เมื่อพูดถึงเรื่องอาหารปลอดภัย เชื่อว่าคนเมืองหลายคนคงเคยลองชิมอาหารออร์แกนิก เดินตลาดนัดสุขภาพ หรือเคยหัดปลูกผักสลัดสักต้นในกระถาง แต่นอกจากนี้ อีกหนทางที่จะขยับเข้าใกล้เรื่องอาหารดีได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือ การลุยเข้าไปเรียนรู้ถึงแหล่งผลิตของจริง

เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา เราจึงตื่นแต่เช้าตรู่ไปร่วม Greenery Trip 01 ผจญภัยในสวนอินทรีย์ ทริปที่ชวนไปเรียนรู้เรื่องอาหารปลอดภัยถึงฟาร์มถึงสวนในจังหวัดนครปฐม ซึ่งจัดโดย Greenery และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

อาหารดีๆ โผล่มาทักตั้งแต่จุดลงทะเบียน เพราะมื้อเช้าที่ทีมงานแจกให้เราคือ ‘เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวไก่ซอสญี่ปุ่นโฮมเมด’ แสนอร่อยในห่อใบตอง ที่พี่น้อยหน่า-ดลชนก นิธิภาคยวดี เจ้าของร้านรสไทยไทยบรรจงคัดสรรให้ทุกส่วนผสมปลอดภัย ตั้งแต่ข้าวเหนียว 2 สี ซึ่งสีขาวมาจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มการผลิตแปรรูปอินทรีย์ที่ร้อยเอ็ด ส่วนสีแดงที่เราเรียกกันว่าข้าวเหนียวก่ำมาจากกลุ่มกสิกรรมธรรมชาติสองสลึงของระยอง เนื้อไก่จากไก่เลี้ยงด้วยสมุนไพร ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ผักสดใหม่ที่มีทั้งใบอ่อมแซบจากสวนหลังบ้านและผักจากวังรีคลีน จนถึงซอสโมมิทาเระโฮมเมดที่ไร้สารกันบูด สี กลิ่นสังเคราะห์ และผงชูรส นอกจากนี้ ทีมงานยังแถม ‘งาบาร์’ ของว่างสุขภาพที่ทำจากงาขาว งาดำ และงาขี้ม้อน คลุกเคล้ากับดอกเกลือและน้ำผึ้งธรรมชาติแล้วอัดแท่งกลายเป็นขนมเคี้ยวเพลินมาด้วย  

เราหอบเมนูน่ากินเหล่านี้ขึ้นรถตู้ แล้วก็กินดี อยู่ดี อารมณ์ดี ไปตลอดทางจนถึงที่หมาย ณ จังหวัดนครปฐม

เรียนรู้ เก็บกินที่ฟาร์มออร์แกนิกริมน้ำ

ลมเย็นสดชื่นจากแม่น้ำท่าจีนพัดมาต้อนรับพวกเราที่มาถึงหมายแรกคือ ‘สวนสามพราน’ โรงแรมริมแม่น้ำเก่าแก่ของนครปฐม ครั้งนี้เราไม่ได้มาพักผ่อนหย่อนใจในโรงแรม แต่มาซึมซับวิถีเกษตรอินทรีย์ที่ฟาร์มอินทรีย์ของโรงแรมซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งน้ำ

หลังนั่งเรือข้ามฟากไม่กี่นาที เราก็มาถึงพื้นที่ขนาด 40 ไร่ที่มีชื่อว่า ‘ปฐม ออร์แกนิก ฟาร์ม’ คุณพศิน ทองบ่อ วิทยากรผู้นำชมเล่าว่า ที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินเก่าแก่ของโรงแรม แต่เพิ่งพลิกฟื้นกลายมาเป็นฟาร์มอินทรีย์จริงจังเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว โดยคุณอรุษ นวราช ทายาทโรงแรมผู้ก่อตั้งโครงการ ‘สามพรานโมเดล’ โมเดลธุรกิจยั่งยืนที่รับซื้อผลผลิตอินทรีย์จากเกษตรกรภายใต้เงื่อนไขเป็นธรรม รวมถึงจัดหาช่องทางขายผลผลิต 

ปฐม ออร์แกนิก ฟาร์มผลิตอาหารปลอดภัยให้ทั้งในและนอกโรงแรมภายใต้มาตรฐานสากลอย่าง IFOAM โดยแบ่งพื้นที่เป็นหลายส่วน เช่น แปลงผัก สวนผลไม้ และบ่อบัว คุณพศินบอกเราว่า หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือเหล่าพนักงานแทบไม่มีใครป่วยเลยตั้งแต่หันมาทำเกษตรอินทรีย์

