ครบหนึ่งขวบปีกับความตั้งใจลดขยะ single use plastic ในชีวิตประจำวันของสมาชิกกรุ๊ป Greenery Challenge และในภารกิจส่งท้ายปี เราชวนสมาชิกทั้งขาประจำและสมาชิกที่เพิ่งเริ่มต้น มาร่วมแชร์ #ไอเดียกรีนต่อไม่รอแล้วนะ เพื่อเป็นทางลัด วิธีการ และแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้ลงมือทำต่อไปยาวๆ ซึ่งในหลายๆ ครั้ง ไอเดียอาจไม่ได้เริ่มต้นจากคนโพสต์ แต่เป็นคอมเมนต์ที่เข้ามาเสนอทางออกและวิธีการดีๆ จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนได้พยายามไปด้วยกันจริงๆ

เพราะเมื่อเราตระหนักถึงปัญหา และเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง การช่วยลดภาระให้โลกใบนี้ด้วยตัวเราเองก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และนี่คือไอเดียที่เราให้เรากรีนต่อเนื่องเรื่อยไปแบบไม่ต้องรอใครเลย!

หมวดเริ่มต้น

1. ตั้งกฎเล็กๆ ของตัวเองในการพกแก้ว หิ้วปิ่นโต งดรับถุง จากหนึ่งมื้อ เป็นหนึ่งวัน เป็นหนึ่งสัปดาห์ เป็นหนึ่งเดือน อีกนิดเดียวก็สามารถทำได้ตลอดไป

2. สาวออฟฟิศที่ออกไปทานข้าวเที่ยง นอกจากพกขวดน้ำหรือแก้วกาแฟไปแล้ว ลองหิ้วถุงผ้าใบใหญ่อีกนิด ใส่ทัปเปอร์แวร์หรือกระป๋องรียูสเบาๆ ไปด้วย เผื่อแวะซื้อขนมหรือผลไม้ขึ้นมากินตอนบ่าย จะได้ปฏิเสธทั้งกล่องและถุงได้พร้อมอาวุธครบมือ

3. ช้อนกับตะเกียบแบบพกพาเหมาะกับสายสตรีทฟู้ดมาก เพราะเดี๋ยวนี้ร้านส่วนใหญ่เลือกใช้ตะเกียบสำเร็จรูปกันมากขึ้น นอกจากไผ่จำนวนมหาศาล และถุงพลาสติกซีลทีละชิ้นจะสร้างขยะจำนวนมาก เรายังปลอดภัยต่อสารฟอกขาวที่อาจจะสูงเกินพอดี ส่วนบางร้านที่ยังล้างตะเกียบและช้อนเอง (แต่ดันล้างไม่สะอาดเท่าไหร่) การใช้อุปกรณ์กินเอง ล้างเอง ของตัวเอง ก็สะดวกใจกว่าด้วย

4. ใครมีปัญหา หลอดซิลิโคนดูดชานมไข่มุกของโปรดไม่ขึ้น แนะนำให้ใช้หลอดไม้ไผ่ไซส์โต ทีนี้ก็พกแก้ว พกหลอดไปซื้อชานมไข่มุกได้แล้ว

5. และเรื่องจิ๋วๆ ของคนดื่มสมูทตี้ นอกจากหลอดแล้ว ช้อนนี่แหละเป็นอีกทางเลือกที่ง่ายเลยล่ะ ไปร้านไหนแล้วลืมพกหลอดไป ลองขอช้อนจากทางร้านมาใช้ดูนะ

6. สูตรง่ายสำหรับพกอาวุธไปจ่ายตลาดสดหรือเดินซูเปอร์มาร์เก็ต คือตะกร้าหนึ่งใบสำหรับใส่ผักรวมกันแบบไม่ต้องแยก ถุงผ้าเล็กๆ เบาๆ ไว้ใส่บางวัตถุดิบที่ต้องแยกออกมา อย่างพริกแห้ง หรือกุ้งแห้ง (ถ้าไปซูเปอร์ฯ ก็ให้ชั่งแล้วแปะบาร์โค้ดแยกเป็นถุงๆ ได้) ส่วนโหลหรือขวดรียูสไว้ใส่ของมีน้ำ เช่น กะปิ กระเทียมดอง หรือถ้าอยากช้อปปิ้งของสด พวกเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา ถ้าไม่พกกล่องทัปเปอร์แวร์มีฝาปิดมิดชิด ถุงซิลิโคนก็แยกชั่งน้ำหนักได้ง่ายดี

