ในวันเกิดครบรอบ 4 ปีของ Greenery. กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ส่งต่อข้อมูลความรู้ แนวคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจ ด้านการบริโภคที่ยั่งยืน และการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในวิถีการกิน และการใช้ชีวิต ได้จัดกิจกรรม ‘Greenery Talk 2021: Can Change The World’ ที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศของความ ‘ใส่ใจ’ ด้วยการชวนเหล่านักลงมือทำออกมาสื่อสารชวนปรับความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ผู้คนรอบข้างในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่วิถีการกิน การอยู่ การทำงาน และการแต่งกาย ที่ทำให้วันเกิดครบรอบ 4 ปีนี้ มีมิติที่อบอุ่นขึ้นกว่าที่เคย


และสำหรับใครที่พลาดฟังไลฟ์แบบสดๆ ผ่าน Facebook หรือ Clubhouse ไป เราก็ได้รวบรวมเนื้อหามาฝากกันในบทความนี้แล้ว


กินอย่างตื่นรู้

เรื่องกินเรื่องใหญ่ ไม่น่าจะมีใครโต้เถียงเราในเรื่องนี้ แต่วิถีการกินแบบไหนล่ะที่แสดงถึงความนอบน้อมต่อตัวเองและธรรมชาติ?

ธาวิต ฉายแสงมงคล ผู้ริเริ่ม ตลาดฟาร์มฝัน ปันสุข เริ่มต้นคุยกับพวกเราด้วยคำถามสะกิดใจ “รู้ไหมว่าอาหารที่เรากินทุกวันนี้มาจากไหน และใครเป็นคนปลูก” เพราะคำถามเดียวกันนี้เองที่ทำให้เขาในฐานะคนขายอะไหล่รถยนต์ ที่เคยทนมองครอบครัวตัวเองต้องล้างผักนานๆ ก่อนจะเอาไปกิน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนที่บ้านให้กลายเป็นร้านขายอะไหล่ที่ข้างในมีผัก รวมกลุ่มสร้างเครือข่ายเกษตรกรผักปลอดภัยที่ใช้ความเชื่อใจจากผู้บริโภคเป็นแรงขับเคลื่อนในจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อปี 2559 จนสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งจังหวัด

ล่องขึ้นเหนือไปอีกนิดที่อำเภอแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ อภิศักดิ์ กำเพ็ญ อยากสร้างโอกาสและทางเลือกในการใช้ชีวิตนอกเมืองหลวงให้กับตัวเอง จึงเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน ไปทำงานกับเกษตรกรทั้ง 3 รุ่นในพื้นที่ พัฒนาวิถีเกษตรปลอดสารเคมี ที่สร้างทั้งสุขภาพที่ดีให้กับคนทาน สร้างรายได้เสริมให้กับคนปลูก ก่อเกิดวิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิก ที่เติบโตด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของเครือข่าย นำเสนอเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ สินค้าแปรรูปจากผลิตภัณฑ์เกษตร โรงเรียนที่สอนให้เด็กรุ่นใหม่ทำอาชีพเกษตรกรได้อย่างภูมิใจ และคาเฟ่สโลว์ไลฟ์ที่หวังให้เป็นพื้นที่แบ่งปันไอเดียดีๆ ของคนในชุมชน ทั้งหมดนี้ตอบแทนเขาด้วยไลฟ์สไตล์ในฝัน และรางวัลของการกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

ในขณะเดียวกัน วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง โครงการที่กำลังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชนคนกรุงเทพฯ ก็ได้ใช้ Urban Farming เป็นเครื่องมือ สร้างเครือข่ายให้ความรู้ในการผลิตอาหารให้กับคนเมือง และในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงผู้ผลิตอาหารในพื้นที่ชนบทเพื่อเติมเต็มความต้องการอาหารในส่วนที่คนเมืองไม่สามารถผลิตเองได้ นอกจากเธอจะได้สร้างทางเลือกด้านการกินปลอดภัยให้ผู้คนในเครือข่ายแล้ว ยังได้สร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ให้กับเพื่อนร่วมเมือง

