“Greenery Journey” เป็นการเดินทางสุดพิเศษ ผ่านโปรเจ็กต์ที่ Greenery. แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ตามแนวคิด Sustainable Lifestyle ร่วมกับ WWF Thailand (องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย) ซึ่งมีมิชชั่นในการเสริมสร้างการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน ชวนชาวกรีนเนอรี่กว่า 300 คน มาเรียนรู้ไลฟ์สไตล์และการบริโภคที่ยั่งยืนในหลากหลายมิติ กับเหล่านักลงมือทำคนจริง เดินทางไปกับ 10 กิจกรรมสนุกสร้างสรรค์ ที่เปิดประสบการณ์ใหม่ ส่งต่อแรงบันดาลใจและพลังใจดี ๆ บวกกับความรู้และแนวทางที่ทำได้จริง เพื่อปรับความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และขยับเลเวลตัวเองมาเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืน ใส่ใจตัวเองและใส่ใจโลกยิ่งกว่าเดิม

10 การเดินทางที่ว่านั้นพิเศษอย่างไร มีความหมายใดที่ซุกซ่อนอยู่ในกิจกรรมสนุก ๆ เหล่านั้น เรามัดรวมทุกการเดินทางมาไว้ที่นี่แล้ว

ลุยสวน ล้อมวง ลงฟาร์ม กับ ‘ลุงรีย์ & กำนันหนุ่ม’
หากจะพูดถึงผู้ประกอบการรักษ์โลก ที่เป็นแบบอย่างของการปรับเปลี่ยนตัวเองมาสู่วิถีการผลิตอย่างยั่งยืนได้อย่างน่าชื่นชม ลุงรีย์ แห่งฟาร์มลุงรีย์ ศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรในเมืองย่านเพชรเกษม 46 และกำนันหนุ่ม เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตาลสดดอกมะพร้าว จาก อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร คือสองผู้ผลิตที่เราได้รับความรู้และแรงบันดาลใจดี ๆ กลับมาอย่างเต็มอิ่ม

เส้นทางการเรียนรู้ของพวกเขา ถ่ายทอดมาเป็นบทเรียนถึงพวกเราอย่างชัดเจนเห็นจริง จากการได้เดินลัดเลาะฟาร์มที่จัดการด้วยวิถีธรรมชาติ ตั้งแต่ใช้เศษขยะอาหารไปเป็นอาหารให้ไส้เดือน ไส้เดือนผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนออกมาให้ใช้ไปดูแลพืช และใช้ร่วมกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงไปเลี้ยงเห็ดในฟาร์มของลุงรีย์ แถมดินจากการเพาะเห็ดยังเอาไปใช้ปลูกต้นไม้ได้อีก

เช่นเดียวกันกับบ้านสวนคุณตาคุณยายของคุณกุ้งที่อยู่ในซอยใกล้กันซึ่งเราได้แวะไปเยี่ยม ก็ทำเกษตรแบบผสมผสานด้วยแนวทางเดียวกัน และปลูกดอกไม้กินได้สารพัดสีสันแบบปลอดภัยไร้สาร ทั้งยังใจดีพาเราทำพาสต้าดอกไม้ ที่ต้องทำแป้ง รีดแป้ง แซมดอกไม้กินได้ลงในแผ่นแป้นก่อนกรีดเป็นเส้น ออกมาเป็นพาสต้าเส้นสดน่ารักน่าชังไม่แพ้น่ากิน ก่อนจะกลับมาปิดท้ายทริปด้วยมื้อพิเศษ OmakaHed ของลุงรีย์ ที่หลากหลายรสชาติของเห็ดจากฟาร์มนั้น ก็ได้เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันอย่างยั่งยืน