7. สร้างจุดแยกขยะในบ้านให้สมาชิกได้ร่วมด้วยช่วยกันจัดการขยะให้เป็นหมวดหมู่

8. เตรียมภาชนะใช้ซ้ำให้หยิบง่าย ใช้คล่อง สมาชิกในบ้านจะได้ร่วมด้วยช่วยใช้แบบไม่มีข้ออ้าง

9. ใครขับรถ ให้พกอุปกรณ์ติดรถไว้ ใครไม่ใช้รถส่วนตัว ใส่พกชุดคิทชิ้นจิ๋วที่น้ำหนักเบา จะได้ไม่ท้อกลางทาง

10. การใช้ปิ่นโตหรือพกภาชนะนับเป็นการวางแผนการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะต้องวางแผนว่าจะแวะร้านไหน ซื้ออะไร กินตอนไหน ได้ใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์ โดยไม่รู้ตัว

11. อีกทริคน่ารักของคนพกบ่อย หลังวางแผนแล้วว่าจะซื้ออะไร ลองเตรียมกล่องรียูสเกินไปอีก 1-2 ชิ้น เผื่อเจอของน่ากินเพิ่มเติมข้างทางจะได้กรีนครบสมใจ

12. ที่แน่ๆ อย่าเพิ่งเห่อซื้ออุปกรณ์ใหม่หมดจด ลองดูก่อนว่าในบ้านเรามีของเดิมอยู่ไหม เพราะหลักการคือการใช้ซ้ำให้คุ้มค่าที่สุด

หมวดประหยัด ลดการใช้

13. จากที่เคยทำแบบสอบถาม งานวิจัย หรือเอกสารต่างๆ ในกระดาษให้กรอกเป็นแผ่นๆ เปลี่ยนมาใช้ Google Forms แชร์ง่าย เก็บข้อมูลสะดวก ลดการใช้กระดาษได้มากโข

14. เลิกหยิบ amenity kit พวกแชมพู ครีมอาบน้ำ แปรงสีฟัน ที่จัดไว้ตามโรงแรม อย่างน้อยก็ช่วยลดการสร้างขยะขวดจิ๋วๆ ได้บ้าง และทุกการเดินทาง ให้พกอุปกรณ์แบบรีฟิลของตัวเองไป (โดยไม่ต้องซื้อแบบ travel size ใหม่ทุกครั้ง) ไม่หนักกระเป๋าเท่าไหร่หรอก  

15. ใช้แผ่นผ้าฝ้ายสำหรับเช็ดเครื่องสำอาง ใช้คู่กับน้ำมันมะพร้าว เสร็จแล้วก็ซักกับสบู่ แทนการใช้สำลี ไม่สร้างขยะ และปลอดภัยจากสารฟอกและใยสังเคราะห์จากสำลีบางประเภทด้วยนะ

16. เลือกซื้อปากกาที่รีฟิลไส้ได้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องเพิ่มขยะใหม่ทั้งด้าม 

17. เลือกซื้อข้าวของที่ทนทาน แม้ราคาจะสูงกว่า แต่อายุการใช้งานนานกว่าเยอะ

18. เมินถ้วยซอสพลาสติกในร้านฟาสต์ฟู้ดด้วยการบีบซอสลงจานแค่พออร่อย ไม่พอค่อยเดินไปเติมใหม่

19. ถ้าซื้อผัก ผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตแบบต้องชั่งแปะบาร์โค้ดราคา ถ้าซื้อผลเดียวก็แปะบาร์โค้ดที่ผลไม้ไปเลย ไม่ต้องใส่ถุงให้เปลืองใช่เหตุ

