เพราะเชื่อมั่นในวิถีกินอยู่อย่างปลอดภัย และใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก่นแกนสำคัญของ Greenery อย่าง ‘Eat Good Live Green’ จึงถูกต่อยอดมาเป็น Greenery Talk 2018 ที่ชวนทุกคนมาขยายความการ ‘กินดี อยู่ดี’ ผ่านประสบการณ์ของ 10 คนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ ที่สร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นเวทีที่รวบรวมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในวงจรสีเขียว เพื่อการกินอยู่ที่ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่นมากที่สุดงานหนึ่ง
และนี่คือคำและความที่น่าสนใจ ที่เราคัดสรรแบบครีมๆ มาเล่าให้ฟัง
ถอดความบันดาลใจจากตัวจริง เสียงจริง
กิน ได้ ดี
อุไรวรรณ นิยมศิริ และกวี สุดจิตต์ คือคู่รักที่มาเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการไม่ยอมแพ้กับการแพ้อาหาร และลุกขึ้นมาปลุกปั้นแบรนด์เพื่อให้คนแพ้อาหารทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารอร่อย ปลอดภัย จากวัตถุดิบท้องถิ่นของไทยที่รู้ที่มา บนความตั้งใจอย่างยิ่งว่าการแพ้อาหารไม่ใช่ข้อจำกัดของการเข้าถึงอาหารดี
จากที่เป็นผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับการอ่านฉลาก มองหาส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ (และพบว่าเมืองไทยยังมีความเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก) สู่การเป็นผู้ตั้งโจทย์ มองหาแหล่งผลิตปลอดภัย สร้างสรรค์เครื่องปรุงและเมนูใหม่ๆ ให้ปลอดภัยด้วยวัตถุดิบที่ดี เป็นอีกผู้ประกอบการที่ใส่ใจและน่าปรบมือให้ในความตั้งใจจริง และลุกขึ้นมาสร้างให้ผู้บริโภคใช้สิทธิ์ของตัวเองในการเลือกเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่แพ้อาหาร หรือคนที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ก็ตาม เพราะเราทุกคนควร ‘เลือก’ อาหารที่ดีให้กับตัวเอง
“สำหรับคนแพ้อาหารรุนแรง มันไม่มีคำว่า ‘นิดเดียว’ เพราะแค่นิดเดียวก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ในฐานะผู้ประกอบการ เราจึงต้องใส่ใจ และพยายามเอาชนะข้อจำกัดด้วยการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่ปลอดภัย จากวัตถุดิบที่ดีและรู้ที่มา”
เพียรหยดตาล
จากสวนมะพร้าวเกษตรอินทรีย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ศิริวรรณ ประวัติร้อย คือลูกหลานเจ้าของพื้นที่ที่จุดประกายให้ชาวสวนในเมืองเริ่มสนใจการทำสวนมะพร้าวอินทรีย์และเรียนรู้วิธีเอาชนะศัตรูของมะพร้าวด้วยวิถีธรรมชาติ และจากการเป็นผู้แบ่งปันแนวคิดสู่คนนอกชุมชน ทำให้เธอค้นพบวิธีจุดเตาตาลและภูมิปัญญาอันเก่าแก่ของท้องถิ่นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยกิจกรรมอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวคุณภาพที่ปราศจากสารเคมีในทุกกระบวนการผ่านแบรนด์เพียรหยดตาล ที่เปลี่ยนรสหวานของน้ำตาลให้เป็นความรู้และภูมิปัญญาที่ส่งต่อไปได้
นอกจากการแบ่งปันให้คนนอกชุมชนเข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ยังเพิ่มมูลค่าให้น้ำตาลรสหวานปลอดภัยไร้สารเคมีผ่านการทำงานร่วมกับเชฟชื่อดังมากมาย จากน้ำตาลและไซรัปหอมหวาน เรายังได้ชิมรสชาติของน้ำตาลแท้แสนพิเศษนี้ทั้งในรูปแบบของทาร์ตที่เห็นกระบวนการของน้ำตาล ไอศกรีมที่บอกเล่าความหวานหอมจากเตาตาล และเมนูอีกมากมายที่เกิดจากเครื่องปรุงรสจากความเพียรนี้
