Greenery Journey ในครั้งนี้ Greenery. และ WWF Thailand ได้พาทุกคนมาเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมงอย่างรับผิดชอบ จากวิทยากรสุดพิเศษ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้ทำธุรกิจร้านปลาออร์แกนิก ที่ส่งเสริมวิถีประมงพื้นบ้านและส่งมอบอาหารทะเลออร์แกนิกให้แก่คนเมือง ในราคาเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ร่วมด้วย อุดมศักดิ์ ปาติยเสวี นักวิจัยอิสระ ด้านการจัดการประมง ที่มาชวนให้ทุกคนได้ตระหนักถึงที่มาของอาหารทะเล ว่าส่งผลต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและชุมชนอย่างไร
เปิดกิจกรรมแรกด้วย เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. ได้กล่าวต้อนรับเพื่อน ๆ ชาวกรีนอย่างอบอุ่น พร้อมเล่าถึงความสำคัญของกิจกรรมนี้ ว่าอยากชวนทุกคนลุกขึ้นมาใช้ชีวิตที่ยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการมาเจอกับผู้ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนโดยตรง รวมถึงตั้งใจชวนให้ทุกคนได้ตระหนักและเปลี่ยนแปลงการบริโภคให้ยั่งยืนไปด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายของ Greenery. ที่นำเสนอเรื่องราว Eat Good, Live Green และ Clean Power
ดร.สุภาภรณ์ หรือคุณนุช ได้เริ่มต้นพาเพื่อนร่วมกรีนไปรู้จักท้องทะเลมากขึ้น ด้วยข้อเท็จจริงของทรัพยากรประมง ว่าเป็นทรัพยากรที่ต้องใช้ร่วมกัน (common pool resources) โดยการใช้ทรัพยากรของผู้ใช้คนหนึ่งมีผลกระทบกับผู้ใช้คนอื่น ๆ ทำให้เกิด free rider* ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ถือว่าเป็นสมบัติสาธารณะ อีกทั้งยังเป็นทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ แต่รู้ปริมาณที่แน่นอนไม่ได้ และเกี่ยวโยงกันหลายระบบนิเวศน์ ฉะนั้นการดูแลทรัพยากรประมง การบริหารจัดการของรัฐที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องจำเป็น เป็นต้นว่า รวมศูนย์ หรือ กระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม และประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่กับการใช้วิธีการเปลี่ยนทัศนคติ
*free rider – ผู้ที่ต้องการผลประโยชน์จากผู้อื่น โดยไม่ต้องการเสียอะไรเลย
มากกว่านั้นคุณนุช ยังให้พวกเราในวงสนทนาได้ลองกูเกิล เสิร์ช คำว่า “ลูกปลาทูตากแห้ง” ก่อนจะพาไปรู้ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภค ว่าการที่เรากินปลาตัวเล็ก ๆ นั่นอาจกำลังกินปลาที่มีมูลค่ามากในอนาคต และกำลังตัดวงจรชีวิตปลาที่สามารถออกลูกหลานในอนาคต รวมถึงเป็นการทำลายวิถีการทำประมงของชาวประมงอวนลอยปลาทูพื้นบ้านอีกด้วย
“วิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทะเล ต้องใช้วิธีการป้องกันมากกว่าการเยียวยา การทำประมงอย่างเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติ ทะเลจะไม่มีโอกาสฟื้นตัว และก็ทำให้สัตว์น้ำหายากหลายชนิดสูญพันธุ์ ทั้งที่ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งของประเทศมีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประกอบกับการมีชายฝั่งทะเลที่ทอดยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร ก็ส่งผลให้ชนิดของปลาในทะเลก็มีความหลากหลาย ฉะนั้นหากเรามีการจัดการที่ดี ทะเลไทยเรามีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว เพียงแค่ทำประมงอย่างยั่งยืนและไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน ทะเลก็ฟื้นตัวได้แล้ว”
