ในยุคที่การรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเรากลายเป็นสิ่งสำคัญ การปลูกผักและปรุงอาหารกินเอง จึงนับเป็นทางเลือกที่ทั้งสะดวกและเป็นมิตรกับโลก…

วันนี้ Greenery. และ WWF Thailand ชวนเพื่อน ๆ ทุกคนมาร่วมเปิดโลกใหม่ของการปลูกพืชที่ทั้งง่ายและมีประโยชน์ ใน Greenery Journey ตอน…Microgreen Magic: ปลูกผักจิ๋ว ประโยชน์สุดแจ๋ว ที่ฟาร์มลุงรีย์ (Uncleree Farm) แนะนำการปลูก Microgreen พืชที่โตเร็วภายใน 7 วัน โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี พร้อมวิทยากรสุดพิเศษ เชฟพลอย-ฐาติกานต์ ตัณฑจินนะ ที่จะมาแชร์เมนูน้ำสลัดที่ทั้งดีต่อเรา ดีต่อสุขภาพอย่างยั่งยืนมาฝากกันในครั้งนี้

ก่อนเริ่มกิจกรรม ขอแนะนำวิทยากรคนสำคัญใน Greenery Journey ครั้งนี้ ก่อนสักนิด… ลุงรีย์ หนึ่งในผู้สร้างแรงบันดาลใจในวงการเกษตรเมือง ที่เริ่มต้นจากที่จอดรถช่องเดียว และเลี้ยงไส้เดือน 10 กระบะ เพื่อทุ่มเทในการจัดการขยะอาหาร (Food Waste) ก่อนจะหันมาปลูกไมโครกรีนในพื้นที่และแสงที่จำกัด ซึ่งเป็นผักแรกที่ฟาร์มปลูก และขยายการเลี้ยงไส้เดือนเพิ่มอีกหลายร้อยหลายพันกระบะในปีต่อ ๆ มา

ตามด้วยการเพาะเห็ด ซึ่งเป็นผลตอบแทนจากการดูแลดินอย่างดี และเป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจในการเก็บเกี่ยวและจำหน่าย เห็ดจึงไม่ใช่แค่ผลิตผล แต่ยังเป็นรางวัลที่เกิดจากความรักและความทุ่มเทในการเกษตรที่ยั่งยืน จนวันนี้ฟาร์มลุงรีย์เดินทางก้าวสู่ขวบปีที่ 11 ร่วมกับทีมงานอีกหลายชีวิตที่เชื่อในเรื่องการบริโภคที่ยั่งยืนเหมือนกัน และยังคงเพาะผักจิ๋วมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อที่ว่าไมโครกรีน เป็นคำตอบสำหรับการเกษตรในเมืองใหญ่เสมอมา

มาถึงอีกหนึ่งวิทยากรคนสำคัญ เชฟพลอย ฐาติกานต์ ตัณฑจินนะ เป็นผู้ร่วมแข่งขันรายการ TopChef Thailand Season 2 และเจ้าของแบรนด์ Whippin’licious by Chef Ploy และ pP Baking Studio สตูดิโอสอนทำขนมสุดน่ารักใจกลางสยาม แต่ก่อนเป็นเชฟขนม เธอเคยเป็นนักกีฬาและมีความสนใจในเรื่องสุขภาพมาตลอด ด้วยพื้นฐานนี้ เชฟพลอยจึงมุ่งมั่นหาวิธีการทำขนมที่ไม่เพียงอร่อย แต่ต้องดีต่อสุขภาพ นั่นคือ ขนมปังโปรตีนสูง ที่มีโปรตีนถึง 17 กรัม ต่อแผ่น ซึ่งแรงบันดาลใจมาจากการที่ไม่อยากให้คุณพ่อขาดโปรตีน นอกจากนี้ยังมีเมนูน้ำสลัดจากเต้าหู้ ที่เธอจะนำมาปรุงให้ชิมกันสด ๆ ในกิจกรรมวันนี้ด้วย

สำหรับกิจกรรมแรก ทีมของฟาร์มลุงรีย์พาพวกเราชาวกรีนไปเรียนรู้จักผักจิ๋วแต่แจ๋ว “Microgreen” กันแบบลงลึกสุด ๆ โดยอธิบายว่าไมโครกรีน คือต้นกล้าหรือใบอ่อนของพืช ผัก สมุนไพร ที่เพาะจนมีใบเลี้ยง 2-3 ใบ (ใบที่ 4 จะเริ่มขม) ซึ่งความพิเศษอยู่ตรงที่อัดแน่นไปด้วยสารอาหารมากกว่าผักโตเต็มที่ โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน (เจอในผักสีส้ม) และแอนโทไซยานิน (อยู่ในผักสีม่วงและสีแดง) ซึ่งต้นอ่อนมีสารพวกนี้มากกว่าผักโตเต็มที่ถึง 4 เท่า นั่นเพราะต้นไม้อ่อนจะสะสมโปรตีนและสารสำคัญเพื่อเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีสารอาหารมากกว่าต้นที่โตเต็มที่

