“ปลูกผักกินเอง” ดูจะเป็นคำต้องห้ามที่หลายคนในยุคนี้ได้ยินแล้วทำหน้าขมยิ่งกว่าความเขียวของผัก นั่นเพราะบางคนมีประสบการณ์ฝังใจว่าปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แม้แต่ต้นไม้ที่เรียกร้องความใส่ใจน้อยยังตายง่าย ไฉนเลยจะหันมาปลูกผัก หรือด้วยตารางชีวิตประจำวันของบางคนที่เรียกร้องการใช้ชีวิตบนท้องถนนและห้องทำงานมากกว่าจะมีเวลารดน้ำดูแลต้นไม้ที่บ้าน และสำหรับบางคนที่อาศัยในหอพัก คอนโดฯ หรืออพาร์ตเมนต์ก็มีข้อติดขัดเรื่องความคับแคบของพื้นที่ การปลูกผักในพื้นที่อาศัยจึงเป็นเรื่องชวนฝันไกล

Greenery Workshop จึงร่วมกับป้าตุ๋ย พรพรรณ แววสิงห์งาม ตัวแทนจากกลุ่มสวนผักคนเมืองหรือที่หลายคนรู้จักกันในนามป้าตุ๋ย พร…พรรณไม้ ก็ทำให้เราเข้าใจว่า การปลูกผักกินเองไม่ใช่เรื่องยากเย็นเหนือจินตนาการ แถมภายในพื้นที่เล็กๆ บนถาดหรือชามแค่ 1 ฝ่ามือก็เพาะผักให้งอกงามได้ไม่ยากเลย

ผักที่ป้าตุ๋ยนำมาสอนในเวิร์กช็อปครั้งนี้เป็นผักในตระกูลไมโครกรีน (Microgreen) ที่นิยามได้ในแบบกระชับสั้นว่า เป็นผักงอกที่เรากินเนื้อในเมล็ดได้ เพราะฉะนั้นพืชพันธุ์ในตระกูลธัญพืชอย่างถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเหลือง งาขาว และงาขี้ม้อน รวมถึงพืชผักทุกอย่างที่กินเมล็ดได้ เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เม็ดก๊วยจี๊ หรือผักพื้นบ้านไทยๆ อย่างเมล็ดกระถิน เมล็ดโสน และเมล็ดแคก็จัดอยู่ในหมวดไมโครกรีนได้ทั้งสิ้น

นอกจากนั้นป้าตุ๋ยยังแก้ความเข้าใจผิดอีกว่า ไมโครกรีนไม่จำเป็นต้องเป็นผักเขียวต้นจิ๋วเหมือนชื่อเสมอไป เพราะแท้จริงแล้วไมโครกรีนคือขั้นกว่าของต้นอ่อน (Sprout) ในขณะที่ต้นอ่อนคือพืชที่ในช่วงที่งอกขึ้นมาแล้วมีใบเลี้ยง 2 ใบ แต่ระยะหลังจากนั้น เมื่อพืชเริ่มมีใบจริงงอกขึ้นมาและมีจำนวนใบมากกว่า 2 ใบ เมื่อนั้นจะเรียกว่า ไมโครกรีน ฉะนั้นผักอื่นๆ ที่นำมาเพาะและจับเข้าแก๊งไมโครกรีนได้เช่นกันจึงรวมถึงผักกาด กวางตุ้ง หัวไช้เท้าหรือไควาเระ ข้าวสาลี ทานตะวัน ผักโขม ผักโต้วเหมี่ยวหรือต้นอ่อนของถั่วลันเตา เป็นต้น

อุปกรณ์สำหรับการเพาะไมโครกรีน

1. เมล็ดพืชที่ต้องการปลูก
2. กาบมะพร้าวสับเล็ก
3. ขุยมะพร้าว
4. ขี้เถ้าแกลบ
5. ตะแกรงร่อน
6. ภาชนะสำหรับปลูก แนะนำให้รีไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้ในบ้าน เช่น ขวดน้ำพลาสติกผ่าครึ่ง กล่องนม หรือถ้วยกระดาษ

ขั้นตอนการปลูก

1. นำเมล็ดไปล้างน้ำก่อน 2-3 ครั้ง แล้วแช่น้ำค้างคืนไว้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากนานกว่านั้นอาจทำให้เมล็ดเสี่ยงต่อการขึ้นรา เมล็ดส่วนใหญ่จะต้องจมน้ำ ถ้าลอยน้ำให้คัดทิ้ง ยกเว้นเมล็ดทานตะวันที่จะลอยน้ำทั้งหมด เพราะในตัวเมล็ดมีน้ำมันผสมอยู่ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการแช่เมล็ดในช่วงกลางวัน เพราะอุณหภูมิของน้ำตอนกลางวันอาจสูงเกินไป

