เพราะการเลือกอะไรก็ตามให้เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะด้วยการกินหรือเพียงแค่ผิวสัมผัส ย่อมส่งผลกับสุขภาพโดยตรง เมื่อบริโภคสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ ก็ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพ และด้วยกระแสความใส่ใจสุขภาพที่มาแรงในช่วงหลายปีมานี้ที่ถูกจุดขึ้นจนกลายเป็นวิถีปกติของคนที่มีไลฟ์สไตล์ห่วงใยตัวเอง ต่อเนื่องมาถึงไลฟ์สไตล์ห่วงใยโลก ทำให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคที่ตั้งใจเลือกสรรอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อตัวเองและดีต่อโลกมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนผู้บริโภคที่กลายเป็นกลุ่มลูกค้าประจำของตลาดสีเขียวที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงทุกเพศและทุกช่วงวัย

*ลงพื้นที่และถ่ายภาพก่อนวันที่ 1 มกราคม 2564

Greenery Market ตลาดสีเขียวโดยการก่อตั้งของ Greenery. เกิดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์และผู้ประกอบการผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาสู่ผู้บริโภคคนเมืองที่สินใจสินค้ากลุ่มนี้ ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และซื้อขายส่งต่อสินค้ากินดี กรีนดี ในราคาที่เป็นธรรม ในพื้นที่ใจกลางเมืองมาตลอด 4 ปี 24 ครั้ง ตามเป้าหมายการเกิดขึ้นของ Greenery. ที่วางอยู่บนคำว่า Inspiration, Education และ Action ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจและเรียนรู้การร่วมกัน ผ่านบทความ คลิปวิดีโอ เวิร์กช็อปต่างๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันผ่านกลุ่ม Greenery Eat Good, Greenery Challenge จนมาถึงการลงมือทำ เพื่อให้ผู้ที่สนใจการกินดี กรีนดี ได้เข้าถึงวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ปลอดภัยรวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น ผ่านการซื้อขายในตลาด Greenery Market

แต่การจะมั่นใจได้ว่าอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปลอดภัยและดีต่อผู้บริโภคจริงๆ นั้น ก็ต้องมีการเลือกสรรร้านค้าที่ได้รับการการันตีเป็นมาตรฐานก่อน

มาตรฐานที่ Greenery Market ใช้ในการคัดกรองมาตั้งแต่ต้น คือร้านดังกล่าวต้องมีใบรับรองมาตรฐาน PGS (Participatory Guarantee System)

ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้การรับรองโดยเครือข่ายอินทรีย์ต่างๆ อาทิ ตลาดสีเขียว สามพรานโมเดล ปันอยู่ปันกิน รวมถึงตัวจริงเสียงจริงของกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์และผู้บริโภคอินทรีย์

การได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย และสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส ทำให้ Greenery. ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของการให้มาตรฐานพีจีเอสแก่เกษตรกรอินทรีย์ จึงได้พัฒนามาตรฐาน Greenery PGS ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของ Greenery Market ที่มีร้านค้าผู้จำหน่ายสินค้าปลอดภัย และขยายไปถึงกลุ่มสินค้าธุรกิจเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) ซึ่งล้วนมีหน้าร้านอยู่ในตลาดสีเขียวแห่งนี้

Greenery PGS ใบรับรองสีเขียวเพื่อการกินดี กรีนดี

ก่อนอื่นขออธิบายถึงมาตรฐานเพื่อความเข้าใจสักนิดหนึ่งว่า PGS หรือ Participatory Guarantee System หมายถึงการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอก เช่น IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements-สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ) หรือ มกอช. (มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ Organic Thailand) นั้น มักจะมีระเบียบข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวด สลับซับซ้อน และอาจไม่เหมาะกับเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อขายในท้องถิ่นหรือเกษตรกรรายย่อยสักเท่าไร ทาง IFOAM จึงได้พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS ขึ้น

คำว่ามีส่วนร่วมที่ว่านี้ ก็นับตั้งแต่เกษตรกรอินทรีย์ด้วยกัน ผู้บริโภค หรือหน่วยงานต่างๆ ที่จะมาประชุมและตั้งกฎในการทำเกษตรอินทรีย์ให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศของท้องถิ่นนั้นๆ ร่วมกัน