“ทำเกษตรเคมีเหนื่อยน้อยกว่า แต่ตายเร็วกว่า แค่นั้นเอง” คุณพศินกล่าว  

หลังแนะนำฟาร์มพอหอมปากหอมคอ ก็ถึงเวลาผจญภายในสวนอินทรีย์ของจริง เราและชาวทริปไม่ได้เดินเข้าไปมือเปล่า แต่มีตะกร้าคล้องแขนเพราะจะต้องเก็บผักอินทรีย์แล้วไปโชว์ทักษะทำอาหารมื้อกลางวัน ความพิเศษคือเส้นทางที่เราได้เดินไปเก็บผักกันนี้เพิ่งเปิดให้เดินใหม่หมาด เมื่อพ้นช่วงหมู่ไม้เขียวขจี เราก็ได้เจอแปลงผักอินทรีย์สารพัดชนิด พบของที่หลายคนอาจยังไม่เคยชิมอย่างผักโขมแดงและดอกชมพู่มะเหมี่ยวที่เอาไปทำยำได้ นอกจากนี้ เรายังได้บุกเล้าเป็ดไปเก็บไข่เป็ดสดใหม่มาเสริมทัพ

แล้วเมื่อเก็บผักเก็บไข่กันจนพอใจ เราก็ไปวางวัตถุดิบไว้ในส่วนทำอาหารก่อนจะไปร่วมอีกกิจกรรมน่าสนุก นั่นคือการหัดทำไข่เค็ม ที่บอกเลยว่าต่างจากสมัยเราทำกันตอนชั้นประถม

หยิบไข่สดใหม่มาทำให้เค็มแบบไม่ง้อน้ำเกลือ

หลายคนอาจเคยทำไข่เค็มด้วยการดองน้ำเกลือ แต่รอบนี้เราได้หัดทำไข่เค็มแบบพอกโคลน ที่สำคัญคือเป็นไข่เค็มโซเดียมต่ำ เพราะเราใช้ความเค็มจากดอกเกลือที่เค็มน้อยกว่าเกลือปกติ

วิธีทำที่คุณพศินสอนคือใช้โคลนดี 1 กิโลกรัม (โคลนรอบนี้มาจากนาออร์แกนิกของปฐมฯ แต่ถ้าใครอยากทำเอง ให้เลือกที่เหนียวที่สุด ไม่มีกลิ่น ถ้าเป็นดินเหลืองของชั้นดินล่างสุดจะดี) มาผสมกับดอกเกลือครึ่งกิโลกรัม จากนั้นจุ่มมือในน้ำเพื่อป้องกันโคลนติดมือ หยิบไข่เป็ดสดใหม่มาพอกโคลนบางๆ เพราะพอกยิ่งหนาจะยิ่งเค็ม แล้วเอาไปคลุกแกลบดำ (หรือจะใช้รำบดหยาบก็ได้) โดยโคลนกับแกลบจะช่วยรักษาความชื้นในไข่

เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ เราและชาวทริปทยอยส่งไข่ที่พอกโคลนเรียบร้อยให้น้องๆ ทีมงานของฟาร์มเอาไปใส่ชะลอมสานสวยๆ ให้ คุณพศินบอกว่าให้เอาไข่ไปเก็บไว้ในที่ร่ม ใครอยากกินไข่ดาวเค็มให้นับไปอีก 7 วัน ส่วนใครอยากกินไข่เค็มปกติให้อดใจรอจนถึง 15 วันนะ

ลงมือทำอาหารดีแบบ farm to table

แล้วก็ถึงเวลาเข้าครัวที่มั่นใจว่าหลายคนรอคอยอยู่ (เพราะหิว) ทีมงานผู้จัดทริปบอกไว้ว่าให้พวกเราทำอาหารกลุ่มละ 2 อย่าง แล้วเดี๋ยวจะมาประกวดกัน แน่นอนงานนี้ไม่มีใครยอมใคร เราจึงได้เห็นเมนูอาหารละลานตาที่ทุกจานล้วนกินได้อย่างปลอดภัยสบายใจ

