คำว่า ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘eco-friendly’ ดูจะเป็นคำที่เราได้ยินได้ฟังกันจนคุ้นเคย แต่เมื่อถามถึงการรับมาอยู่ในวิถีชีวิต หลายคนก็ส่ายหน้ายอมแพ้ว่าไม่อาจสนิทสนมในระดับไลฟ์สไตล์ และยังไม่สามารถเป็นเพื่อนที่ดีต่อโลกใบนี้ได้ขนาดนั้น

และใน mini talk หัวข้อ เคล็ดวิชาการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีแขกรับเชิญสีเขียวอย่าง คุณพีช-พิชารี ชำนาญกลการ เจ้าของแบรนด์สบู่และน้ำยาซักผ้าปลอดเคมี Peaches & A Peach และคุณหนุ่ม สุทธิ วิทยสุนทร ผู้ปลุกปั้นกาแฟสร้างว่าทำสวน ดำเนินการพูดคุยโดยคุณน้ำหวาน ธัญนที หยกสกุล ก็ได้ช่วยเปิดมุมมองและจุดประกายให้หลายคนอยากเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในชีวิตของเราเอง

เริ่มพลิก เริ่มเปลี่ยน

คุณพีชเล่าว่าเริ่มต้นเข้าสู่วงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งที่ชอบซื้อผลิตภัณฑ์สกินแคร์ สบู่ แชมพู ที่แปะป้าย ‘natural’ อยู่เป็นทุนเดิม และพอหาซื้อยาก ยังไม่มีจำหน่ายกว้างขวาง เธอก็เลือกซื้อกลับมาตุนสต็อกไว้ใช้นานๆ แต่เมื่อลองพลิกฉลากในผลิตภัณฑ์อ่านจริงๆ จังๆ เธอก็พบว่าบางแบรนด์ที่เขียนจั่วหัวตัวใหญ่ๆ ว่า natural 100% กลับมีสารเคมีอยู่ในผลิตภัณฑ์

ด้วยพื้นฐานที่เรียนมาทางด้านเคมี ทำให้คุณพีชเริ่มตั้งข้อสงสัยและค้นคว้าต่อด้วยตัวเอง ทำให้พบว่าสบู่ตามท้องตลาดมีส่วนผสมของสารเคมีที่ทำให้เกิดฟองอย่าง Surfactant หรือ สารลดแรงตึงผิว บวกรวมกับสารเคมีอื่นๆ ที่ช่วยให้สบู่มีคุณสมบัติตรงตามที่ผู้ผลิตหรือผู้บริโภคต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ทำให้ฟองคงตัว กลิ่นสังเคราะห์ สีสังเคราะห์ และอีกมาก และจากการค้นคว้าต่อไปก็ได้เจอกับสบู่สูตรธรรมชาติที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันกับด่าง และทำให้เกิดสบู่แท้กับกลีเซอรีนธรรมชาติขึ้นมา เธอก็ลองฝึกทำและทดลองอยู่เป็นปี เพราะวิธีนี้ไม่ง่ายเหมือนเอาสารเคมีมากวนผสมกัน แต่ต้องรอการตกตะกอนและเกิดปฏิกิริยาสมบูรณ์ และยิ่งปักธงว่าจะไม่ใช้เคมีเลย การคิดค้นทดลองต่อจากสูตรที่ได้มาก็ทำให้ใช้เวลายาวนาน จนกลายมาเป็นแบรนด์ในวันนี้

เริ่มท่วม เริ่มลด

ในฝั่งของคุณหนุ่ม อดีตกราฟิกดีไซเนอร์ที่ทำงานอยู่หน้าจอตลอดเวลา และอยู่กับความกดดันในงานมาตลอด แต่พอน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เขาได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่ไม่เคยได้ใช้ตอนทำงานประจำ และพึ่งพาอาหารจากการซื้ออย่างเดียว คุณหนุ่มเล่าติดรอยยิ้มว่าตอนที่เป็นผู้ประสบภัย บางครั้งอาหารกล่องที่ได้รับแจกก็เสียเกินกว่าจะกินได้ เขาจึงต้องมองหาสิ่งรอบตัวตามธรรมชาติมาปรุงอาหารกินเอง และสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหาเหล่านั้น กลับทำให้เขารู้สึกถึงการพึ่งพาตัวเองและสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าการใช้ชีวิตแบบเดิม เขาจึงลดละการทำงานหน้าจอ เรียนรู้วิชาชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และลองเข้าไปคลุกคลีกับการทำงานเกี่ยวกับการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

และเมื่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมเพื่อนที่เชียงดาว เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ปลูกกาแฟ จากงานที่ทำทำให้เขาตระหนักในมุมของคนนอกว่า ชาวบ้านมีธรรมชาติเป็นทุนที่ดี แต่สารเคมีที่เข้าไปกับโครงการส่งเสริมให้เพาะปลูก แลกกับรายได้ที่มากขึ้น ชีวิตที่ดีขึ้น ไม่น่าจะเป็นทางที่ถูกต้อง เขาจึงค่อยๆ รวมกลุ่มชาวบ้าน นำมาตรฐานและความรู้เกี่ยวกับกาแฟที่เป็นสากลขึ้นไป และค่อยๆ พัฒนากาแฟปลอดสารเคมีกับชาวบ้าน 15 ครอบครัวที่มีใจไปในทางเดียวกัน

