เพื่อน ๆ ที่พลาดกิจกรรม Greenery Journey ตอน…เปิดศึกบอร์ดเกม ‘Waste War’ กับ KongGreenGreen ไม่ต้องเสียใจไป เพราะในบทความนี้เรามีรีวิวบรรยากาศสุดมันส์และความรู้เรื่องการแยกขยะ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมาไว้ให้แล้ว

ครั้งนี้ Greenery. และ WWF Thailand พร้อมแขกรับเชิญพิเศษ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ หรือ ‘KongGreenGreen’ คอนเทนต์ครีเอเตอร์สายสิ่งแวดล้อม ที่รณรงค์เกี่ยวกับการคัดแยกขยะมานานหลายปี ได้พาเพื่อน ๆ เปิดโต๊ะเล่นบอร์ดเกมแยกขยะ ‘Waste War’ ที่ KongGreenGreen และ Qualy ร่วมกันออกแบบและได้รับรางวัลด้านการออกแบบดีเยี่ยม จาก DEmark, Thailand ด้วยกติกาการเล่นที่ทั้งสนุกและได้เรียนรู้การแยกขยะ แถมเอากลับไปใช้จริงในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ก่อนจะเริ่มกิจกรรมสนุก ๆ ตามธรรมเนียม Greenery Journey ก็ไม่พลาดที่จะทำความรู้จักกันในบรรยากาศสุดน่ารัก พร้อมกับ เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. ได้ชวนเพื่อนร่วมกรีนที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ พูดคุยเรื่องความยั่งยืน รวมถึงชวนทุกคนมาร่วมตระหนักและเปลี่ยนแปลงวิธีการบริโภคให้ยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน

จากนั้น ก้องกรีนกรีน อินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อม และผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก “แยกขยะกันเถอะ” (กลุ่มที่สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้แยกขยะอย่างโดดเดี่ยว แต่มีอีกหลายหมื่นคนที่ร่วมกันทำสิ่งนี้) ได้เล่าให้เพื่อน ๆ ฟังว่าความสนใจในการแยกขยะของเขาเริ่มจากการสงสัยว่าขยะที่เราทิ้งไปไหน จนพบว่ามันถูกส่งไปยังบ่อขยะที่ทับถมจนกลายเป็นภูเขาใหญ่ 1,941 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีหลุมที่ได้มาตรฐานเพียง 72 แห่ง

และแน่นอนว่า ไม่ใช่แค่เรื่องการมีหลุมที่ไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น ก้องยังอธิบายเพิ่มว่าหากเรายังผลิตขยะกันเยอะ แล้วไม่ส่งขยะไปจัดการอย่างถูกต้อง จะเกิดมลพิษทางน้ำ อากาศ ไมโครพลาสติก และก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นทุกวัน พร้อมบอกชุดข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนกรุงเทพฯ เสียค่าจัดการขยะเดือนละ 20 บาท ในขณะที่ กทม. ต้องใช้งบจัดการขยะถึงวันละ 20.29 ล้านบาท หรือมากกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสูงกว่างบการศึกษาหรือสาธารณสุข***

“ทำไมเราต้องแยกขยะ ก็เพราะขยะเป็นสิ่งที่เราจัดการได้จากมือเรา ถ้าทิ้งโดยไม่แยกปัญหาก็จะตามมาอีกเพียบ ฉะนั้นหากเราแยกขยะและจัดการให้ถูกต้อง งบที่ใช้จัดการขยะสามารถนำไปใช้ในด้านอื่นได้มากขึ้น

“และอีกเรื่องที่คนมักถามผมว่า ถึงแยกไปเขาก็เทรวมอยู่ดี แต่จริง ๆ จากประสบการณ์ที่เคยไปติดตามดูการทำงานของรถขยะ แม้รถขยะจะรวมขยะทั้งหมด แต่พนักงานจะยังแยกขยะ เช่น เทเศษอาหารออก และแยกขยะรีไซเคิล ซึ่งต้องอธิบายก่อนว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นหน้าที่ของพนักงาน และบางพื้นที่ก็อาจต้องเร่งรีบ ฉะนั้นผมคิดว่าหากเราทำการแยกขยะไว้ก่อน บางทีไม่เสียหายอะไร ทั้งช่วยให้การทำงานของพนักงานสะดวกขึ้น และอาจเป็นค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ให้กับพี่ ๆ เขา และยังเป็นประโยชน์กับโลกของเราด้วย”