หมวดใช้ซ้ำ ใช้คุ้ม

20. กระดาษเหลือใช้มาห่อปกหนังสือแทนปกพลาสติกได้แบบไม่เปลืองทั้งสตางค์ทั้งทรัพยากร

21. หลังใบเสร็จแผ่นจิ๋วๆ มาเย็บรวมกันเป็นกระดาษโน้ตได้ดีเลยนะ

22. ดินสอหรือดินสอสีที่ใช้จนสั้นแต่ยังไม่ถึงกับกุด ลองหาด้ามปากกาไม่ใช้แล้วมาต่อแล้วใช้กระดาษหรือเทปพัน ก็ช่วยให้จับถนัดมือและยังใช้ต่อได้อีกหน่อยนะ

23. แค่พกผ้าเช็ดหน้าให้ชิน ก็ลดการใช้กระดาษเช็ดมือได้วันละหลายแผ่น

24. นอกจากแก้วเก็บความเย็นจะใช้ดื่มชา กาแฟได้เย็นนานแล้ว ยังเป็นแก้วใส่ไอศกรีมที่ละลายช้ากว่าถ้วยไอติมปกติ ใครพกอยู่แล้วอย่าลืมลองเอาสูตรนี้ไปใช้

25. หูหิ้วกาแฟเทคอะเวย์บางร้านหน้าตาน่ารัก เอามาใส่กระถางต้นไม้จิ๋วๆ ถือเข้าออกรับแดดได้ง่ายๆ และเพิ่มอายุการใช้งานของมันให้คุ้มค่าขึ้น

26. กระเช้าปีใหม่ เอามาปลูกต้นไม้รากอากาศสวยเชียว

27. beeswax wrap เป็นอีกตัวเลือกที่ลดการใช้ plastic wrap ที่น่ารัก จะห่อผักหั่นแล้วเข้าตู้เย็น คลุมชามหมักไก่ ปิดแก้วกันแมลงตอม หรือห่ออาหารกลางวันไปนอกบ้านก็ได้หมด สำคัญคือล้างใช้ซ้ำได้ จะทำใช้เองหรืออุดหนุนคนที่ทำอยู่ก็ได้เหมือนกัน

28. silicone wrap ก็ชวนใช้ เพราะยืดหยุ่นและอายุการใช้งานนาน ใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ หากวิเคราะห์แล้วว่าเราน่าจะได้ใช้บ่อยๆ

29. ขวดพริกไทยพร้อมหัวบดที่เขียนตัวโตว่าเติมไม่ได้ แต่เมื่อใช้หมดแล้วให้เอาไปแช่น้ำร้อนแล้วออกแรงดึงแบบไม่ต้องหมุน ก็สามารถเติมเม็ดพริกไทยและใช้บดซ้ำได้อีกหลายรอบเลย

30. ขวดแก้วใบโตคว่ำลงดินติดๆ กันเป็นรั้วแปลงผักที่ทั้งสวยทั้งฟังก์ชั่น

31. ยกขวดพร้อมฝาที่ล้างสะอาดให้ร้านกาแฟเจ้าประจำ ใครสั่งแบบแยกน้ำแข็งกลับบ้านให้ใส่กาแฟในขวดรียูสแทนถุงพลาสติก

32. ขวดแยม ขวดกาแฟ ขวดเครื่องปรุงในบ้าน เอามาล้างให้สะอาด กลายเป็นภาชนะรียูสชั้นดีและอายุยืน

33. เอาขวดรังนกใบจิ๋วใส่น้ำปลาพริกปิดฝาเก็บตู้ใส่ตู้เย็น พกไปทานนอกบ้านได้แบบไม่ต้องกลัวหก 

34. หรือจะเก็บไว้ใส่เครื่องปรุงจิ๋วๆ หรือผักชิ้นเล็กๆ พกพาหรือไว้อิ่มมื้อถัดไปก็ได้

35. สายบุญชอบตักบาตรบอกลาถุงพลาสติกจัดชุดได้เลย จะเอาของมามัดรวมกันด้วยเชือกเพื่อให้ตักบาตรได้ง่าย หรือจะนำถุงกระดาษรียูสมาใช้ ก็ช่วยลดภาระของโลกและภาระของพระสงฆ์ในการจัดการขยะไปได้ด้วย นับว่าได้บุญสองเท่าก็ได้นะ เพราะอย่างไรก็เป็นบุญให้โลก