ส่วนทริคเล็ก ๆ ในการซื้อเมล็ดเพื่อเพาะปลูก อย่างแรก นอกจากดูวันหมดอายุแล้ว ฟาร์มลุงรีย์บอกว่าควรเลือกจากร้านที่เก็บเมล็ดห่างจากแสงแดดโดยตรง เพราะแสงจะทำให้แป้งในเมล็ดเปลี่ยนเป็นพลังงานได้เร็ว ทำให้มีพลังงานพอสำหรับการงอกเมื่อเรานำมาแช่น้ำ และการเลือกเมล็ดควรดูสายพันธุ์ด้วย เช่น เมล็ดทานตะวัน เราต้องดูให้ดีว่ามาเป็นทานตะวันสำหรับอะไร โดยควรเลือกเมล็ดทานตะวันสำหรับงอก เพราะจะอร่อยกว่าทานตะวันดอก

หลังจากได้รู้จักผักจิ๋วกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาของการลงมือปลูก! ซึ่งต้องแอบสปอยก่อนเลยว่า ไมโครกรีนปลูกง่ายสุด ๆ แถมใช้เวลาเพียง 7-14 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งใช้วัสดุปลูกเพียง ขุยมะพร้าว, ขี้เถ้าแกลบ (ช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่างในดิน) และมูลไส้เดือน ผสมกันในสัดส่วน 1:1:1 เท่านั้น

สำหรับเมล็ดที่ฟาร์มลุงรีย์นำมาให้เพื่อน ๆ ผู้ร่วมกรีนได้ทดลองปลูกกัน มี 4 ชนิด ได้แก่ ต้นอ่อนทานตะวัน, ไควาเระหรือต้นอ่อนหัวไชเท้า เป็นพืชที่มีรสชาติซ่า ๆ, โต้วเหมี่ยวหรือต้นอ่อนถั่วลันเตา สามารถเก็บเกี่ยวได้ 2-3 ครั้ง และผักบุ้งจีน ซึ่งระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่จะได้ผักบุ้งที่ดี กรอบ ไม่เหนียว คือภายใน 28 วัน โดยมีความยาวลำต้นประมาณ 30 ซม. แต่สำหรับไมโครกรีน สามารถเก็บเกี่ยวต้นอ่อนผักบุ้งตอน 14 วัน ก็สามารถกินได้เช่นกัน

ขั้นตอนการปลูกไมโครกรีน เริ่มด้วย แช่เมล็ดไว้ในน้ำ ประมาณ 8-12 ชั่วโมง พอมีรากงอกเล็ก ๆ ก็ถึงเวลาเอาไปลงวัสดุปลูก ซึ่งควรโรยเมล็ดให้ใกล้ชิดกันมากที่สุด เพื่อป้องกันการโตเบียดกัน เมื่อโรยเสร็จ ใช้ละอองน้ำ (ฟ็อกกี้) รดลงบนเมล็ดเบา ๆ แล้วปิดคลุมด้วยภาชนะ โดยภาชนะสามารถเลือกใช้ได้หลายแบบ เช่น กระบะ, กล่องข้าวทัพเพอร์แวร์ หรือกล่องข้าวกระดาษที่เรากำลังได้ทดลองปลูกกันในวันนี้ ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีเช่นกัน เพราะมีฝาปิดสามารถบังแสงได้ดี

ฟาร์มลุงรีย์ยังแนะนำเพิ่มว่า พอกลับไปบ้านต้องหมั่นสังเกตถาดไมโครกรีนทุกวัน และรดน้ำเช้าเย็น จากนั้นประมาณ 4 วัน เมื่อต้นเริ่มเติบโต ค่อย ๆ ปล่อยให้เจอกับอากาศ แต่หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง เพราะจะทำให้ใบเหลืองได้ จากนั้นพอเข้าสู่วันที่ 7 นำออกมารับแสงอ่อน ๆ ช่วงเช้า 2-4 ชั่วโมง จะช่วยให้ใบเขียวสดขึ้น ค่อยทำการเก็บ โดยใช้ใบมีคัตเตอร์คม ๆ ตัด แล้วนำไปแช่น้ำเย็น เสด็จน้ำให้แห้ง เก็บได้ 7-14 วัน (สำหรับกรรไกรใช้ตัดได้เช่นกัน แต่จะได้แผลแบบแรงบิด ซึ่งดูดน้ำได้น้อยกว่าทำให้เก็บได้ไม่นาน)