และความตั้งใจของผู้ผลิตอาหารปลอดภัยก็ได้ส่งมาถึงผู้บริโภคอินทรีย์อย่าง ธัชนนท์ จารุพัชนี จากวันที่คนใกล้ตัวมีอาการป่วย และได้รับคำแนะนำจากคุณหมอให้เลือกกินสิ่งที่กินอยู่ สู่การตั้งคำถามว่าทำไมผู้ผลิตอาหารไม่เคยบอกว่าสิ่งที่เขากินอยู่นั้นมันอันตรายอย่างไร จนสุดท้ายเขาได้เสาะแสวงหาวิถีการกินที่ Mindful มากขึ้นกว่าเดิม โดยเขาเชื่อว่าไม่ได้เป็นแค่เทรนด์เท่านั้น แต่อาหารปลอดภัยจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในชีวิตของทุกคน

อยู่อย่างมีความหมาย

เมื่อได้ฟังเรื่องอาหารปลอดภัยจนอิ่มไปทั้งท้องและใจ ขอพาไปสัมผัสแนวคิดการปรับปรุงบ้านให้ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่แสดงถึงความตั้งใจจะให้การมีชีวิตอยู่ของตนเองและครอบครัว เป็นการมีอยู่ที่มีความหมายของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด แห่งบ้านต้นคิดทิพย์ธรรม ที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ มาปรับปรุงบ้านของตัวเองให้ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกลงได้จากเดิม 11 ตัน เหลือเพียง 6 ตัน ทั้งยังขยายความเอาใจใส่ไปถึงการปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานที่ใช้ภายในบ้าน ให้กลายแหล่งพลังงานยั่งยืนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ เชื่อว่าโซลาร์เซลล์ไม่ใช่อยู่ได้แค่บนหลังคา แต่สามารถอยู่บนผนัง หรือเป็นส่วนหนึ่งของวัสดุก่อสร้างที่สวยงามและเต็มไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย เขาจึงยินดีจะส่งต่อความรู้เรื่องนี้ให้กับใครก็ตาม ที่พยายามจะเปลี่ยนการมีอยู่ของตัวเองให้เล็กและเป็นมิตรกับโลกมากขึ้น


ทำงานอย่างใส่ใจ

ไม่ใช่แค่เรื่องการอยู่อาศัยบนโลกเท่านั้น แต่เราก็ยังสรรหาวิธีปรับเปลี่ยนงานของตัวเองให้กลายเป็นก้าวหนึ่งของการสร้างโลกที่ยั่งยืนได้

ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจสาว วิลาวัณย์ ปานยัง หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ Environman ที่บอกว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจ แต่คิดอยากจะสื่อสารเรื่องของสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมกัน เธอเชื่อว่าทุกไลก์และทุกผู้ติดตามที่เพจได้มา คือการสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหวังใจว่าไลก์เหล่านั้นจะกลายเป็น action เพื่อโลกได้

หรือ เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ทายาทธุรกิจรับซื้อของเก่า เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ที่คุ้นชินกับระบบระเบียบของธุรกิจของตัวเอง และเฝ้ามองหาลู่ทางจะสร้างนวัตกรรมให้กับโลกนี้ จนเกิดเป็นเพจลุงซาเล้งฯ เพื่อส่งต่อความรู้เรื่องการคัดแยกและจัดการขยะให้กับคนทั่วไป เพจนี้เองที่ทำให้เขาได้เจอกับคนมากมาย ที่เก็บขยะเอาไว้กับตัวทั้งเดือน สนใจขยะทุกชิ้นที่ตัวเองสร้าง คนที่ใส่ใจอยากเปลี่ยนกฎหมายการจัดการขยะของประเทศ จนทำให้เขาเดินทางมาถึงข้อสรุปว่า เป้าหมายของเขาคือการทำให้คนไทยเข้าใจเรื่องขยะจนเขาสามารถปิดเพจนี้ได้ในสักวัน