เพิ่มเพื่อน

“ในช่วงแรกๆ เราเหมือนเป็นคนนอกของชุมชน เหมือนนายทุนที่เข้ามาซื้อของคนอื่นๆ แต่เราเอามุมของการอนุรักษ์เข้าไป ความรู้เรื่องการทำสวนกาแฟจริงๆจังๆ ว่าทำยังไงให้เขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน เขาอยากปลูกกาแฟได้ผลผลิตปีละมากๆ แต่ถ้าเขาต้องถางป่าไปเรื่อยๆ วันนึงอาจถูกน้ำป่าซัดลงมาก็ได้ เราต้องทำให้เห็นว่า ถ้าทำเท่าเดิม แต่ได้มูลค่ามากขึ้นต้องทำอย่างไร ทำให้เขาเห็นว่าทำไมกาแฟในเมืองถึงขายแพงได้ ชวนเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ คนเทสต์กาแฟ มาช่วยกัน”

คุณหนุ่มบอกเล่าถึงการทำกาแฟที่ไม่ใช่แค่เปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง แต่ยังพยายามเปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านเจ้าของไร่กาแฟ เพื่อความยั่งยืนของผืนป่าต้นน้ำด้วย เช่นเดียวกับคุณพีชที่เริ่มต้นจากโจทย์เล็กๆ ที่อยากทำผลิตภัณฑ์ปลอดเคมี แต่เธอก็ได้ซึมซับแนวคิดที่เป็นมิตรต่อโลกในมุมที่หลากมิติมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ เราก็เหมือนคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่นัก จนในช่วงหลังที่ได้มีโอกาสเข้ามาในกลุ่มเพื่อนๆ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มันก็สร้าง awareness ให้เราได้ลองมองย้อนกลับไป ทำให้ค้นพบว่าไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ผลิต เราสามารถที่จะทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ สบู่ที่เราทำ เนื่องจากว่ามันเป็นธรรมชาติทั้งหมด มันสามารถย่อยสลายได้ น้ำที่เราชำระล้างร่างกายลงท่อระบายน้ำ มันสามารถย่อยสลายได้หมด

“อย่างที่ทุกๆ ท่านทราบว่าการใช้ขยะพลาสติกของประเทศเราค่อนข้างสูงและมีผลกระทบมากต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ปรับมาใช้เป็นการขายผลิตภัณฑ์แบบรีฟิล แล้วนำมาใช้ในตลาดกรีนเนอรี่ด้วย คือให้เพื่อนๆ นำบรรจุภัณฑ์รียูสมาจากบ้าน ไม่ว่าจะสบู่หรือน้ำยาซักผ้าก็จะได้ในราคาที่ถูกลง และไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มขึ้นด้วย ในแง่ยอดขายก็ดีขึ้นเพราะผู้บริโภคก็อยากใช้ของที่ผู้ผลิตคิดถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่แค่แพคเกจจิ้งสวยงามอย่างเดียว”

ขอเป็นเพื่อน

ในฐานะมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นวิถีชีวิตกรีนๆ Greenery มีวิธีเบื้องต้นมาแนะนำ ดังนี้

1. มองให้ไกลว่าสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง หลอดพลาสติกที่ใช้แป๊บเดียวอาจทำให้ปลาทะเลปวดท้องได้

2. เริ่มจากกิจวัตรที่ทำทุกวัน กาแฟที่ดื่มทุกเช้า น้ำที่อาบทุกวัน อาหารที่กินทุกวัน คาเฟ่ที่รับแก้วพลาสติกประจำเลย อะไรก็ตามที่ได้ลองเปลี่ยนสม่ำเสมอ จะกลายเป็นนิสัยในที่สุด

3. หาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ การเข้ากลุ่ม หาแก๊ง หรือหาเพื่อนร่วมกรีนไปด้วยกัน ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ วิธีรับมือกับอุปสรรค และกำลังใจให้ทำต่อไปอีกมาก

4. เป็นเพื่อนกับผู้ผลิตที่ไว้ใจได้ การซื้อหาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและไว้ใจได้จริงๆ ก็เป็นอีกวิธีที่อุดหนุนคนตั้งใจจริงและสร้างผลกระทบต่อโลกน้อยลงไปบ้าง

5. อย่ากดดันตัวเองและคนรอบข้างมากเกินไป ค่อยๆ เร่ิม ค่อยๆ ทำ ให้กลายเป็นนิสัย ไม่ใช่ระเบียบที่ชวนอึดอัดและตบะแตกในเวลาถัดมา

ข้อมูลจาก Greenery Mini Talk หัวข้อ เคล็ดวิชาการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ณ Greenery Market ลาน Discovery Plaza Siam Discovery

ดูคลิปย้อนหลัง คลิก

ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