หากวันที่ปะการังไม่สบาย…และเริ่มตายในที่สุด สัตว์น้ำบริเวณนั้นก็จะย้ายหายไป หรือบางตัวก็ไม่มีที่สืบพันธ์ อันนี้เป็นวงจรที่สะท้อนให้เห็นว่าจากสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างผลกระทบกับทรัพยากรที่มาพึ่งพามันค่อนข้างเยอะ
หลังจากได้เรียนรู้เรื่องทรัพยากรประมง คุณเอก-อุดมศักดิ์ ปาติยเสวี นักวิจัยอิสระ ได้พาพวกเราชาวกรีน ไปรู้จักกับระบบนิเวศทางทะเลเบื้องต้น ในเรื่องของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ภายใต้คำจำกัดความของชาวประมง แล้วก็ของการทำการประมงพื้นบ้าน
“นิเวศชายฝั่ง เริ่มจาก ปากแม่น้ำ โดยระบบนิเวศตรงปากแม่น้ำเป็นระบบนิเวศที่มีความพิเศษตรง ตรงที่มีน้ำ 3 แบบ คือ น้ำจืด น้ำเค็มแล้วก็ผสมกันเป็นน้ำกร่อย เพราะฉะนั้นสัตว์น้ำที่อยู่ตรงนี้ก็จะมีความหลากหลาย และลักษณะพิเศษของปากแม่น้ำ คือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และก็เป็นแหล่งที่มีธาตุอาหารจากบนบกลงมาแต่ในขณะเดียวกัน อะไรต่าง ๆ ที่เราทำบนบก ไม่ว่าจะเป็นสารพิษจากการปลูกพืชหรือขยะต่าง ๆ ก็ลงมาด้วยเหมือนกัน และระบบนิเวศถัดมาก็คือเป็นป่าชายเลน เกิดอยู่บนดินตะกอนปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง ระบบนิเวศก็จะพิเศษตรงที่มีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เฉพาะถิ่นของป่าชายเลน เช่นต้นโกงกาง ที่สามารถจะทนน้ำเค็มได้ หรือต้นแสม ตรงนี้จะมีสัตว์หน้าดิน อย่างเช่น ปลาตีน”
“ถัดมาเป็นแนวปะการัง แหล่งสำคัญมากสำหรับทรัพยากรทางทะเล และมีความหลากหลายของทรัพยากรเยอะที่สุด อีกทั้งแนวปะการังก็ยังเป็นตัวกั้นคลื่นลมที่จะมาปะทะกับแนวชายฝั่ง แล้วก็เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหลาย ๆ ชนิด โดยในปะการังมีสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันภายในเนื้อเยื่อของปะการัง แต่หากวันที่ปะการังไม่สบาย ก็จะขับสาหร่ายออกไปจากตัว และเริ่มตายในที่สุด จากนั้นสัตว์น้ำบริเวณนั้นก็จะย้ายหายไป หรือบางตัวก็ไม่มีที่สืบพันธ์ อันนี้เป็นวงจรที่สะท้อนให้เห็นว่าจากสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นสร้างผลกระทบกับทรัพยากรที่มาพึ่งพามันค่อนข้างเยอะ”
นอกจากนี้คุณเอกยังพาไปรู้จักระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล หาดทราย ไปจนถึงบริเวณทะเลเปิด หน้าดินชายฝั่งทะเล ผิวน้ำ และกลางน้ำ ก่อนจะให้ผู้ร่วมกิจกรรมแบ่งกลุ่มกัน เพื่อเล่นเกมเกี่ยวกับระบบนิเวศ โดยให้แต่ละกลุ่มจับคู่สติกเกอร์ที่ชื่อปลา ว่าปลาแต่ละตัวอยู่ในระบบนิเวศไหน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานและได้เก็บเกี่ยวความรู้เรื่องแหล่งที่อยู่ของบรรดาสัตว์น้ำกันไปแบบเต็มอิ่ม
จากนั้นคุณนุช ได้แชร์เพิ่มเติมว่าการทำประมงของไทยที่เป็นการทำประมงขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำ เช่น อวนลาก จะจับปลาได้หลายชนิดและหลายขนาดในการทำประมงแต่ละครั้ง พร้อมชุดตัวเลขที่น่าตกตะลึงของอวนลากที่ได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ลง โดยจากอัตราการลากอวน ใน 1 ชั่วโมง ของ พ.ศ. 2504 ได้ปลาเกือบ 300 กิโลกรัม, พ.ศ. 2525 ประมาณ 49 กิโลกรัม, พ.ศ. 2549 ประมาณ 15 กิโลกรัม