ได้ฟังเรื่องราวการลงมือทำที่ผ่านการลองผิดลองถูก จนพบแนวทางที่พอเหมาะพอดี ปรับมาเป็นวิถีชีวิตของตัวเอง ทั้งยังผนวกเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการด้วยแนวทางของธุรกิจที่ไม่ได้มองแค่เพียงผลกำไรจากการทำธุรกิจ แต่มองถึงความยั่งยืน คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ของลุงรีย์กำนันหนุ่มแบบนี้ ทำให้เรายิ่งมีแรงใจสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใส่ใจโลกอย่างไม่ต้องลังเลอีกแล้ว

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/greenery-journey-unclereefarm-edible-flowers 

เรียนรู้ความสัมพันธ์ของน้ำผึ้งป่า ระบบนิเวศ และวิถีชุมชน
ผึ้ง ระบบนิเวศ และชุมชน คือความสัมพันธ์ที่มีบทบาทต่อการดำรงอยู่ของกันและกัน ซึ่งเบนซ์-วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์ ผู้เชี่ยวชาญน้ำผึ้งป่าของไทยที่สะสมและชิมน้ำผึ้งมามากกว่า 300 รส และพาน้ำผึ้งเดินทางออกจากป่ามาสู่ผู้บริโภคในเมืองผ่านในแบรนด์บำรุงสุข ก็ได้ชี้ให้เราเห็นผ่านการชิมรสชาติของน้ำผึ้งที่มาจากป่า ซึ่งรสและกลิ่นที่หลากหลายก็มีปัจจัยมาจากแหล่งที่มา ระบบนิเวศ และรสชาติของน้ำผึ้งยังสะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น และความอุดมสมบูรณ์ของป่าด้วย

แล้วเบนซ์ก็พาเราสัมผัสความหลากหลายที่ว่านั้น ด้วยการเปิดขวดน้ำผึ้งที่เตรียมมานับร้อยขวดจากหลากแหล่งที่มาทั่วไทย แต่ละขวดก็มีความยูนีคของรสและกลิ่น ความหลากหลายของรสชาติน้ำผึ้งที่ได้ชิมบอกกับเราว่า การจะรักษาความหลากหลายนี้เอาไว้ ย่อมเกี่ยวพันกับการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่า เพื่อให้ป่าเป็นบ้านของผึ้ง รวมไปถึงชันโรงที่ให้น้ำหวานรสชาติดีไม่แพ้กัน และทั้งคู่ยังนักผสมเกสรที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศด้วย

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/greenery-journey-natural-honey

ตาดู หูฟัง ลิ้มรสกับภาพยนตร์ WASTECOOKING
การเดินทางของเดวิด กรอสส์ พ่อครัวและนักเคลื่อนไหวด้านอาหาร ที่ออกเดินทางด้วยรถซึ่งเติมด้วยน้ำมันพืชเหลือใช้ในยุโรป และนำ “ขยะอาหาร” มาปรุงเป็นอาหารมื้อใหม่ ในหนัง “WASTECOOKING” ที่เราได้ดูด้วยกันที่ Documentary Club นั้นน่าอัศจรรย์ใจ โดยเฉพาะที่มาของขยะอาหารนั้นสะท้อนให้เราเห็นว่า บางครั้งเราต่างเป็นผู้สร้างขยะอาหารอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าอาหารค้างตู้เย็น อาหารที่ตุนจนลืมหรือใช้ไม่ทัน หรืออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ทำงานรัฐสภา แปลงเกษตร ตลาดปลา วัตถุดิบถูกทิ้งเพราะหน้าตาไม่สวย จำหน่ายไม่หมด ฯลฯ

เจอร์นี่นี้ พลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ จาก SOS Thailand (Scholars of Sustenance Thailand) องค์กรผู้ช่วยชีวิตอาหารเหลือจากร้านค้าปลีก โรงแรม และอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เพื่อนำไปให้กับผู้ขาดแคลน ได้มาแชร์ปัญหาขยะอาหารและวิธีการจัดการ ที่แม้จะมีการส่งต่อให้คนรายได้น้อยก็ยังเหลืออาหารส่วนเกินอีกมหาศาล ทั้งระบบอาหารเป็นห่วงโซ่ที่ใหญ่มาก การจะจัดการปัญหาขยะอาหารทุกห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมจะต้องถูกขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ส่วนแพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของเพจ PEAR is hungry ผู้รณรงค์เรื่อง #กินหมดจานใน TikTok ชวนให้เราเปลี่ยนความคิดว่า ผู้บริโภคอย่างเรานี่แหละช่วยจัดการปัญหานี้ได้ ด้วยการวางแผนซื้อ วางแผนบริโภค เพื่อหยุดยั้งขยะอาหารที่จะส่งผลอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเรา

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/wastecooking-rescue-food-greenery-journey

จิบกาแฟไทย 5 สายพันธุ์เด่น เข้าใจชุมชน ธรรมชาติ และความยั่งยืน
เป็นบรรยากาศดี ๆ ที่เชื่อมโยงทั้งคนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำได้มาจิบกาแฟด้วยกันที่ Hacking Coffee Roasters ซึ่งทำให้เราได้รู้จักกาแฟ Single Origin ที่ชัดเจนทั้งรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งปลูก ได้รับรู้ถึงความประณีตในการผลิตของเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ โดยมี มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก Food Activist จาก Slowfood Chiangmai และ Sansaicisco ทอมมี่-ธนบัตร กายเออร์ คอกาแฟ บาริสตาที่คลุกคลีอยู่ในวงการกาแฟไทยกว่า 10 ปี และน้ำหวาน-นันทนา จันทวี เกษตรกรกาแฟรุ่นใหม่จากเชียงราย มาร่วมแชร์เรื่องราวความยั่งยืนของกาแฟไทย เคล้ากลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะตัวของกาแฟไทย 5 สายพันธุ์จากเชียงใหม่ น่าน และเชียงราย

รสชาติกาแฟแต่ละแก้วที่ได้จิบ บอกกับเราว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี อาหารจะดี และส่งผลต่อความยั่งยืนของชุมชน ธรรมชาติ และเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ ดังนั้นถ้าเราเลือกดื่มกาแฟที่สนับสนุนเกษตรกรชุมชนซึ่งดูแลกาแฟแบบอินทรีย์ให้มีรายได้ ก็เท่ากับเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนด้วย เพราะผู้บริโภคหรือคนปลายน้ำ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้คนผลิตพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยกระบวนการผลิตที่ทำร้ายโลกน้อยที่สุด

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/thai-forest-coffee-greenery-journey

ตะลุยเกาะอินทรีย์ กินดีวิถีคนเพชร
การพลิกผืนดินเคมีให้เป็นผืนดินอินทรีย์ นอกจากหัวใจที่ต้องหนักแน่นแล้ว ยังแลกมาด้วยการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เพื่อฟื้นดินที่เคยชุ่มเคมีจากรุ่นพ่อ ให้กลับมาเป็นอินทรีย์ปราศจากสารพิษอย่างเต็มร้อย และใช้เวลาในการเรียนรู้อีกหลายปี กว่า “สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย” จะกลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ที่ส่งผลผลิตชั้นดีมาสู่ผู้บริโภค และต่อยอดไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร และศูนย์การเรียนรู้ Earth Safe ทั้งนี้ก็ด้วยความไม่ย่อท้อของ เมย์-สุภิสาข์ มัยขุนทด เจ้าของสวนเกษตรอินทรีย์ 20 ไร่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่เราได้มาสัมผัสกันในทริปนี้

เราเดินทัวร์สวนพร้อมเรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ ที่จัดสรรพื้นที่แบบโคก หนอง นา การจัดการทรัพยากรน้ำ การหมุนเวียนทรัพยากรแบบ Zero Waste ตั้งแต่เลี้ยงหนอนแมลงวันลายด้วยเศษอาหาร ใช้หนอนเป็นอาหารปลา เลี้ยงไก่ด้วยเศษผัก ใช้ไข่ไก่ทำฮอร์โมนเป็นปุ๋ยพืช  ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากปลา ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยและมีความยั่งยืน