2. รองก้นภาชนะสำหรับปลูกด้วยกาบมะพร้าวสับเล็ก โดยรองให้สูงขึ้นจากก้นภาชนะประมาณ 1 นิ้ว

3. ใช้ตะแกรงร่อนขุยมะพร้าว 2 ส่วนผสมขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน อย่าลัดขั้นตอนนี้เด็ดขาด เพราะการร่อนวัสดุเพาะจะช่วยกำจัดใยมะพร้าวที่เป็นอุปสรรคการงอกออกไป อีกทั้งยังช่วยลดไส้เดือน กิ้งกือ ป้องกันการเกิดโรคภายหลัง นอกจากนี้ หากเป็นฤดูฝนหรืออากาศชื้น ไม่ควรใส่ขุยมะพร้าวเยอะ เพราะเสี่ยงต่อการขึ้นรา หากร่อนแล้วฟุ้งให้เอาน้ำฉีดเล็กน้อย

4. ใส่วัสดุเพาะ (ขุยมะพร้าวและขี้เถ้าแกลบที่ผสมกันเรียบร้อยดีแล้ว) ลงในภาชนะปลูก เหลือพื้นที่ปากภาชนะไว้เล็กน้อย ไม่ควรกดวัสดุเพาะจนแน่น แต่ควรเขย่าเบาๆ เพื่อเกลี่ยให้เสมอกันแทน วิธีนี้จะช่วยป้องกันเชื้อราและเมล็ดจะงอกได้ง่ายกว่า

5. โรยเมล็ดพืชให้เต็มพื้นที่ แต่อย่าให้เมล็ดซ้อนกัน แล้วกลบด้วยวัสดุเพาะอีกครั้ง

6. รดน้ำแบบยกสูง ทำมุมกับปากชนะ 90 องศาเพื่อกันน้ำขัง อาจป้องกันเชื้อราได้ด้วยการผสมน้ำส้มควันไม้เข้ากับน้ำ โดยใช้อัตราส่วนน้ำส้ม 1 ช้อนชากับน้ำ 1 ลิตร หากมีเมล็ดโผล่ขึ้นมาให้กลบด้วยวัสดุเพาะจนมิด แล้วรดน้ำซ้ำอีกครั้ง

7. นำไปวางในที่ร่ม รดน้ำเพียงวันละครั้งตอนเช้า พืชจิ๋วไมโครกรีนจะพร้อมให้เราเด็ดไปรับประทานภายใน 5-7 วัน

เคล็ดลับสำหรับมือใหม่

เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ: เพื่อป้องกันอาการใจเสีย ป้าตุ๋ยแนะนำให้มือใหม่ลองเพาะไมโครกรีนจากพืชเมล็ดใหญ่ก่อน เพราะเมล็ดจะงอกง่าย โดยเฉพาะเมล็ดทานตะวัน และควรพับแผนการเพาะหัวไช้เท้าไปก่อน เพราะเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ไม่เหมาะสำหรับมือใหม่

ภาชนะปลูกที่เหมาะสม: ป้าตุ๋ยแนะนำให้ใช้ภาชนะใส เพื่อที่จะตรวจสอบได้ง่ายว่ามีน้ำขังในภาชนะปลูกหรือไม่ แต่หากหาไม่ได้ แนะนำให้เจาะรูตรงก้นภาชนะแทน

การเก็บผลผลิต: พืชบางชนิด เช่น เมล็ดทานตะวันจะงอกแค่เพียงครั้งเดียว แต่บางชนิดอย่างข้าวสาลีสามารถงอกซ้ำได้ การเก็บไมโครกรีนชนิดที่งอกซ้ำได้ จึงควรตัดให้เหลือก้านอย่างน้อย 1 เซนติเมตร เพื่อให้เก็บผลผลิตได้อีกครั้ง

ข้อควรระวัง

เมล็ดที่ไม่ควรนำมาเพาะเด็ดขาดคือ เมล็ดมันแกว เพราะมีพิษ และควรเลือกเพาะไมโครกรีนจากพืชผักใกล้ตัว เพราะเมล็ดมีความปลอดภัยกว่า ไม่ต้องอาศัยการขนส่งทางไกลอย่างเมล็ดอัลฟัลฟ่าที่หลายครั้งพบว่าเมล็ดเคลือบสารกันเชื้อราไว้ด้วย

ข้อมูลจาก Greenery Workshop 16 ไมโครกรีน ผักจิ๋ว ประโยชน์สุดแจ๋ว โดยป้าตุ๋ย พร พรรณไม้ วันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ณ บริเวณเวทีกลาง Plaza B ตลาดบอง มาร์เช่

ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก

ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