มากกว่านั้นมีเพียงร้อยละ 30 ที่ใช้ในการบริโภคของคน และมีปลาเป็ดสำหรับทำอาหารสัตว์ ถึงร้อยละ 70 และอีกร้อยละ 30-50 ของปลาเป็ดทั้งหมดเป็นสัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน หรือปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงแต่มีขนาดเล็กเกินไป เช่น ลูกปลาอินทรีย์ ลูกปลาทู ที่ติดมากับเครื่องมือประมง นับว่าเป็นการทำลายทรัพยากรประมง และยังทำลายห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ
ที่สำคัญการได้ปลาในจำนวนมาก บวกกับปัญหาของระบบการจัดการ supply chain ที่ขาดคุณภาพ ทำให้เกิดการอาศัยตัวช่วยอย่างฟอร์มาลีนหรือสารอื่น ๆ เพื่อคงความสดไว้อยู่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งการต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอด ยังส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง
ในขณะที่ผลผลิตจากเรือประมงขนาดเล็กจะเป็นการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่เหมาะสม เช่น จับปูม้าก็ใช้อวนลอยปู จับกุ้งก็จะใช้อวนลอยกุ้งสามชั้น โดยอาจจะมีสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ติดมาบ้าง แต่ก็จะถูกนำมาเป็นอาหารสำหรับสมาชิกในครัวเรือนได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นการทำประมงแบบรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และอาหารทะเลเหล่านี้ก็ถูกส่งมาจำหน่ายที่ร้านปลาออร์แกนิก สถานที่พวกเราชาวกรีนกำลังทำกิจกรรมอยู่ในวันนี้
เราเชื่อมั่นในทะเลไทยว่าฟื้นฟูได้ เชื่อมั่นในพี่น้องชาวประมงที่ทำประมงอย่างอนุรักษ์ และเราเชื่อมั่นในผู้บริโภคว่าผู้บริโภคเป็นคนที่เป็นกำลังสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
คุณนุชได้เล่าเสริมถึงการทำธุรกิจร้านปลาออร์แกนิก เพิ่มเติมว่า “เราทำธุรกิจร้านปลาออร์แกนิกขึ้นมาเพื่อส่งเสริมวิถีประมงพื้นบ้านและส่งมอบอาหารทะเลออร์แกนิกให้แก่คนเมือง ในราคาที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จนวันนี้เป็นเวลา 10 ปี แล้ว ซึ่งแรก ๆ เราก็คิดว่าจะทำกับชาวประมงอย่างเดียว แต่พอถึงที่สุดต้องมาเปิดร้านเอง เพราะเราพบว่าไม่มีใครที่จะเอาปลาไปขายอย่างที่เราไว้ใจได้ หรือถ้าเราส่งเข้าห้างปุ๊บ ปลาออร์แกนิกเรา อาจจะกลายเป็นไม่ออร์แกนิก คุณภาพจะไม่ได้ เพราะถูกเปลี่ยนมือ ฉะนั้นการทำอะไรที่เชื่อมต่อกันเป็นเรื่องสำคัญ และเราเห็นเลยว่าไม่มีใครทำอะไรเองได้ทั้งหมด เช่น ถึงชุมชนเองจะทำได้ทำดี หรืออนุรักษ์ทะเลแทบตาย แต่ถ้าผู้บริโภคไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ก็ขยับลำบาก”
“เราเข้ามาทำงานตรงนี้ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมแท้ ๆ ให้เห็นว่าธุรกิจเพื่อสังคมที่มีหัวใจเป็นไปได้ ทำยังไงธุรกิจที่จะเป็นเพื่อนเป็นมิตรดีต่อผู้ผลิตรายย่อย และเราก็ทำมาเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ เพราะเราเชื่อมั่นในทะเลไทยว่าฟื้นฟูได้ เชื่อมั่นในพี่น้องชาวประมงที่ทำประมงอย่างอนุรักษ์ และเราเชื่อมั่นในผู้บริโภคว่าผู้บริโภคเป็นคนที่เป็นกำลังสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการกิน 3 มื้อ เราจะหยิบอะไรใส่ปาก เรากินเพื่อตัวเอง สุขภาพที่ดี กินเพื่อสิ่งแวดล้อมและเรากินเพื่อผู้อื่นก็คือเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อย”
