ด้วยความที่ฉันมักจะสนใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลยอดไม่ได้ที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนและไม่ทำลายธรรมชาติ บางครั้งก็ตื่นเต้นจนออกนอกหน้าจนเพื่อนงงไปตามๆ กัน

หลายเดือนก่อนฉันชวนเพื่อนไปลองชิมไอศกรีมชื่อดังที่ผ่านการรับรอง FAIRTRADE ที่เพิ่งมาเปิดสาขาในเมืองไทย แต่เพื่อนที่ไปด้วยก็ไม่ได้อินด้วยซะเลย ทำเอารู้สึกเฟลนิดหน่อย ถ้าว่ากันเรื่องรสชาติแล้วมันก็อาจจะไม่ได้ต่างจากไอติมทั่วไปมากนัก แต่ที่ต่างกันอย่างมากคือกระบวนการผลิตต่างหากล่ะ

ฉันเชื่อว่าถ้าเราไม่รู้จัก เราก็จะไม่ได้สนใจเครื่องหมายเหล่านี้ เลยอยากแนะนำฉลากสิ่งแวดล้อมที่พอมีให้เห็นในบ้านเราให้ได้รู้จักกัน เผื่อว่าจะมีคนสนใจ เข้าใจ และอินไปด้วยกันค่ะ

USDA organic

หนึ่งในสัญลักษณ์รับรองความออร์แกนิกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด USDA organic จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (The United States Department of Agriculture) อาหารที่ผ่านมาตราฐานนี้จะต้องเป็นอาหารที่ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช่ปุ๋ยเคมี แม้กระทั่งเนื้อสัตว์ ไข่ หรืออาหารประเภทนมก็ต้องผลิตจากสัตว์ที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนเร่งโต USDA organic จึงประกันได้ว่าทุกขั้นตอนการผลิตมาจากธรรมชาติเกือบ 100%

Q

สำหรับประเทศไทย มีการออกเครื่องหมาย Q ให้กับผักและเนื้อสัตว์ปลอดสารพิษที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) นั่นคือ น้ำในขั้นตอนการผลิตต้องมาจากแหล่งน้ำสะอาด ไม่มีสิ่งเจือปน ไม่มีสารปนเปื้อนในดิน อาจมีการใช้ยาฆ่าแมลงตามบัญชีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุญาต แต่ต้องงดเว้นการใช้สารเคมีก่อนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 14 วัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสารเคมีจะสลายตัวก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค

MSC: Marine Stewardship Council

อย่างที่หลายคนทราบดีว่าอุตสาหกรรมประมงทุกวันนี้สร้างผลกระทบต่อท้องทะเลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำการประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายสัตว์หน้าดิน รวมไปถึงการใช้แรงงานผิดกฎหมาย

ตราสัญลักษณ์รูปปลาสีฟ้าหรือ MSC จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อบ่งบอกว่าอาหารทะเลที่มีเครื่องหมายนี้มีกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนเป็นไปตามหลักการ 3 ข้อ คือ มีกระบวนการจับที่เหมาะสมเพื่อรักษาประชากรปลาในท้องทะเล ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการจัดการประมงอย่างมีประสิทธิภาพ จับปลาในน่านน้ำที่ถูกต้องตามกฎหมาย

Non-GMO project

Non-GMO project เป็นตราสัญลักษณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น แน่นอนค่ะว่าเพื่อรับรองว่าสินค้านั้นไม่มีส่วนผสมของชนิดพันธุ์ที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม สำหรับเมืองไทยการติดฉลากอาหาร GMO ยังไม่ผ่านการออกกฎหมายอย่างถูกต้อง สินค้าประเภทนมถั่วเหลืองต่างๆ ในบ้านเราจึงได้เพียงแต่เขียนบรรยายว่า ‘มาจากธรรมชาติ 100%’ หรืออาจมีการเขียนบรรยายเล็กๆ ว่า ‘non-GMO’ ต้องลองสังเกตดูกันดีๆ ค่ะ

FAIRTRADE

ความสำคัญของสัญลักษณ์ FAIRTRADE ก็ตรงตัวตามชื่อเลยค่ะ Fair Trade เป็นตรารับรองที่มุ่งเน้นเรื่องระบบการค้าที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เกษตรกร ผู้แปรรูปสินค้า รวมไปถึงผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในระบบ มีการรักษาราคาตลาด และกำหนดให้พ่อค้าคนกลางช่วยเหลือเกษตรกรตามความเหมาะสม รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าที่ผลิตจะต้องไม่ทำลายธรรมชาติและไม่มีส่วนผสมของจีเอ็มโออีกด้วย

FSC: Forest Stewardship Council

โลโก้ต้นไม้น่ารักพร้อมกับตัวอักษรกำกับว่า FSC แม้สัญลักษณ์นี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการบริโภค แต่เป็นสัญลักษณ์ที่เราพบเห็นได้บ่อยๆบนบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ เช่น กล่องนมหรือน้ำผลไม้ Forest Stewardship Council คือองค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มต่างๆทั่วโลก เพื่อจัดทำระบบการรับรองไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ว่าใช้ไม้ที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และผ่านการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ได้เบียดเบียนป่าธรรมชาติหรือเน้นการปลูกเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อม