ก่อนจะจบด่านการเพาะผักจิ๋ว ฟาร์มลุงรีย์แนะนำเพิ่มเติมว่า เมล็ด 1 กิโลกรัม ให้ผลผลิต 8-10 เท่า ซึ่งสำหรับใครที่อยากทำเป็นอาชีพ แนะนำให้ใช้กระบะทรงเตี้ย เพราะตัดง่ายด้วยใบมีดคัตเตอร์ และหลังเพาะแล้ว ไม่ควรเพาะซ้ำ เพราะทำให้เกิดเชื้อราและปัญหาในรอบถัดไป แต่ทั้งนี้สามารถใช้เศษรากไปเลี้ยงไส้เดือนหรือทำปุ๋ยต่อ เพื่อไม่ให้เกิดของเสียและใช้ประโยชน์ให้เต็มที่

ปลูกแล้ว ตัดแล้ว มาต่อกับไฮไลท์ของกิจกรรมครั้งนี้ นั่นก็คือ การชิมสลัดผัก Microgreen สด ๆ กับน้ำสลัดสูตรพิเศษ ที่ทางเชฟพลอยตั้งใจสาธิตการทำน้ำสลัดให้เพื่อน ๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันแบบสดใหม่ เริ่มจาก “น้ำสลัดเสาวรส” ที่ได้จากการนำเสาวรสไปแพริ่งกับขิง ปั่นรวมกับ เกลือหิมาลายัน, เนยถั่วหิมพานต์ (เชฟทำขึ้นเองจากการนำถั่วเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปบดให้ละเอียดจนมีลักษณะเป็นครีมนุ่ม), ผงคามู, น้ำส้มสายชูหมักจากไวน์ขาว, น้ำมันมะพร้าว, น้ำผึ้ง และน้ำหอมดอง โดยสูตรนี้เชฟแนะนำให้เก็บไม่เกิน 5 วัน เพราะอาจแยกชั้นได้ และควรกินทันทีเพื่อซึมซับวิตามินซีได้ดีที่สุด

ต่อด้วย “น้ำสลัดเต้าหู้” สูตรนี้นอกจากเต้าหู้ ก็มีนมถั่วเหลือง, งาปั่น (เชฟนำไปคั่วก่อนประมาณ 30 นาที), น้ำส้มสายชูข้าวหมัก, และซีอิ้วขาว (สามารถหาซื้อแบบออร์แกนิกได้) โดยเชฟแนะนำให้ใส่ของเหลวก่อนแล้วค่อยใส่ของที่หนืด เพื่อปั่นได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้เชฟได้สาธิตทำหอมแดงดอง ด้วยวิธีง่าย ๆ คือผสมน้ำส้มสายชูและน้ำเปล่าในสัดส่วนเท่ากัน (เชฟใช้ 250 มล.) เพิ่มเกลือ 5 กรัม และน้ำตาล 20 กรัม (หรือปรุงตามชอบ) จากนั้นใส่หอมแดงที่จะดองและผิวเลมอน ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติ ที่สำคัญยังเป็นการใช้วัตดุดิบให้ครบทุกส่วน เพราะปกติเราจะกินแค่น้ำของเลมอน (หากใช้ผิวมะกรูดหรือมะนาว ควรเอาออกหลังจากวันถัดไปเพราะอาจทำให้ขมขึ้น) สำหรับเร่งการดองให้เร็วขึ้น เชฟแนะนำต้มน้ำดองให้เดือดแล้วเทลงในผักที่เตรียมไว้ได้เลย

จากนั้นทุกอย่างที่เชฟสาธิต ก็ถูกเสิร์ฟอยู่ตรงหน้าผู้ร่วมกรีนทุกคน พร้อมผักสลัดกองโต และเครื่องเคียง หอมแดงดอง น้ำหอมแดงผสมยูสุ น้ำมันกุยช่าย น้ำมันมะเขือเทศ ที่มาช่วยเพิ่มกิมมิกและรสชาติที่แตกต่าง แถมยังมีดอกไม้กินได้ปลอดสาร เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ถั่วพิสตาชิโอ งาขี้ม่อน ที่ช่วยเพิ่มเทกเจอร์กรุบกรอบ เรียกว่าเป็นหนึ่งมื้อที่ให้สารอาหารครบถ้วน แถมปลอดภัยต่อสุขภาพอีกด้วย