ส่วนวิธีการแยกขยะ ก้องแชร์เพิ่มเติมว่าให้แยกขยะเศษอาหารออกมาก่อน เพื่อไม่ให้เลอะจนเน่าเหม็น และเพื่อง่ายต่อการจัดการขยะอื่น ๆ โดยมีวิธีจัดการที่หลากหลาย เช่น นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือแยกขยะรีไซเคิล อย่างเช่น กระป๋องอะลูมิเนียม พลาสติก กล่องนม ด้วยการทำความสะอาด และตากให้แห้ง ก่อนนำไปขายหรือส่งนำไปส่งตามจุดรับขยะรีไซเคิลด้วยตัวเอง ก็จะช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกส่งไปยังบ่อฝังกลบได้

สำหรับขยะพลังงาน หรือ ขยะกำพร้า ที่รีไซเคิลยาก ไม่ว่าจะเป็น ซองขนม ซองรีฟิลต่าง ๆ ถุงแกง สามารถส่งไปเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าหรือปูนซีเมนต์ได้ (สนใจส่งต่อขยะกำพร้า สามารถเข้าไปดูที่เพจ N15 Technology) ไปจนถึง ขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีจุดบริการรับขยะเหล่านี้อยู่หลายแห่ง เช่น สำนักงานเขต กทม. ศูนย์ราชการ และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เพื่อนำไปกำจัดให้ถูกวิธี ด้วยการฝังกลบ หรือบางอย่างนำไปรีไซเคิลต่อได้

นอกจากนี้ ก้องยังแชร์วิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้การแยกขยะของเราเป็นกิจวัตรที่คนทั้งบ้านมีส่วนร่วมไปกับเราได้ “อย่างแรกคืออย่าทำให้บ้านรก อาจเริ่มจากประเมินดูว่าขยะในบ้านหรือในออฟฟิศเรามีปริมาณแค่ไหน แล้วดีไซน์พื้นที่ให้ตอบโจทย์ เช่น หาถังสวย ๆ ที่สามารถวางทับซ้อนกันได้ แล้วทำให้ขยะสะอาด หรือว่าแยกเขาเป็นหมวดเป็นหมู่

ขยะเป็นเรื่องเล็กตอนที่ยังอยู่ในมือเรา แต่จะเป็นเรื่องใหญ่มาก เมื่อไปกองรวมที่ภูเขาขยะ ลดและแยกขยะ ตั้งแต่ตอนที่เรายังจัดการได้ ก่อนที่จะเกินกว่าจะแก้ไข

สองคืออย่าทำให้มันยาก เช่น ทำป้ายน่ารัก ๆ หรือสื่อสารให้คนในบ้านเข้าใจง่าย สามทำให้เขาเห็นคุณค่า อาจจะนำไปขายหรือบริจาค สี่คือ ให้ความรู้ หรือแชร์คลิปต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแยกขยะ เพราะความรู้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมคนได้ ในมุมมองผม ขยะเป็นเรื่องเล็กตอนที่ยังอยู่ในมือเรา แต่จะเป็นเรื่องใหญ่มาก เมื่อไปกองรวมที่ภูเขาขยะ ลดและแยกขยะ ตั้งแต่ตอนที่เรายังจัดการได้ ก่อนที่จะเกินกว่าจะแก้ไข”

หลังจากได้รู้เรื่องการแยกขยะกันไปแล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาของการเปิดศึกบอร์ดเกม โดยในเกม ‘Waste War’ เป็นเกมที่ผู้เล่นจะต้องจัดการขยะให้ดี เพราะนายก้องกรีนกรีน นายกเทศมนตรีจอมโหดจะเข้ามาตรวจและรับซื้อขยะในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านที่แยกขยะได้ดีและทิ้งถูกที่ ก็จะได้รับเงินรางวัลไปเลย แต่ถ้าทิ้งขยะผิดที่ จะโดนค่าปรับตามจำนวนชิ้นนั่นเอง