36. ล้างหลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งให้สะอาด ผึ่งแห้ง แล้วตัดเป็นชิ้นจิ๋วยัดไส้หมอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ป้องกันแผลกดทับ

37. แกะกล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้แบบ UHT แล้วล้างให้สะอาด ผึ่งแห้ง นำไปบริจาคเพื่อสร้างหลังคาเขียว

38. อะไรที่มีเหลือใช้ เก็บรวบรวมไปบริจาคให้จุดที่ต้องการ จะเป็นการส่งถุงผ้าให้โรงพยาบาลไปใส่ยาให้คนไข้ คัดแยกบราสภาพดีส่งให้เรือนจำหญิง หรือเลือกเสื้อผ้าสะอาดสะอ้านมอบให้มูลนิธิเพื่อนำไปหารายได้ ฯลฯ

หมวดทนแทนด้วยธรรมชาติ

39. ใช้ใยบวบแทนฟองน้ำสังเคราะห์ล้างจาน สัมผัสนุ่มมือแถมย่อยสลายได้ 

40. ทำสบู่ธรรมชาติปลอดเคมีไว้ใช้เอง ลดการปล่อยสารตกค้างสู่สิ่งแวดล้อม ได้ผิวนุ่มสวย ราคาถูกกว่าซื้อหา แบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้ แถมยังลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้เพียบ

41. ลดการปล่อยเคมีสู่แหล่งน้ำอีกนิด ด้วยการใช้น้ำส้มสายชูแทนน้ำยาปรับผ้านุ่ม กรดบางๆ ช่วยให้เส้นใยฟูขึ้น แต่ไม่ทิ้งสารตกค้าง

42. เริ่มปลูกผักกระถางเล็กๆ สู่แปลงเล็กๆ กินเอง นอกจากได้ผักอร่อยปลอดภัยจากสารเคมีไม่รู้ที่มา ยังลดทั้งการขนส่ง ลดบรรจุภัณฑ์ และลดขั้นตอนยุ่งยากมากมายไปได้เยอะ

43. ตอนเพาะกล้าก็ไม่ต้องใช้ถุงเพาะสำเร็จรูป ใบไม้ใบโตก็ม้วนเป็นกระถางจิ๋วได้ แถมย่อยสลายได้โดยไม่ต้องกังวล

หมวดนักประดิษฐ์-คิดใหม่ทำใหม่

44. ผ่าแกลลอนตามรอยต่อแนวยาว เหลือส่วนก้นแกลลอนไว้ กลายเป็นกระเป๋าปิดเปิดได้สำหรับใส่ของที่ต้องการกันกระแทก 

45. ตัดขวดโตๆ หรือแกลลอนให้กลายเป็นกระถางปลูกต้นไม้ อย่าลืมเจาะรูให้น้ำระบายได้ดี

46. ห่อของขวัญให้น่ารักด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หนังสือการ์ตูน หรือกระดาษแมกกาซีนสีสวยๆ ไม่ต้องใช้กระดาษห่อของขวัญเลย 

47. ไม่ใช่แค่ห่ออย่างเดียว กระดาษสีสวยพวกนี้ก็ตัดเป็นโบประดับได้ด้วยเหมือนกัน

48. เปลี่ยนกระดาษซองจดหมายสีน้ำตาลให้คิวท์ด้วยธงราวปาร์ตี้ที่ประดิษฐ์ตกแต่งได้ง่ายๆ แถมน่ารัก

49. หรือจะเปลี่ยนซองเอกสารใช้แล้วแต่ยังแข็งแรงทนทาน ให้กลายเป็นถุงแค่เพิ่มหูหิ้วให้ถือง่ายขึ้น

50. คอฟฟี่เบรกงานประชุม แทนที่จะใส่กล่องกระดาษ กล่องโฟม และแก้วน้ำ ขวดน้ำพลาสติกทิ้งง่ายๆ ก็ใช้เป็นจานใบตอง ภาชนะรักษ์โลกแทน ดูดี น่าถ่ายรูป และได้ลดการสร้างขยะจำนวนไม่น้อยในหนึ่งประชุม

