ผ่านไปแล้วกับภารกิจแรก #ขวดเดียวแก้วเดิม 21 วัน มีใครทำสำเร็จแบบไม่พลาดเลยบ้างไหม ขนาดเราเป็นคนพกขวดน้ำเป็นประจำยังยอมรับว่าท้าทายมากที่จะให้ปริมาณขยะที่เราสร้างเป็นศูนย์จริงๆ ไหนจะหลอดที่ปักมาเร็วกว่าจรวด และเครื่องดื่มโปรดปรานที่บางครั้งก็เกินห้ามใจ

มาถึงภารกิจที่ 2 นี้ ไม่ง่ายไม่ยากไปกว่ากัน แต่เป็นขยะชิ้นสำคัญที่เราใช้บ่อยกว่ามาก นั่นคือ ‘ถุงพลาสติก’ ก่อนเริ่มเขียนบทความนี้รู้สึกไม่หนักใจ เพราะในฐานะคนที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จะให้พูดถึงถุงพลาสติกก็ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่พอยิ่งได้อ่านได้หาข้อมูล ก็ยิ่งประหลาดใจแค่เรื่องใกล้ตัวอย่างถุงพลาสติกยังมีสิ่งที่ไม่รู้ไม่เคยได้ยินอีกเต็มไปหมด

Greenery Challenge 02: คิดไม่ถุง
ระยะเวลา: 21 วัน

สะดวก 7 นาที = มีปัญหา 7 ชาติ

คงไม่ต้องบอกกันว่าถุงพลาสติกสร้างปัญหาขยะมากมายขนาดไหน แค่กรุงเทพอย่างเดียวก็มีปริมาณขยะพลาสติกถึง 6,600 ตันต่อวัน และจัดเป็น ‘ถุงพลาสติก’ ถึง 80% หรือกว่า 5,300 ตันต่อวัน

เรื่องจริงที่น่าเศร้าคือ ถุงพลาสติกมีอายุการใช้งานเฉลี่ยเพียง 7 นาทีเท่านั้น ใส่ของ หิ้วของ ถึงบ้าน ก็ถูกโยนลงถังขยะ แต่กินเวลาถึง 400 ปีในการย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือถ้าเผาทำลายก็จะปล่อยก๊าซพิษจำนวนมาก ชะตากรรมของถุงพลาสติกส่วนใหญ่เลยไปลงเอยที่หลุมฝังกลบหรือเล็ดลอดไปลอยคอในมหาสมุทร

ภาพเต่ากินถุงพลาสติกเพราะคิดว่าเป็นแมงกะพรุน ก้อนขยะในพุงวาฬที่เผลอกลืนเข้าไป หรือภาพหมวกคลุมหัวของนกทะเลจนหายใจไม่ออก ดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับทุกวันนี้ แต่บางทีก็ทำให้เราลืมตระหนักถึงปัญหาใกล้ตัวกว่านั้น อย่างเช่น ถุงพลาสติกอุดตันในท่อระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน (และต่างก็โทษการบริหารงานของรัฐบาลจนลืมนึกถึงปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างขึ้น)

ถุงไหนดี?
เพราะถุงพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก จึงมีการหาทางออกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิล การผลิตถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ถุงกระดาษ หรือถุงผ้า แล้วคุณล่ะคิดว่าถุงไหนดีที่สุด?

Recycle: เป็นวิธีการเบื้องต้นที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือการเก็บรวบรวมพลาสติกประเภทเดียวกันมารีไซเคิล หรือนำไปผ่านกระบวนการขึ้นรูปเป็นพลาสติกอีกครั้ง แม้จะนำมารีไซเคิลได้ แต่พลาสติกเหล่านี้ก็จะมีคุณภาพลดลงเรื่อยๆ แถมถุงพลาสติกส่วนใหญ่มักจะสกปรกหรือปนเปื้อน จนถึงขั้นมีอาชีพล้างถุงพลาสติกส่งรีไซเคิลซึ่งต้องใช้ปริมาณน้ำมหาศาล ยังไม่รวมถึงกระบวนการแยกขยะที่ปะปนกันมั่วก่อนที่จะนำมารีไซเคิล

