สำหรับธุรกิจหรือกิจการแล้ว เมื่อพูดถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หลายคนมักนึกถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ในเชิงนโยบาย ที่เรามักเห็นภาพจากข่าวพีอาร์ต่าง ๆ เช่น การติดตั้งแผงโซล่าร์ขนาดใหญ่ การยกเครื่องอาคารให้ประหยัดพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนไม่น้อย บทความนี้จะขอกล่าวถึงทางเลือกที่ยั่งยืนขึ้น ที่ธุรกิจสามารถทำได้โดยอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนก้อนใหญ่ และสามารถกำหนดเป็นนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่สามารถทำได้ในทุกระดับ โดยเฉพาะในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์

เริ่มต้นจากกิจกรรมง่าย ๆ
งานเอกสารเป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่ขาดไม่ได้ ทั้งการติดต่อกันภายใน ประสานงานกับภายนอก แต่ละวันกระดาษจำนวนมากมายที่ถูกใช้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานในการผลิต ยังไม่รวมคาร์บอนที่มาจากการส่งเอกสารที่หลายครั้งต้องใช้บริการเมสเซนเจอร์ในการรับ-ส่งเอกสารไปมา ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย สิ้นเปลืองเวลา ยังสิ้นเปลืองพลังงาน สร้างมลภาวะและปล่อยคาร์บอนจำนวนไม่น้อยด้วย

ปัจจุบันมีกฎหมายอย่าง พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และ พ.ศ.2562 ประกาศใช้แล้ว โดยเอกสารที่ต้องใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจนั้นสามารถ สร้าง-ส่งต่อ-ลงนาม-เก็บรักษา ในรูปแบบดิจิตัลได้ทั้งสิ้น ลองคิดตามดูง่าย ๆ ว่า หากธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ระบบเอกสารแบบดิจิตัลได้จริงแล้วระบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ที่แน่ ๆ คือความสะดวก ลดค่าใช้จ่าย และไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งความท้าทายคือการออกแบบระบบงานใหม่ให้รัดกุมปลอดภัย และสร้างความเคยชินใหม่กับบุคลากรรวมถึงกับหน่วยงานภายนอกด้วย

จะขนส่งของ ก็เลือกได้
แน่นอนว่ากิจกรรมทางธุรกิจ ไม่ได้มีเพียงงานเอกสารเท่านั้น หลายครั้งการขนส่งพัสดุก็แทบจะเป็นกิจกรรมหลักโดยเฉพาะธุรกิจที่จำต้องค้าขายส่งสินค้าให้กับคู่ค้าหรือลูกค้ารายย่อย ในวันที่ทางเลือกในด้านการขนส่งยังมีไม่มาก และต้องพึ่งการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทางเลือกที่พอจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด คือ

  • ลองรวบรวมส่งคราวละมาก ๆ ในกรณีที่กำหนดเวลาไม่เร่งด่วน การส่งรวมกันในคราวเดียวย่อมใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง และสิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่า อาจกำหนดเป็นรอบส่งก็ได้ เช่น สัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง
  • เลือกใช้หีบห่อรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตร เช่น กระดาษ ผ้าใบ ที่มีความคงทน สามารถใช้ซ้ำได้ รวมถึงไม่ใช้พลาสติก หรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
  • ออกแบบกระบวนการในการจดเก็บและใช้ซ้ำหีบห่อบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์แบบ Single-use โดยไม่จำเป็น

จะขนส่งคน ก็เลือกให้ดี
ไม่เพียงแต่กระดาษหรือกล่องพัสดุ หลายครั้งเราก็จำเป็นต้องเดินทางเพื่อธุรกิจ มี business trip ไปยังที่ต่าง ๆ ทั้งไปประชุมกับลูกค้า หรือบินไปเจรจาธุรกิจที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ โดยธุรกิจสามารถออกแบบนโยบายแบบ “green business travel policy” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับพนักงานได้ เช่น