จากนั้นก็จะผลัดกันลงพื้นที่ประเมินแปลงเกษตรต่างๆ ว่าได้คุณภาพตามที่กลุ่มนั้นกำหนดเอาไว้หรือไม่ เมื่อผ่านเกณฑ์การประเมินก็จะได้รับการรับรองมาตรฐานในการส่งผลผลิตเข้าสู่ตลาดที่กลุ่มนั้นๆ จัดสรรขึ้น โดยเกณฑ์การประเมินก็อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันบางด้าน แต่โดยหลักใหญ่แล้ว สินค้าเหล่านั้นต้องผ่านการผลิตหรือเพาะปลูกแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐาน

เช่นเดียวกับ Greenery PGS ที่ก็มีหลักยึดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน แต่ก็จะมีเนื้อหาในการที่สอดคล้องกับสมาชิกร้านค้าใน Greenery Market ซึ่งจำแนกออกเป็นสามกลุ่มหลัก คือ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ประมงพื้นบ้าน ปศุสัตว์ ที่มีการเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ หากเป็นอาหารแปรรูปก็ต้องใช้วัตถุดิบอินทรีย์มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่สอง คือสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของใช้ในครัวเรือนหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ ของใช้จากชุมชนที่ปลอดสารพิษในกระบวนการผลิต เช่น เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายธรรมชาติ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เครื่องจักสาน ของเล่นไม้ที่ใช้สีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยกับเด็ก ส่วนกลุ่มที่สาม คือกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม ที่มองถึงประโยชน์ของธุรกิจที่มีต่อสังคมเป็นหลัก ด้วยกระบวนการผลิตและวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้งสามกลุ่มนี้มีสัดส่วน 60:30:10 ตามลำดับ ในตลาด Greenery Market

“Greenery PGS จะให้ความสำคัญกับมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงธุรกิจสังคมเพิ่มเข้ามา”

“ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์ การไม่ใช้เคมี ก็คือมิติของอาหารที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือสร้างผลกระทบน้อยที่สุด การใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม ก็จะเป็นเรื่องของสินค้าหรือบริการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เช่น มีสินค้าที่นำรายได้จากการจำหน่ายไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ มีบริการนวดคลายเมื่อยล้าจากอาการออฟฟิศซินโดรมจากวิสาหกิจสุขภาพชุมชน เหล่านี้เป็นต้น” ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการ Greenery. อธิบายเพิ่มเติม

*ลงพื้นที่และถ่ายภาพก่อนวันที่ 1 มกราคม 2564

ด้วยหลักการและแนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์ตามที่ IFOAM ได้กำหนดไว้ว่า ‘เป็นระบบการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของคุณภาพดิน ระบบนิเวศ และผู้คน อาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และวงจรธรรมชาติ ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ โดยจะผสมผสานองค์ความรู้พื้นบ้าน นวัตกรรม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เป็นธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง’ แนวคิดนี้นำมาสู่ 6 หลักการสำคัญของ Greenery PGS ที่ว่าด้วยการมีวิสัยทัศน์ร่วม การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส การไว้วางใจ การเรียนรู้ ความสัมพันธ์แนวราบ ซึ่งธนบูรณ์ได้ขยายความต่อว่า

“การมีวิสัยทัศน์ร่วมคือการตั้งเป้าร่วมกันว่าสินค้าที่ได้การรับรองมาตรฐาน Greenery PGS ต้องดีต่อสุขภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสังคม

“การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส การไว้วางใจ ก็คือมีการตรวจสอบร่วมกันอย่างโปร่งใส ถูกต้อง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในมาตรฐาน Greenery PGS เมื่อมีปัญหาก็มีการยอมรับและแก้ไข ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อ ส่วนความสัมพันธ์แนวราบก็คือ ความเห็นของกรรมการทุกคนของ Greenery PGS มีความสำคัญเท่ากัน กรรมการของ Greenery PGS จะมีอยู่สิบคน ซึ่งมีทั้งตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนผู้ผลิตสินค้าแปรรูป ตัวแทนธุรกิจเพื่อสังคม ตัวแทนผู้บริโภค ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์ ที่ปรึกษาด้านประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค Greenery. ด้วย”