Biodegradable plastic: พลาสติกที่ย่อยสลายได้ในสภาวะต่างๆ เช่น oxo-biodegradable plastic พลาสติกที่ย่อยสลายได้เมื่อถูกออกซิเจน หรือ photo-biodegradable plastic พลาสติกที่ย่อยสลายได้เมื่อเจอแสงแดดและความร้อน แต่ biodegradable plastic เหล่านี้ไม่ได้มีต้นทุนทางวัตถุดิบแตกต่างจากพลาสติกทั่วไป เพียงแค่เติมสารเร่งปฎิกิริยาให้แตกตัวเร็วยิ่งขึ้น แต่พอแตกตัวแล้วก็ทำให้เรามองไม่เห็นเท่านั้น แต่ยังหลงเหลือเม็ดพลาสติกเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘micro plastic’ ปนเปื้อนตามแหล่งน้ำและระบบนิเวศ จนเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว EU และห้างร้านต่างๆ จึงเรียกร้องให้แบนการใช้ oxobiodegradable plastic ในขณะที่บ้านเรายังขาดความรู้ความเข้าใจและคิดว่าถุงพลาสติกย่อยสลายได้เป็นทางออกของปัญหาขยะ แม้ถุงพลาสติกบางชนิดจะย่อยสลายกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ยากมากที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะรู้ได้

Bioplastic (Compostable plastic): พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวโพด มันสำปะหลัง จึงมีคุณสมบัติย่อยสลายได้แน่นอน จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น biodegradable plastic รูปแบบหนึ่ง แต่ bioplastic จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้หมดโดยที่ไม่เหลือพลาสติกเม็ดเล็กๆ อย่างไรก็ดี ถ้านำไปฝังกลบพลาสติกชนิดนี้ก็จะย่อยสลายกลายเป็นแก๊สมีเทน ซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจก แต่หากเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลก็จะได้พลาสติกที่รีไซเคิลขาดคุณภาพ

ถุงกระดาษ: แม้จะเป็นถุงที่ย่อยสลายได้ง่ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้พลังงานและน้ำในการผลิตมากกว่า มีรอยเท้าคาร์บอนในกระบวนการผลิตมากกว่า รวมไปถึงมีขนาดและน้ำหนักมากกว่าถุงพลาสติกทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่งมากกว่าเช่นกัน

#คิดไม่ถุง

​แม้ว่าตัวเลือกของถุงมีมากมาย แต่ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน นี่จึงเป็นที่มาของภารกิจ #คิดไม่ถุง เพราะไม่มีวิธีการไหนที่ดีไปกว่าการลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง นอกจากการใช้ถุงผ้าที่มีติดบ้าน หยิบถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษที่ได้มากลับมาใช้ซ้ำ หรือใครมีเทคนิคในการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างไรก็นำมาแบ่งปันกันได้นะคะ และเช่นเดิม ภารกิจ 21 วันที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมคุณเป็นคนใหม่พร้อมกับเพื่อนๆ ที่คอยเป็นกำลังใจให้ผ่านอุปสรรคไปด้วยกัน เข้าไปจอยกรุ๊ปได้ที่ www.facebook.com/groups/GreeneryChallenge แล้วมาเริ่มกันเลย

วิธีร่วมสนุกกับ Greenery Challenge 02 #คิดไม่ถุง
1. ร่วมภารกิจด้วยการ Join Group ‘Greenery Challenge’ ในเฟซบุ๊ก
2. แบ่งปันเรื่องราว อวดถุงคู่ใจ ความเฟล หรือความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวันได้ที่กรุ๊ป หรือบนหน้าเฟซบุ๊กของคุณเอง (ตั้งโพสต์เป็นสาธารณะด้วยนะ)
3. อย่าลืมติดแฮชแท็ก #GreeneryChallenge และ #คิดไม่ถุง
4. ใครแบ่งปันเรื่องราวได้น่าสนใจ ทีมงานจะมอบของรางวัลประจำเดือนน่ารักๆ ให้จำนวน 5 รางวัล