นอกจากได้ความรู้และสนุกกับการเก็บผักในสวนมาปรุงอาหารเป็นมื้อกลางวันแล้ว เรายังได้ชอปปิ้งสินค้าจากอีก 5 เครือข่ายเกษตรกรเมืองเพชร ที่นำเอาผลผลิตมาให้เราเลือกถึงที่ มากกว่านั้นคือการได้รับมวลพลังดี ๆ จากการให้กำลังใจและส่งผ่านความรู้สึกดี ๆ ถึงกัน ทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภค

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/organic-island-suanpech-greenery-journey

ลิ้มรสหวานจากธรรมชาติ
เป็นโอกาสที่หาได้ยากเต็มที กับการจะได้ลิ้มรสหวานจากน้ำตาลธรรมชาติจาก 9 แหล่งจากเหนือจรดใต้ แถมได้ชิมเมนูที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติทั้งจานจากเชฟเบนซ์-กลยุทธ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ และได้ฟังเรื่องราวดี ๆ จากคนทำงานขับเคลื่อนวงการอาหาร อย่างแน็ค-ปริวัฒน์ วิเชียรโชติ ผู้ก่อตั้ง “ลิ้มรสให้รู้ราก” ที่พาให้เราได้รู้จักกระบวนการทำน้ำตาลด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างการทำน้ำตาลโบราณด้วยเตาฟืนและเก็บน้ำตาลในกระบอกไม้ไผ่ของชาวสุโขทัยและพิษณุโลก ที่ในความคล้ายก็มีความต่างในวิธีการและนำมาซึ่งรสหวานและกลิ่นที่ต่างกันออกไป

อาจารย์ต้น-อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนที่สนใจวัฒนธรรมอาหาร พาเราลึกเข้าสู่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนที่น้ำตาลมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันความสำคัญเหล่านี้ถูกลดทอนความหลากหลายลงด้วยการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และความยั่งยืน

เรื่องราวของน้ำตาลจากผู้ผลิตรายเล็ก ๆ ในชุมชนของแน็ค และการฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานมาแต่โบร่ำโบราณของอาจารย์ต้น ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าทางเดินข้างหน้าของน้ำตาลชุมชนจะเป็นอย่างไร และจะดีแค่ไหนหากเราซึ่งได้ชิมและรับรู้ถึงความพิเศษทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังแล้ว จะช่วยกันรักษาเพื่อให้คนผลิตน้ำตาลไม่จมหายไปท่ามกลางน้ำตาลเชิงอุตสาหกรรมที่กุมตลาดอยู่ทุกวันนี้

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/greenery-journey-naturally-sweet-flavor

ประมงพื้นบ้าน อาหารทะเลยั่งยืน ผู้บริโภคใจฟู
เพราะผู้บริโภคเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการกิน 3 มื้อ ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ เจ้าของร้านปลาออร์แกนิก ธุรกิจเพื่อสังคมที่ส่งเสริมวิถีประมงพื้นบ้าน ส่งมอบอาหารทะเลออร์แกนิกให้แก่คนเมืองในราคาเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และอุดมศักดิ์ ปาติยเสวี นักวิจัยอิสระด้านการจัดการประมง จึงชวนให้พวกเราได้ตระหนักถึงที่มาของอาหารทะเล ว่าส่งผลต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและชุมชนอย่างไร ผ่านกิจกรรมชวนฟัง ชวนเล่น(เกม) และชวนชิม โดยมีรสชาติของอาหารทะเลจากประมงพื้นบ้านที่รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม มาให้เราพิสูจน์ถึงความดีงามในวัตถุดิบที่ปลอดภัย

ใจความสำคัญคือ ประมงขนาดใหญ่ได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ที่กวาดเก็บเอาปลาทะเลวัยอ่อนติดมาอวนด้วย จึงเป็นการทำลายทรัพยากรประมงและห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำอื่น ๆ ทั้งยังระบบจัดการที่ต้องอาศัยสารเพื่อคงความสดให้ปลาเหล่านี้ก็ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และการผ่านพ่อค้าคนกลางที่ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น