51. แก้วกาแฟแบบร้อนพร้อมฝา ได้มาแล้วอยากใช้ให้คุ้ม ก็เปลี่ยนเป็นกระปุกออมสินมินิด้วยการเจาะรูที่ฝา ใครจะรู้ นี่อาจเป็นจุดซ่อนเงินฉุกเฉินที่สมาชิกในบ้านคิดไม่ถึงก็ได้

52. พลิกมุมมองง่ายๆ แค่คว่ำกล่องใส่อาหารแล้ววางเค้กที่ฝาแทน กลายเป็นกล่องใส่เค้กแบบไม่ต้องเปลืองขยะเพิ่ม 

53. จัดการขยะเศษอาหารด้วยการหมักปุ๋ย หากมีพื้นที่เล็กๆ ให้เลือกวิธี green cone ฝังดิน แต่ถ้าพื้นที่จำกัดในคอนโดเล็กๆ กล่องหมักขยะเล็กๆ ก็ช่วยย่อยขยะเศษอาหารประจำวันให้ไม่ไปปนเปื้อนขยะทั่วไปที่จะจัดเก็บและนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น

หมวดสื่อสาร-ส่งต่อ

54. บอกพ่อค้าแม่ขายให้เข้าใจว่ากำลังพยายามลดใช้พลาสติก เวลาพกถุงผ้า แก้วน้ำ หรือเถาปิ่นโต นอกจากได้รอยยิ้มร่วมด้วยช่วยกัน เหล่าพ่อค้าแม่ขายจะได้บอกต่อ ขยายผลไปยังลูกค้าคนอื่นๆ ด้วย

55. หากในออฟฟิศหรือที่บ้านมีชาวต่างชาติ อย่าลืมเขียนกำกับถังแยกขยะเป็นภาษาต่างๆ นอกจากภาษาอังกฤษ อาจมีภาษาพม่า หรือภาษาอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้การร่วมอุดมกรีนไม่ถูกแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติและภาษา

56. ขยายฐานอุดมกรีนด้วยการมอบถุงผ้าเป็นของขวัญให้เพื่อนรอบตัวที่ยังไม่มีถุงผ้าเป็นของตัวเอง เพิ่มแรงคนพกถุงมากขึ้นอีกหลายหน่วย

57. หรือจะแจกหลอดพร้อมแปรงล้างให้เพื่อนร่วมงาน เพื่อนลูกๆ ที่โรงเรียน ฯลฯ ก็ได้เหมือนกัน

58. เด็กคือกลุ่มที่เราควรปลูกฝังไอเดียนี้ที่สุด เริ่มจากเด็กๆ ในบ้าน ค่อยๆ สอนให้เข้าใจว่าเพราะอะไรเราต้องช่วยกันลดขยะ

59. ของขวัญเป็นอีกวิธีที่สื่อสารแนวคิดนี้ได้ง่ายๆ แทนที่จะให้ของขวัญในโอกาสต่างๆ เป็นของทั่วๆ ไป เปลี่ยนเป็นอุปกรณ์รักษ์โลกที่ใครคนนั้นยังไม่มี ก็เป็นการจุดประกายที่ดีให้เริ่มต้น

60. ง่ายกว่านั้น ลองหยิบถุงผ้า หรือชวนเพื่อนๆ ที่น่าจะมีถุงผ้าคนละหลายๆ ใบ เอามาวางไว้ในออฟฟิศในจุดที่เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เตรียมมาหยิบไปใช้ได้ง่ายๆ

61. หรือจะส่งมาบริจาคที่ตลาด Greenery Market ก็ได้

62. หรือแม้แค่เราทำซ้ำทุกวัน คนรอบตัวก็เริ่มเปลี่ยนมากรีนเหมือนกันให้เห็นอยู่หลายกรณี

ภาพถ่าย: ขอบคุณภาพถ่ายจากสมาชิกกรุ๊ป Greenery Challenge