  • เลือกประชุมผ่านระบบออนไลน์ แทนการเดินทาง ก่อนเสมอ ให้การเดินทางไปประชุมเฉพาะการประชุมสำคัญจำเป็นเท่านั้น
  • หากมีการวางแผนเวลาที่ดี สามารถเลือกใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรือ รถไฟ (ในต่างประเทศ) ในการเดินทางได้
  • การเดินทางไปประชุมด้วยรถยนต์ ให้หลีกเลี่ยงการขับรถยนต์ไปคนละคัน ให้พิจารณาและวางแผนการเดินทางแบบ Car Pool
  • เมื่อต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ให้ใช้เอกสารการเดินทางดิจิทัล ไม่ต้องปริ้นต์เอกสารออกมาเป็นกระดาษ
  • เลือกที่พักที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตร

เลือกพาหนะดี มีชัย ในระยะยาว
ที่จริงแล้วยานพาหนะที่ใช้ในธุรกิจก็มีทางเลือกที่เป็นมิตรให้เรายึดมาเป็นนโยบายได้ แม้ปัจจุบันยานพาหนะประเภทรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์จะยังไม่มีทางเลือกมากนัก แนวทางที่เป็นไปได้ในการเลือกยานพาหนะอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น

  • หากเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล พิจารณารถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับแรก
  • รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เช่น รถกระบะ หรือรถบรรทุก ควรพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งาน มีขนาดซีซีรถที่เหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้ และเลือกรุ่นที่มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานที่น้อย
  • รถเพื่อการพาณิชย์เครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก หรือรถบัส ควรเลือกเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับรองมาตรฐาน European Emission Standards หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Euro ในระดับ 5-6 เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นมาตรฐานการปล่อยคาร์บอน ก๊าซพิษและฝุ่นละอองสู่อากาศ

ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ลองหาวิธีชดเชย
ปัจจุบัน การชดเชยคาร์บอน (Carbon offsets) เป็นทางเลือกหนึ่งของกิจกรรมการเดินทางที่อาจไม่สามารถลดการก่อคาร์บอนโดยตรงได้ ธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายมีการซื้อการชดเชยคาร์บอนจำนวนมากเพื่อชดเชยกิจกรรมทางธุรกิจการค้าที่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอนจำนวนมาก เพื่อรักษาระดับค่ากลาง (Carbon Neutral) ของตนเองเอาไว้ ซึ่งแม้ว่าวิธีนี้จะไม่ใช่วิธีการที่ต้นทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แต่วิธีการนี้ก็ยังถือว่าเป็นกุศโลบายในการดึงเอาเม็ดเงินจากธุรกิจและอุตสาหกรรม มาดำเนินกิจกรรมดูดซับคาร์บอนต่าง ๆ

การชดเชยคาร์บอนนั้น มีหลากหลายวิธี โดยธุรกิจสามารถซื้อคาร์บอนเครดิต จากตัวแทนหรือผู้ขายโดยตรงก็ได้ โดยเมื่อเราประเมินปริมาณการผลิตคาร์บอนจากกิจกรรมทางธุรกิจแล้ว ก็สามารถประเมินราคาคาร์บอนเครดิตที่จะซื้อเพื่อชดเชยได้เช่นกัน นอกจากนี้เรายังสามารถชดเชยคาร์บอนทางอ้อมผ่านกิจกรรมทางธุรกิจบางกิจกรรมที่เราต้องทำอยู่แล้ว เช่น การเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันหลายสายการบินเปิดให้เราสามารถเลือกซื้อตั๋วเดินทางพร้อมกับชดเชยคาร์บอนเครดิตไปด้วยในคราวเดียว โดยมีราคาที่สูงขึ้นจากตั๋วเดินทางปกติ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกสบาย เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรอีกทางหนึ่ง

จะเห็นว่าธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ มีทางเลือกเสมอในการที่จะสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนสูง สิ่งที่สำคัญและเป็นความท้าทายของธุรกิจก็คือ การสร้างความเข้าใจแก่บุคลากร รวมถึงออกแบบระบบและนโยบายที่ดี และในระยะยาวคือการผสานแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรให้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรต่อไป

ภาพประกอบ : missingkk