นอกจากงานการสื่อสารแล้ว สายอาชีพอื่นๆ ก็สามารถมุ่งสู่ความยั่งยืนได้เหมือนกัน ขุนกลาง ขุขันธิน เจ้าของ Gyudon House ผู้หลงใหลในเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่สลักอยู่ในรสชาติของวัตถุดิบและอาหาร และเชื่อเหลือเกินว่าเราไม่ควรเร่งรัดธรรมชาติเกินไปเพื่อให้ได้ผลผลิต เขาปฏิญาณจะใช้ชีวิตการทำงานในฐานะเชฟที่เหลืออยู่ของเขา เพื่อดึงเอาเรื่องราวเหล่านั้นออกมา ให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความรู้สึก ความตั้งใจที่ผู้ผลิตและเชฟใส่ลงไปในอาหาร และสามารถเข้าใจความต้องการของตัวเองเพื่อทำอาหารที่อยากทานออกมาได้


และในฝั่งของธุรกิจใหญ่อย่างโรงแรม Sivatel ก็ยังมี อลิสรา ศิวยาธร ทายาทรุ่นที่ 3 ที่ไม่ได้มีปริญญาด้านการบริหารธุรกิจหรือโรงแรม แต่มีภารกิจสานฝันวิสัยทัศน์เรื่องการเป็นโรงแรมรักษ์สิ่งแวดล้อมของอากงให้สำเร็จ จึงเข้ามาผลักดันให้ห้องอาหารของโรงแรมใช้วัตถุดิบออร์แกนิกมากถึง 70% สร้าง value chain ที่เชื่อมคุณค่ากับเกษตรกรพื้นถิ่น เปลี่ยนแปลง amenity kit ในห้องพักให้อยู่ในรูปแบบรีฟิลที่ไม่สร้างขยะพลาสติก และยังคงความตั้งใจเหล่านั้นไว้แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่อเข้าใจว่าช่วงเวลาแบบนี้ไม่ใช่เวลาที่ควรลดคุณภาพของวัตถุดิบ เอาของที่มีสารเคมีไปให้ลูกค้ากิน และทอดทิ้งพี่น้องเกษตรกร แต่ยิ่งต้องช่วยกันสนับสนุนให้เขาผลิตอาหารปลอดภัยให้เราได้กินต่อไป

แต่งกายอย่างมีสติ

จากการ กิน อยู่ ทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องคุณค่าภายใน ส่งท้ายกันด้วยเรื่องของนอกกายอย่างเสื้อผ้า ที่ กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานโครงการ Fashion Revolution ในประเทศไทยขอมารณรงค์ให้ทุกคนทำความเข้าใจตัวเองทุกครั้งก่อนจะซื้อเสื้อผ้า ว่าเรากำลังต้องการมันจริงๆ หรือเป็นแค่เพราะถูกการตลาดชี้นำไป โดยใช้เทคนิคง่ายๆ สรุปได้ใน 2 คำ คือ ‘สติ + สร้างสรรค์’ ก่อนที่จะซื้อของใหม่เข้าตู้ให้มีสติ และหาวิธีแต่งเติมของเดิมที่มีอยู่ให้สวยงามได้อีกครั้งอย่างสร้างสรรค์ เพียงเท่านั้นก็เป็นก้าวแรกของการแต่งกายในวิถีที่ยั่งยืน สามารถขับเคลื่อนโลกใบนี้ได้

เรื่องราวของ 10 นักลงมือทำเหล่านี้เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ที่ผลักดันให้คนรอบตัวพวกเขาลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลง และทำให้เราได้เห็นว่า แม้เราทุกคนจะเป็นคนตัวเล็กๆ แต่ทุกครั้งที่เราขยับตัว มันคือการส่งต่อพลังงานดีๆ ที่ช่วยให้โลกขยับไปในทางที่ยั่งยืนได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

ติดตามชมคลิปย้อนหลังคลิกได้ที่ www.facebook.com/greeneryorg/videos/258956179019905

ภาพถ่าย: Greenery.