“จากเตาตาลในชุมชนที่เคยปิดตายกลายเป็นที่แขวนผ้า ได้ฟื้นคืนชีพและติดไฟขึ้นอีกครั้งจากกิจกรรมอนุรักษ์การทำน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ จากสวนมะพร้าวอินทรีย์ของกลุ่มเพียรหยดตาล กลุ่มที่เปิดคนนอกชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชุมชน”
นักเคมีหัวใจสีเขียว
ผศ. ดร. ชมพูนุท วรากุลวิทย์ คือด็อกเตอร์สาวที่หยิบหลักการเคมีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนจากธรรมชาติเพื่อลดการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน และส่งต่อความรู้พร้อมใช้ผ่านการเป็นวิทยากรและเจ้าของเพจเฟซบุ๊กที่มีแฟนเหนียวแน่น บนเวทีนี้ เธอมาบอกเล่าการเปลี่ยนทฤษฎีในห้องแล็บให้กลายเป็นวิธีทำที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และทำตามได้ในครัวเล็กๆ ของตัวเอง เพื่อทำผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนจากธรรมชาติและแบ่งปันแจกจ่ายให้ทุกคนได้ทำใช้เองหรือได้อุดหนุนโดยนำกำไรไปต่อยอดให้เธอทดลองและส่งต่อความรู้นี้ได้ในระยะยาว
แม้จะเป็นด็อกเตอร์ แต่เธอบอกเล่าติดตลกว่ามาตรฐานของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เธอทำออกมา คือมาตรฐานแห่งความรัก อันได้แก่ ‘รักตัวเอง’ นั่นคือการดูแลสุขภาพด้วยวิถีธรรมชาติ ‘รักคนรอบข้าง’ นั่นคือการแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้แก่กัน และ ‘รักธรรมชาติ’ นั่นคือการลดผลกระทบที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพราะเธอเชื่อว่า แค่ทุกคนตั้งใจจริงและเริ่มต้นด้วยตนเอง เมื่อรวมกันก็กลายเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นเดียวกัน
“ทุกวันนี้เราต้องไปทำงานทุกเช้า กลับมาเลี้ยงลูกเล็กๆ แล้วก็ต้องคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติลดการใช้สารเคมีไปสอนคนอื่นต่อ เหนื่อยนะคะ แต่ถามว่าทำไปทำไม ทำให้คนอื่นเห็นว่าคนคนเดียวเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่ถ้าเราทำไปด้วยกัน เราจะเปลี่ยนได้”
เลมอนฟาร์ม
ตั้งแต่วันที่เมืองไทยยังไม่รู้จักคำว่าออร์แกนิก สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการที่ปลุกปั้นเลมอนฟาร์มให้กลายเป็นธุรกิจค้าปลีกสีเขียว แต่เมื่อว่ากันอย่างจริงจัง กรรมการผู้จัดการคนนี้บอกเราว่า เลมอนฟาร์มไม่ใช่ธุรกิจค้าปลีก แต่คือเครื่องมือทางการตลาดที่ทำงานอย่างครบวงจรเพื่อตอบทั้งโจทย์สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม
ด้วยระบบ Lemon Farm Organics PGS ที่เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อตรวจสอบและมีส่วนร่วมในทุกการเติบโต ส่วนผู้บริโภคก็สามารถตรวจสอบได้เพื่อความมั่นใจระหว่างคนปลูกและคนกิน วิถีนี้จึงกลายเป็นความยั่งยืนและเป็นต้นแบบมา เพื่อให้ผู้บริโภค ‘กินดี’ และเกษตรกรผู้ผลิต ‘อยู่ดี’ ไปด้วยกัน
“รักใครให้กินผัก แต่รักใครจริงให้กินผักอินทรีย์ เรารู้ว่าผัก-ผลไม้ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าเป็นอินทรีย์ ดีเพราะรู้ที่มา รู้ว่าเกษตรกรส่งมอบอาหารที่ดีและปลอดภัยให้ด้วยความรัก”
สุธีร์ ออแกนิค ฟาร์ม
สุธีร์ ปรีชาวุฒิ วิศวกรที่ผันตัวเองมาเป็นชาวสวนดูแลสวนผลไม้ขนาด 110 ไร่ และเปลี่ยนสวนที่เคยชุ่มไปด้วยเคมีให้กลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์หลังจากเห็นพ่อป่วยหนักจากการใช้เคมีเป็นเวลานาน ด้วยการทดลองและเรียนรู้ธรรมชาติอย่างสังเกตสังกา เขาพบความลับที่ปลุกให้ผลไม้เติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งเคมี ไปพร้อมๆ กับการใช้หลักการตลาดมาดูแลให้สวนอยู่ได้ในโลกธุรกิจ