สุดท้ายก่อนกิจกรรมจะจบลง ลุงรีย์ได้ฝากแรงบันดาลใจดี ๆ ว่า “ผมเชื่อว่าทุกคนปลูกผักได้ การปลูกผักไม่ยาก แต่ที่ทำให้ยากคือใจเรา เรามักรีบร้อน ซื้อเมล็ดที่เปอร์เซ็นต์การงอกไม่ดี หรือเก็บเมล็ดผิดที่ เช่น ร้อนหรือเย็นเกินไป หรือทิ้งลืมเมล็ดที่แช่ไว้นานเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าการปลูกผักไม่เพียงให้เราได้กินผักสด แต่ยังฝึกให้เรามีสติวางแผนในการทำความรู้จักกับระยะเวลาเติบโตและการดูแลผัก ผมเชื่อว่าการปลูกผัก แม้จะดูเล็กน้อย แต่จะกลายเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตและเป็นความยั่งยืนที่เรามีติดตัว”

ส่วนเชฟพลอยฝากทิ้งท้ายว่า “การตระหนักในสิ่งที่เรากินเข้าไปสำคัญมาก อย่างการเป็นเชฟของพลอยก็เริ่มต้นจากอยากรู้ว่าส่วนผสมต่าง ๆ มีอะไรบ้าง และน้ำสลัดในวันนี้พลอยก็ตั้งใจมาก ๆ ที่จะให้มีสารอาหารที่ครบ และเป็นวัตถุดิบที่หาซื้อได้ง่าย และวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก ทุกคนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งดีต่อใจดีต่อสุขภาพของเราด้วย”

นอกจากนี้ เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. ชวนเพื่อน ๆ ร่วมแชร์ความรู้สึกดี ๆ ต่อกิจกรรมครั้งนี้ด้วยกัน ซึ่งเราขอเก็บความรู้สึกบางส่วนมาฝาก เริ่มจาก คุณไก่ ผู้ร่วมกรีนที่เดินทางมาจากประเทศลาว แชร์ให้ฟังว่า ไมโครโปรตีนเริ่มนิยมที่ลาวในช่วง 3 ปีหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นต้นอ่อนทานตะวันและผักบุ้ง นี่เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ว่าไมโครกรีนมีหลายชนิด และน้ำสลัดของเชฟพลอยอร่อยมาก กลับไปจะบอกต่อว่าเราสามารถทำอาหารเองได้ ไม่ต้องพึ่งน้ำสลัดสำเร็จรูป

ทางด้านคุณพีช แชร์ความรู้สึกดี ๆ ให้ฟังว่า กิจกรรมนี้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เริ่มต้นปลูกผักเองได้ง่าย ๆ ภายใน 7 วัน ช่วยให้กล้าก้าวไปสู่ขั้นถัดไปและสร้างความยั่งยืนในมื้ออาหารเล็ก ๆ ของเรา ส่วนคุณหมิวบอกว่ากิจกรรมนี้ทำให้เข้าใจทุกขั้นตอนการปลูก ตั้งแต่ดินถึงเมล็ดพันธุ์ และเห็นคุณค่าของการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโลกจากตัวเราเอง เพียงใส่ใจและลงมือทำ

ครูติ๊ก แชร์เพิ่มว่าเคยพาเด็ก ๆ มาที่ฟาร์มลุงรีย์หลายครั้ง และร่วมกิจกรรม Greenery Journey เป็นครั้งที่ 2 การกลับมาครั้งนี้เหมือนรีเช็กความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักและจะนำประสบการณ์เหล่านี้ไปถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วย และ คุณต้า แชร์ว่ากิจกรรมนี้ตอบโจทย์อาชีพของเขาที่เป็นแพทย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยธรรมชาติ และสามารถนำไปแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองที่บ้านได้ง่าย ๆ ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนอาหารเร็วขึ้นและเพิ่มจิตสำนึกในการรักตัวเองและธรรมชาติมากขึ้น

สำหรับเพื่อน ๆ ที่พลาดกิจกรรม Greenery Journey ครั้งนี้ อย่าเพิ่งเสียใจ.. เพราะครั้งหน้า Greenery. และ WWF Thailand จะพาไปสนุกกับการเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนเช่นเคย รอติดตามกันได้ที่เพจ Greenery. แล้วเตรียมตัวรับความรู้ใหม่ ๆ และเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตของเรามีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นได้เลย!

ภาพบรรยากาศ
Greenery Journey ตอน…Microgreen Magic: ปลูกผักจิ๋ว ประโยชน์สุดแจ๋ว