ส่วนการ์ดในบอร์ดเกม มีทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ การ์ดขยะ ที่มีรูปขยะต่าง ๆ เช่น ถุงพลาสติก เศษอาหาร และ การ์ดถังขยะ เป็นการ์ดที่บอกประเภทของถังขยะ เป็นต้นว่า ถังขยะรีไซเคิล จะรับได้กับ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว แต่หากการ์ดขยะใบไหนมีหลายสัญลักษณ์ ผู้เล่นต้องเลือกเพียงถังใดถังหนึ่งเท่านั้น โดยมีคะแนนแตกต่างกันไป เช่น หากนำกระป๋องน้ำอัดลมไปทิ้งที่ถังขยะรีไซเคิล จะได้ 1 คะแนน แต่ถ้ามีถังขยะโลหะ แล้วย้ายกระป๋องมาทิ้งที่ถังนี้ ก็จะได้ 2 คะแนน

หลังจากทุกทีมได้รู้จักการ์ดกันไปแล้ว ความมันส์ก็ได้เริ่มขึ้น โดยจะมีการ์ดกลางวง 2 กอง แยกเป็นการ์ดขยะและการ์ดถังขยะ กองละ 3 ใบ ซึ่งผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับการ์ดถังขยะทั่วไป 1 ใบ สามารถใส่ขยะได้ทุกประเภท แต่ต้องระวัง เพราะการ์ดถังขยะทั่วไปจะทำให้คุณได้ -1 คะแนน สิ่งที่ต้องทำคือรีบหาถังขยะที่เหมาะสมเพื่อลดคะแนนติดลบ ด้วยการผลัดกันหยิบการ์ด 1 ใบจากกอง ซึ่งในการ์ดจะมีคำสั่งที่ผู้เล่นต้องปฏิบัติตามอยู่ เช่น ยึดถังขยะ ยึดขยะ ข้ามตาเล่น ตรงนี้แหละที่ความมันส์ของเกม เพราะบางทีเพื่อนเรียงขยะไว้แน่นเอี้ยดในถัง จู่ ๆ ก็โดนขโมยถังไป ทำให้ต้องโยกขยะไปใส่ถังขยะทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าแปลว่าติดลบอย่างมหาโหด

และขอสปอยตรงนี้เลยว่า ช่วงของการเล่นบอร์ดเกม เพื่อน ๆ ผู้ร่วมกรีนครั้งนี้ จริงจังกันมาก ๆ และลุ้นกันจนวินาทีนับคะแนน เพราะผู้เล่นที่ชนะในแต่ละกลุ่มจะได้บอร์ดเกมนี้กลับบ้านไปนั่นเอง

ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม ก้อง ได้แชร์ทิ้งท้ายว่า “การแยกขยะในระบบของประเทศเราตอนนี้ อาจเป็นอะไรที่ต้องอาศัยความพยายามและการเสียสละมาก โดยเฉพาะคนที่ทำงานในด้านนี้ ซึ่งผมอยากขอบคุณและนับถือหัวใจของพวกเขามาก ๆ แต่สำหรับตัวผมเองก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนตัวเล็ก ๆ ถ้าสู้จริง ๆ ก็สามารถทำสิ่งนี้ได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้

“และผมเชื่อว่าที่สำคัญกว่าการแยกขยะ เราต้องพยายามลดขยะให้ได้ด้วย ไม่ใช้สิ่งต่าง ๆ เกินความพอดี คิดเยอะ ๆ ใช้มันอย่างรับผิดชอบ และหาวิธีการจัดการให้ถูกต้อง หรือเริ่มง่าย ๆ ด้วยการไม่รับถุงพลาสติกก็ได้ ค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมจนเคยชิน ขอแค่ทุกคนมีกำลังใจในการทำสิ่งนี้ และผมเชื่อว่าระบบจะดีขึ้น ถ้าประชาชนมีความรู้ ความพร้อม และทำก่อน เพราะเรารอไม่ได้ โลกแย่ขึ้นทุกวัน อยู่ที่ว่าเราจะรอให้ระบบมันเกิด หรือเราจะเริ่มทำไปสู่ระบบให้มันเกิด”

***งบจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร อ้างอิงข้อมูลตัวเลข เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 จากเฟซบุ๊ก นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร (ด้านสิ่งแวดล้อม)

ภาพบรรยากาศ
Greenery Journey ตอน…เปิดศึกบอร์ดเกม ‘Waste War’ กับ KongGreenGreen