ความลับที่ว่าคือการเชื่อมโยงกันระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมที่เขาพยายามสื่อสารให้กับพ่อค้าคนกลางและคนกิน เพราะหากทุกคนเข้าใจธรรมชาติของฤดูกาล เห็นความเชื่อมโยงที่ไม่จำเป็นต้องพยายามเอาชนะธรรมชาติ เราจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ
“นิยามคำว่าออร์แกนิกสำหรับผมไม่ใช่แค่การไม่ใช้สารเคมี สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงกันของคนกับธรรมชาติ”
เอี่ยมดี รีไซเคิล
สัมพันธ์ เณรรอด อดีตโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่ผันตัวมาเป็นนักจัดการขยะมืออาชีพให้กับเมืองเชียงใหม่ เปลี่ยนภาพลักษณ์ของซาเล้งเก็บขยะที่ทุกคนเคยมองข้าม ให้กลายเป็นฮีโร่ที่เปลี่ยนเมืองให้เอี่ยมดี เพราะนอกจากจะจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เขายังแบ่งปันรายได้เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้ได้รับโอกาสจากสิ่งที่คนมองว่าไร้ค่าอย่างขยะไม่มีราคา
แต่นอกจากโมเดลเพื่อสังคมของการจัดการขยะ สิ่งที่เอี่ยมดีพยายามสร้างให้เกิดขึ้น คือความเข้าใจในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางที่บ้านของทุกๆ คน เขาโยนตัวเลขให้เห็นว่า หากเราทุกคนเข้าใจและจัดการขยะได้เองในครัวเรือน ปัญหาใหญ่โตที่โลกกำลังแบกรับ อาจลดลงได้อย่างชัดๆ จากถังขยะที่บ้านเราเอง
“เอี่ยมดีอาจจะจัดการขยะได้แค่ในเมืองเชียงใหม่ แต่จริงๆ แล้ว หน้าที่ในการจัดการขยะเป็นของพวกเราทุกคน เริ่มจากในบ้านเราเอง พยายามไม่สร้างขยะเพิ่ม และ Reuse ก่อน Recycle การจัดการขยะเป็นการขัดเกลาตัวเองไปด้วย”
ตัวแทนสมาชิกกลุ่ม Greenery Challenge
สิรีธร เอื้อภราดร คือคุณแม่ยังสาวที่อยากลดปริมาณขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันจนเริ่มชักชวนสมาชิกในครอบครัวให้กรีนไปด้วยกัน เธอขึ้นมาบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ตั้งแต่เธอเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสามีที่ไม่เคยแสดงความสนใจเริ่มหันมาให้ความร่วมมือ ลูกๆ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีนำแนวคิดนี้ไปเผยแพร่ต่อที่โรงเรียน ไปจนถึงคนรอบตัวทั้งเพื่อนบ้าน แม่ค้า และเพื่อนสมาชิกร่วมกรุ๊ป Greenery Challenge ที่หยิบยืมไอเดียน่ารักของคนแม่คนนี้ไปเป็นแรงบันดาลใจ
“การเริ่มต้นลดขยะในชีวิตประจำวันทำให้เรามีความสุขในการเปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์ และภูมิใจที่สมาชิกในครอบครัวได้ช่วยกัน มีแต่เรื่องน่ารักๆ ที่ทำให้เรายิ้มเสมอ”
หมูหลุม ดอนแร่
สุพจน์ สิงห์โตศรี เจ้าของฟาร์มหมูหลุมสุขภาพดีที่มีสโลแกน ‘กินคอหมู ไม่เจอเข็ม’ ผ่านการทำฟาร์มระบบเปิดที่ใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติต่อสู้กับกลิ่นและโรค การสร้างมาตรฐานหมูหลุมแห่งประเทศไทย ไปจนถึงการสร้างโมเดลตลาดวิถีธรรมชาติให้เกิดขึ้นในราชบุรี
ในฐานะเจ้าของฟาร์มหมูอินทรีย์ที่เคยอยู่ในฟาร์มระบบอุตสาหกรรม หลายเรื่องที่สุพจน์นำมาแชร์คือความจริงของการเลี้ยงหมูที่น่าหวั่นใจ ทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะปริมาณมากที่เสี่ยงต่อสารตกค้างในเนื้อหมู ไปจนถึงสวัสดิภาพสัตว์ที่แออัดจนอึดอัดแทน การเลือกกินเนื้อหมูอินทรีย์จึงไม่ใช่เพียงเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเลือกกินอย่างสะดวกใจว่าเราไม่ได้เอาเปรียบโลกใบนี้อย่างไม่ลืมหูลืมตา
“ผมเคยเป็นอดีตสัตวบาล การมาทำหมูหลุมคือการฉีกตำราทิ้งแล้วมาเรียนรู้พฤติกรรมของหมูใหม่ มารู้ว่าเขาไม่ต้องการอยู่ในพื้นปูนหรือคอกแคบๆ เราจึงจัดพื้นที่ให้เขาเพียงพอ เมื่อเขาไม่เครียดก็จะไมเกิดโรค ไม่ต้องฉีดยา ไม่มีกลิ่นเหม็น ผู้บริโภคก็กินได้อย่างสะดวกใจ”
