อาจเพราะวิกฤติพลังงาน และมลพิษทางอากาศ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อโลกอยู่ในตอนนี้ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ จึงกลายเป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก และไม่ใช่แค่กล่าวถึงเท่านั้น เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ได้ผลิตยวดยานชนิดนี้ออกมาจำหน่ายกันแล้วหลายแบรนด์ ขณะที่ความเข้าใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าชนิดดังกล่าวอาจยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ หรือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันเหจากเครื่องยนต์สันดาปมาใช้ยนตร์กรรมดังกล่าว วันนี้ผมจึงอยากชวนคุยรอบด้านกับประเด็นนี้กัน

ย้อนอดีตรถยนต์สันดาปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ในรอบร้อยปี
ก่อนจะมีรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน โลกของเราเริ่มมีรถยนต์ใช้มาตั้งแต่ปี 1886 ตอนนั้นยังเป็นเครื่องยนต์แบบเผาไหม้เชื้อเพลิงและพัฒนาจนได้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งพวกเราก็ยังคงใช้เครื่องยนต์สันดาป (I.C.E.) ในยานพาหนะเป็นหลักต่อเนื่องมานานกว่าหนึ่งร้อยปี แม้จะมีความพยายามคิดค้นเครื่องยนต์ทางเลือก เช่น ระบบไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) หรือรถพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) แต่ก็ยังไม่สามารถมาแทนที่เครื่องยนต์สันดาปได้

การก่อตั้งเทสล่า โดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวงการรถยนต์ครั้งใหญ่

โดยมีการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง จนในปัจจุบันค่ายรถยนต์ต่างๆ ล้วนนำรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองออกมาจำหน่ายอย่างแพร่หลาย รวมถึงเกิดแบรนด์ผู้ผลิตใหม่ๆ มากขึ้น เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า เรามักนึกถึงอะไรบ้าง?
สิ่งแรกที่คุณอาจนึกถึงเกี่ยวกับรถยนต์พลังานไฟฟ้า ก็คือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่รู้กันดีว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ (zero emission) อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่พวกเราควรคำนึงถึง ก่อนที่จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ เพื่อที่จะได้ช่วยโลกให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง ได้แก่

1. ที่มาของพลังงาน
ต้องยอมรับว่าในหลายๆ ประเทศ แหล่งพลังงานที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้านั้นยังมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ แต่สัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปที่เริ่มเอาจริงเอาจังกับการใช้พลังงานสีเขียวเพื่อผลิตไฟฟ้า พัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และทยอยปิดโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานเชื้อเพลิงลง ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่ดำเนินไปควบคู่กัน ซึ่งหากเราสามารถนำพลังงานสะอาดมาใช้กับรถยนต์ เช่น ติดตั้งแผงโซล่าร์เพื่อมาชาร์จให้กับรถยนต์ได้ ก็ถือว่าทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นปลอดคาร์บอนได้อย่างแท้จริง

2. แบตเตอรี่
น่าเสียดายที่แบตเตอรี่ในปัจจุบันยังต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษกับคนและสิ่งแวดล้อมอย่างสารตะกั่วอยู่ นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ดังนั้นเมื่อเบตเตอรี่ถูกทิ้งเป็นขยะ ก็มีความเสี่ยงที่จะปล่อยโลหะและสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 อาจมีแบตเตอรี่เสื่อมสภาพกว่า 12 ล้านตันทั้งจากรถยนต์และจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน

แม้ปัจจุบันจะมีกระบวนการที่สามารถนำแบตเตอรี่มารีไซเคิลได้แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือกระบวนการในการจัดเก็บและจัดการแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรใส่ใจเช่นเดียวกัน ก็หวังว่าในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีของแบตเตอรี่ จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น

อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก และในประเทศไทย
หลายๆ ประเทศทั่วโลก ต่างก็เล็งเห็นถึงผลกระทบที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ รวมถึงความผันผวนของราคาพลังงาน จึงทำให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากลายเป็นทิศทางแห่งความหวัง ดังนั้นแต่ละประเทศจึงออกนโยบายในการสนับสนุนภาคประชาชนและอุตสาหกรรมรถยนต์ในหลายระดับ เช่น

  • กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีนโยบายที่น่าสนใจในการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เช่น ในนอร์เวย์ มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคารถ รวมถึงการให้สิทธิ์ใช้ทางพิเศษ หรือให้จอดรถฟรี จึงดึงดูดให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และทำให้นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
  • ฝรั่งเศส มีการให้เงินชดเชยแก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ที่ปล่อยไอเสียน้อย เป็นเงินหลักแสนบาท รวมถึงยังให้เงินชดเชยแก่คนที่เอารถยนต์ดีเซลที่มีอายุมากกว่า 10 ปี มาเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
  • เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ดังมากมาย ก็มีนโยบายที่จริงจังเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งการงดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า 10 ปี ให้เงินชดเชยแก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงนโยบายสนับสนุนผู้ผลิตให้สามารถแข่งขันและเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าได้
  • ประเทศจีน ซึ่งกำลังต่อสู้กับปัญหาหมอกควันที่รุนแรงทุกปี ก็มีนโยบายที่จริงจังในการให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยการให้เงินชดเชยคิดเป็นเงิน 2-3 แสนบาทต่อคันเลยทีเดียว จนทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองใหญ่ๆ ของจีนเติบโตขึ้นหลายเท่า

ไม่ต้องอิจฉาประเทศข้างต้น เพราะ

ประเทศไทย ภาครัฐเองก็เริ่มมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยมีการให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ 18,000 – 150,000 บาทต่อคัน

รวมถึงมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ส่วนบุคคล จาก 8% เหลือ 2% และเหลือ 0% สำหรับรถกระบะ และหากเป็นรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มีการลดอากรนำเข้ากว่า 40% นอกจากนี้ยังมีการวางนโยบายระยะยาว ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ให้ผลิตป้อนตลาดในประเทศและส่งออกไปยังตลาดโลกอีกด้วย

ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเลยดีไหม? ควรดูที่อะไรบ้าง?
การตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นเงินลงทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังมีราคาสูงหากเทียบกับรถยนต์แบบเก่า สาธารณูปโภคด้านสถานีชาร์จก็ยังมีค่อนข้างจำกัด แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต่ำกว่า รวมถึงมีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่าก็อาจถือว่าคุ้มค่ากว่าในระยะยาว ดังนั้น

หากใครที่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ควรเลือกรุ่นรถ เทคโนโลยี รวมถึงขนาดแบตเตอรี่ (kWh) และระยะการขับขี่ (range) ที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของตนเอง

โดยไม่ควรเลือกรถยนต์ที่มีขนาดแบตเตอรี่ หรือมีระยะขับขี่สูงๆ โดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเทคโนโลยีที่ดีและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต ก็คือกระบวนการในการจัดเก็บและจัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ ระบบการรับซื้อคืนและการรีไซเคิลแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะแบตเตอรี่เหล่านี้ของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละราย เพื่อที่ความปรารถนาดีต่อสภาพอากาศโลกของเรา จะไม่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมโลกในภายหลังอย่างแท้จริง

อย่าลืมถามผู้แทนจำหน่ายก่อนออกรถคันใหม่นะครับ

ที่มาข้อมูล:
– สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
– www.youtube.com/watch?v=OXgJermXyYM&t=5s
– ec.europa.eu/eurostat/web/products-eurostat-news/-/ddn-20200129-1
– www.digikey.co.th/th/articles/combating-environmental-impact-in-the-electronics-components-industry
– greendigitallibrary.deqp.go.th/news/detail/778
– www.autodeft.com/deftscoop/government-policies-in-various-country-with-electric-car