำคัญของการจัดการขยะ ปัญหาเหล่านี้ก็จะยัง “วน” กลับมาหาเราไม่รู้จบเช่นกันครับ

เอกสารอ้างอิง:
– www.ej.eric.chula.ac.th/content/6134/277
– www.sdgmove.com/2021/03/23/what-need-to-know-banning-plastics-in-thailand
– urbancreature.co/green-waste-management-germany
– thematter.co/social/plastic-policy-in-other-country/53099

ภาพประกอบ : missingkk