ที่สำคัญคือ นอกจากวัตถุดิบหลักอย่างไข่และผักปลอดภัยที่เก็บกันมาสดๆ สารพัดเครื่องปรุงในแต่ละเมนูล้วนเป็นเครื่องปรุงดีที่ทีมงานคัดสรรมาให้ลองใช้ เช่น ซีอิ๊วขาวจากถั่วเหลืองอินทรีย์ หัวน้ำปลาที่หมักด้วยวิธีธรรมชาติจากระยอง จนถึงกุ้งแห้งน้ำจืดจากสุพรรณบุรี (ที่สารภาพว่ายังไม่ถึงครกเราก็แอบหยิบกินไปแล้ว)

อาหารดีจากวัตถุดิบและเครื่องปรุงดีๆ ถูกทยอยนำมาจัดวางอย่างสวยงาม ตกแต่งด้วยของประดับที่หากันเองจากรอบฟาร์ม พร้อมตั้งชื่อสนุกอย่าง ‘ยำไล่ทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง’ แล้วเมื่อผ่านขั้นตอนตัดสินที่สนุกสนานของกรรมการ เราก็เปิดห่อข้าวที่ทีมงานห่อใบบัวเตรียมไว้ออก แล้วลงมือกินของที่เก็บเอง ทำเองแบบ farm to table ของแท้

คงไม่เกินเลย ถ้าจะบอกว่ามื้อนี้เราเจริญอาหารเป็นพิเศษ

ช้อปของปลอดภัยให้เต็มถุงผ้าที่ ‘ตลาดสุขใจ’

หลังกินข้าวมื้ออร่อยจนอิ่มแปล้ เราก็เปลี่ยนโหมดจากการลุยสวนมาเป็นการลุยตลาด เพราะที่สวนสามพรานนี้มี ‘ตลาดสุขใจ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสามพรานโมเดล ตลาดสีเขียวขนาดกว่า 2 ไร่นี้มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทั้งในนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงเวียนกันมาขายผลผลิตสดปลอดภัย

เมื่อก้าวเท้าเข้าตลาด นอกจากกิมมิกน่ารักอย่างการมีตะกร้าสานให้หยิบยืมใส่ของ การรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า จนถึงป้ายแสดงสินค้าที่ระบุว่าแต่ละร้านใช้ผักประเภทไหน เราก็ได้เจอของกินของใช้ที่ทั้งดีทั้งน่าซื้อมากมาย ตั้งแต่ผักผลไม้สดๆ ขนมและอาหาร รู้ตัวอีกทีทุกคนก็ซื้อของกันชนิดเต็มพิกัด (เราแอบเห็นพี่บางคนถึงขั้นลากรถเข็นมา และแน่นอน ของก็เต็มรถเข็นเรียบร้อย)

แล้วหลังช้อปจนสุขใจซื้ออะไรเพิ่มไม่ไหวแล้ว เราก็ลาจากตลาดสุขใจเพื่อไปสู่จุดหมายสุดท้าย จากฟาร์มผักริมน้ำ เราจะเปลี่ยนบรรยากาศไปลุยสวนมะพร้าวกัน

พับขากางเกงลงลุยสวนมะพร้าวออร์แกนิก

‘สวนมะพร้าวน้ำหอมเลี้ยงรักษา’ ของคุณลุงวิทยา เลี้ยงรักษา คือต้นกำเนิดมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์แสนอร่อย ที่นอกจากความหอมหวาน ยังมีเนื้อที่ให้เนื้อสัมผัสคล้ายครีมนิดๆ อร่อยเป็นที่สุด (ใครอ่านแล้วชักอยากลอง ตามไปชิมมะพร้าวของลุงได้ที่ Greenery Market)

เราก้าวตามลุงวิทยาเข้าไปในสวนที่เปลี่ยนมาใช้วิถีอินทรีย์ได้ 14-15 ปีแล้ว เพื่อไปดูที่มาความอร่อยของมะพร้าวสวนนี้ จากแต่เดิมที่ร่องสวนโล่งเตียนเพราะใช้สารเคมี ตอนนี้สวนของลุงเขียวครึ้มด้วยต้นปรงและผักกูดที่บ่งบอกถึงความสะอาดไร้สารเคมีของพื้นที่  