และก็มาถึงช่วงกิจกรรมไฮไลท์ คือการชิมเมนูอาหารทะเลปลอดภัยจากชาวประมงที่ทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จับในแหล่งน้ำสะอาด ใช้วิธีที่เหมาะสม และไม่ใส่สารเคมี ที่ทางร้านปลาออร์แกนิกได้จัดเตรียมไว้ นั่นคือเมนูปิ้ง นึ่ง ย่าง ที่มีทั้งกุ้งแชบ๊วย ปู ปลาช่อนทะเล ปลาหมึก เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ด พ่วงด้วยอีกเมนูคือ ส้มตำกุ้งดอง โดยผลผลิตทุกอย่างในจานที่สะท้อนผ่านเนื้อสัมผัสและรสชาติธรรมชาติของวัตถุดิบ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรามั่นใจได้เลยว่า สด สะอาด ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพของเราแน่ ๆ
สุดท้ายก่อนจบทริป ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมก็ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อ ที่บอกได้เลยว่าถึงทุกคนจะมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ล้วนพกความกรีนมาในหัวใจกันแบบเต็มร้อย และได้ร่วมแชร์ความรู้สึกของการได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ อย่าง คุณแดง ผู้ทำงานอยู่ในแวดวงของวาฬไทย ได้แชร์ว่า จะบอกต่อเรื่องราววิถีการใช้ชีวิตและทรัพยากรในทะเลที่ยั่งยืนให้มากกว่าเดิม, คุณมัย บอกว่าสงสารตัวเองที่อยู่ในเมืองใหญ่ ไม่มีอาหารทะเลดี ๆ กิน ทั้งถูกโกงราคา กินสารเคมีโดยไม่รู้ตัว แต่ว่าวันนี้รู้แล้วว่าจะหาแหล่งอาหารทะเลดี ๆ ได้ที่ไหน
คุณระเบียบ ผู้ทำธุรกิจบ่อปลา บอกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับประเทศ และเราคือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนที่ตัวเอง และให้ความรู้กับคนรอบข้าง, คุณหนูดี ได้บอกว่า minor fish are friend (not food) ปลาตัวเล็กเป็นเพื่อนไม่ใช่อาหาร, คุณแพง ผู้ทำงานด้านการสื่อสาร บอกว่าจะช่วยสื่อสารเรื่องเกี่ยวกับอาหารทะเลยั่งยืนให้ไปไปถึงคนวงกว้างมากขึ้น และ คุณมะเป้ง อีกหนึ่งผู้ทำงานขับเคลื่อนเรื่องอาหารยั่งยืน แชร์เพิ่มเติมว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเหมือนงานกลุ่ม ส่วนตัวอยากขอบคุณและให้กำลังใจพี่นุชและอาจารย์เอกที่ช่วยแบกกลุ่มใหญ่ ๆ ของเราเอาไว้
ส่วนคุณเพ่เพ่ ร่วมแชร์ว่า กิจกรรมในวันนี้ ทำให้อยากเป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพ ในการช่วยสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมธุรกิจพื้นบ้านของชาวประมง รวมถึงเพื่อนร่วมกรีนอีกหลายคนที่แชร์ว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น พร้อมจะกลับไปบอกต่อเรื่องความยั่งยืนต่อไป
สำหรับกิจกรรมครั้งต่อไป Greenery. และ WWF Thailand จะชวนไปเรียนรู้การบริโภคอย่างยั่งยืนที่คนตัวเล็ก ๆ แบบเราจะช่วยซัพพอร์ตได้ ติดตามกันได้เร็ว ๆ นี้ ที่เพจ Greenery.
ภาพบรรยากาศ
Greenery Journey ตอน…ประมงพื้นบ้าน อาหารทะเลยั่งยืน ผู้บริโภคใจฟู