Greenery PGS จึงวางหลักการดำเนินงานเอาไว้ ในการเป็นตลาดที่ส่งเสริมผลผลิตอินทรีย์ อาหารปลอดภัย สินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาที่เชื่อมโยง และทำหน้าที่เชื่อมโยงเกษตรกรอินทรีย์ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้า ผู้ให้บริการรายย่อย และผู้บริโภค โดยสมาชิกมีส่วนร่วมกันกำหนดและดำเนินการตามมาตรฐาน มีคณะกรรมการ คณะทำงาน เป็นกลไกในการส่งเสริมสนับสนุน ขับเคลื่อนและตรวจสอบมาตรฐาน ซึ่งมีระบบฐานข้อมูลหรือการจัดการความรู้ทั้งระบบ โดยทำเป็นฐานข้อมูลทั้งสินค้า แหล่งที่มา ระบบการผลิต กระบวนการผลิต กระบวนการรับรอง ด้วยระบบการตรวจสอบซึ่งกันและกันเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและมาตรฐานร่วม ทั้งยังเปิดกว้างให้ผู้บริโภคที่แม้จะไม่ได้มีส่วนในการจัดการพีจีเอส ก็สามารถแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ หรือร่วมกิจกรรมตลาดได้

Greenery PGS กับ Greenery Market และ Greenery Basket

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ Greenery Market ไม่สามารถเปิดหน้าร้านใจกลางเมืองเพื่อเชื่อมสะพานให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาพบปะกันใจกลางเมืองได้เหมือนเคย Greenery. จึงได้เปิดแพลตฟอร์มตลาดสีเขียวออนไลน์ Greenery Basket ขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้ามาเลือกสรรผลิตภัณฑ์กินดี กรีนดี ได้ตลอด 24 ชั่วโมงจากทุกหนแห่ง โดยร้านค้าที่เคยเข้าร่วมในตลาด Greenery Market ก็ได้นำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาบรรจุลงตะกร้าสีเขียวเพื่อสุขภาพใบนี้ด้วย

เช่นเดียวกับ Greenery PGS ที่ได้เตรียมการลงตรวจแปลงเกษตรกรอินทรีย์และโรงงานผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องพลอยหยุดชะงักไปด้วย ทำให้ที่ผ่านมาการตรวจรับรองมาตรฐาน Greenery PGS ที่เตรียมมอบให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการใน Greenery Market จึงเกิดขึ้นได้ในส่วนหนึ่งก่อน และจะทยอยตรวจเพื่อมอบใบรับรองมาตรฐานให้ร้านค้าเพิ่มขึ้นตามจำนวนร้านค้า หลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายขึ้น

“Greenery PGS จะเป็นมาตรฐานในการเลือกร้านค้าของ Greenery Market และ Greenery Basket ที่จะพัฒนาไปสู่ต้นแบบแหล่งจำหน่ายและบริการอาหารปลอดภัย สร้างการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับสินค้ากินดี กรีนดี ผ่านตราสัญลักษณ์ PGS”

โดยในขั้นตอนของการตรวจแปลง หากผ่านการ ‘รับรองโดยไม่มีเงื่อนไข’ ก็จะได้ตราสัญลักษณ์รับรอง หรือหากผ่านการ ‘รับรองอย่างมีเงื่อนไข’ ที่หมายความว่าอาจจะยังมีบางเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง สมาชิกก็จะได้รับคำแนะนำและหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้ผลผลิตเหล่านั้นออกสู่ตลาดอย่างปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

“เรามองว่ามาตรฐาน Greenery PGS จะช่วยสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น”

“โดยทุกร้านที่อยู่ในตลาดได้ผ่านการคัดกรองคณะกรรมการของเรามาแล้ว ส่วนในฝั่งของผู้ผลิตเอง การได้ใบรับรองมาตรฐาน Greenery PGS นอกจากจะเป็นการรับรองว่าได้มีการเพาะปลูกหรือการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการได้ด้วย การได้รับตราสัญลักษณ์ไปไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่สามารถมาขายสินค้ากับช่องทางของเราได้ แต่สัญลักษณ์นี้สามารถนำไปติดไว้บนบรรจุภัณฑ์ หรือในช่องทางออนไลน์ของร้านค้าเอง ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อได้อีกทางหนึ่ง”

*ลงพื้นที่และถ่ายภาพก่อนวันที่ 1 มกราคม 2564

สำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจในไลฟ์สไตล์กินดี กรีนดี สามารถเลือกซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Greenery PGS ได้ทาง www.greenerybasket.com และในตลาด Greenery Market อีกครั้ง ในวันที่เราได้จะกลับมาพบกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการตัวจริงเสียงจริงกันแบบใกล้ชิดได้จริงๆ

(*) สามารถดาวน์โหลดข้อมูลเกี่ยวกับ Greenery PGS (PDF) ฉบับล่าสุดได้ที่ >> bit.ly/3lb0Jxn

ภาพถ่าย: Greenery.