หากผู้บริโภคเห็นข้อเสียและเปลี่ยนวิธีคิดมาสู่การสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน ก็เท่ากับได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยด้วย โดยที่เราได้อาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมาแทนที่ ซึ่งวิธีคิดนี้ใช้ได้กับทั้งอาหารทะเลและอาหารทุกประเภท ที่มีผู้ผลิตรายเล็กที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอยู่อีกมาก

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/greenery-journey-local-fishing-sustainable-seafood

“อาหาร 3D” ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ และดีต่อโลก
“อาหาร 3D” คืออาหารที่ดีต่อใจคืออร่อย ดีต่อสุขภาพในแง่โภชนาการ และดีต่อโลกเพราะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นคอนเซ็ปต์ของกิจกรรม “Future Food DIY” ซึ่งมี ยี้-สันติ อาภากาศ จาก TasteBud Lab ที่ได้สร้าง Future Food Network เพื่อผลักดันอาหารแห่งอนาคตยั่งยืน พาเราไปเรียนรู้เรื่องของโปรตีนทางเลือก แนวคิดใหม่ ๆ ในการใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้สัมผัสนวัตกรรมอาหารที่น่าตื่นเต้น และร่วมกันสร้างสรรค์เมนูของตัวเอง

ระหว่างที่ได้ว้าวกับนวัตกรรมอาหารที่หยิบจับวัตถุดิบพื้นถิ่นมาแมตช์กันเป็นเครื่องดื่มรสชาติใหม่ หรือเมนูที่ครีเอตจากโปรตีนทางเลือกจากพืชต่างชนิดและแมลง ทั้งเมนูไทยและฟิวชั่น เรายังได้เปิดโลกไปกับสตาร์ตอัพไทยที่พัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ไปไกล และยังได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้จากนวัตกรรมนี้ไปด้วยกัน

กิจกรรมนี้ทำให้เราได้เข้าใจอาหารแห่งอนาคตมากขึ้นว่าไม่ได้ไกลตัวจนจับต้องไม่ได้ หรือท้ายที่สุดหากเรามีข้อจำกัดทำให้ยากที่จะเข้าถึงอาหารเหล่านี้ เราก็สามารถปรับเปลี่ยนการบริโภคให้พอดี เช่น ไม่บริโภคเนื้อวัวที่การผลิตทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากเกินไป ไม่กินอาหารที่ใช้สารเคมีที่รบกวนสิ่งแวดล้อม ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่เริ่มจากตัวเองได้

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/greenery-journey-future-food-3d

Microgreen Magic: ปลูกผักจิ๋ว ประโยชน์สุดแจ๋ว
เราไปเยือนฟาร์มลุงรีย์ ของลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิจ อีกครั้ง เพื่อสนุกกับกิจกรรม “Microgreen Magic: ปลูกผักจิ๋ว ประโยชน์สุดแจ๋ว” โดยคราวนี้ลุงรีย์มีวิชาทำกินให้เราติดตัว ด้วยการปลูกไมโครกรีน หรือต้นอ่อน พืชที่โตเร็วภายใน 7 วัน โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี แบบลงลึก แถมต้นอ่อนเหล่านี้ยังมีสารอาหารมากกว่าผักโตเต็มที่ถึง 4 เท่า โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะเป็นช่วงอายุที่สะสมโปรตีนและสารสำคัญที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

เราได้รู้ทริกการปลูกตั้งแต่การเลือกซื้อเมล็ดกระทั่งร้านแบบไหนที่ควรซื้อ การใช้วัสดุปลูก ขั้นตอนการปลูก การดูแล และการเก็บ แถมด้วยวิธีที่แอดวานซ์ขึ้นสำหรับคนที่อยากปลูกเป็นอาชีพ และยังได้ชิมสลัดผัก Microgreen สด ๆ กับน้ำสลัดสูตรพิเศษ โดยเชฟพลอย-ฐาติกานต์ ตัณฑจินนะ ผู้ร่วมแข่งขันรายการ TopChef Thailand Season 2 เจ้าของแบรนด์ Whippin’licious by Chef Ploy และ pP Baking Studio