ตลาดโรงพักเก่าชุมชนสรรพยา
กาญจนา อุดมญาติ ปลัดเทศบาลตำบลสรรพยา จังหวัดชัยนาท คือตัวแทนของตลาดโรงพักเก่าชุมชนสรรพยา เจ้าของความร่วมมือร่วมใจระหว่างเทศบาลและชุมชนในการเปลี่ยนอดีตเมืองท่าริมน้ำที่เคยเงียบเหงาให้กลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยตลาดปลอดโฟม 100%
ความสุดจัด ปลัดบอก (ของจริง) คือความร่วมไม้ร่วมมือที่ได้ฟังก็ยิ้มตามไปกับเรื่องน่ารักที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกัน ทั้งการรื้อฟื้นเมนูดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ การร่วมด้วยช่วยกันเปิดบ้านสร้างความคึกคัก และการมีส่วนร่วมผ่านความคิดสร้างสรรค์แบบไม่มีออร์แกไนเซอร์ที่ไหนมาช่วยกันจัด เพราะพลังจากชุมชนคือพลังที่เข้มแข็งและชวนให้อยากไปเที่ยวตลาดนี้ด้วยตัวเองดูสักตั้ง
“เราเป็นตลาดที่ไม่มีออร์แกไนเซอร์มาจัดให้ แต่ทุกคนในชุมชนมาช่วยกันคิด ข่วยกันทำ พยายามเป็นตลาดกรีนดีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
HOSTBEEHIVE
พลังของคนรุ่นใหม่ฉายชัดอีกครั้งบนเวทีนี้ เมื่อ ณัฐดนัย ตระการศุภกร ลูกหลานชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย ที่รักษาวิถีกินอยู่ผ่านไร่หมุนเวียนอย่างไม่ทำลายป่าต้นน้ำ และสื่อสารให้คนเมืองเข้าใจผ่านน้ำผึ้งป่าแบรนด์ HOSTBEEHIVE
และน้ำผึ้งรสหวานซับซ้อนจากป่าต้นน้ำ ไม่ใช่เพียงวัตถุดิบที่เชฟไทยเชฟต่างชาติชื่นชอบเท่านั้น แต่เรื่องราวของ คน ผึ้ง ป่า ได้ถูกนำไปบอกเล่าในเวทีต่างประเทศมากมาย เพราะสิ่งที่เขาอยากสื่อสาร คือวิถีการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายของปกาเกอะญอ ที่ไม่ได้เป็นตัวการของการทำลายป่าอย่างภาพจำที่ใครเคยทำให้เป็น
“ปกาเกอะญอ แปลว่า คนง่ายๆ ซึ่งเป็นหลักการในการใช้ชีวิตของพวกเรา นั่นคือ การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย กินกับน้ำให้รักษาน้ำ กินกับป่าให้รักษาป่า”
รสบันดาลใจ
ไม่ใช่แค่แรงบันดาลใจจากการได้ฟังเหล่าสปีกเกอร์เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ของตัวเองเท่านั้น เพราะผู้เข้าร่วมทุกท่านยังมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ผ่านการชิม ทั้งขนมจีบหมูหลุมดอนแร่ และขนมกล้วยข้าวไรซ์เบอร์รี่จากวัตถุดิบอินทรีย์ เพื่อให้ทุกคนได้เทสต์รสชาติที่เกิดจากความตั้งใจที่จะผลิตอาหารดี ปลอดภัย และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในคำเดียวกัน
จุดไฟต่อให้ทุกคน
มากไปกว่านั้น ภายในงานยังมีการคำนวณ Carbon Footprint ว่าตลอดการทำกิจกรรมนี้ได้สร้างรอยเท้าคาร์บอนไปเท่าไหร่ และการดำเนินการต่างๆ ภายในงานช่วยลดรอยเท้าไปได้มากถึง 1589.73 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ทดแทน 176 ต้น ซึ่งนอกจากจะมาจากการไม่แจกเอกสาร น้ำดื่มสำเร็จรูป ยังมีการจัดการแยกขยะ และมอบขวดน้ำสำหรับใช้ซ้ำ รวมไปถึงการรณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมเดินทางมางานด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จึงพูดได้ว่า ตัวเลขที่น้อยลงนี้เพราะทุกคนได้ร่วมด้วยช่วยกันอย่างแท้จริง
และนอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมยังได้ร่วมแปะความตั้งใจหลังจากฟังสปีกเกอร์ทุกคนบอกเล่าเรื่องราว เพื่อเป็นคำสัญญาให้กับตัวเอง รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน ในบรรยากาศแห่งการส่งต่อที่แสนอบอุ่นใจ
ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ, ศรัณย์ แสงน้ำเพชร