ลุงวิทยาเล่าว่าตัวเองรักษาสภาพของระบบนิเวศเอาไว้ ปล่อยให้พืชผักเหล่านี้ขึ้นคลุมดิน เอาผักตบจากท้องร่องคลุมเสริมเข้าไป นำกาบมะพร้าวเหลือใช้เทที่โคนต้นมะพร้าวเพื่อเป็นปุ๋ยและเพิ่มความชื้น ผลคือพื้นดินโคนต้นมะพร้าวและโดยรอบชุ่มชื้น มีฝนหลงฤดูครั้งหนึ่งก็คงความชื้นไปได้ประมาณหนึ่งเดือน และรากฝอยของมะพร้าวก็งอกงามไปหากินได้ไกลเพราะมีพืชคลุมดินช่วยบังอยู่ นอกจากนี้ การรักษาระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ยังช่วยให้สัตว์ต่างๆ อย่างนกกวักได้อาศัยสวนเป็นบ้าน นับเป็นการทำเกษตรที่ไม่ใช่แค่ดีต่อคน แต่ยังเกื้อกูลโลกรอบตัวไปพร้อมกัน

เมื่อพาลุยสวนเรียบร้อย เราก็ออกมาลิ้มรสมะพร้าวน้ำหอมหอมหวานของจริงจากสวนลุงวิทยา ที่บอกเลยว่าอร่อยมาก แล้วระหว่างดูดน้ำมะพร้าวเพลิดเพลิน ลุงวิทยาก็สาธิตปีนขึ้นต้นมะพร้าวจริงๆ ไปสอยมะพร้าวให้ดู พร้อมสอนวิธีสังเกตว่ามะพร้าวทะลายไหนได้ที่พร้อมตัด ลุงวิทยาอธิบายว่า มะพร้าวจะเลี้ยงลูกจากล่างขึ้นบน (หมายถึงมะพร้าวจะทยอยแก่จากทะลายด้านล่างขึ้นไป) และมีทะลายขึ้นแบบสับหว่างกัน เมื่อถึงคราวเก็บเกี่ยว ชาวสวนจะมองหามะพร้าวทะลายที่กำลังดีจากสัญญาณบนต้น เริ่มจากมองหาทะลายมะพร้าวที่มีลูกมะพร้าวขนาดเท่ากำปั้น เมื่อเจอแล้ว ให้มองไปที่อีกทะลายซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปด้านบน ดูว่าทะลายนั้นมีดอกมะพร้าวที่บานแล้วและมีลูกมะพร้าวเล็กๆ ที่เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีเขียวอ่อนหรือยัง ถ้าดอกบานแล้ว แถมยังมีลูกเล็กๆ สีเขียวอ่อน แปลว่ามะพร้าวทะลายที่อยู่ถัดลงมาจากที่มีลูกเท่ากำปั้นน่าจะกำลังดีทั้งน้ำและเนื้อ

นอกจากนั้น เรายังได้สารพัดความรู้เกี่ยวกับมะพร้าว เช่น มะพร้าวต้นสูงใหญ่อย่างมะพร้าวแถบภาคใต้ ส่วนมากคือมะพร้าวแกง ที่หมายถึงมะพร้าวลูกใหญ่ที่อายุ 4-5 ปีจึงออกลูก น้ำในลูกมะพร้าวไม่หวาน ใช้ขูดเนื้อมาทำกะทิปรุงอาหาร  ขณะที่มะพร้าวต้นเตี้ยที่เราเห็นแถบนครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม คือมะพร้าวน้ำหอมที่เป็นมะพร้าวลูกเล็ก ใช้เวลา 3 ปีจึงออกลูก และการที่มะพร้าวสีคล้ำนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่คนมักอยากได้มะพร้าวสีขาว ทำให้มีการฟอกขาวเพื่อให้มะพร้าวขาวสะอาดสมใจคนกิน

หลังอิ่มท้องอิ่มใจกับเรื่องราวของมะพร้าวออร์แกนิกกันเต็มที่ เราก็อำลาลุงวิทยาเพื่อขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ ในเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำลงใกล้ลับขอบฟ้า นับว่าวันนี้เป็นการผจญภัย 1 วันเต็มที่ครบรสทั้งสนุก อร่อย และอัดแน่นด้วยความรู้ ที่สำคัญคือ การผจญภัยครั้งนี้ย้ำว่าการไปเห็นของจริง พบคนทำตัวจริง หัดลงมือทำจริง คือเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวอาหารปลอดภัยได้ดีจริงๆ

ถ้ายังไม่เชื่อ คงต้องลองมาผจญภัยด้วยกันสักครั้ง ติดตามรายละเอียดทริปถัดไปได้ที่เพจ Greenery เลย

FB: www.facebook.com/greeneryorg

ภาพถ่าย: สุจิตรา นาคะศิริกุล