เมื่อได้ลงมือทำดูแล้ว ก็พบกว่าการปลูกผักไม่ยาก สิ่งที่ยากเห็นจะเป็นจริงอย่างที่ลุงรีย์บอก คือใจเราที่ร้อนเกินไป ถ้าเรามีสติในการวางแผนปลูก รู้จักระยะเวลาการเติบโตและการดูแล การปลูกผักเป็นจะกลายเป็นความยั่งยืนที่เรามีติดตัวไปตลอด แถมยังได้กินผักที่ดีต่อใจดีต่อสุขภาพด้วย

อ่านบทความกิจกรรมได้ที่ www.greenery.org/greenery-journey-microgreen-magic

เปิดศึกบอร์ดเกม ‘Waste War’ กับ KongGreenGreen
ในเจอร์นี่สุดท้าย เรามีแขกรับเชิญพิเศษคือ ‘KongGreenGreen’ หรือก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ คอนเทนต์ครีเอเตอร์สายสิ่งแวดล้อม ที่ช่ำชองการคัดแยกขยะ และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก “แยกขยะกันเถอะ” ซึ่งการมาครั้งนี้เขาไม่ได้แค่มาแชร์วิธีคัดแยกขยะ และวิธีจูงใจให้คนทั้งบ้านมีส่วนร่วมเป็นกิจวัตร แต่เขามาชวนเราเล่นบอร์ดเกมแยกขยะที่ชื่อว่า ‘Waste War’ ด้วยกติกาที่สนุก แถมเอาไปใช้แยกขยะในชีวิตประจำวันได้อีก

เกมนี้ KongGreenGreen ร่วมออกแบบกับ Qualy และได้รับรางวัลด้านการออกแบบดีเยี่ยมจาก DEmark Thailand มา วิธีเล่นก็ไม่ยาก แค่ผู้เล่นจะต้องแยกจัดการขยะให้ดี เพราะจะมีนายกเทศมนตรีจอมโหดเข้ามาตรวจและรับซื้อขยะในหมู่บ้าน ชาวบ้านคนไหนที่แยกได้ดี ทิ้งถูกที่ ก็จะได้รับเงินรางวัลไปเลย แต่ถ้าทิ้งขยะผิดที่จะโดนค่าปรับตามจำนวนชิ้นไปด้วย

ความสนุกของเกมค่อย ๆ ทำให้เราเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะไปด้วย แต่ในชีวิตจริงนอกกระดานเกม นอกจากแยกขยะเป็นแล้ว สิ่งที่เราควรปรับเปลี่ยนตัวเองคือต้องลดขยะให้ได้ ไม่สร้างขยะเกินพอดี หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบด้วยการจัดการที่ถูกต้อง ถ้าทุกคนทำได้แบบนี้ ระบบจัดการขยะบ้านเราจะดีขึ้นแน่ เหมือนอย่างที่ก้องบอกว่า “เรารอไม่ได้ โลกแย่ขึ้นทุกวัน แล้วเราจะรอให้ระบบเกิด หรือเราจะเริ่มทำไปสู่ระบบให้มันเกิด”

อ่านบทความกิจกรรม www.greenery.org/greenery-journey-waste-war-konggreengreen

Greenery. และ WWF Thailand ขอขอบคุณเพื่อนร่วมเดินทางกว่า 300 คน ที่มาเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ไปกับทั้ง 10 กิจกรรม ที่ล้วนเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจดีของนักขับเคลื่อนและผู้ประกอบการที่ใส่ใจโลกและการบริโภคที่ยั่งยืน นอกจากพวกเขาเหล่านี้แล้ว เราเชื่อว่ายังมีผู้คนอีกมากมายที่คิดและลงมือทำอย่างสร้างสรรค์ด้วยความตั้งใจเดียวกัน  และเราพร้อมเสมอสำหรับโอกาสที่จะได้มีกิจกรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการหันมาปรับเปลี่ยนตัวเอง และเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืนไปด้วยกัน